แกะรอยธุรกิจ ‘บจ.วอเตอร์เกท’ ญาติ ‘สันติ - เมีย’ พันปมขายตึก สปส. ?

ตัวละครที่น่าสนใจที่เกี่ยวข้องกับ “วอเตอร์เกท พาวิลเลี่ยน” คือ กัญญารัตน์ ทองแถม กรรมการ บริษัท โอเวอร์ซีฯ เป็นเครือญาติกับ “วันเพ็ญ พร้อมพัฒน์” ภริยา “สันติ พร้อมพัฒน์”
KEY
POINTS
- แกะรอย “วอเตอร์เกท พาวิลเลี่ยน” ธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ชื่อดัง
- พันปมรอยต่อซื้อตึก Skyy9 ช่วงปี 62 ก่อนขายต่อ Cas ปี 63
- พบ ‘สันติ’ เคยก่อตั้ง - ถือหุ้นถึงปี 44 ก่อนถอยหลบฉาก
- ตั้งแต่ปี 44 - ปัจจุบัน ยังมีคนในเครือข่ายธุรกิจ ‘พร้อมทวีสิทธิ์ - พร้อมพัฒน์’ อยู่
ประเด็นกองทุนประกันสังคม ของสำนักงานประกันสังคม (สปส.) นำเงินราว 1 หมื่นล้านบาท ไปตั้ง “กองทุนทรัสต์” โดย 3 พันล้านบาทไปลงทุนในต่างประเทศ อีกเฉียด 7 พันล้านบาท ไปซื้อ “บริษัท” ที่มีหนี้สินราว 2 พันล้านบาท เพื่อให้ได้มาซึ่งอาคาร Skyy9 บริเวณพระราม 9 ถ.อโศก-ดินแดง ซึ่งกลายเป็นเงื่อนปมร้อน อยู่ระหว่างการตรวจสอบในตอนนี้
กรุงเทพธุรกิจ นำเสนอไทม์ไลน์การซื้อขายอาคารดังกล่าวแล้วว่า อาคารดังกล่าวถูกสร้างช่วงปี 2540 กระทั่งเจอ “วิกฤติต้มยำกุ้ง” ทำให้การก่อสร้างอาคารไม่แล้วเสร็จ ถูกทิ้งร้าง และปล่อยให้เป็นหนี้เสียหรือ NPL ต่อมามีการซื้อขายเปลี่ยนมือกัน จนไปอยู่ในมือของ บริษัทบริหารสินทรัพย์ กรุงเทพพาณิชย์ จำกัด มหาชน (BAM)
หลังจากนั้นเมื่อปี 2561 BAM ขายต่อให้กับบริษัท วอเตอร์เกท พาวิลเลี่ยน จำกัด ด้วยวงเงินราว 1 พันล้านบาท และมีการนำมารีโนเวท เป็นตึก I.C.E. Tower ถัดมาในปี 2562 “วอเตอร์เกท” ขายต่อให้กับบริษัท แคส แคปปิตอล (ประเทศไทย) จำกัด ซื้อมารีโนเวท ภายใต้ชื่อใหม่ Cas Centre โดยทำการรื้อหรือทุบบางส่วนออก และทำใหม่ โดยเมื่อก่อสร้างแล้วเสร็จมีมูลค่าของตึกราว 2.2 พันล้านบาท และค่าที่ดินราว 1.5 พันล้านบาท รวมมูลค่าราว 3.7 พันล้านบาท ณ ช่วงเวลานั้น
โดยเงื่อนปมที่น่าสนใจคือ “วอเตอร์เกท” ซื้อตึกดังกล่าวมาในปี 2561 คล้อยหลังแค่ปีเดียวคือ ในปี 2562 ก็ขายต่อให้กับบริษัทลูกของ “แคส แคปปิตอลฯ” คือ บริษัท เอจีอาร์อี 101 จำกัด ด้วยวงเงินราว 2 พันล้านบาทเศษ และ “แคส แคปปิตอล” ได้ขายต่อให้ “กองทุนทรัสต์” สปส.เข้าไปลงทุนเฉียด 7 พันล้านบาท ก่อนจะเปลี่ยนชื่อเป็นอาคาร Skyy9 ในปัจจุบัน
