ศึกหนัก ‘พรรคส้ม’ พ่ายท้องถิ่น ‘สส.แพแตก - คดี 44 สส.’ จุดพลิก

ศึกหนัก ‘พรรคส้ม’ พ่ายท้องถิ่น  ‘สส.แพแตก - คดี 44 สส.’ จุดพลิก

“ศึกหนัก” ที่พรรคส้มเผชิญอยู่ในเวลานี้ อาจทำให้ “คีย์แมนพรรคส้ม” ต้องขบคิดอย่างหนัก เพื่อวางเกมตั้งรับอุบัติเหตุการเมืองที่อาจเกิดขึ้นหลังจากนี้

KEY

POINTS

  • ศึก นายกเล็ก ด้วยบทเรียนในอดีต รวมถึงผลคะแนนที่ออกมา สะท้อนให้เห็นว่า “พรรคส้ม” ยังคงเจอโจทย์ยากในสนามท้องถิ่นที่ยังไม่สามารถตีฝ่า“กระแสบ้านใหญ่”ไปได้
  • ข่าวคราว “ดูด สส.” พรรคส้ม ที่เริ่มกลับมาอีกครั้งแน่นอนว่าภายใต้สภาวะที่บรรดาพรรคการเมือง กำลังเปิดเปิดฉากต่อรองชิงไหวชิงพริบ แถมนับวันจะยิ่งส่อแววไปสู่ “จุดแตกหัก” มากขึ้นทุกที ไม่ต่างจากกรณีความระส่ำระสายที่เกิดขึ้นในพรรคส้ม

  • ต้องจับตาภายใต้ “ศึกหนัก” ที่พรรคส้มเผชิญอยู่ในเวลานี้ อาจทำให้ “คีย์แมนพรรคส้ม” ต้องขบคิดอย่างหนัก เพื่อวางเกมตั้งรับอุบัติเหตุการเมืองที่อาจเกิดขึ้นหลังจากนี้      

ศึกหนัก “พรรคส้ม” โจทย์ใหญ่ ฝ่าขวากหนาม ไล่ตั้งแต่ “ศึกแรก” ผลเลือกตั้งสมาชิกสภาเทศบาล และนายกเทศมนตรีทั่วประเทศใน 76 จังหวัด จำนวน 2,469 แห่ง ที่รู้ผลแพ้ชนะกันไป เมื่อช่วงค่ำวันที่ 11 พ.ค.68 ที่ผ่านมา 

ส่องลึกในแต่ละพื้นที่ สะท้อนชัดถึงการเมืองฉบับ “บ้านใหญ่” ที่ยังคงเป็นต่อในสนามท้องถิ่น ตรงกันข้ามกับ “พรรคส้ม” ที่เจอโจทย์ยาก “กระแส” ยังขายไม่ได้

สนาม “นายกเล็ก” รอบนี้ พรรคประชาชน ส่งผู้สมัครเทศบาลนคร 15 แห่ง เทศบาลเมือง 27 แห่ง และเทศบาลตำบล 55 แห่ง รวม 97 แห่ง

ผลปรากฏว่า ในส่วนของนายกเทศมนตรีนคร พรรคประชาชนพ่ายหมดทั้ง 15 เทศบาล ขณะที่เทศบาลเมือง สามารถกำชัยได้ 4 ที่นั่ง แบ่งเป็น จ.นนทบุรี 2 ที่นั่ง คือเทศบาลเมืองบางกร่าง และเทศบาลเมืองบางศรีเมือง จ.สมุทรปราการ 1 ที่นั่ง คือเทศบาลเมืองปากน้ำ และ จ.ปทุมธานี 1 ที่นั่ง คือ เทศบาลเมืองบางคูวัด จ.ปทุมธานี

