'ภูมิธรรม' ปัด 'หลิว จงอี้' ลุยปราบแก๊งคอลเซนเตอร์ ไม่ผ่านรัฐไทย

“ภูมิธรรม” เผย “หลิว จงอี้” ช่วยปราบแก๊งคอลเซนเตอร์ ประสานผ่านรัฐบาลไทย เป็นข้อตกลงร่วม 3 ประเทศ ยัน "ดีเอสไอ" ลุยออกหมายจับ “หม่อง ชิตตู่”
เมื่อเวลา 07.00 น. วันที่ 17 ก.พ.68 ที่ท่า อากาศยาน2 กองบิน6 (บน.6) ดอนเมือง นายภูมิธรรม เวชยชัย รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม กล่าวถึงการช่วยเหลือเหยื่อแก๊งคอลเซนเตอร์ ที่เมืองเมียวดี ประเทศเมียนมา จะต้องส่งผ่านกลับประเทศไทย หรือให้แต่ละประเทศไปรับที่เมียนมาว่า ล็อตที่จะกลับมาล่าสุดต้องผ่านประเทศไทย ซึ่งอยู่ระหว่างตรวจสอบและคัดกรอง เสร็จแล้วทางจีนจะรับตัวส่วนหนึ่งออกไป แต่ส่วนใหญ่ที่เราตกลงกัน ทั้งจีน เมียนมา และไทย
โดยทางเมียนมา ได้ทำหนังสือมายังฝ่ายทหาร และกระทรวงต่างประเทศของไทย หลังจากนี้จะนำตัวทุกคนเข้าสู่กระบวนการของเมียนมา ในการจัดการทั้งหมด ซึ่งไทยจะเป็นเพียงผู้สนับสนุน ถ้าอะไรที่คิดว่าจะผ่านประเทศไทย ก็ให้มีการประสาน เราก็พร้อมสนับสนุน ตอนนี้เรารับผิดชอบในการปราบตัวการแก๊งคอลเซนเตอร์
ผู้สื่อข่าวถามว่า หากทางจีนส่งเครื่องบินไปรับคนของเขากลับประเทศ ฝ่ายไทยอาจไม่สามารถหาตัวการแก๊งคอลเซนเตอร์ได้ นายภูมิธรรม กล่าวว่า “จับได้ครับ เราร่วมกันทั้งหมด ประสานกัน อยู่ในส่วนไหนก็ให้ส่วนนั้นจัดการ ถือเป็นงานที่เราตกลงหน้าที่กันเรียบร้อย“
เมื่อถามถึงกระแสวิจารณ์ ใครเป็นผู้รับผิดชอบค่าใช้จ่ายในการรับตัวแก๊งคอลเซนเตอร์ ขั้นตอนการคัดกรอง และใครคือเหยื่อหรือสมัครใจ นายภูมิธรรม กล่าวว่า ใครเป็นเหยื่อ หรือใครสมัครใจไปเอง เป็นกระบวนการทำงาน คงพูดไม่ได้ ซึ่งมีเจ้าหน้าที่ของไทยข้ามไปคัดกรอง มีกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ และอีกหลายกระทรวง เข้าไปร่วมด้วย หลังจากข้ามมาฝั่งไทยแล้ว ทางจีนก็เตรียมเครื่องบินมารับที่แม่สอด ค่าใช้จ่ายจึงไม่เกี่ยวกับไทย
