เปิดชีวิต 'ผู้คุม' ในเรือนจำ ฆ่าตัวตายสูงกว่านักโทษ 13 เท่า

เปิดชีวิต 'ผู้คุม' ในเรือนจำ ฆ่าตัวตายสูงกว่านักโทษ 13 เท่า

อดีตรองอธิบดีกรมคุก เปิดสถิติ ผู้คุมฆ่าตัวตาย สูงกว่านักโทษ 13 เท่า ชีวิตเสี่ยงอันตราย เมตตาผู้ต้องขังกลายเป็นสปอย เข้มงวด คือโหดร้าย

13 มี.ค.68 จากกรณีการเสียชีวิต พ.ต.อ.ธิติสรรค์ อุทธนผล หรืออดีต ผกก.โจ้ ในเรือนจำ อยู่ระหว่างการสอบสวนของเจ้าหน้าที่ตำรวจ ถึงสาเหตุการเสียชีวิต 

ล่าสุดนายกฤช กระแสร์ทิพย์ อดีตรองอธิบดีกรมราชทัณฑ์ ใช้พื้นที่เฟซบุ๊กส่วนตัว ให้ข้อมูลการฆ่าตัวตาย โดยยกสถิติปี 2567 มีคนไทยฆ่าตัวตาย 7.9 คนต่อประชากร 1 แสนคน มีผู้ต้องขังฆ่าตัวตาย 3.4 คน ต่อประชากรผู้ต้องขัง 1 แสนคน และมีผู้คุมฆ่าตัวตาย 43 คน ต่อประชากรผู้คุม 1 แสนคน

“แทบไม่น่าเชื่อเลยว่า ชาวราชทัณฑ์ดูแลสุขภาพจิตผู้ต้องขังได้ดีกว่าภายนอกเสียอีก อัตราการฆ่าตัวตายของผู้ต้องขัง ต่ำกว่าภายนอกถึงครึ่งต่อครึ่ง นี่มันสุดยอดฝีมือ ระดับมือเทวดาเลยนะ "ผู้คุม"เขาดูแลคุกอย่างไร ให้คนข้างในฆ่าตัวตายน้อยมาก แต่พอมาดูอัตราการฆ่าตัวตายของผู้คุม มีอัตราส่วนฆ่าตัวตายมากกว่าผู้ต้องขังถึง 13 เท่า มันเกิดอะไรขึ้น”

นายกฤช ระบุต่อว่า คุณรู้มั้ยว่า ผู้คุมถูกกดดันจากอะไรบ้าง? ผมคลุกคลีกับคุกมาตั้งแต่ปี 2539  มีประสบการณ์การทำหน้าที่ ผู้บัญชาการเรือนจำ 9 แห่ง ระยะเวลา 20 ปี  อยากจะเล่าให้ฟังถึงสภาพการทำงาน งานราชทัณฑ์มีลักษณะ  3 D 2 L

D 1 (Difficult) งานเรามันยาก ต้องควบคุมคนที่มีปัญหา เป็นภัยอันตราย สังคมไม่เอา แต่เราต้องอยู่ดูแลคนเหล่านี้ 24 ชั่วโมง มดไม่ให้ไต่ ไรไม่ให้ตอม ต้องมีกฎหมายที่เกี่ยวข้องหลายฉบับ ทั้งกฎหมายอาญา กฎหมายราชทัณฑ์ กฎหมายป้องกันการทรมาน กฎหมายรัฐธรรมนูญในส่วนที่ว่าด้วยสิทธิมนุษยชน ต้องปฏิบัติให้เป็นไปตามปฎิญญาสากลด้วยการปฏิบัติต่อผู้ต้องขัง ปฏิบัติตาม Mandella rules  ปฏิบัติตาม Bangkok rules

นอกจากนั้น สังคมก็คาดหวังสูงมาก ถึงชั่วช้ามาแค่ไหน แต่ปล่อยออกไป ต้องเป็นคนดีนะ พอเมตตาผู้ต้องขังมาก ก็หาว่า spoil โอ๋นักโทษ แล้วแบบนี้เมื่อไรมันจะหลาบจำเกรงกลัวคุก แต่ถ้าหากผู้ต้องขังดื้อด้าน ผิดวินัย ไม่เกรงกลัว พอเราใช้วิธีการเข้มงวด เคร่งครัด ถึงเนื้อถึงตัว ก็หาว่าป่าเถื่อน โหดร้าย ไร้มนุษยธรรม