ส่วนเทศบาลตำบล พรรคประชาชนได้ 9 ที่นั่ง ประกอบด้วย เทศบาลตำบลเหมืองจี้ จ.ลำพูน เทศบาลตำบลสุวรรณคูหา จ.หนองบัวลำภู เทศบาลตำบลเก่ากลอย จ.หนองบัวลำภู เทศบาลตำบลสว่างแดนดิน จ.สกลนคร เทศบาลตำบลหนองแคน จ.มุกดาหาร เทศบาลตำบลโพนทราย จ.มุกดาหาร เทศบาลตำบลนาดี จ.สมุทรสาคร เทศบาลตำบลสำโรงเหนือ จ.สมุทรปราการ เทศบาลตำบลหนองตำลึง จ.ชลบุรี

ไม่นับรวมเทศบาลเมืองบางรักพัฒนา จ.นนทบุรี ที่มีการเลือกตั้งไปก่อนหน้านั้น ซึ่งพรรคประชาชนได้รับชัยชนะ 

หากย้อนไปเมื่อ 4 ปีที่แล้ว “ธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ” ในนามคณะก้าวหน้า ส่งผู้สมัครนายกเทศมนตรีนคร 11 เทศบาล ก็แพ้หมดเช่นกัน

แน่นอนว่า ด้วยบทเรียนในอดีต รวมถึงผลคะแนนที่ออกมา สะท้อนให้เห็นว่า “พรรคส้ม” ยังคงเจอโจทย์ยากในสนามท้องถิ่นที่ยังไม่สามารถตีฝ่า “กระแสบ้านใหญ่” ไปได้

ศึกหนัก ‘พรรคส้ม’ พ่ายท้องถิ่น  ‘สส.แพแตก - คดี 44 สส.’ จุดพลิก

หลังรู้ผลเลือกตั้ง แม้หัวหน้าเท้ง “ณัฐพงษ์” จะพูดในทำนองที่ว่า ยังเร็วเกินไปที่จะวิเคราะห์ถึงปัจจัยที่ทำให้แพ้หรือชนะ คงต้องรอผลอย่างเป็นทางการในอีก 1-2 วันก่อน

อย่างที่รู้กัน “กระแสพรรคส้ม” ที่ดูเหมือนสนามท้องถิ่นจะต่างกันลิบลับกับสนามใหญ่ มีการวิเคราะห์ไปถึงหลากหลายเหตุปัจจัย ไม่ว่าจะเป็นบริบทการเมืองที่ต่างกัน ความเสียเปรียบเนื่องจากไม่มีการ “เลือกล่วงหน้า” หรือ “เลือกตั้งนอกเขต” ทำให้ผู้ที่อาศัยนอกเขตเลือกตั้งซึ่งจำนวนไม่น้อยเป็นคนรุ่นใหม่ และเป็นฐานเสียงสำคัญของพรรคประชาชนไม่กลับไปใช้สิทธิในพื้นที่

ไม่ต่างจาก “ยุทธศาสตร์ท้องถิ่น” ของพรรคส้ม ซึ่งมีการวิเคราะห์ในแวดวงนักวิชาการในทำนองเดียวกันว่า  อาจเดินยุทธศาสตร์ที่ผิดพลาด ใช้วิธีการเดิมๆ คือเอาการเลือกตั้ง “ระดับชาติ” มาใช้กับ “ท้องถิ่น” เช่นการใช้กระแส “พิธา ลิ้มเจริญรัตน์” อดีตหัวหน้าพรรคประชาชน หรือ  “ธนาธร ” แกนนำคณะก้าวหน้า เป็นตัวชูโรง

ทั้งที่ในความเป็นจริง ไม่ว่าจะเป็นการเลือกตั้งในระดับเทศบาล หรือระดับอื่นๆ ในท้องถิ่น พอพื้นที่เล็กลง สิ่งสำคัญที่สุดคือ “ตัวบุคคล”

อีกหนึ่งปัจจัย ซึ่งถูกมองว่า “พรรคส้ม” อาจเดินยุทธศาสตร์ที่ผิดเป้าหมาย ส่วนหนึ่งอาจมีผลมาจาก หลายพื้นที่เปิดตัว “ผู้สมัคร” ล่าช้า ในขณะที่ “นักการเมือง เก่า” หรือ  “กลุ่มการเมืองเก่า”  มีเครือข่ายที่ลงไปถึงกรรมการชุมชน กรรมการหมู่บ้าน ไม่ต่างจากโครงการต่างๆ ที่มีเครือข่ายเป็นเครื่องไม้เครื่องมืออยู่แล้ว 

