ยืดอกพกถุง (ผ้า)

ยืดอกพกถุง (ผ้า)

ถอดบทเรียนประเทศที่งดใช้ถุงพลาสติกว่าทำไปแล้วได้อะไร หลังไทยหันมาประกาศใช้นโยบายงดแจกถุงพลาสติกตามห้างร้านต่าง ๆ รับปีใหม่นี้

 

พุทธศักราช 2563 ควรได้รับการจดบันทึกเอาไว้ว่าเป็นปีที่หลายองค์กร ทั้งภาครัฐและเอกชนในประเทศไทยเริ่มใช้มาตรการงดแจกถุงพลาสติกให้กับผู้บริโภคที่ไปจับจ่ายสินค้า โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อลดจำนวนถุงพลาสติกแบบใช้แล้วทิ้ง (single-use plastic bag) ซึ่งเป็นหนึ่งในตัวการใหญ่ที่ทำร้ายทำลายโลกใบนี้

การขับเคลื่อนเรื่องการลดและเลิกใช้ถุงพลาสติกนี้เป็นความร่วมมือระหว่างกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม (ทส.) โดยกรมส่งเสริมคุณภาพและสิ่งแวดล้อม ที่เชิญผู้ประกอบการรายใหญ่ ทั้งห้างสรรพสินค้าชื่อดัง ร้านค้าส่งค้าปลีก และร้านสะดวกซื้อมาประชุมร่วมกันเพื่อหาแนวทางในเรื่องนี้จนเป็นที่มาของการประกาศมาตรการเลิกแจกถุงพลาสติกนับตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม 2563 เป็นต้นไป

โดยมาตรการเลิกแจกถุงพลาสติกทั่วประเทศจะเริ่มนำร่องใช้กับกลุ่มผู้ประกอบการค้าปลีกค้าส่ง และร้านสะดวกซื้อจำนวน 43 บริษัทเครือใหญ่ในประเทศไทยก่อน สำหรับห้างร้านที่เข้าร่วมโครงการก็มี อาทิ ห้างสรรพสินค้าเครือเซ็นทรัล, โรบินสัน, เดอะ มอลล์ กรุ๊ป, บริษัทซีพี ออล์ จำกัด (มหาชน) เจ้าของร้านสะดวกซื้อ เซเว่นอีเลฟเว่น ที่มีกว่า 11,000 สาขาในประเทศ, บริษัทสยามแม็คโคร จำกัด (มหาชน), เทสโก้ โลตัส, บริษัท บิ๊กซี ซูเปอร์เซ็นเตอร์ จำกัด (มหาชน), อิเซตัน, ร้าน watsons, ร้านบูทส์, ฟู้ดแลนด์, วิลลา มาร์เกต, ท็อปส์ ซูเปอร์ มาร์เกต, แม็กแวลู, ลอว์สัน, ไทวัสดุ, พาวเวอร์บาย, บีทูเอส, อินเด็กซ์ ลีฟวิ่ง มอลล์, โฮมโปร, ลอฟท์ ฯลฯ

หากมองดูกันแบบผิวเผินแล้ว มาตรการเลิกแจกถุงพลาสติกน่าจะเป็นผลดีต่อสิ่งแวดล้อม และโลกใบนี้ แต่ในความเป็นจริงแล้วมันเป็นเช่นนั้นละหรือ

อยากรู้คำตอบคงต้องลองไปถอดบทเรียนจากประเทศที่เคยใช้มาตรการนี้กันมานานแล้วดู

 

1cb537245c5a8195bc13517ff00689e7

ภาพจาก www.kaidee.com

 

  • ผู้ร้ายที่ชื่อ ‘ถุงพลาสติก’

จริง ๆ แล้วตัวการที่ทำร้ายโลกใบนี้มีอยู่มากมาย แล้วทำไมถุงพลาสติกถึงตกเป็นเป้าโจมตีหนักสุด

นั่นเป็นเพราะถุงพลาสติกถูกผลิตออกมาใช้มากถึง 5 ล้านล้านใบในแต่ละปี แล้วส่วนใหญ่จะถูกใช้แล้วทิ้ง ไม่ได้นำมาใช้ต่อให้เกิดประโยชน์สูงสุด โดยข้อมูลจากยูเอ็นระบุว่าในแต่ละปีจะมีขยะพลาสติกราว 8 ล้านเมตริกตันที่กำจัดไม่หมดแล้วไปลงเอยอยู่ในมหาสมุทร ส่งผลกระทบต่อสัตว์น้ำและสิ่งมีชีวิตทางทะเล ซึ่งพอมันลามเข้ามายังห่วงโซ่อาหาร มนุษย์ที่บริโภคสัตว์น้ำเหล่านั้นเข้าไปก็ได้รับผลกระทบต่อสุขภาพตามมา

