'รมช.กลาโหม' หวั่น ชายแดนไทย-กัมพูชา กลับมาตึงเครียด คงมาตรการเปิด-ปิดด่าน รอถกตัดไฟฟ้า

'รมช.กลาโหม' หวั่น ชายแดนไทย-กัมพูชา กลับมาตึงเครียด คงมาตรการเปิด-ปิดด่าน รอถกตัดไฟฟ้า

“รมช.กลาโหม ” รับสถานการณ์ไทย-กัมพูชา ดีขึ้นเล็กน้อย ไร้เผชิญหน้า คงมาตรการเปิด-ปิดด่าน เตรียมหารือตัดไฟ้ฟ้า

10 มิ.ย.2568 ที่ทำเนียบรัฐบาล พล.อ.ณัฐพล นาคพาณิชย์ รมช.กลาโหม ให้สัมภาษณ์ถึงสถานการณ์ชายแดนไทย-กัมพูชา ว่า สถานการณ์ดีขึ้นเล็กน้อยกว่าเมื่อวันเสาร์-อาทิตย์ที่ผ่านมา ยืนยันว่า มาตรการในการปรับระยะเวลาเปิด-ปิดด่านชายแดนยังคงไว้อยู่ เพราะสถานการณ์ยังคงดีขึ้นเล็กน้อยตรงที่กำลังทั้งสองฝ่ายได้ปรับกำลัง ไม่ได้เผชิญหน้ากัน เพราะตราบใดที่ยังมีการเผชิญหน้ากันมันมีความเสี่ยงในการปะทะและการใช้อาวุธ ทำให้เกิดความสูญเสียทั้ง 2 ฝ่าย สุ่มเสี่ยงทั้งกำลังทหารและพี่น้องที่อยู่ชายแดน ส่วนกำลังส่วนอื่นทั้งสองฝ่ายยังอยู่ที่เดิม เพราะฉะนั้น มาตรการควบคุมตามแนวชายแดนยังทำต่อไป หลังจากนี้สภาความมั่นคงแห่งชาติ (สมช.) จะมาเปิดเผยอีกครั้งหนึ่งว่า จะดำเนินการอย่างไรต่อไป 

ส่วนมาตรการตัดน้ำ ตัดไฟ จะเสนอต่อที่ประชุม สมช.คงต้องพิจารณาตามสถานการณ์ ซึ่งเรื่องตัดน้ำ ตัดไฟ ขณะนี้มีอยู่ 2 เรื่องในเวลาเดียวกัน ทางหน่วยกำลังป้องกันชายแดนต้องการที่จะตัดน้ำ ตัดไฟ แต่ขณะเดียวกัน ทางศูนย์อำนวยการขับเคลื่อนการป้องกันและแก้ไขปัญหาภัยคุกคามที่ส่งผลกระทบต่อความมั่นคงในพื้นที่ชายแดนกับประเทศเพื่อนบ้าน (ศอ.ปชด.) ที่มีผู้บัญชาการทหารสูงสุดเป็นผู้อำนวยการต้องการตัดน้ำ ตัดไฟ ในเรื่องที่เกี่ยวข้องกับกระบวนการคอลเซ็นเตอร์ จึงขึ้นอยู่กับ สมช.จะพิจารณาว่า จะดำเนินการหรือไม่ อย่างไร เหมาะสมหรือไม่ ที่จะดำเนินการในช่วงนี้ 