จุดนี้เองที่อาจเป็นโอกาสให้ “เครือข่ายบ้านใหญ่” ซึ่งมีทีมทำงานอยู่แล้วเป็นต่อในเรื่องดังกล่าว 

 

ศึกหนัก ‘พรรคส้ม’ พ่ายท้องถิ่น  ‘สส.แพแตก - คดี 44 สส.’ จุดพลิก

อีกหนึ่ง “ศึกหนัก” ที่พรรคส้มกำลังเผชิญ ในเวลานี้หนีไม่พ้น ข่าวคราว “ดูด สส.” พรรคส้ม ที่เริ่มกลับมาอีกครั้ง

แน่นอนว่าภายใต้สภาวะที่บรรดาพรรคการเมือง โดยเฉพาะ “ซีกรัฐบาล” กำลังเปิดฉากต่อรองชิงไหวชิงพริบ แถมนับวันจะยิ่งส่อแววไปสู่ “จุดแตกหัก” มากขึ้นทุกที

ไม่ต่างจากกรณีความระส่ำระสายที่เกิดขึ้นในพรรคส้ม ที่ว่ากันว่า สส.โซนภาคตะวันออกของพรรคประชาชน โดยเฉพาะในพื้นที่ จ.ชลบุรี ที่มีพรรคมี สส. 7 คน จากจำนวน สส.ชลบุรีทั้งหมด 10 คน เริ่มมี  “พรรคการเมืองซีกรัฐบาล” ติดต่อทาบทาม ไปร่วมงานเพื่อเปิดเกมต่อรองในซีกรัฐบาล 

ที่ชัดเจนคือ กรณีของ “กฤษฎิ์ ชีวะธรรมานนท์”  สส.ชลบุรี พรรคประชาชน ที่เตรียมไปร่วมงานกับพรรคกล้าธรรม โดยอ้างว่า ทัศนคติเข้ากับพรรค และสส.ของพรรคไม่ได้  อีกทั้งยังมีประเด็นการยื่นขอหารือบางประเด็นในสภาฯ ซึ่งพรรคมองว่าไม่เหมาะสม และมีการเรียกเข้าห้องเย็นไปพูดคุยทำความเข้าใจ จึงทำให้ “สส.กฤษฎิ์” ไม่พอใจ นำมาสู่จุดแตกหัก และขอยุติบทบาทในที่สุด 

เชื่อได้เลยว่า กรณีของ“สส.กฤษฎิ์" จะไม่ใช่กรณีสุดท้ายแน่นอน อย่าลืมว่า เวลานี้พรรคส้มกำลังเผชิญชะตากรรมในคดี “44 สส.พรรคก้าวไกล” ที่ร่วมลงชื่อแก้ไขประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112 ซึ่งถูกคาดหมายว่า อาจเกิดขึ้นในอีกไม่ช้าไม่นานหลังจากนี้ หากผลเป็นลบย่อมส่งผลให้แกนนำระดับ “หัวขบวน” รวมถึงสส.หายไปค่อนกระดาน 

จุดนี้เอง ที่อาจเข้าทางพรรคการเมืองบางพรรค ชิงโอกาส “ตีผึ้งสีส้ม” ให้แตกรัง เปิดโปรฯ ย้ายค่าย โดยมีการหยิบยกคดี 44 สส. ที่อาจทำให้ สส.ที่เหลืออยู่เกิดสภาวะ “เคว้งคว้าง” หากไร้ซึ่งแกนนำ มาเป็นเงื่อนไขต่อรอง 

ต้องจับตาภายใต้ “ศึกหนัก” ที่พรรคส้มเผชิญอยู่ในเวลานี้ อาจทำให้ “คีย์แมนพรรคส้ม” ต้องขบคิดอย่างหนัก เพื่อวางเกมตั้งรับอุบัติเหตุการเมืองที่อาจเกิดขึ้นหลังจากนี้

 

 

พิสูจน์อักษร....สุรีย์  ศิลาวงษ์