‘นิรโทษกรรม' ชนวนเสี่ยงแตกหัก 'เพื่อไทย' ไม่ชัด ปม 'ม.112'

‘นิรโทษกรรม' ชนวนเสี่ยงแตกหัก 'เพื่อไทย' ไม่ชัด ปม 'ม.112'

"พท." เลือกวางวาระ ร่างกม.นิรโทษกรรม ไว้เป็นเรื่องที่สภาฯ ต้องพิจารณาลำดับแรกๆ เมื่อเปิดสมัย ด้วยปม "คดี ม.112" ที่จุดยืนไม่ชัด เสี่ยงเป็นชนวนแตกหักในรัฐบาล

KEY

POINTS

Key Point :

  • พรรคเพื่อไทย เลือกวางเกม ให้ "ร่างพ.ร.บ.นิรโทษกรรม" เป็นวาระที่สภาฯ ต้องพิจารณาลำดับต้นๆเมื่อเปิดสมัยประชุม
  • ปฏิเสธไม่ได้ว่าเรื่องนี้ยังเห็นต่าง โดยเฉพาะในหมู่พรรคร่วมรัฐบาล
  • เพราะมีประเด็นละเอียดอ่อน คือ ล้างผิดให้กับคดีมาตรา 112 ที่ "สายอนุรักษ์นิยม" มองว่าไม่ควรได้นิรโทษกรรม เนื่องจากไม่ใช่ปมเหตุทางการเมือง
  • ขณะที่จุดยืน "พรรคเพื่อไทย" ต่อการนิรโทษกรรม คดีมาตรา 112 ยังไม่ชัดเจนและเลือกแทงกั๊ก อยู่ตรงกลางของ2ฝั่ง
  • จึงต้องจับตา การจุดชนวนขัดแย้งในสภาฯ ที่ลามไปถึงความมั่นคงของรัฐบาล "แพทองธาร ชินวัตร" ซึ่งส่อว่าจะถูกโดดเดี่ยวจากพรรคร่วมรัฐบาล

ก่อนปิดสมัยประชุมสภาผู้แทนราษฎร 10 เม.ย.2568 ที่ผ่านมา “พรรคเพื่อไทย” วางหมากการพิจารณาร่างกฎหมายในสภาฯ นอกจาก ร่าง พ.ร.บ.การประกอบธุรกิจสถานบันเทิงครบวงจร พ.ศ....หรือ เอนเทอร์เทนเมนต์คอมเพล็กซ์ ซึ่งเป็นกฎหมายนโยบายที่ไม่สามารถเข็นเข้าสู่ที่ประชุมสภาฯ ในวันสุดท้ายของสมัยประชุมได้ ตามไทม์ไลน์แล้ว

ยังมีกฎหมายการเมือง อีก 4 ฉบับที่เลื่อนลำดับให้พิจารณาถัดกันไป คือ กลุ่มกฎหมายว่าด้วยการนิรโทษกรรม ได้แก่ 

ร่างพ.ร.บ.สร้างเสริมสังคมสันติสุข พ.ศ... เสนอโดย วิชัย สุดสวาสดิ์ สส.ชุมพร พรรครวมไทยสร้างชาติ

ร่างพ.ร.บ.สร้างเสริมสังคมสันติสุข พ.ศ... เสนอโดย ปรีดา บุญเพลิง สส.บัญชีรายชื่อ พรรคกล้าธรรม เมื่อครั้งยังสังกัดพรรคครูไทยเพื่อประชาชนกับคณะ ที่รวมถึง พรรคประชาธิปัตย์ พรรคประชาชาติ พรรคประชาธิปไตยใหม่ 

ร่างพ.ร.บ.นิรโทษกรรมแก่บุคคลซึ่งได้กระทำความผิดเนื่องมาจากเหตุการณ์ความขัดแย้งทางการเมือง พ.ศ... เสนอโดย ชัยธวัช ตุลาธน อดีตหัวหน้าพรรคก้าวไกล ปัจจุบันคือ “พรรคประชาชน”

‘นิรโทษกรรม\' ชนวนเสี่ยงแตกหัก \'เพื่อไทย\' ไม่ชัด ปม \'ม.112\'

ร่างพ.ร.บ.นิรโทษกรรมประชาชน พ.ศ... เสนอโดยภาคประชาชน นำโดย พูนสุข พูนเจริญสุข กับประชาชนผู้มีสิทธิเลือกตั้ง 36,723 คน

