ผ่าเส้นเงิน พัน บิ๊กเนม-พรรคการเมือง กกต.ตั้ง 'คณะ26' สอบฮั้ว สว.

กกต.ตั้ง‘คณะ26’ไต่สวนฮั้ว สว. ผ่าเส้นทางการเงิน พัน “บิ๊กเนม-พรรคการเมือง จับตา กกต.นับหนึ่ง เรียก 60 สว. แจ้งข้อกล่าวหา
KEY
POINTS
- ปมฮั้วเลือก สว. ยิ่งสาวยิ่งลึก ข้อมูลเชิงลึกจาก ดีเอสไอ พบพัวพันไปถึง “นักการเมือง” ระดับบิ๊กเนม และมีความเชื่อมโยงไปยัง “พรรคการเมือง”
- โดยในสำนวนพบผู้อยู่เบื้องหลังมหกรรม ฮั้วเลือก สว. ประกอบด้วย นาย น. - นาย ช. - นาย ภ. - นาย ก. - นาย ธ. - นาย จ. – น.ส. น. - นาย ว.
- “ดีเอสไอ” ได้ส่งข้อมูลการสอบสวนไปยัง กกต. เมื่อวันที่ 17 มี.ค. ที่ผ่านมา โดย “กกต.” มีเดดไลน์ต้องดำเนินการสอบสวนให้แล้วเสร็จภายในเดือน มิ.ย.
ปมฮั้วเลือกสมาชิกวุฒิสภา (สว.) ยิ่งสาวยิ่งลึก ข้อมูลเชิงลึกจากการสอบสวนของกรมสอบสวนคดีพิเศษ (ดีเอสไอ) พบพัวพันไปถึง “นักการเมือง” ระดับบิ๊กเนม และมีความเชื่อมโยงไปยัง “พรรคการเมือง”
โดย “ดีเอสไอ” ได้ส่งข้อมูลการสอบสวนไปยังคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) เมื่อวันที่ 17 มี.ค. ที่ผ่านมา โดย “กกต.” มีเดดไลน์ต้องดำเนินการสอบสวนให้แล้วเสร็จภายในเดือน มิ.ย. เนื่องจากกฎหมายกำหนดกรอบเวลาตรวจสอบการทุจริตการเลือก สว. ให้แล้วเสร็จภายใน 1 ปี (เริ่มกระบวนการเลือก สว. เดือน มิ.ย. 2567)
มีกระแสข่าวว่าข้อมูลที่ “ดีเอสไอ” มั่นใจว่าจะสามารถเอาผิดขบวนการ ฮั้วเลือก สว. คือเส้นทางการเงิน ซึ่งพบความเชื่อมโยงของผู้ร่วมขบวนการหลายคน
โดยในสำนวนพบผู้อยู่เบื้องหลังมหกรรม ฮั้วเลือก สว. ประกอบด้วย นาย น. - นาย ช. - นาย ภ. - นาย ก. - นาย ธ. - นาย จ. – น.ส. น. - นาย ว. ซึ่งทั้งหมดมีความเชื่อมโยงกับ “พรรคการเมือง” และเป็นสัมพันธ์กับพรรคการเมืองเดียวกัน
สำหรับการตรวจสอบเส้นทางการเงิน พบว่ามีการโอนเงินเข้าบัญชีผู้ลงรับสมัคร สว. ในหลายพื้นที่ โดยเป็นการโอนเงินมาจากคณะทำงานของ สส. หรือโอนมาจากผู้ช่วย สส. หรือโอนมาจากเจ้าหน้าที่ศูนย์ประสานงานของพรรคการเมือง และบางส่วนโอนมาจาก “ข้าราชการ” ในพื้นที่ที่ช่วยลงรับสมัคร สว.
โดยตรวจสอบเส้นทางการเงินย้อนกลับขึ้นไป พบว่ามีการโอนเงินเข้ามาจากบุคคลที่เกี่ยวข้องทางการเมือง และพบเส้นทางการเงินของกลุ่มบุคคลที่รับผิดชอบการเลือก สว. คนละ 3-4 จังหวัด
นอกจากนี้ยังพบเส้นทางการเงินเชื่อมถึงนักการเมือง สส. ทั้งในอดีตและปัจจุบันของ “พรรคการเมือง” ซึ่งพื้นที่หลักอยู่ที่ อ่างทอง อยุธยา บึงกาฬบุรีรัมย์ สตูล และสุราษฎ์ธานี ถูกใช้เป็นจุดศูนย์กลางการจัดการ
ล็อกชื่อ 20 กลุ่ม - กลุ่มละ 6-8 คน
ผลการสอบสวนของ “ดีเอสไอ” ยังระบุอีกว่า สำหรับ 138 สว. และ 2 สว.สำรอง ที่มีชื่อเกี่ยวพันกับการฮั้วเลือก สว. จะถูกล็อกชื่อการเลือกระดับประเทศใน 20 กลุ่ม โดยแต่ละกลุ่มจะมี 6-7 ชื่อ เข้าไปดำรงตำแหน่ง สว.
