‘แพทองธาร’ ย้ำ รัฐบาล ลุยกระตุ้น ศก. ผ่านการลงทุนทรัพยากรน้ำ

“แพทองธาร” ติดตามการจัดหาน้ำบาดาลขนาดใหญ่ แก้ภัยแล้งอันเนื่องมาจากพระราชดำริ ที่กาญจนบุรี เผยช่วย ปชช.ได้เกือบแสนครัวเรือน รัฐบาล ให้ความสำคัญกระตุ้น ศก. ผ่านการลงทุนด้านทรัพยากรน้ำ
ที่โครงการจัดหาน้ำบาดาลขนาดใหญ่แก้ปัญหาภัยแล้งอันเนื่องมาจากพระราชดำริ บ้านปากชัดหนองบัว ตำบลหนองฝ้าย อำเภอเลาขวัญ จังหวัดกาญจนบุรี นางสาวแพทองธาร ชินวัตร นายกรัฐมนตรี ลงพื้นที่ติดตามโครงการจัดหาน้ำบาดาลขนาดใหญ่แก้ปัญหาภัยแล้งอันเนื่องมาจากพระราชดำริ โดยมี นายเฉลิมชัย ศรีอ่อน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติ และสิ่งแวดล้อม นายสุรพงษ์ ปิยะโชติ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงคมนาคม นายพรหมินทร์ เลิศสุริย์เดช เลขาธิการนายกรัฐมนตรี และนายจตุพร บุรุษพัฒน์ ปลัดกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม เข้าร่วม
นายกรัฐมนตรีได้ชมนิทรรศการการจัดการน้ำบาดาลในพื้นที่ และโครงการน้ำบาดาลอันเนื่องมาจากพระราชดำริ รวมถึงระบบผลิตน้ำบาดาล และจุดบริการน้ำแร่ จากนั้น นายกรัฐมนตรีรับชมวีดิทัศน์การจัดการน้ำบาดาลในพื้นที่ และรับฟังรายงานปัญหาภัยแล้ง และการจัดหาน้ำบาดาลในพื้นที่ ซึ่งเตรียมโครงการเสนอของบประมาณเพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจในหมวดโครงสร้างพื้นฐานด้านน้ำ 12 โครงการ จำนวน 3,194 รายการ งบประมาณทั้งสิ้น 14,859 ล้านบาท โดยประชาชนจะได้รับประโยชน์กว่า 563,239 ครัวเรือน พื้นที่ได้รับประโยชน์กว่า 134,620 ไร่ และจะเกิดการจ้างงาน 29,214 คนรวมถึงเพิ่มปริมาณน้ำได้ถึง 211.46 ลูกบาศก์เมตรต่อปี
โอกาสนี้ นายกรัฐมนตรี กล่าวกับประชาชนว่า รู้สึกยินดีเป็นอย่างยิ่งที่ได้มีโอกาสเดินทางมาที่จังหวัดกาญจนบุรี เพื่อเยี่ยมชมและติดตามความคืบหน้าของโครงการจัดหาน้ำบาดาลขนาดใหญ่แก้ปัญหาภัยแล้งอันเนื่องมาจากพระราชดำริ ซึ่งเป็นโครงการที่มีความสำคัญในการช่วยเหลือ และยกระดับคุณภาพชีวิตของพี่น้องประชาชนในพื้นที่ ทั้งนี้ จากข้อมูลที่ได้รับฟัง จะเห็นได้ว่าโครงการดังกล่าวสามารถช่วยเหลือประชาชนได้เกือบ 100,000 ครัวเรือน ถือเป็นตัวเลขที่น่าชื่นชม และสะท้อนให้เห็นถึงประโยชน์ของโครงการฯ ได้อย่างทั่วถึง อีกทั้ง โครงการนี้ยังเป็นหนึ่งในโครงการตามแนวพระราชดำริ ซึ่งให้ความสำคัญกับเรื่องน้ำ หนึ่งในปัจจัยสี่ ที่จำเป็นต่อการดำรงชีวิตของทุกคน อีกทั้ง ยังช่วยทำให้พื้นที่ประสบปัญหาภัยแล้ง ขาดแคลนน้ำเพื่อการอุปโภค บริโภค และการเกษตร มีน้ำใช้อย่างเพียงพอ สามารถลดต้นทุนในการดำเนินชีวิต ไม่ว่าจะเป็นค่าใช้จ่ายในการซื้อน้ำอุปโภคบริโภค หรือต้นทุนทางการเกษตร ซึ่งนับว่าเป็นการแก้ปัญหาอย่างยั่งยืน
นายกรัฐมนตรี กล่าวอีกว่า สำหรับงบประมาณในการกระตุ้นเศรษฐกิจ รัฐบาลให้ความสำคัญกับการลงทุนด้านทรัพยากรน้ำ เนื่องจากเป็นการวางรากฐานที่มั่นคงให้กับประชาชนทั้งในระยะสั้น กลาง และยาว ไม่ใช่เพื่อบรรเทาความเดือดร้อนเฉพาะหน้าเท่านั้น แต่ยังช่วยส่งเสริมความมั่นคง และความยั่งยืนในอนาคตด้วย
“รัฐบาลพร้อมสนับสนุนโครงการแก้ไขปัญหาเรื่องน้ำอย่างต่อเนื่อง เพื่อสามารถขยายผลไปยังพื้นที่ใกล้เคียง และจังหวัดอื่นๆ ได้รับประโยชน์ร่วมกัน รวมถึงเพื่อเป็นการยกระดับคุณภาพชีวิตให้ประชาชนในทุกภูมิภาคของประเทศอย่างยั่งยืน” นายกฯ กล่าว
จากนั้น นายกรัฐมนตรี พบปะประชาชนผู้ได้รับประโยชน์ในพื้นที่ และมอบตัวอย่างบรรจุภัณฑ์สำหรับใส่น้ำ แก่ ผู้ว่าราชการจังหวัดกาญจนบุรี สำหรับนำไปแจกจ่ายแก่ประชาชนที่มาร่วมงาน
จากนั้น นายกฯ เดินทางมายังโครงการจัดหาน้ำบาดาลขนาดใหญ่แก้ปัญหาภัยแล้ง อันเนื่องมาจากพระราชดำริ ระยะที่ 2 พร้อมรับฟังรายงานสร้างประโยชน์แก่ประชาชน 15 หมู่บ้าน ครอบคลุม ประมาณ 3,000 ครัวเรือน หรือราว 10,000 คน โดยภาพรวมการบริหารจัดการดำเนินไปได้ด้วยดี แต่ยังมีข้อเสนอบางประการที่ต้องดำเนินการเพิ่มเติม ได้แก่ 1.ต้นทุนค่าไฟฟ้าในการสูบน้ำ ปัจจุบันมีค่าใช้จ่ายด้านไฟฟ้าประมาณ 80,000 บาทต่อเดือน ซึ่งเป็นภาระต่อการดำเนินงานในระยะยาว โดยนายกรัฐมนตรีได้เสนอแนวทางลดค่าใช้จ่ายผ่านการใช้พลังงานแสงอาทิตย์ในบางส่วน 2.ความเสี่ยงจากการลดระดับน้ำบาดาล หากไม่มีการบริหารจัดการ การใช้น้ำอย่างเหมาะสม อาจส่งผลให้ระดับน้ำบาดาลลดลงในอนาคต เพื่อรองรับปัญหาเหล่านี้ กรมทรัพยากรน้ำบาดาลได้เตรียมแนวทางเสริมความยั่งยืน โดยจะติดตั้งระบบผลิตไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์ เพิ่มเติม จำนวน 4 ชุด รวมถึงติดตั้งระบบสูบน้ำบาดาลเพิ่มอีก 4 จุด และดำเนินการสำรวจพื้นที่เพื่อรองรับการจัดการน้ำอย่างยั่งยืน เนื่องจากพื้นที่นี้มีแหล่งน้ำบาดาลจำกัด และยากต่อการเจาะหาแหล่งน้ำใหม่
