'อังคณา' ถอยญัตติสิทธิ์ผู้ต้องขังแล้ว บอกข้อมูลไม่มากพอ ปัดกลัวถูกฟ้อง

"อังคณา" ยอมรับข้อมูลไม่มากพอ จึงถอนญัตติสิทธิ์ผู้ต้องขัง หลังรายละเอียดโยง "ทักษิณ" รับอภิสิทธิ์ พักชั้น14 ปัดกลัวถูกฟ้อง
ที่รัฐสภา นางอังคณา นีละไพจิตร สว. ให้สัมภาษณ์ว่าตนได้ถอนญัตติ เรื่องขอให้วุฒิสภาพิจารณาหาแนวทางปฏิบัติในการให้สิทธิ์แก่ผู้ต้องขังที่ได้รับการรักษาพยาบาลอย่างเท่าเทียมกันแล้ว เนื่องจากข้อมูลตอนนี้ยังไม่เพียงพอ ขาดข้อมูลด้านการแพทย์ เมื่อขอข้อมูลแล้วถูกอ้างเป็นสิทธิของผู้ป่วย ประกอบกับเวลามีใครมาพูดหรือสงสัยในเรื่องนี้ ก็มักจะถูกตอบโต้กลับ จึงมองว่าควรจะมีข้อมูลที่เพียงพอมากกว่านี้ อีกทั้งมีหลายคนท้วงติงว่า เรื่องดังกล่าวยังอยู่ระหว่างการพิจารณาในชั้นของคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ(ป.ป.ช.) จึงต้องดูว่าข้อกฎหมายตัดอำนาจ สว.ในการอภิปรายเรื่องนี้หรือไม่ ทั้งนี้ยืนยันไม่กลัวถูกฟ้องร้อง เพราะประเด็นที่จะพิจารณาเป็นเรื่องวิชาการ ไม่ได้มุ่งโจมตีบุคคล
นางอังคณา กล่าวต่อว่า จุดยืนของเรื่องนี้เห็นตรงกันกับรายงานของคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ(กสม.)ที่ระบุว่ การที่นายทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกฯ นอนอยู่ที่โรงพยาบาลตำรวจ 181 วัน โดยที่ไม่มีการย้ายเข้าออก จึงสงสัยว่าอาการไม่ดีขึ้นเลยหรือ และมองว่าเป็นการเลือกปฏิบัติ ซึ่งเป็นการละเมิดสิทธิมนุษยชน และที่ผ่านมาเราพยายามหาข้อมูลจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง แต่มักจะถูกอ้างว่าเป็นข้อมูลของผู้ป่วย ไม่สามารถเปิดเผยได้ แต่ตนมองว่าผู้ที่ถูกตั้งข้อสงสัยควรจะสละสิทธิ์นี้ เพื่อเปิดเผยข้อมูลให้เป็นประโยชน์ต่อสาธารณะ เพราะเรื่องนี้สาธารณะคลางแคลงใจ
"จุดยืนและเป้าหมายที่เสนอญัตตินี้ เพราะมองว่าผู้ป่วยทุกคนควรได้รับสิทธิ์ในการรักษาอย่างเท่าเทียมกัน ควรเปิดโอกาสให้ไปคุมขังที่อื่น ที่ไม่ใช่เรือนจำ เช่น กรณีของ บุ้ง เนติพรที่ควรได้รับการรักษาใกล้ชิดกับแพทย์เฉพาะทาง อย่างไรก็ตาม น่าจะกลับมายื่นญัตติดังกล่าวได้อีกครั้งในสมัยประชุมหน้า" นางอังคณา กล่าว
เมื่อถามว่า คาดหวังการทำหน้าที่ของ ป.ป.ช. ในการเคลียร์ประเด็นดังกล่าวมากน้อยแค่ไหน นางอังคณา กล่าวว่า ก็ต้องมั่นใจ เพราะกสม. ซึ่งเป็นอีกหนึ่งองค์กรอิสระได้ตรวจสอบแล้ว และต้องดูว่า ป.ป.ช. สามารถเข้าถึงข้อมูลทางการแพทย์ที่เป็นข้อมูลส่วนตัวได้มากน้อยแค่ไหน และต้องดูว่า ป.ป.ช.มีอำนาจเรียกข้อมูลได้มากกว่า กสม.หรือไม่
เมื่อถามย้ำว่า เรื่องนี้จะสามารถไขข้อสงสัย หรือสุดท้ายจะเงียบไป นางอังคณา กล่าวว่า ปัญหาคือเวลาที่สังคม หยิบยกเรื่องนี้ขึ้นมา ก็จะถูกตอบโต้ อย่างคราวที่แล้ว พล.ต.อ.เสรีพิศุทธ์ เตมียเวช หัวหน้าพรรคเสรีรวมไทย ออกมาพูดเรื่องนี้ ก็ถูกพูดลอยๆ ว่า ประเทศไทยไม่มีพลตำรวจเอกหญิง ซึ่งมันไม่ได้เกี่ยวข้องด้วยเลย และสุดท้ายยังคงมีความคลุมเครือ ซึ่งส่วนตัวมองว่าเรื่องนี้กระทรวงยุติธรรม และนายทักษิณ ควรออกมาชี้แจง เพื่อให้เป็นมาตรฐานคุ้มครองคนทุกคนอย่างเท่าเทียม