โดยกลุ่มการบริหารราชการแผ่นดินและความมั่นคง มี 7 คน กลุ่มกฎหมายและกระบวนการยุติธรรม มี 7 คน กลุ่มการศึกษา มี 7 คน กลุ่มการสาธารณสุข มี 7 คน กลุ่มอาชีพทำนา ทำไร่ มี 7 คน กลุ่มอาชีพทำสวน เลี้ยงสัตว์ ประมง มี 8 คน
กลุ่มลูกจ้าง ผู้ใช้แรงงาน มี 7 คน กลุ่มผู้ประกอบอาชีพด้านสิ่งแวดล้อม อสังหาริมทรัพย์ พลังงาน มี 7 คน กลุ่มผู้ประกอบกิจการ SMEs มี 7 คน กลุ่มผู้ประกอบกิจการอื่น มี 7 คน
กลุ่มผู้ประกอบธุรกิจหรืออาชีพด้านการท่องเที่ยว มี 7 คน กลุ่มผู้ประกอบอุตสาหกรรม มี 7 คน กลุ่มผู้ประกอบอาชีพด้านวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี มี 7 คน กลุ่มสตรี มี 6 คน กลุ่มผู้สูงอายุ คนพิการหรือทุพพลภาพ กลุ่มชาติพันธุ์ กลุ่มอัตลักษณ์อื่น มี 7 คน
กลุ่มศิลปะ วัฒนธรรม ดนตรี การแสดงและบันเทิง นักกีฬา มี 7 คน กลุ่มประชาสังคม องค์กรสาธารณประโยชน์ มี 7 คน กลุ่มสื่อสารมวลชน นักเขียน มี 7 คน กลุ่มผู้ประกอบวิชาชีพ ผู้ประกอบอาชีพอิสระ มี 7 คน กลุ่มอื่น ๆ มี 7 คน
200 สว. มาจาก 64 จว.-13จว.ไร้สว.
สำหรับจังหวัดที่มี สว. มี 64 จังหวัด โดย บุรีรัมย์ มี สว.มากที่สุด 14 คน กทม. 9 คน พระนครศรีอยุธยา และสุรินทร์ จังหวัดละ 7 คน สงขลา สตูล และอ่างทอง จังหวัดละ 6 คน นครศรีธรรมราช เลย ศรีสะเกษ อำนาจเจริญ และอุทัยธานี จังหวัดละ 5 คน โดยทั้ง 12 จังหวัดข้างต้นมี สว. รวมกัน 80 คน คิดเป็น 40% จาก 200 คน
โดยมี 13 จังหวัด ที่ไม่มี สว. แม้แต่คนเดียว ประกอบด้วย กาฬสินธุ์ กำแพงเพชร ตาก นราธิวาส เพชรบูรณ์ มหาสารคาม แม่ฮ่องสอน ร้อยเอ็ด ลพบุรี สกลนคร สระแก้ว อุตรดิตถ์ และอุดรธานี
ปธ.กกต.ปัดข่าวแจ้งข้อกล่าวหา 60 สว.
