เปิด 13 ชื่อ - 2 ตัวละครลับนั่งอนุฯ สปส. ก่อนถูกโยงซื้อตึก 7 พันล้าน

เปิด 13 ชื่อ - 2 ตัวละครลับนั่งอนุฯ สปส. ก่อนถูกโยงซื้อตึก 7 พันล้าน

โชว์เอกสาร สปส.ตั้ง 13 อนุกรรมการที่ปรึกษาลงทุนสินทรัพย์นอกตลาด 2 ตัวละครลับ ‘นาย ธ. - นายรู’ อยู่ด้วย ก่อนไฟเขียวลงทุนเฉียด 7 พันล้านซื้อ ‘เอกชน’ มีหนี้ 2 พันล้านได้ตึก Skyy9

กรุงเทพธุรกิจ นำเสนอข้อมูลเกี่ยวกับการใช้งบประมาณของกองทุนประกันสังคมของสำนักงานประกันสังคม (สปส.) นำงบประมาณราว 1 หมื่นล้านบาท จัดตั้ง “กองทุนทรัสต์” เพื่อลงทุนสินทรัพย์นอกตลาด โดยใช้เงินเฉียด 7 พันล้านบาท นำไปซื้อ “บริษัท” ที่มีหนี้สินราว 2 พันล้านบาท เพื่อได้มาซึ่งอาคาร Skyy9 บริเวณพระราม 9 ถนนอโศก-ดินแดง โดยมีข้อครหาว่า การลงทุนซื้ออาคารแห่งนี้ ส่อเอื้อประโยชน์ให้ใครหรือไม่

โดย 2 สส.พรรคประชาชน (ปชน.) นำโดย รักชนก ศรีนอก สส.กทม. และสหัสวัต คุ้มคง สส.ชลบุรี เปิดโปงว่า ขั้นตอนที่ “กองทุนทรัสต์” ของกองทุนประกันสังคมไปซื้อ “บริษัท” แห่งนี้เมื่อปี 2565 นั้น มี “บิ๊กเนมการเมือง” โยกย้าย “เด็กหน้าห้อง” ของ “อดีตรัฐมนตรี” เพื่อนั่งในอนุกรรมการที่ปรึกษาการลงทุนสินทรัพย์นอกตลาด สปส. ก่อนที่ไม่นานอนุกรรมการ ชุดนี้จะเคาะเงินลงทุนซื้อ “บริษัท” ดังกล่าว

ขณะที่ 2 ตัวละครสำคัญที่ถูกโยงว่าเกี่ยวข้องกับเรื่องนี้คือ “นาย ธ.” และ “นายรู” นั้น กรุงเทพธุรกิจ ตรวจสอบพบแล้วว่าคือ "ธีระวิทย์ วงศ์เพชร” อดีตคณะทำงานที่ปรึกษา รมว.แรงงาน (สุชาติ ชมกลิ่น) ปัจจุบันยังคงเป็นคณะทำงานที่ปรึกษา รมว.แรงงาน (พิพัฒน์ รัชกิจประการ) โดยเขายืนยันว่า ถูกเสนอจากบอร์ดใหญ่ประกันสังคมให้เข้าไปนั่งเป็นอนุกรรมการที่ปรึกษาการลงทุนสินทรัพย์นอกตลาดจริง แต่ไม่มีอำนาจหรือบทบาทในการตัดสินใจ เพียงแค่เข้าไปร่วมประชุม เพื่อรับฟัง และรับทราบการลงทุนเท่านั้น

เปิด 13 ชื่อ - 2 ตัวละครลับนั่งอนุฯ สปส. ก่อนถูกโยงซื้อตึก 7 พันล้าน

ส่วน “นายรู” คือ “ธีระพันธุ์ พืชผล” ที่ปรึกษา (ฝ่ายแรงงาน) สำนักงานแรงงานในประเทศสิงคโปร์ โดย “ธีรพันธุ์” เคยมีตำแหน่งเป็นนักวิชาการแรงงานชำนาญการ กองบริหารการลงทุน สปส. โดยเข้าไปเป็นอนุกรรมการ และผู้ช่วยเลขานุการ ในอนุกรรมการที่ปรึกษาการลงทุนสินทรัพย์นอกตลาด