เมื่อนับตามวาระประชุมเมื่อสภาฯ เปิดประชุม ปีที่ 3 สมัยสามัญประจำปีครั้งที่หนึ่ง ในวันที่ 3 ก.ค. 2568 หากไม่มีการแทรกวาระจาก  คณะรัฐมนตรี หรือเรื่องที่เร่งด่วนมากกว่า สภาฯต้องประชุมในวาระที่วางไว้ ย่อมเป็นการเปิดเวทีสภาฯเข้าสู่วาระร้อนทางการเมือง โดยเฉพาะกลุ่มร่างกฎหมายนิรโทษกรรม ที่ภาคส่วนของสังคมยังคงมีความขัดแย้ง เนื่องจากความเห็นต่างในประเด็นการนิรโทษกรรม คดีมาตรา 112 และคดีที่มีฐานจากการทุจริตทางการเมือง

สำหรับความเห็นต่างที่ว่านี้ ก่อนหน้านั้นเป็นต้นสายของเงื่อนไขทางการเมือง ที่ทำให้ “พรรคเพื่อไทย” ต้องจำใจตั้งรัฐบาลข้ามขั้วมาแล้ว

สำหรับฉบับของพรรครวมไทยสร้างชาติ กำหนดชัดเจน คือ นิรโทษกรรมให้ ผู้ที่เข้าร่วมชุมนุมทางการเมืองและการแสดงออกทางการเมือง ตั้งแต่ปี2548 - 2565” ที่ครอบคลุมการล้างโทษทางอาญาและทางแพ่ง พร้อมกับต้องให้การเยียวยาด้วย

ทั้งนี้ ได้กำหนดไว้อย่างชัดเจนต่อ “คดี” ที่จัดอยู่ในคดีการเมืองและต้องได้รับนิรโทษกรรม ตามฐานความผิดในกฎหมาย 12 ฉบับ อาทิ ตามประมวลกฎหมายอาญา ในความผิดกฎหมายมั่นคงของรัฐ ก่อการร้าย ความผิดต่อเจ้าพนักงาน ความผิดเกี่ยวกับความสงบสุขของประชาชน ความผิดต่อร่างกาย ต่อเสรีภาพ ความผิดฐานบุกรุก ตามความผิดประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง 

‘นิรโทษกรรม\' ชนวนเสี่ยงแตกหัก \'เพื่อไทย\' ไม่ชัด ปม \'ม.112\'

ทว่า การนิรโทษกรรมตามร่างกฎหมายของ “รวมไทยสร้างชาติ” กำหนดบทยกเว้นไม่ให้รวมถึง 1.ความผิดฐานทุจริต หรือประพฤติมิชอบ 2.ความผิดตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 112 และ 3.ความผิดที่ทำให้ผู้อื่นถึงแก่ความตาย หรือความผิดต่อส่วนตัว หรือการกระทำที่ต้องรับผิดชอบต่อบุคคลที่ไม่ใช่หน่วยงานรัฐเป็นการเฉพาะรายหรือเฉพาะกลุ่ม

ขณะที่ฉบับของ 4 พรรคการเมือง กำหนดให้นิรโทษกรรม คดีชุมนุมและการแสดงออกทางการเมือง ตั้งแต่ 19 ก.ย.2549- 30 พ.ย.2565 ทั้งความผิดทางอาญาและทางแพ่ง พร้อมกับให้ผู้นั้นพ้นจากการเป็นผู้ทำผิดและความรับผิดชอบโดยสิ้นเชิง ซึ่งจะได้รับการ “ล้างโทษ” โดยอัตโนมัติ รวมถึงคดีที่อยู่ระหว่างการสอบสวน การพิจารณาคดี และ กำหนดให้ปล่อยตัว บุคคลที่ได้รับการนิรโทษกรรม หากอยู่ระหว่างการรับโทษ

นอกจากนั้นแล้ว ในกรณีที่ “บุคคลที่ได้สิทธินิรโทษกรรม” ถูกยึด หรืออายัดทรัพย์ ร่างกฎหมายกำหนดให้ต้องคืนทรัพย์สินที่ยึดหรืออายัดโดยเร็ว หากเป็นคดีที่อยู่ระหว่างการบังคับคดีให้ยกเลิกการบังคับคดีนั้น

‘นิรโทษกรรม\' ชนวนเสี่ยงแตกหัก \'เพื่อไทย\' ไม่ชัด ปม \'ม.112\'

ทั้งนี้ การขีดเส้นนิรโทษกรรมของ “4 พรรค”นี้ จะไม่รวมถึง 1.ความผิดฐานทุจริตหรือประพฤติมิชอบ 2.ความผิดคดีมาตรา 112 และ 3.การกระทำที่ละเมิดสิทธิมนุษยชนร้ายแรง

ขณะที่ร่างกฎหมายฉบับของ “พรรคประชาชน” กำหนดให้นิรโทษกรรมคดีการเมือง ซึ่งรวมถึงการเดินขบวน การร่วมชุมนุม การแสดงความคิดเห็นที่ทำไปโดยมีมูลเหตุจูงใจทางการเมือง เท่าที่ไม่ขัดกับพันธกรณีตามกฎหมายระหว่างประเทศ ตั้งแต่ 11 ก.พ.2549 จนถึงวันที่พ.ร.บ.มีผลบังคับใช้