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ในช่วงสาย วันที่ 7 พ.ค. มีรายงานข่าวว่า กกต. จะทยอยเรียกแจ้งข้อกล่าวหา สว. ล็อตแรกจำนวน 60 ราย ซึ่งส่วนใหญ่ล้วนเป็น สว.คนดัง ตามความผิดกฎหมายเลือกตั้ง พ.ร.ป.ว่าด้วยการได้มาซึ่งสมาชิกวุฒิสภา พ.ศ. 2561 ตามมาตรา 32 มาตรา 36 มาตรา 62 มาตรา 70 และมาตรา 77
โดยบุคคลที่จะถูกแจ้งข้อกล่าวหา ล้วนมีพฤติการณ์และพยานหลักฐานชัดเจนว่ากระทำความผิด ไม่ได้ถูกเลือกเป็น สว.โดยสุจริตเที่ยงธรรม หรือมาโดยการฮั้ว กระบวนการต่อจากนี้ สว.ที่ถูกแจ้งข้อกล่าวหาจะต้องเข้ารับทราบข้อกล่าวหากับ กกต. เพื่อชี้แจงแก้ข้อกล่าวหา เนื่องจาก กกต. เป็นระบบไต่สวน
ฉะนั้นหากเรียกมารับทราบข้อกล่าวหาแล้วไม่มาพบเจ้าหน้าที่ ก็ถือว่าประสงค์ไม่ให้การชี้แจง แต่จะไม่ถึงขั้นขอศาลออกหมายจับ โดยกกต.จะเป็นผู้ดำเนินการพิจารณาเรื่องการทุจริตเพื่อออกใบแดง และส่งเรื่องเพิกถอนสิทธิ สว. ไปยังศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง ต่อไป
ส่วนกรณีที่ดีเอสไอดำเนินการเรื่องความผิดคดีอาญาอื่น คือ ฐานฟอกเงินและอั้งยี่นั้น สำนวนนี้ดีเอสไอคือหัวเรือหลัก ในการสอบสวนบุคคลที่ร่วมกระทำทุจริต รับเงิน เป็นกลุ่มโหวตเตอร์ พลีชีพ จัดฮั้ว เบื้องต้นมีจำนวนหลายร้อยคน เมื่อสอบสวนเสร็จสิ้น ดีเอสไอต้องสรุปสำนวนส่งพนักงานอัยการคดีพิเศษ เพื่ออัยการส่งศาลอาญารัชดาภิเษก ฐานความผิดอาญานี้ ผู้ถูกกล่าวหาสามารถสู้ได้ถึง 3 ศาล คือ ศาลชั้นต้น อุทธรณ์ และศาลฎีกา
อย่างไรก็ตามในช่วงเย็น วันที่ 7 พ.ค. นายอิทธิพร บุญประคอง ประธาน กกต. ออกมาให้สัมภาษณ์ปฏิเสธกระแสข่าวดังกล่าว โดยกล่าวสั้นๆว่า “เรื่องนี้ไม่มีมูล ได้ยินแต่ข่าว”
กกต.สั่งตั้งคณะ26ไต่สวน
ขณะเดียวกันมีรายงานข่าวเพิ่มเติมว่า กกต.ได้มีคำสั่งแต่งตั้งคณะกรรมการสืบสวนและไต่สวน คณะที่ 26 ประกอบด้วยเจ้าหน้าที่ของสำนักงาน กกต. และเจ้าหน้าที่ของดีเอสไอ ร่วมกันดำเนินการไต่สวน กรณีมีการกล่าวหาการได้มาซึ่งสมาชิกวุฒิสภา
ขณะนี้อยู่ระหว่างการดำเนินการไต่สวนของคณะกรรมการสืบสวนและไต่สวน คณะที่ 26 ซึ่งเป็นขั้นที่ 1 ของการดำเนินการตามระเบียบคณะกรรมการการเลือกตั้งว่าด้วยการสืบสวน ไต่สวน และวินิจฉัยชี้ขาด พ.ศ. 2561 และที่แก้ไขเพิ่มเติมถึง (ฉบับที่ 5) พ.ศ. 2566
สำหรับกรณีถ้าการดำเนินการไต่สวนแล้วมีมูลหรือหลักฐานอันควรเชื่อได้ว่าอาจมี การกระทำความผิดตามข้อกล่าวหาดังกล่าว หรือฝ่าฝืนพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการได้มาซึ่งสมาชิกวุฒิสภา พ.ศ. 2561 จะมีการดำเนินการแจ้งข้อกล่าวหากับผู้ถูกกล่าวหาตามระเบียบคณะกรรมการการเลือกตั้งว่าด้วยการสืบสวน ไต่สวน และวินิจฉัยชี้ขาด พ.ศ. 2561 และที่แก้ไขเพิ่มเติมถึง (ฉบับที่ 5) พ.ศ. 2566 เพื่อให้โอกาสผู้ถูกกล่าวหาได้ชี้แจงข้อกล่าวหาดังกล่าว
โดยการดำเนินการของคณะกรรมการสืบสวนและไต่สวน คณะที่ 26 ยังอยู่ในขั้นที่ 1 เมื่อดำเนินการเสร็จแล้วจะเสนอสำนักงาน กกต. เลขาธิการ กกต. หรือรองเลขาธิการ กกต. ที่ได้รับมอบหมายพิจารณา ตามขั้นที่ 2 ต่อมาขั้นที่ 3 เสนอคณะอนุกรรมการวินิจฉัยชี้ขาดปัญหาหรือข้อโต้แย้ง และขั้นที่ 4 ซึ่งเป็นขั้นตอนสุดท้ายที่เสนอให้คณะกรรมการการเลือกตั้งพิจารณาชี้ขาดหรือสั่งการ
ดังนั้นข่าวที่ปรากฏ จึงคลาดเคลื่อนจากขั้นตอนตามระเบียบคณะกรรมการการเลือกตั้งว่าด้วยการสืบสวน ไต่สวน และวินิจฉัยชี้ขาด พ.ศ. 2561 และที่แก้ไขเพิ่มเติมถึง ( ฉบับที่ 5 ) พ.ศ. 2566