เมื่อ 12 มี.ค.ที่ผ่านมา ผู้สื่อข่าวพยายามติดต่อไปยังสำนักงานแรงงานในสิงคโปร์ เพื่อต้องการสอบถามข้อเท็จจริง “ธีระพันธุ์ พืชผล” ตามเบอร์ติดต่อ 65 6224 9940 และ 65 6224 1797 แต่ไม่สามารถติดต่อได้ ดังนั้น คงต้องรอเขาชี้แจงข้อเท็จจริงที่เกิดขึ้นอีกครั้ง

เบื้องต้น “สุชาติ ชมกลิ่น” อดีต รมว.แรงงาน (ปัจจุบันเป็น รมช.พาณิชย์) แถลงต่อสื่อ และให้สัมภาษณ์ผ่านหลายรายการ ยืนยันข้อเท็จจริงตรงกันว่า ไม่มีส่วนเกี่ยวข้องในดีลการซื้ออาคาร Skyy9 และไม่เคยส่ง “หน้าห้อง” ไปเป็นหนึ่งในอนุกรรมการที่ปรึกษาสินทรัพย์นอกตลาด ซึ่งมีส่วนตัดสินใจในการลงทุนต่างๆ แต่อย่างใด

ขณะที่ “กองทุนทรัสต์” ที่อนุกรรมการที่ปรึกษาการลงทุนสินทรัพย์นอกตลาด ตัดสินใจใช้งบเฉียด 7 พันล้านบาทไปซื้อ “บริษัท” ซึ่งมีหนี้ราว 2 พันล้านบาท และได้อาคาร Skyy9 มาด้วยนั้น กรุงเทพธุรกิจ พบแล้วว่าคือ บริษัท ไพร์ม ไนน์ เรียลเอสเตท จำกัด โดยมีบริษัท ไพร์ม เซเว่น จำกัด ผู้ถือหุ้นใหญ่ ขณะที่ผู้ถือหุ้นใหญ่สุดใน “ไพร์ม เซเว่น” คือ กองทรัสต์เพื่อกิจการเงินร่วมลงทุนไพร์ม แอสเซท โดยบริษัทหลักทรัพย์จัดการกองทุน กรุงไทย จำกัด (มหาชน) ในฐานะทรัสตี ซึ่งเป็นกองทุนของประกันสังคม

เปิด 13 ชื่อ - 2 ตัวละครลับนั่งอนุฯ สปส. ก่อนถูกโยงซื้อตึก 7 พันล้าน

ข้อเท็จจริงนี้ ตรงกับที่แหล่งข่าวจาก สปส.เปิดเผยว่า กองทุนประกันสังคม ลงทุนโดยซื้อหน่วยทรัสต์ ลักษณะเดียวกับหน่วยลงทุนของกองทุน โดยกองทรัสต์จะนำเงินที่ระดมทุนได้ ไปซื้อสินทรัพย์ตามนโยบาย แผนการลงทุนที่กองทุนกำหนด โดยในกรณีของอสังหาริมทรัพย์ อาจเป็นการลงทุนตรงในทรัพย์นั้น หรือลงทุนโดยอ้อม ผ่านการถือหุ้นของ Clean Company ซึ่งเป็นเจ้าของกรรมสิทธิ์ของทรัพย์นั้น โดย Clean Company นั้นปราศจากภาระผูกพัน ทั้งในแง่ของหนี้สิน และสัญญาต่างๆ ในส่วนนี้ทรัสต์ที่สำนักงานประกันสังคมถือหน่วยลงทุนอยู่ใช้วิธีโดยอ้อมในการเข้าซื้อ Clean Company เพื่อประหยัดค่าใช้จ่าย และเกิดความคล่องตัว

อ่านข่าว:

เจาะไทม์ไลน์ 2 ‘ตัวละครลับ’ พันปม สปส. ลงทุนซื้อตึก 7 พันล้าน

สนง.ประกันสังคม แจงปมซื้อตึก7พันล้าน รมต.ไร้อำนาจก้าวล่วงลงทุน

แต่สิ่งที่หลายคนอาจอยากทราบคือ อนุกรรมการที่ปรึกษาการลงทุนสินทรัพย์นอกตลาด ซึ่งมีบทบาทสำคัญในการตัดสินใจลงทุนเฉียด 7 พันล้านบาท ดังกล่าว มีใครกันบ้าง กรุงเทพธุรกิจ นำมาเสนอดังนี้