สำหรับการเข้าสู่ห่วงโซ่อาหารของพลาสติกนั้นเกิดขึ้นได้หลายวิธี เช่น เมื่อพลาสติกแตกตัวลงกลายเป็นชิ้นเล็ก ๆ ที่เรียกว่า ไมโครพลาสติก มันจะไปฝังตัวอยู่ในร่างของสัตว์น้ำที่พวกเรากินกันเข้าไปนั่นเอง ทฤษฏีนี้ได้รับการสนับสนุนจากผลการตรวจสอบในหลายประเทศ ไม่ว่าจะเป็นยุโรป รัสเซีย ญี่ปุ่น และประเทศไทยเราเอง ที่พบว่ามีไมโครพลาสติกเจือปนอยู่ในอุจจาระมนุษย์

นอกจากในสัตว์น้ำแล้ว รายงานของยูเอ็นยังระบุว่าการปนเปื้อนของไมโครพลาสติกในน้ำดื่มน้ำใช้ก็เป็นอีกเรื่องที่น่าเป็นห่วงเช่นกัน

 

  • ใคร ๆ ก็แบนถุงพลาสติก

ถุงพลาสติกบาง ๆ แบบใช้แล้วทิ้งที่บ้านเราเรียกกันว่า ‘ถุงก๊อบแก๊บ’ เป็นถุงพลาสติกประเภทที่มีการใช้แพร่หลายที่สุด และตอนนี้ก็ตกเป็นเป้าหมายของการประกาศงดใช้มากที่สุดในโลก โดยตัวเลขจากโครงการสิ่งแวดล้อมแห่งสหประชาชาติ (UNEP) ระบุว่า นับถึงเดือนกรกฎาคมที่ผ่านมา มี 127 ประเทศที่ห้ามใช้ถุงพลาสติกประเภทนี้ หรือมีการเรียกเก็บภาษีถุงพลาสติกแทน

ที่น่าสนใจก็คือ แม้แต่กลุ่มก่อการร้ายAl-Shabaab ในโซมาเลียที่ได้รับการหนุนหลังจากอัล กออิดะ ก็ยังประกาศแบนถุงพลาสติกแบบใช้แล้วทิ้งในพื้นที่ครอบครองของตัวเองโดยให้เหตุผลว่า “เป็นภัยคุกคามอย่างใหญ่หลวงต่อความเป็นอยู่ของมนุษยชาติ รวมถึงสัตว์ต่าง ๆ”

สำหรับภูมิภาคที่มีการแบนถุงพลาสติกกันอย่างกว้างขวางที่สุดคือ ทวีปแอฟริกา โดยเฉพาะประเทศเคนยา ซึ่งประกาศใช้มาตรการที่เด็ดขาดที่สุดในโลก นั่นคือ ห้ามใช้ถุงพลาสติกแบบ single-use ทั่วประเทศมาตั้งแต่เดือนสิงหาคม 2560 โดยผู้ฝ่าฝืนจะถูกลงโทษปรับสูงสุดเป็นเงิน 32,000 ยูโร หรือจำคุกสูงสุด 4 ปี ซึ่งถือว่าเป็นโทษเกี่ยวกับการแบนถุงพลาสติกที่หนักที่สุดในโลก

ส่วนเหตุผลที่ทวีปแอฟริกามีการแบนถุงพลาสติกแพร่หลายที่สุดนั้น ส่วนหนึ่งมาจากความไร้ประสิทธิภาพในการกำจัดขยะ และการรีไซเคิล ส่งผลให้ปัญหาจากขยะพลาสติกมีความรุนแรง และเห็นได้ชัดเจน ประกอบกับแอฟริกานำเข้าถุงพลาสติกน้อย กลุ่มอุตสาหกรรมพลาสติกภายในประเทศไม่แข็งแกร่งพอที่จะออกมาล็อบบี้ต่อต้านนโยบายนี้ จึงทำให้การประกาศใช้มาตรการแบนถุงพลาสติกทำได้โดยง่าย

