กฤษฎีกา ยกรัฐบาลชี้ขาดเอ็นเตอร์เทนเมนต์คอมเพล็กซ์ หากคนไม่เอา

กฤษฎีกา ยกรัฐบาลชี้ขาดเอ็นเตอร์เทนเมนต์คอมเพล็กซ์  หากคนไม่เอา

'เลขาฯกฤษฎีกา' ระบุ เป็นหน้าที่รัฐบาลพิจารณา เดินหน้า เอ็นเตอร์เทนเมนต์คอมเพล็กซ์ หรือไม่ หากประชาชนไม่เอา

เมื่อเวลา 09.10 น. วันที่ 18 ก.พ. ที่ ศูนย์ประชุมนานาชาติฉลองศิริราชสมบัติครบ 60 ปี มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ นายปกรณ์ นิลประพันธ์ เลขาธิการคณะกรรมการกฤษฎีกา กล่าวถึงความคืบหน้าการปรับถ้อยคำร่างพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) ประกอบธุรกิจสถานบันเทิงครบวงจร ว่า การพิจารณาขณะนี้อยู่ในวาระที่ 2 ส่วนร่างที่เสร็จไปเบื้องต้นนั้น พิจารณาในหลักการเสร็จเรียบร้อยแล้ว ขณะนี้อยู่ในช่วงการรับฟังความคิดเห็นทั่วไป ซึ่งสามารถแสดงความคิดเห็นกันได้และเราจะเอาไปประกอบการพิจารณาในวาระที่ 2 ต่อไป

เมื่อถามว่า เมื่อรับฟังความคิดเห็นเสร็จแล้วจะสามารถนำเข้าสู่การพิจารณาของคณะรัฐมนตรี (ครม.) ได้เมื่อใด นายปกรณ์ กล่าวว่า จะพยายามทำ ตอนนี้เร่งทำกันอยู่ ยืนยันว่าทันตามกรอบเวลา 50 วัน เมื่อถามว่า พอจะยกตัวอย่างร่างของคณะกรรมการกฤษฎีกาในส่วนของมาตรการป้องกันอบายมุข ที่ต่างจากร่างเดิมได้หรือไม่ นายปกรณ์ กล่าวว่า เรื่องนี้จะไปอยู่ในรายละเอียดของวาระที่ 2 ซึ่งในวาระแรกเราดูในหลักการก่อนว่ามีหลักการอย่างไรบ้าง ว่าเราจะต้องเพิ่มเติมอะไรบ้าง 

เมื่อถามว่า จำเป็นจะต้องเรียกหน่วยงานหรือตัวแทนมาชี้แจงอีกหรือไม่ นายปกรณ์ กล่าวว่า ตอนนี้มีกระทรวงมหาดไทยและสำนักงานเศรษฐกิจการคลังเป็นหลักเพราะเป็นเจ้าของร่าง เมื่อถามว่า อำนาจของซุปเปอร์บอร์ดยังเหมือนเดิมหรือไม่ นายปกรณ์ กล่าวว่า อำนาจและหลักการยังคงเดิมอยู่ แต่มีการใส่รายละเอียดลงไปในกระบวนการต่างๆ เช่น กระบวนการขออนุมัติ ขออนุญาต แผนการลงทุนต่างๆ ว่าจะต้องทำอย่างไร

เมื่อถามว่า ทราบว่าคณะกรรมการกฤษฎีกามีการวางหลัก ว่าคนไทยที่จะเข้าไปเล่นจะต้องมีเงิน 50 ล้านบาท ถือเป็นการป้องกันใช่หรือไม่ นายปกรณ์ กล่าวว่า ตรงนี้เป็นไอเดียเบื้องต้น ประชาชนสามารถแสดงความคิดเห็นได้ ซึ่งเป็นตัวเลือกเบื้องต้นเท่านั้น เมื่อถามว่า ถือเป็นการแก้ข้อครหาที่ไม่ให้คนไทยถูกมอมเมาใช่หรือไม่ นายปกรณ์ กล่าวว่า จริงๆ เราไม่อยากให้ประชาชนเข้าไปหมกมุ่นในเรื่องนี้อยู่แล้ว เราไม่ได้เอาเรื่องพนันเป็นหลัก เพราะสถานที่ท่องเที่ยวที่มนุษย์สร้างขึ้น ตนคิดว่าถ้าเราใส่ตรงนั้นแน่นๆ อาจจะเป็นการป้องกันไม่ให้คนไทยเข้าไปเล่น หรือถูกมอมเมาต่างๆ ได้ ซึ่งสถานที่ท่องเที่ยวที่มนุษย์สร้างขึ้นนั้น ไม่ได้เน้นเรื่องการพนันเท่าไหร่
   

เมื่อถามว่า ขั้นตอนที่เปิดให้ประชาชนแสดงความคิดเห็น หากประชาชนส่วนใหญ่ไม่เอาด้วย รัฐบาลจะเดินหน้าต่อหรือไม่ นายปกรณ์ กล่าวว่า การรับฟังความคิดเห็นในหลักการมี 2 เรื่องที่คล้ายๆ กันอยู่ คือ การรับฟังความคิดเห็นและการทำประชามติ ซึ่งการรับฟังความคิดเห็นเป็นการนำไปประกอบการพิจารณาของฝ่ายนโยบายว่าเมื่อรับฟังความคิดเห็นแล้วจะดำเนินการอย่างไรต่อไป ต่างจากการทำประชามติ ซึ่งประชามติเมื่อมีความคิดเห็นอย่างไรก็เป็นไปตามนั้น ต้องแยกกันให้ออก อย่าเอาไปปนกัน ตอนนี้สังคมเอาไปปนกันหมดเลย ทั้งเรื่องการรับฟังความคิดเห็นและการทำประชามติ 
   

เมื่อถามว่า หากคณะกรรมการกฤษฎีการับฟังความคิดเห็นแล้วประชาชนไม่เห็นด้วย แต่รัฐบาลยังเดินหน้าได้ใช่หรือไม่ นายปกรณ์ กล่าวว่า แล้วแต่รัฐบาลและสภาจะพิจารณาอย่างไร และจะแก้อย่างไรตามที่เห็นสมควร