กมธ.เปิดคำชี้แจง สตง. ระบุ 'ไอทีดี-ไชน่า เรลเวย์' เสนอราคาต่ำสุด

กมธ.เปิดคำชี้แจง สตง. ระบุ 'ไอทีดี-ไชน่า เรลเวย์' เสนอราคาต่ำสุด

กมธ.เปิดคำชี้แจง สตง.สร้างตึกถล่ม พูดชัด 'ไอทีดี-ไชน่า เรลเวย์' เสนอต่ำสุด ตัวแทน สตง.ยืนยันไม่มีการแก้ไขโครงสร้างเสา ให้ขนาดเล็กลง

ที่รัฐสภา นายสัญญา นิลสุพรรณ ประธานคณะกรรมาธิการ (กมธ.) กิจการศาล องค์กรอิสระ องค์กรอัยการ รัฐวิสาหกิจ องค์การมหาชน และกองทุน สภาผู้แทนราษฎร แถลงผลการประชุม โดยมีวาระพิจารณา กรณีอาคารสำนักงานการตรวจเงินแผ่นดิน (สตง.) แห่งใหม่ถล่ม ขณะเกิดเหตุแผ่นดินไหว ว่า การประชุมในครั้งนี้ มีนายสุทธิพงษ์ บุญนิธิ และนางพิมพา วภักดิ์เพชร รองผู้ว่าฯ สตง.ซึ่งได้รับมอบหมายจากนายมณเฑียร เจริญผล ผู้ว่าการตรวจเงินแผ่นดิน เข้าร่วมประชุม พร้อมกับเจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้อง ชี้แจงข้อมูลต่อคณะ กมธ.

ทั้งนี้ในการประชุม คณะกมธ.ได้มีข้อซักถามถึงรายละเอียดเกี่ยวกับการดำเนินโครงการก่อสร้างอาคารสำนักงานแห่งใหม่ของ สตง. ตั้งแต่การออกแบบ การจัดหาผู้รับจ้างก่อสร้าง และการควบคุมงานก่อสร้าง รวมถึงประเด็นต่าง ๆ ที่ถูกวิพากษ์วิจารณ์ในสังคม

นอกจากนี้ ยังสอบถามถึงความคืบหน้าการตรวจสอบสาเหตุตึกถล่ม การกำหนดมาตรการป้องกันและแก้ไขปัญหา การให้ความช่วยเหลือผู้ประสบภัยและผู้ได้รับผลกระทบจากเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น

ได้รับการชี้แจงว่า สตง.มีการว่าจ้างตั้งแต่ขั้นตอนการออกแบบอาคารโดยบริษัท ฟอ-รัม อาร์คิเทค จำกัด และบริษัท ไมนฮาร์ท (ประเทศไทย) จำกัด วงเงิน 73 ล้านบาท

ประเด็นการออกแบบ คณะกมธ.ได้ตั้งข้อสังเกตว่า ได้ออกแบบให้ต้านทานแผ่นดินไหวตามที่กฎหมายกำหนดหรือไม่ โดยเห็นว่า ควรมีผู้เชี่ยวชาญด้านวิศวกรรมตรวจสอบการออกแบบ ว่าเป็นไปตามที่กฎหมายกำหนดหรือไม่

นอกจากนี้ได้สอบถามถึงการแก้ไขสัญญารวม 9 ครั้ง เนื่องจากปัญหาแบบงานโครงสร้างด้านวิศวกรรม ขัดกับงานสถาปัตยกรรม เช่น การแก้ไข Core Lift และการปรับแก้รูปแบบ Core Wall เป็นต้น โดยได้รับการชี้แจงว่า ทุกกรณีได้มีการหารือไปยังผู้ออกแบบทุกครั้ง

ผู้แทน สตง.ยืนยันว่า ไม่มีการแก้ไขโครงสร้างเสาให้มีขนาดเล็กลง และอาคารสำนักงานแห่งใหม่ มีความจำเป็น เนื่องจาก สตง.ไม่มีสำนักงานของตัวเอง ซึ่งตึกที่สร้างใหม่จะรองรับข้าราชการจำนวน 2,400 คน รวมถึงรองรับผู้แทนขององค์กรตรวจเงินแผ่นดินต่างประเทศด้วย

นอกจากนี้ ในประเด็นการก่อสร้าง คณะกมธ.ได้รับการชี้แจงจาก สตง.ว่า ได้จัดหาผู้รับจ้างตามพระราชบัญญัติการจัดซื้อจัดจ้างและบริหารพัสดุภาครัฐ พ.ศ. 2560 ด้วยวิธี E-bidding โดยผู้ชนะการประกวดราคาได้แก่ กิจการร่วมค้า ไอทีดี - ซีอาร์อีซี หรือ บริษัท อิตาเลี่ยนไทย ดีเวล๊อปเมนต์ จำกัด มหาชน และบริษัท ไชน่า เรลเวย์ นัมเบอร์ 10 ประเทศไทย จำกัด เนื่องจากเป็นผู้เสนอราคาต่ำสุด ด้วยวงเงิน 2,136 ล้านบาท

โดย สตง.ได้กำหนดในสัญญาจ้างให้ผู้รับจ้างก่อสร้างทำประกันภัยครอบคลุมวงเงินทั้งหมดของสัญญา ซึ่งในประเด็นการก่อสร้างอาคาร คณะกมธ.ได้ตั้งข้อสังเกตถึงการตรวจสอบคุณสมบัติ และความน่าเชื่อถือของบริษัทผู้ว่าจ้าง เพื่อป้องกันปัญหาการขาดสภาพคล่องทางการเงิน และปัญหาการทิ้งงาน

นอกจากนี้ ยังตั้งข้อสังเกตถึงคุณสมบัติวัสดุที่ใช้ในการก่อสร้าง เช่น คุณสมบัติของเหล็ก และคอนกรีต โดยตัวแทน สตง.ชี้แจงว่า เหล็กที่ใช้ในการก่อสร้างได้มาตรฐานอุตสาหกรรม(มอก.) และมีการทดสอบแรงดึง และการดัดโครงของเหล็ก ผ่านหลักเกณฑ์ที่กำหนด โดยผู้ออกแบบให้ความเห็นว่า สามารถนำมาใช้ในการก่อสร้างได้

ส่วนในประเด็นการคุมงาน พบว่ามีการว่าจ้างกลุ่มนิติบุคคลร่วมค้า PKW บริษัท พี เอ็น ซิงค์โครไนซ์ จำกัด เข้าร่วมค้ากับ บริษัท ว.และสหายคอนซัลแตนตส์ จำกัด และบริษัท เคพี คอนซัลแทนส์ แอนด์ แมเนจเม้นท์ จำกัด โดยวิธีการคัดเลือก คณะกมธ.ได้ตั้งข้อสังเกตถึงการควบคุมการก่อสร้างของบริษัทเพื่อควบคุมงานก่อสร้าง รวมทั้งสอบถามถึงความรับผิดชอบของบริษัทดังกล่าวด้วย