แต่ได้งดเว้นการนิรโทษกรรมให้กับ 1.เจ้าหน้าที่ของรัฐที่เกี่ยวข้องเหตุการณ์ชุมนุมประท้วง การสลายการชุมนุม ทั้งฐานะผู้สั่งการหรือผู้ปฏิบัติการ ในทุกขั้นตอน 2.การทำผิดต่อชีวิตตามประมวลกฎหมายอาญา เว้นเป็นการกระทำโดยประมาท 3.การทำผิดตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 113 คดีล้มล้างและกบฏ

ขณะที่ฉบับของ “ภาคประชาชน” กำหนดบทนิรโทษกรรมคดีการเมือง รวมถึงการพูด โฆษณา และการกระทำที่ต่อสู้ขัดขืนการดำเนินการของเจ้าหน้าที่รัฐ ที่สืบเนื่องจากการแสดงออกทางการเมือง ตั้งแต่ 19 ก.ย.2549 ถึงวันที่กฎหมายมีผลบังคับใช้ 

‘นิรโทษกรรม\' ชนวนเสี่ยงแตกหัก \'เพื่อไทย\' ไม่ชัด ปม \'ม.112\'

โดยกำหนดคดีความผิดที่ต้องได้รับการล้างผิด คือ 1.คดีความผิดตามประกาศและคำสั่ง คสช. หรือคำสั่งหัวหน้า คสช. 2.คดีพลเรือนที่ถูกศาลทหารดำเนินคดี ตามประกาศ คสช. ฉบับที่ 37/57 และประกาศ คสช. 38/58 3.คดีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 112 4.คดีความผิดตามพ.ร.ก.ฉุกเฉิน 5.คดีความผิดตามพ.ร.บ.ออกเสียงประชามติร่างรัฐธรรมนูญ พ.ศ.2559 และ 6.คดีตามฐานความผิดที่เกี่ยวโยงกับข้อ 1-5

‘นิรโทษกรรม\' ชนวนเสี่ยงแตกหัก \'เพื่อไทย\' ไม่ชัด ปม \'ม.112\'

ทั้งนี้ มีเงื่อนไขที่ไม่ “ล้างผิด” ให้กับเจ้าหน้าที่ของรัฐที่เกี่ยวข้องกับการชุมนุมทุกขั้นตอน รวมถึงความผิดตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 113 

นอกจากนั้นแล้ว ในส่วนของภาคประชาชนได้กำหนดรายละเอียดที่ฉบับอื่นๆ ไม่มี คือ ให้ลบประวัติอาชญากรรมของบุคคลใดได้รับสิทธินิรโทษกรรมตามกฎหมายออกไปด้วย

อย่างไรก็ดี ในเนื้อหาของร่างกฎหมาย ได้กำหนดกลไกที่จะทำหน้าที่พิจารณาว่า “บุคคลใด” ควรได้รับนิรโทษกรรมตามกฎหมายหรือไม่นั้น โดยร่าง พ.ร.บ.ทั้ง 4 ฉบับ เสนอใช้รูปแบบของ “คณะกรรมการ” พิจารณา ส่วนที่มาของคณะกรรมการนั้นมีข้อเสนอที่แตกต่างกัน 

ทั้งให้สิทธิ “ฝ่ายบริหาร” คือ “นายกฯ” เข้ามาทำหน้าที่ หรือให้ “รัฐมนตรีกระทรวงยุติธรรม” เป็นผู้เลือกกรรมการเข้ามาทำหน้าที่ นอกจากนั้นยังมีการเสนอโมเดล “ฝ่ายนิติบัญญัติ” อาทิ ประธานสภาฯ ผสมผสานกับ “คนในกระบวนการยุติธรรม-อัยการ” เข้ามาทำหน้าที่พิจารณา “ล้างผิดคดีการเมือง”

‘นิรโทษกรรม\' ชนวนเสี่ยงแตกหัก \'เพื่อไทย\' ไม่ชัด ปม \'ม.112\'

โดยในกระบวนการพิจารณา “นิรโทษกรรมคดีการเมือง” สภาฯยังคงเสียงแตกในเรื่องรายละเอียด โดยเฉพาะการล้างผิดที่รวมไปถึงคดี “112” รวมถึงเห็นต่างในรูปแบบของคณะกรรมการนิรโทษกรรม เพราะก่อนหน้านั้น สภาฯ เคยระดมความคิดเพื่อหาทางออก ผ่านกลไกของ “คณะกรรมาธิการวิสามัญพิจารณาศึกษาแนวทางการตราพ.ร.บ.นิรโทษกรรม” ที่มี “ชูศักดิ์ ศิรินิล” รัฐมนตรีประจำสำนักนายกฯ เป็นประธาน