สำหรับมาตรการตัดน้ำตัดไฟ จะทำให้สถานการณ์ชายแดนกลับมาตึงเครียดอีกรอบหรือไม่นั้น พล.อ.ณัฐพล กล่าวว่า “ก็ต้องช่วยกันพิจารณาไง ที่ผ่านมาไม่ได้แค่หน่วยงานใดหน่วยงานหนึ่งทำคนเดียว ทั้ง สมช.และรัฐบาลหารือกันในวงเล็ก” และขอชี้แจงกับสื่อว่า ขอให้ได้ความเห็นใจ เพราะการเจรจา การพูดคุย มาพูดก่อนจะทำให้อีกฝ่ายรู้ว่า คิดอะไร จะทำอะไร เพราะฉะนั้น บางครั้งก็ไม่ได้พูด ซึ่งการไม่ได้พูดนี่แหละทำให้ประชาชนหรือสื่อมวลชนตัดพ้อต่อว่า รัฐบาลนิ่งเฉย ช้าไป แต่ถ้าพูดก่อน อีกฝ่ายก็รู้ก่อน เปรียบเสมือนการแข่งขันกีฬาฟุตบอล ฟุตบอลไทยแข่งกับกัมพูชา สื่อจะมาถามว่า จะส่งผู้เล่นคนไหนลง ถามหมดเลย แต่ไม่มีใครไปถามทีมกัมพูชาว่า เขาจะจัดทีมอย่างไร เพราะฉะนั้น ฝ่ายความมั่นคงเวลาที่จะคิดทำอะไร ลำบากตรงนี้ ก็ต้องขอความเห็นใจจริง ๆ ความมั่นคง การทหาร จะต่างกับด้านเศรษฐกิจและด้านอื่น ๆ ซึ่งสามารถชี้แจงก่อน แต่ด้านการทหารบางครั้งถ้าเราพูดก่อนอาจเป็นฝ่ายที่เสียเปรียบ การเจรจาต่อรองกับต่างประเทศ ถ้าบอกหมดทางนั้นจะทราบหมดว่า ไทยคิดอย่างไร 

พล.อ.ณัฐพล กล่าวต่อว่า ส่วนที่มีผู้รู้และนักการทหารออกมาพูดหลายคนนั้น การที่ออกมาพูดทำให้ทางฝ่ายกัมพูชาพอเดาออกว่า กองทัพทำอะไรอยู่ ตรงนี้ในส่วนที่ตนรับผิดชอบก็รู้สึกหนักใจเล็กน้อย แต่ไม่เป็นไร ในยุคปัจจุบันเป็นเรื่องของข้อมูลข่าวสาร โปร่งใส ต้องแสดงความโปร่งใส และต้องใช้ฝีมือมากขึ้น จึงได้ให้กำลังใจน้องๆ ในกองทัพว่า เราต้องเป็นกองทัพภายใต้ประชาธิปไตย ภายใต้สังคมข้อมูลข่าวสาร จะไม่เหมือนเก่าที่สมัยก่อนทุกอย่างเป็นความลับ เขาจะไม่รู้ว่า เราทำอะไรบ้าง มีกำลังและอาวุธอะไรบ้าง แต่สมัยนี้ต้องพูดก่อน ในส่วนที่ตนรับผิดชอบพยายามจะไม่พูด หรือพูดให้น้อยที่สุด เพื่อที่เราพยายามรักษาความลับ ซึ่งความลับไม่ได้หมายความว่า ไม่ได้ไว้ใจสื่อหรือประชาชน เพียงแต่ว่าต้องการให้มีความได้เปรียบอยู่บ้าง แต่อย่างไรก็เข้าใจสื่อและประชาชนว่า อยากรู้ว่า จะทำอย่างไร 

ส่วนกรอบการประชุมเจบีซีในวันที่ 14 มิ.ย. จะมีการหยิบยกเรื่องพื้นที่ที่กัมพูชาจะนำขึ้นไปศาลโลกหรือไม่ พล.อ.ณัฐพล กล่าวว่า ขึ้นอยู่กับกระทรวงการต่างประเทศ ตนไม่ขอก้าวล่วง ตนรับผิดชอบในเรื่องของความมั่นคง

ขณะที่กระแสข่าวการปรับคณะรัฐมนตรี (ครม.) ของพรรครวมไทยสร้างชาติ (รทสช.) พล.อ.ณัฐพล ปฏิเสธที่จะตอบคำถามดังกล่าว โดยได้เดินออกจากวงสัมภาษณ์ และขึ้นห้องประชุม ครม.ทันที