D 2 (Dangerous) งานราชทัณฑ์มีความเสี่ยงภัยอันตราย เหมือนคนเลี้ยงเสือ แม้จะเลี้ยงด้วยความเมตตา แต่วันดีคืนดี ก็ถูกเสือตะปบทำร้าย ไหนจะโรคภัยไข้เจ็บที่ติดจากผู้ต้องขัง ไหนจะสภาพอดหลับอดนอน เข้าเวรยาม จนสุขภาพย่ำแย่ เช้ามาออกเวร ก็ต้องรีบกลับบ้าน เวลา 09.30 น. ก็ต้องรีบมาปฏิบัติหน้าที่ปกติ

D 3 (Dirty) สภาพในเรือนจำมันไม่น่าอภิรมย์ นึกภาพกำแพงสูงทะมึน ไม่เห็นโลกภายนอก มีซี่กรง มีโซ่ตรวน ตัดขาดการสื่อสารจากภายนอกขณะเข้าทำงาน จะเล่นไลน์ เล่นเฟส ทำไม่ได้ ต้องคอยเฝ้าระวัง อย่าให้เกิดเหตุร้าย ผู้ต้องขังก็ดูเครียด หม่นหมอง ไม่มีอะไรเจริญหูเจริญตา ผู้คุมต้องทนอยู่กับสิ่งเหล่านี้ชั่วนาตาปี ตกเย็นมา จึงต้องพึ่ง L กฮ.

L 1 (Low Dignity) เกียรติภูมิของคนราชทัณฑ์ เมื่อเทียบกับผู้พิพากษา อัยการ ตำรวจ ซึ่งอยู่ในกระบวนการยุติธรรมด้วยกัน เราจะถูกมองว่า ด้อยกว่าเขาทั้งหมด

L 2 (Low Salary) เงินเดือนของผู้คุมไทย นับว่าต่ำมาก เมื่อเทียบกับคนที่ทำงานในกระบวนการยุติธรรม ทั้งที่เวลาส่วนใหญ่ของเรานั้นอยู่ในคุก แทบไม่ต่างจากผู้ต้องขัง ระยะหลังดีขึ้นหน่อย มีค่าเสี่ยงภัยมาช่วยบรรเทาความเดือดร้อน ผู้คุมจึงเป็นหนี้สหกรณ์กันถ้วนหน้า     

นายกฤช ระบุอีกว่า ผู้คุมยังต้องทนทุกข์ใจ หากมีเรื่อง ความรับผิดชอบทางครอบครัว เช่น พ่อแม่ลูกเมียป่วยไข้ แต่ไปดูแลไม่ได้ เพราะต้องไปเฝ้าผู้ต้องขังป่วยที่โรงพยาบาล หาเวรออกไม่ได้ ส่วนในวันหยุดยาว จะพาลูกไปกราบปู่ตาย่ายายก็ไม่ได้ ต้องไปหลังหยุดยาว โดยลาพักผ่อน และหาจ้างเวรแทน 1-2 พัน แล้วแต่เทศกาล    
    
ไม่นับรวม เรื่องความรัก ความสัมพันธ์ฉันท์คู่ผัวตัวเมียอีก ผัวเป็นผู้คุม เมียก็ผู้คุม หรือผัวผู้คุม เมียพยาบาล ทุกคนต่างมีเวรต้องเข้า ผัวหนุ่มเมียสาว ตั้งใจจะผลิตทายาทไว้สืบตระกูล ก็ดันเข้าเวรตรงกันอีก บางทีผัวเข้า เมียออก ได้แค่จับมือสบตาละห้อยกันตรงประตู ปัญหาครอบครัว ปัญหาเตียงหัก จึงเกิดขึ้นได้บ่อย ๆ

“แสนจะอาภัพ โหดร้าย หดหู่ ชีวิตผู้คุมไทย ค่าเวร  400 บาท นี่ปรับเป็น 1,000 บาท เท่ากับค่าเวรเจ้าหน้าที่ออกหมายของศาลในวันหยุดได้แล้วครับ”