“กองทุนทรัสต์” ที่อนุกรรมการที่ปรึกษาการลงทุนสินทรัพย์นอกตลาด ตัดสินใจใช้งบเฉียด 7 พันล้านบาทไปซื้อ “บริษัท” ซึ่งมีหนี้ราว 2 พันล้านบาท และได้อาคาร Skyy9 มาด้วยคือ บริษัท ไพร์ม ไนน์ เรียลเอสเตท จำกัด โดยมีบริษัท ไพร์ม เซเว่น จำกัด ผู้ถือหุ้นใหญ่ ขณะที่ผู้ถือหุ้นใหญ่สุดใน “ไพร์ม เซเว่น” คือ กองทรัสต์เพื่อกิจการเงินร่วมลงทุนไพร์ม แอสเซท โดย บริษัท หลักทรัพย์จัดการกองทุน กรุงไทย จำกัด (มหาชน) ในฐานะทรัสตี ซึ่งเป็นกองทุนของประกันสังคม
ทำความรู้จัก “วอเตอร์เกท พาวิลเลี่ยน” คือ หนึ่งในหลายธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ของคน ตระกูล “พร้อมพัฒน์” โดยบริษัทแห่งนี้ จดทะเบียนเมื่อ 23 ก.ย.2534 (เดิมชื่อ บริษัท บึงกุ่ม โฮมออฟฟิต จำกัด) ทุนปัจจุบัน 570 ล้านบาท ตั้งอยู่ที่ 463/8 ถนนราชปรารภ แขวงมักกะสัน เขตราชเทวี กรุงเทพมหานคร วัตถุประสงค์ การเช่า และดำเนินการเกี่ยวกับอสังหาริมทรัพย์ที่เป็นของตนเองที่ไม่ใช่ที่พักอาศัย
มีกรรมการ 2 รายคือ นายสสิน สธนวงศธร นางสาวอัจฉรา รัตนธนาสาร นำส่งรายชื่อผู้ถือหุ้นล่าสุดเมื่อ 15 ก.ค.2567 นางสาว อัจฉรา รัตนธนาสาร ถือหุ้นใหญ่สุด 99.9% บริษัท โอเวอร์ซี คอนสตรัคชั่น จำกัด ถือ 0.1% นำส่งงบการเงินล่าสุดเมื่อปี 2566 มีสินทรัพย์รวม 980,868,511 บาท หนี้สินรวม 413,833,694 บาท รายได้รวม 46,279,029 บาท รายจ่ายรวม 1,993,976 บาท ดอกเบี้ยจ่าย 43,750,000 บาท กำไรสุทธิ 535,052 บาท
ขณะที่ บริษัท โอเวอร์ซี คอนสตรัคชั่น จำกัด ผู้ถือหุ้นใน “วอเตอร์เกท พาวิลเลี่ยน” นั้น คือธุรกิจโฮลดิ้งอสังหาฯของตระกูล “พร้อมพัฒน์” โดยบริษัทแห่งนี้จดทะเบียนเมื่อ 26 ส.ค. 2503 ทุนปัจจุบัน 800 ล้านบาท ตั้งอยู่ที่ 567 ถนนราชปรารภ แขวงมักกะสัน เขตราชเทวี กรุงเทพมหานคร วัตถุประสงค์ ค้าที่ดิน และสิ่งปลูกสร้าง หรือที่ดินพร้อมสิ่งปลูกสร้าง
มีกรรมการ 2 รายคือ นางสาวกัญญารัตน์ ทองแถม (เครือญาตินางวันเพ็ญ พร้อมพัฒน์ (สกุลเดิม ทองแถม) ภริยานายสันติ พร้อมพัฒน์ อดีตรัฐมนตรีหลายสมัย นักการเมืองชื่อดัง พรรคพลังประชารัฐ) และนางสาวสมคิด แซ่โง้ว นำส่งรายชื่อผู้ถือหุ้นล่าสุดเมื่อ 30 เม.ย.2567 นางสาว กัญญารัตน์ ทองแถม ถือหุ้นใหญ่สุด 99% และนางสาว สมคิด แซ่โง้ว ถือ 1% นำส่งงบการเงินล่าสุดเมื่อปี 2566 มีสินทรัพย์รวม 2,241,696,602 บาท หนี้สินรวม 2,135,658,360 บาท รายได้รวม 69,216,391 บาท รายจ่ายรวม 58,282,217 บาท ดอกเบี้ยจ่าย 6,943,481 บาท กำไรสุทธิ 3,990,693 บาท