 

20200101163728075

 

  • ถอดบทเรียนจาก ‘เคนยา’

เชื่อหรือไม่ว่าการประกาศแบนถุงพลาสติกในเคนยาเกิดขึ้นจากคนธรรมดาตัวเล็ก ๆ ที่สามารถกลายเป็นซูเปอร์ฮีโรด้านสิ่งแวดล้อมได้เช่นกัน

คน ๆ นั้นคือนักศึกษาและช่างภาพหนุ่มชื่อ เจมส์ วากิเบีย (James Wakibia) ที่รู้สึกทนไม่ไหวกับการเห็นถุงพลาสติกถูกทิ้งเกลื่อนกลาดอยู่บนถนนจนรู้สึกว่าตัวเองต้องลุกขึ้นมาทำอะไรบางอย่าง

“ถุงพลาสติกมันอยู่ทุกหนทุกแห่งเลยครับ ทั้งบนต้นไม้ ในโคลนเลน แล้วก็บนถนน พวกมันเหมือนอากาศที่มีอยู่ทุกที่เลยครับ” วากิเบีย ย้อนรำลึกถึงความหลังเมื่อปี 2013 ให้ฟัง

สองปีต่อมา วากิเบียก็เปิดแคมเปญทางโซเชียลมีเดียพร้อมแฮชแทกว่า #IsupportBanPlasticsKE ขึ้นมาโดยเรียกร้องให้เลิกใช้ถุงพลาสติกแบบ single-use กันได้แล้ว ซึ่งการรณรงค์ของเขาได้รับความสนใจอย่างกว้างขวางแล้วไปเตะตารัฐบาลในกรุงไนโรบี ซึ่งเล็งเห็นว่าการห้ามใช้ถุงพลาสติกเป็นหนึ่งในมาตรการที่ควรประกาศใช้ก่อน

แล้วทำไมเคนยาถึงทำเรื่องนี้ได้สำเร็จมากกว่าประเทศอื่น

วากิเบียบอกว่าเป็นเพราะทางการไนโรบีกล้าที่จะดำเนินมาตรการเด็ดขาด ในขณะที่รัฐบาลส่วนใหญ่ไม่กล้าเพราะว่ายังคงเชื่อมโยงกับอุตสาหกรรมต่าง ๆ ที่ต้องใช้ถุงพลาสติกอยู่ค่อนข้างมาก

 

นอกเหนือจากประกาศบทลงโทษผู้ฝ่าฝืนกฎหมายห้ามใช้ถุงพลาสติกอย่างรุนแรงแล้ว ตำรวจเคนยายังประสานงานอย่างใกล้ชิดกับกรมควบคุมสิ่งแวดล้อมแห่งชาติเพื่อบังคับใช้กฎหมายอย่างจริง ๆ ซึ่งผลงานที่ผ่านมาก็คือการออกลาดตระเวณตามท้องถนน และในตลาดจนสามารถจับกุมและปรับผู้ผลิตและขายถุงพลาสติกได้ร่วม 100 ราย

อย่างไรก็ตาม ไม่ใช่ว่าทุกคนจะเห็นด้วยกับการหักดิบ ห้ามใช้ถุงพลาสติกของทางการเคนยา อย่างแม่ค้าขายมันเทศในตลาดสดที่บอกว่าเมื่อก่อนเคยแพ็คสินค้าในถุงพลาสติก ทำให้มันยังคงความสดอยู่ได้นาน แต่ตอนนี้มันของเธอแห้งเหี่ยวได้ง่าย ทำให้อายุของสินค้าสั้นลง

ส่วนผู้คัดค้านรายใหญ่สุดคงหนีไม่พ้น สมาคมผู้ผลิตเคนยา โดยก่อนที่จะประกาศใช้มาตรการนี้ เคนยามีบริษัทผลิตถุงพลาสติกอยู่ 170 ราย จ้างคนงานคิดเป็นสัดส่วนเกือบ 3% ของแรงงานทั้งหมดในประเทศ พอมีมาตรการนี้ออกมาย่อมแน่นอนว่าพวกเขาเหล่านี้ต้องกลายเป็นคนตกงานทั้งหมด แม้ทางการจะจ่ายค่าชดเชยให้แต่ก็ไม่พอ โดยพวกเขาอยากให้ค่อยเป็นค่อยไปมากกว่าที่จะประกาศเลิกใช้แบบหักดิบ