ผลการศึกษาที่สส.ในสภาฯ รับทราบ คือ เห็นด้วยกับการนิรโทษกรรม เพื่อคลี่คลายความขัดแย้งทางการเมือง ภายใต้รูปแบบต่าง ๆ เช่น การออกกฎหมาย มีกลไกกรรมการนิรโทษกรรม แต่สส.เสียงข้างมาก 269 เสียง กลับไม่เห็นด้วยกับ “ข้อสังเกตของกรรมาธิการ” ที่แนบท้ายผลการศึกษา

โดยมีสส.เห็นด้วยแค่ 151 เสียง ซึ่งเป็นสส.ที่อยู่ในกลุ่มของพรรคประชาชน พรรคเป็นธรรม และพรรคไทยก้าวหน้า ร่วมกับสส.พรรคเพื่อไทย 11 คน ที่ลงมติเห็นด้วยเป็น “พิธี”

สะท้อนให้เห็นว่า เอาเข้าจริงแล้ว การนิรโทษกรรมยังคงมีความเห็นต่างกันในรายละเอียด รวมถึงในแง่ปฏิบัติที่มีข้อเสนอให้ “ฝ่ายบริหาร” ใช้กลไกที่มีอยู่ อำนวยความยุติธรรมให้กับผู้ที่ต้องคดีการเมือง ที่มีเหตุจูงใจทางการเมือง ทั้งการประกันตัว ปล่อยตัวชั่วคราว หรือ จัดหาทนายเพื่อสู้คดี 

ประเด็นที่นำไปสู่ความเห็นต่าง และยังไม่ยอมรับนั้น ผูกโยงเข้ากับ “ความผิดตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 112” ที่ พรรคการเมืองในสายอนุรักษนิยม อาทิ พรรคภูมิใจไทย รวมไทยสร้างชาติ พลังประชารัฐ ประชาชาติ ชาติไทยพัฒนา ชาติพัฒนา ไม่ยินยอมให้เกิดการล้างผิดอย่างแน่นอน

สำหรับพรรคเพื่อไทยในฐานะแกนนำพรรคร่วมรัฐบาลยังไม่มีท่าทีชัดเจนเกี่ยวกับการ “นิรโทษกรรม” ผู้กระทำผิด ม.112 ว่าจะวางเงื่อนไขอย่างไร ต้องไม่ลืมว่า “นายใหญ่” ทักษิณ ชินวัตร ยังมีชนักคดี ม.112 ติดตัวอยู่ด้วย

โดยในช่วงที่ตั้งคณะกรรมาธิการศึกษาแนวทางนิรโทษกรรม “พรรคประชาชน” พยายามกดดันให้ “พรรคเพื่อไทย” แสดงความชัดเจนเกี่ยวกับการนิรโทษกรรม คดี ม.112 แต่เพื่อไทยแทงกั๊ก โดยให้ยึดข้อสังเกตของ กมธ.ดังกล่าว ซึ่งเขียนในรายงานเพียงแค่ว่าคดี ม.112 เป็นคดีละเอียดอ่อน

ต้องยอมรับว่า “เพื่อไทย” มีฐานแฟนคลับจาก “คนเสื้อแดง” ซึ่งมีจุดยืนทางการเมืองค่อนข้างเข้มแข็ง หากเพื่อไทยไม่นิรโทษกรรมคดี ม.112 จะสูญเสียฐานแฟนคลับให้ “พรรคสีส้ม” ทันที จึงเป็นเดิมพันที่ต้องหาทางออกให้ได้

ฉะนั้น เมื่อเปิดสมัยประชุมสภาฯในวันที่ 3 ก.ค. 2568 แม้จะมีวาระร่างพ.ร.บ.การประกอบธุรกิจสถานบันเทิงครบวงจร พ.ศ.... ค้างเติ่งอยู่ แต่มีโอกาสเลื่อนการพิจารณาออกไปแบบไม่มีกำหนด หาก “บิ๊กรัฐบาล” เคลียร์ใจกันไม่ลงตัว รวมถึงการเดินสายพูดคุยของ “นายกฯแพทองธาร” ไม่สามารถสร้างความเข้าใจกับ “กลุ่มต้าน” ได้ โอกาสจะถูกหยิบมาพิจารณาทันที ย่อมมีน้อยลง

ดังนั้น วาระพิจารณา “นิรโทษกรรม” จะถูกเลื่อนขึ้นมาทันที ท่ามกลางสถานการณ์ความขัดแย้งในขั้วรัฐบาลที่ปรากฏให้เห็น โดยเฉพาะปมคดี ม.112 ที่ “เพื่อไทย” ถูกโดดเดี่ยวจากพรรคร่วมรัฐบาลด้วยกันเอง.