ตัวละครที่น่าสนใจที่เกี่ยวข้องกับ “วอเตอร์เกท พาวิลเลี่ยน” คือ 1.กัญญารัตน์ ทองแถม กรรมการ บริษัท โอเวอร์ซี คอนสตรัคชั่น จำกัด เป็นเครือญาติกับ “วันเพ็ญ พร้อมพัฒน์” ภริยา “สันติ พร้อมพัฒน์” พบว่า ก่อนหน้านี้ในอดีตเคยเป็นกรรมการ หรือผู้ถือหุ้นร่วมกับ “พิชัย พร้อมทวีสิทธิ์” เครือญาติ “สันติ พร้อมพัฒน์” (สกุลเดิม พร้อมทวีสิทธิ์) ในหลายบริษัท
เช่น บริษัท รัชดา มิลเลเนี่ยม ทาวเวอร์ จำกัด (ชื่อเดิม บริษัท เจ้าคุณอุตสาหกรรมและการเกษตร จำกัด) บริษัท โอเวอร์ซี คอนสตรัคชั่น จำกัด (ชื่อเดิม บริษัท ซีวิลคอนสตรัคชั่น จำกัด) บริษัท ซับเบิร์บ เอสเต็ท จำกัด (ชื่อเดิมบริษัท เทคนิคเชี่ยนออฟฟิซออโตเมชั่น จำกัด) บริษัท ไทย บอนเนต เทรดดิ้ง โซน จำกัด (ชื่อเดิมบริษัท สวนบึงกุ่ม จำกัด) บริษัท เอเชีย โลจิสติกส์ แอนด์ ทรานสปอร์ตไทย จำกัด (ชื่อเดิม บริษัท พร้อมอรุณ จำกัด) เป็นต้น
2.สสิน สธนวงศธร (เครือญาติ สุภาพัฒน์ สธนวงศธร น้องสาว “สันติ พร้อมพัฒน์”) กรรมการบริษัท วอเตอร์เกท พาวิลเลี่ยน จำกัด เคยเป็นกรรมการบริษัทในเครือธุรกิจ “พร้อมพัฒน์” หลายแห่ง โดยปัจจุบันเขายังเป็นกรรมการบริษัท อีอีซี กรีน อินดัสทรี่ จำกัด (ชื่อเดิม บริษัท ท่าเจ้าคุณ จำกัด) ก่อนหน้านี้มี “พิชัย พร้อมทวีสิทธิ์” เป็นกรรมการ ปัจจุบันมี สสิน สธนวงศธร เป็นกรรมการร่วมกับ พีรดา พร้อมทวีสิทธิ์ นอกจากนี้เขายังเป็นกรรมการบริษัท ไทยทรัค แอนด์ โลจิสติกส์ จำกัด (ชื่อเดิมบริษัท เมืองสวน จำกัด) ที่เคยมีพิชัย พร้อมทวีสิทธิ์ เป็นกรรมการ แต่ปัจจุบันไม่มีชื่อแล้ว เป็นต้น
เมื่อขุดลงไปให้ลึกกว่านั้นพบว่า “วอเตอร์เกท พาวิลเลี่ยน” ในช่วงก่อตั้งในชื่อ บริษัท บึงกุ่ม โฮมออฟฟิต จำกัด เมื่อปี 2534 เป็นต้นมา ปรากฏชื่อ “สันติ พร้อมทวีสิทธิ์” เป็นกรรมการ และผู้ถือหุ้นบริษัทแห่งนี้ด้วย โดยมี พ.ต.คล้าย นวพันธ์ อดีต สว.ถือหุ้นใหญ่ ต่อมาช่วงปี 2544 “สันติ พร้อมทวีสิทธิ์” และ พ.ต.คล้าย นวพันธ์ ได้ลาออกจากกรรมการ และผู้ถือหุ้นไป ส่วนนายสิทธิชัย พิริยะชัยวรกุล ซึ่งเป็นหนึ่งในผู้ร่วมก่อตั้ง และถือหุ้นบริษัทแห่งนี้ ได้แจ้งเปลี่ยนชื่อเป็น “สสิน สธนวงศธร”