สำหรับปัญหาที่ตามมาจากการห้ามใช้ และห้ามผลิตถุงพลาสติกแบบฉับพลันคือ การทะลักเข้ามาของถุงพลาสติกเถื่อนจากประเทศเพื่อนบ้าน แต่ถึงกระนั้นแล้ว ประชาชนส่วนใหญ่ดูจะพึงพอใจกับความเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้น นั่นคือ การไม่ได้เห็นภาพถุงพลาสติกถูกทิ้งเกลื่อนอยู่บนถนน หรือพบถุงพลาสติกในตาข่ายดักปลา หรือในท้องวัวอีกต่อไป

ในส่วนของวากิเบีย ผู้ริเริ่มโครงการนี้นั้น มองว่าในตอนนี้ยังมีพลานติกอีกหลายอย่างที่ได้รับข้อยกเว้น โดยเขาอยากเห็นห้ามใช้ผลิตภัณฑ์พลาสติกหลายอย่าง อาทิ แพกเกจขนมปัง หรือพลาสติกใช้ครั้งเดียวแล้วทิ้งอย่าง หลอดดูดน้ำ ในประเทศด้วย

 

  • ช่องโหว่ที่แอบซ่อนอยู่

ตัวเลข 127 ประเทศที่ประกาศแบนถุงพลาสติกอาจฟังดูเหมือนเยอะ แต่ทำไมดูเหมือนว่าปัญหาจากขยะพลาสติกจะยังไม่ลดจำนวนลงเลย แม้แต่ในประเทศที่มีมาตรการห้ามใช้แล้วก็ตาม

นั่นเป็นเพราะยังมีช่องโหว่หลายประการจากมาตรการงดใช้ถุงพลาสติกดังต่อไปนี้

1. แบนไม่ครบวงจร - ประเทศส่วนใหญ่ยังประกาศใช้มาตรการงดใช้ถุงพลาสติกแบบไม่ครอบคลุมทั้งวงจรชีวิตของถุงพลาสติกที่กว่าจะย่อยสลายก็ใช้เวลาหลายร้อยปี ยกตัวอย่างเช่น ประเทศจีนมีมาตรการห้ามนำเข้าถุงพลาสติก และกำหนดให้ผู้ค้าปลีกคิดเงินจากลูกค้าเป็นค่าถุงพลาสติก ทว่ากลับไม่ห้ามการผลิตและส่งออกถุงพลาสติกแต่อย่างใด

 

ทางด้านประเทศเอกวาดอร์ เอลซัลวาดอร์ และกีอานานั้นก็มีเพียงมาตรการควบคุมการกำจัดถุงพลาสติก แต่ไม่ออกมาตรการห้ามนำเข้า ผลิต และควบคุมการใช้ถุงพลาสติกในระบบค้าปลีก ทำให้ยังมีการใช้กันอยู่อย่างแพร่หลายทั้งที่ได้ขึ้นชื่อว่าเป็นประเทศที่มีมาตรการแบนถุงพลาสติกแล้วก็ตาม

2. แบนเพียงบางส่วน – ในจำนวน 127 ประเทศที่กล่าวมา มีมากถึง 89 ประเทศที่เลือกแบนถุงพลาสติกเพียงบางส่วนแทนที่จะแบนทั้งหมด อาทิ มีข้อกำหนดว่าจะห้ามใช้เฉพาะถุงที่มีความหนาเท่านั้นเท่านี้ เช่น ฝรั่งเศส อินเดีย อิตาลี มาดากัสการ์ ฯลฯ ที่จะห้ามใช้หรือเก็บภาษีจากถุงพลาสติกที่มีความหนาไม่ถึง 50 ไมครอนเท่านั้น ไม่ได้ห้ามใช้ถุงพลาสติกทุกประเภทไปเลย

3. ไม่กล้าห้ามผลิตถุงพลาสติก – สามารถกล่าวได้ว่าไม่มีประเทศใดในโลกที่กล้าออกมาตรการจำกัดการผลิตถุงพลาสติก ทั้ง ๆ ที่มันเป็นมาตรการที่ควบคุมไม่ให้ถุงพลาสติกเข้าสู่ตลาดได้มากที่สุดแล้ว มีเพียงประเทศเดียวในโลก นั่นคือ สาธารณรัฐกาบูเวร์ดี (Cape Verde) ประเทศหมู่เกาะเล็ก ๆ ในมหาสมุทรแอตแลนติก ที่จำกัดการผลิตถุงพลาสติก