โดยนายกฯ ระบุตอนหนึ่งว่า น้ำบาดาลที่พบในพื้นที่ดังกล่าวมีคุณภาพ จนชาวบ้านเรียกว่าเป็นน้ำเทวดา ถือเป็นน้ำที่ได้จากธรรมชาติบริสุทธิ์อย่างแท้จริง แต่แหล่งน้ำดังกล่าว ตั้งอยู่บนที่ดินของเอกชน ซึ่งเจ้าของที่ดิน ได้แสดงน้ำใจโดยการขายที่ดินให้รัฐในราคาที่เหมาะสม เพื่อให้ภาครัฐสามารถดำเนินการพัฒนาแหล่งน้ำให้เป็นประโยชน์ต่อประชาชนในวงกว้างได้อย่างเต็มที่ ถือเป็นความร่วมมือระหว่างภาครัฐ และภาคเอกชนในการดำเนินโครงการที่เป็นประโยชน์ต่อประชาชน ถือเป็นแบบอย่างที่ดีของการบริหารจัดการทรัพยากรเพื่อส่วนรวม และขอชื่นชมในความเสียสละ และจิตสาธารณะของเจ้าของที่ดิน และทุกภาคส่วนที่เกี่ยวข้อง
นายกรัฐมนตรี กล่าวต่อว่า รัฐบาลตระหนักดีว่า การดำเนินงานให้มีความยั่งยืน จำเป็นต้องพิจารณาเรื่องต้นทุนด้านพลังงานควบคู่กัน โดยเฉพาะค่าไฟฟ้าสำหรับการสูบน้ำ มีแนวโน้มสูงขึ้น และเป็นภาระของชุมชนในระยะยาว โดยได้อนุมัติงบประมาณผ่านกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม เพื่อสนับสนุนการติดตั้งระบบผลิตไฟฟ้าด้วยพลังงานแสงอาทิตย์ หรือโซลาร์เซลล์ ซึ่งจะเข้ามาช่วยลดภาระค่าใช้จ่ายของชุมชน และเสริมสร้างความยั่งยืนของโครงการน้ำบาดาลในพื้นที่ และคาดว่าระบบพลังงานทางเลือกดังกล่าวจะเริ่มดำเนินการได้ในอนาคตอันใกล้นี้
“รัฐบาลให้ความสำคัญกับปัจจัยพื้นฐานในการดำรงชีวิตของประชาชนทุกคน ไม่ว่าจะเป็นน้ำ อาหาร ยารักษาโรค หรือที่อยู่อาศัย และจะดำเนินการอย่างเต็มที่เพื่อให้พี่น้องประชาชนเข้าถึงสิ่งจำเป็นเหล่านี้อย่างทั่วถึงและเพียงพอ” นายกรัฐมนตรี ย้ำ
จากนั้น นายกรัฐมนตรีพบปะประชาชนผู้ได้รับประโยชน์ในพื้นที่ และเยี่ยมชมโครงการจัดหาน้ำบาดาลขนาดใหญ่ ทั้งนี้ ภายหลังภารกิจเสร็จสิ้น นายกรัฐมนตรีจะเดินทางโดยเฮลิคอปเตอร์กลับกรุงเทพมหานคร เพื่อเป็นประธานในพิธีเปิดงาน OTOP Midyear 2025 ณ ชาเลนเจอร์ 1-3 อิมแพ็ค เมืองทองธานี ซึ่งเป็นกิจกรรมสำคัญในการส่งเสริมผลิตภัณฑ์ท้องถิ่น และกระตุ้นเศรษฐกิจฐานรากของประเทศต่อไป
พิสูจน์อักษร....สุรีย์ ศิลาวงษ์