เมื่อวันที่ 1 ส.ค.2565 นายบุญชอบ สุทธมนัสวงษ์ ปลัดกระทรวงแรงงาน ในฐานะประธานกรรมการประกันสังคม ได้ลงนามคำสั่งคณะกรรมการประกันสังคม (บอร์ดประกันสังคม) ที่ 10/2565 เรื่อง แต่งตั้งคณะอนุกรรมการที่ปรึกษาการลงทุนสินทรัพย์นอกตลาด กองทุนประกันสังคม

ด้วยบอร์ดประกันสังคม (ชุดที่ 13) มีมติในการประชุม ครั้งที่ 12/2565 เมื่อวันที่ 26 ก.ค.2565 เห็นชอบให้แต่งตั้งคณะอนุกรรมการที่ปรึกษาการลงทุนสินทรัพย์นอกตลาด กองทุนประกันสังคม อาศัยอำนาจตามความในมาตรา 16 แห่ง พ.ร.บ.ประกันสังคม 2533 บอร์ดประกันสังคม จึงแต่งตั้งคณะอนุกรรมการที่ปรึกษาการลงทุนสินทรัพย์นอกตลาด กองทุนประกันสังคม ประกอบด้วย 13 คนได้แก่

  1. นางเกศรา มัญชุศรี ประธานอนุกรรมการ
  2. เลขาธิการ สำนักงานประกันสังคม อนุกรรมการ (นายบุญสงค์ ทัพชัยยุทธ์ เป็นเลขาธิการ สปส.)
  3. ผู้แทนกรมธนารักษ์ อนุกรรมการ
  4. ผู้แทนสำนักงานอัยการสูงสุด อนุกรรมการ
  5. ผู้แทนตลาดหลักทรัพย์ เอ็ม เอ ไอ อนุกรรมการ
  6. นายโกวิทย์ คันธาภัสระ ผู้ทรงคุณวุฒิด้านการลงทุนโครงสร้างพื้นฐาน อนุกรรมการ
  7. นายณัฐกิตติ์ ตั้งพูลสินธนา ผู้ทรงคุณวุฒิด้านการพัฒนาธุรกิจ อนุกรรมการ
  8. นายสมพล ตรีภพนารถ ผู้ทรงคุณวุฒิด้านการลงทุนอสังหาริมทรัพย์ อนุกรรมการ
  9. นายพจน์ อร่ามวัฒนานนท์ ผู้แทนฝ่ายนายจ้าง อนุกรรมการ
  10. นายธีระวิทย์ วงศ์เพชร ผู้แทนฝ่ายผู้ประกันตน อนุกรรมการ
  11. ผู้อำนวยการกองบริหารการลงทุน สปส. อนุกรรมการและเลขานุการ
  12. ผู้อำนวยการกลุ่มงานลงทุน กองบริหารการลงทุน สปส. อนุกรรมการและผู้ช่วยเลขานุการ
  13. นายธีระพันธุ์ พืชผล นักวิชาการแรงงานชำนาญการ กองบริหารการลงทุน สปส. อนุกรรมการและผู้ช่วยเลขานุการ

โดยให้คณะอนุกรรมการมีอำนาจหน้าที่ ดังนี้
1.กลั่นกรองกรอบการลงทุน และแผนการลงทุนในกิจการเงินร่วมลงทุน ตามประกาศคณะกรรมการประกันสังคม เรื่องการลงทุนในกิจการการเงินร่วมลงทุน

2.ให้ข้อคิดเห็น และข้อเสนอแนะแก่คณะกรรมการประกันสังคม และ สปส.เกี่ยวกับการลงทุนในสินทรัพย์นอกตลาด

3.ติดตาม และประเมินผลการปฏิบัติการลงทุนในสินทรัพย์นอกตลาด

4.ปฏิบัติหน้าที่อื่นตามที่คณะกรรมการประกันสังคมมอบหมาย

อย่างไรก็ดี “ธีระวิทย์ วงศ์เพชร” และ “ธีระพันธุ์ พืชผล” รวมถึงคณะอนุกรรมการที่ปรึกษาการลงทุนสินทรัพย์นอกตลาด กองทุนประกันสังคม ยังมิได้ถูกสอบสวน หรือถูกกล่าวหาในเรื่องเกี่ยวกับปัญหาเหล่านี้แต่อย่างใด

 

 

พิสูจน์อักษร....สุรีย์  ศิลาวงษ์