ทั้งนี้ในรายชื่อผู้ถือหุ้นปี 2562 ซึ่งเป็นปีเดียวกับที่ขาย “อาคาร” ดังกล่าวให้แก่ “แคส แคปปิตอล” พบว่า น.ส.เรณู ป่างศรี แจ้งมีอาชีพ “รับจ้าง” แจ้งที่อยู่ 463/8 ถ.ราชปรารถ แขวงมักกะสัน เขตราชเทวี กทม. (ที่ตั้งเดียวกับ “วอเตอร์เกทฯ”) ถือหุ้นใหญ่สุด 2.5 ล้านหุ้น มีบริษัท บางซื่อ จำกัด ถือ 1.55 ล้านหุ้น บริษัท บางรัก จำกัด ถือ 8.5 แสนหุ้น โดยบริษัท บางซื่อ และบางรัก คือธุรกิจของตระกูล “พร้อมทวีสิทธิ์”
ต่อมาเมื่อขายอาคารดังกล่าวไปแล้ว ได้แจ้งบัญชีผู้ถือหุ้นในปี 2563 ปรากฏชื่อ น.ส.เรณู ป่างศรี ถือหุ้นใหญ่สุด 4,890,000 หุ้น นายสสิน สธนวงศธร ถือ 10,000 หุ้น และ น.ส.อัจฉรา รัตนธนาสาร 5.1 ล้านหุ้น โดยไม่มีบริษัท บางซื่อ และบางรัก ถือหุ้นอีกแล้ว
ขณะที่ น.ส.เรณู ป่างศรี ก่อนหน้านี้เคยถือหุ้นในธุรกิจของคนตระกูล “พร้อมทวีสิทธิ์-พร้อมพัฒน์” หลายแห่ง เท่าที่ปรากฎสาธารณะ เช่น บริษัท รัชดา มิลเลเนี่ยม ทาวเวอร์ จำกัด (เดิมชื่อ บริษัท เจ้าคุณอุตสาหกรรมและการเกษตร จำกัด) ซึ่งบริษัทแห่งนี้เคยปรากฎเป็นหนึ่งใน “ลูกหนี้” กู้ยืมเงิน 160.2 ล้านบาท โดยทำรูปตั๋วสัญญาใช้เงินลงวันที่ 22 ก.พ. 2543 คิดดอกเบี้ยร้อยละ 15 ต่อปี กับคุณหญิงพจมาน ดามาพงศ์ ในบัญชีแสดงรายการทรัพย์สินและหนี้สินของ “ทักษิณ ชินวัตร” เมื่อครั้งรับตำแหน่งนายกฯครั้งแรกปี 2544 นอกจากนี้เมื่อปี 2566 น.ส.เรณู เคยเป็นผู้บริจาคเงินให้พรรคพลังประชารัฐ (พปชร.) 10 ล้านบาทด้วย
ดังนั้นข้อเท็จจริงจากกรมพัฒนาธุรกิจการค้าข้างต้น บ่งชี้ว่า “วอเตอร์เกท พาวิลเลี่ยน” คือ ธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ของคนตระกูล “พร้อมทวีสิทธิ์” (สกุลเดิมของ สันติ พร้อมพัฒน์) ซึ่งเข้ามาเกี่ยวข้องในช่วงรอยต่อกระบวนการซื้อขายอาคาร ที่ต่อมาคือ Skyy9 ที่ สปส.ตั้งกองทุนควักงบเฉียด 7 พันล้านบาท ได้มาในปี 2565
อย่างไรก็ดี “วอเตอร์เกท พาวิลเลี่ยน” ยังมิได้ถูกกล่าวหา หรือถูกร้องเรียน ในประเด็นเกี่ยวกับการลงทุนซื้ออาคาร Skyy9 ใน ปัจจุบันแต่อย่างใด
พิสูจน์อักษร....สุรีย์ ศิลาวงษ์