อสส.ตั้งคณะทำงานคดี 'ณฐพร' ร้องส่งศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัย ฮั้ว สว.

อสส.ตั้งคณะทำงานคดี 'ณฐพร' ร้องส่งศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัย ฮั้ว สว.

อสส.ตั้งคณะทำงานคดี 'ณฐพร โตประยูร' ร้องส่งศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัย ฮั้ว สว. ขัดรัฐธรรมนูญ คาดประชุมสัปดาห์หน้า รอคณะทำงานพิจารณาคำร้อง

จากกรณีที่นายณฐพร โตประยูร อดีตที่ปรึกษาประธานผู้ตรวจการแผ่นดิน ได้ทำหนังสือยื่นต่ออัยการสูงสุด (อสส.) เพื่อขอให้ดำเนินการตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 49 โดยส่งคำร้องให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัย กรณีการฮั้วเลือกตั้งสมาชิกวุฒิสภา (ฮั้วเลือก สว.) ซึ่งถือเป็นภัยร้ายแรงต่อการปกครองระบอบประชาธิปไตย เมื่อวันที่ 15 พ.ค.ที่ผ่านมา 

ล่าสุด นายศักดิ์เกษม นิโยคไทร ผู้ตรวจการอัยการ ในฐานะโฆษกสำนักงานอัยการสูงสุด กล่าวว่า ภายหลังได้รับคำร้องจากนายณฐพรแล้ว ทางอัยการสูงสุดได้ตั้งคณะทำงานมีรองอัยการสูงสุดทำหน้าที่เป็นหัวหน้าคณะทำงาน จะต้องทำการประชุมพิจารณาในรายละเอียด 

ทั้งนี้อาจจะต้องมีการเรียกนายณฐพรผู้ร้องมาให้ข้อมูลเพิ่มเติม หรือขอพยานหลักฐานเพิ่มเติม อย่างไรก็ตามในการพิจารณาจะต้องใช้ระยะเวลาในการตรวจสอบข้อมูลให้ละเอียดก่อน 
 

นายศักดิ์เกษม สำหรับการขอหลักฐานเพิ่มนั้น อาจจะต้องมีการตรวจสอบในส่วนที่ศาลรัฐธรรมนูญเคยยกคำร้องของนายณฐพรมาแล้วครั้งหนึ่งมาตรวจสอบด้วยว่า เป็นเรื่องกรณีเดียวกันหรือไม่ อย่างไรตนยังไม่สามารถให้รายละเอียดได้จะต้องมีการประชุมและพิจารณาคำร้อง 

"คาดว่าจะมีการประชุมภายในสัปดาห์หน้า หากมีมูลทางอัยการสูงสุดจะเป็นผู้ยื่นคำร้องต่อศาลรัฐธรรมนูญต่อไป แต่ทั้งนี้ต้องให้คณะทำงานได้พิจารณาคำร้องเสียก่อนเพื่อเสนออัยการสูงสุดพิจารณาต่อไป"
 

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ก่อนหน้านี้นายณฐพรเคยยื่นคำร้องต่อศาลรัฐธรรมนูญให้วินิจฉัยกรณีถูกละเมิดสิทธิและเสรีภาพตามรัฐธรรมนูญ จากคณะกรรมการการเลือกตั้ง (ผู้ถูกร้อง) ในการจัดการเลือกสมาชิกวุฒิสภา เมื่อปี 2567 ตั้งแต่เริ่มกระบวนการจนถึงการประกาศรับรองผลไม่เป็นไปตามรัฐธรรมนูญ กฎหมาย หลักนิติธรรม 

และกระทำการขัดหรือแย้งต่อรัฐธรรมนูญ ทำให้การเลือกสมาชิกวุฒิสภาเป็นไปโดยไม่สุจริตหรือเที่ยงธรรม มีผลกระทบอย่างรุนแรงต่อความสงบเรียบร้อยและศีลธรรมอันดีของประชาชนและต่อการปกครองระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข และ ไม่ชอบด้วยรัฐธรรมนูญ มาตรา 3 มาตรา 5 มาตรา 107 และมาตรา 108 มาแล้ว

โดยศาลรัฐธรรมนูญมีคำสั่งเมื่อวันที่ 9 เม.ย. 68 ที่ผ่านมาว่า นายณฐพรผู้ร้องอ้างว่าถูกละเมิดสิทธิหรือเสรีภาพตามรัฐธรรมนูญ ไม่ใช่บุคคลที่ถูกละเมิดสิทธิหรือเสรีภาพโดยตรง อันเกิดจากการกระทำของผู้ถูกร้อง และจากการพิจารณากฎหมายที่เกี่ยวข้องแล้ว สรุปได้ว่า ผู้ร้องไม่อาจยื่นคำร้องดังกล่าวตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 213 ได้ ดังนั้น ศาลรัฐธรรมนูญจึงมีมติเป็นเอกฉันท์ มีคำสั่งไม่รับคำร้องไว้พิจารณาวินิจฉัย จนมายื่นคำร้องอีกในครั้งนี้