 

โดยประเทศกาบูเวร์ดีเริ่มลดปริมาณการผลิตถุงพลาสติกลง 60% ในปี 2015 ก่อนที่จะเพิ่มมาเป็น 100 เปอร์เซนต์ในปี 2016 เมื่อมาตรการห้ามใช้ถุงพลาสติกมีผลบังคับใช้เต็มรูปแบบ แต่กระนั้นก็ยังคงอนุญาตให้มีการใช้ถุงพลาสติกแบบย่อยสลายได้อยู่ดี

4. มีข้อยกเว้นมากเกินไป – แทบทุกประเทศที่ประกาศมาตรการแบนถุงพลาสติกจะมาพร้อมกับข้อยกเว้นยิบย่อย เช่น กัมพูชา มีข้อยกเว้นให้สามารถนำเข้าถุงพลาสติกจำนวนไม่มาก (ไม่ถึง 100 กิโลกรัม) เพื่อมาใช้ในทางอื่นที่ไม่ใช่เพื่อการค้าได้

ขณะที่ประเทศแถบอัฟริกา 14 ประเทศก็มีข้อยกเว้นมากมายในการห้ามใช้ถุงพลาสติกเช่นกัน อาทิ ข้อยกเว้นสำหรับการขนส่งสินค้าสดหรือสินค้าที่เสียง่าย สินค้าที่มีขนาดเล็ก ข้อยกเว้นสำหรับการวิจัยทางการแพทย์และวิทยาศาสตร์ ข้อยกเว้นสำหรับการเก็บและจำกัดขยะ นอกจากนี้ยังมีข้อยกเว้นให้กับถุงพลาสติกเพื่อการส่งออก ถุงพลาสติกที่เกี่ยวข้องกับความมั่นคงของชาติ (ถุงพลาสติกที่ใช้ในสนามบิน หรือร้านค้าปลอดภาษี) แล้วก็การใช้ถุงพลาสติกในทางเกษตร

6. ขาดแรงจูงใจและทางเลือกอื่น – ถึงแม้จะมีการประกาศมาตรการห้ามใช้ถุงพลาสติกกันอย่างแพร่หลาย แต่รัฐบาลหลายประเทศยังคงล้มเหลวในการสร้างแรงจูงใจให้ประชาชนนำถุงพลาสติกกลับมาใช้ใหม่ให้ได้ประโยชน์สูงสุด หรือไม่ก็หาของมาทดแทนถุงพลาสติกเพื่อเป็นทางออกให้กับผู้บริโภค อาทิ วัสดุที่ทำจากพืช ฯลฯ

 

20200101163729429

 

ถึงแม้จะยังมีข้อถกเถียงกันอยู่ว่ามาตรการงดใช้ถุงพลาสติกจะเป็นผลดีต่อโลกใบนี้จริงหรือไม่ เพราะถุงผ้าที่แนะนำให้ใช้กันแทนถุงพลาสติกนั้นมีขั้นตอนในการผลิตที่อาจก่อให้เกิดผลเสียต่อโลกมากกว่าถุงผ้าเสียด้วยซ้ำ แถมคนเรายังใช้ประโยชน์จากถุงผ้าไม่ได้เต็มเม็ดเต็มหน่วยอย่างที่ควรจะเป็น

แต่ไม่ว่าข้อเท็จจริงในเรื่องนั้นจะเป็นอย่างไร อย่างน้อยตอนนี้ก็ถึงเวลาแล้วที่ผู้บริโภคชาวไทยจะต้องปรับเปลี่ยนพฤติกรรมตัวเองด้วยการหันมาพกตะกร้า ถุงผ้า ถุงประเภทอื่น หรือแม้แต่ถุงพลาสติกเก่า ๆ ที่มีอยู่แล้วติดตัวไปใช้ในยามที่ออกไปจับจ่ายซื้อสินค้า

มิฉะนั้นคุณอาจประสบปัญหาในการหอบหิ้วข้าวของกลับบ้าน หรือไม่ก็ต้องควักเงินซื้อถุงมาใส่ของโดยไม่จำเป็นก็เป็นได้

 

หมายเหตุ เรียบเรียงข้อมูลจากบทความใน World Resources Institute, National Geographic, เว็บไซต์ dw.com