ส่วนกระแสวิจารณ์การลงพื้นที่ของ นายหลิว จงอี้ ผู้ช่วยรัฐมนตรีว่าการกระทรวงความมั่นคงสาธารณะ แห่งสาธารณรัฐประชาชนจีน เหมือนมาจัดการเรื่องนี้ โดยไม่ผ่านรัฐบาลไทย นายภูมิธรรม กล่าวว่า "เขาไม่ได้จัดการเอง เพราะได้ตกลงกันตั้งแต่ที่เขามาเยี่ยมผมแล้ว โดยหลังจากที่เขาได้พบกับ รมว.มหาดไทย เมียนมา และได้พูดคุยผ่านโทรศัพท์กับผมแล้วในวันที่ 19 กุมภาพันธ์ ผมจะพบกับนายหลิว จงอี้ อีกครั้ง เพื่อสรุปการทำงานและหารือกันต่อ ซี่งเรื่องนี้ไม่ได้เพิ่งเกิดขึ้น แต่เราทำงานร่วมกันมา 2 เดือนแล้ว ระหว่างไทย เมียนมา และจีน วันนี้เรารับผิดชอบเรื่องคอลเซนเตอร์ เราดำเนินการขั้นตอนแรกคือ การกดดันให้มีการเปลี่ยนแปลงใช้มาตรการ 3 ตัด (ตัดไฟ ตัดน้ำมัน ตัดเน็ต) ซึ่งการดำเนินการค่อนข้างได้ผล เพราะได้คุยกันแล้วว่าชายแดนทั้ง 3 ที่ จะปิดทั้งหมด แต่ไม่ได้ปิดตาย หลังจากนี้เมื่อมาตรการได้ผลแล้ว ต้องดูว่าสามารถจัดการได้เต็มที่หรือไม่ ตอนนี้สิ่งที่เกิดขึ้น ไม่ว่าจะเป็นการที่รัฐบาลเมียนมา หรือชนกลุ่มน้อย ที่เข้ามาจัดการกับแก๊งคอลเซนเตอร์ ก็ให้เขาดำเนินการไปเลย และนายหลิว จงอี้ ก็ได้ข้ามไปฝั่งเมียนมาแล้ว เป็นกระบวนการที่เปิดแผน ทุกฝ่ายรับรู้ การส่งตัวก็จะผ่านสถานทูตที่อยู่ในเมียนมา ส่วนอะไรที่ทะลักมาทางไทย ก็จะมีการประสานงานกัน หากเป็นไปได้เราก็จะมีการช่วยเหลือ"
ต่อข้อถามว่า การออกหมายจับ ผู้นำกองกำลังพิทักษ์ชายแดน BGF พล.ต.หม่อง ชิตตู่ นั้นยังดำเนินการต่อไปหรือไม่ หลังจากที่เขาออกมาช่วยจัดการแก๊งคอลเซนเตอร์ นายภูมิธรรม กล่าวว่า การออกหมายจับหรือไม่ ยังไม่ใช่ประเด็นของเรา เรื่องหม่อง ชิตตู่ เป็นเรื่องเก่า ที่มีการประสานงานกันอยู่แล้ว เป็นเรื่องที่ดีเอสไอได้ประสานงานไป เรื่องนี้ยังดำเนินต่อไปอยู่ หม่อง ชิตตู่ก็ทำหน้าที่ของเขาโดยประสานงานกับจีน เราคงพูดอะไรมากกว่านี้ไม่ได้
ด้าน พลตรี ธนาธิป สว่างแสง โฆษกกระทรวงกลาโหม ชี้แจงเพิ่มเติมถึงกระบวนการส่งกลับผู้ที่ถูกหลอกไปทำงานในฝั่งเมียวดีกลับมาประเทศไทย ว่า การส่งตัวเป็นความร่วมมือระหว่างรัฐบาลเมียนมา และรัฐบาลไทย โดยมีคณะกรรมการชายแดนส่วนท้องถิ่นไทย-เมียนมา (TBC) เป็นผู้ประสานงานหลัก ซึ่งฝ่ายเมียนมา รับผิดชอบการรวบรวมรายชื่อและข้อมูลของผู้เสียหาย ในขณะที่ฝ่ายไทย จัดเตรียมสถานที่และขั้นตอนการรับตัว โดยใช้สะพานมิตรภาพไทย-เมียนมา แห่งที่ 2 เป็นจุดรับ-ส่ง
ส่วนการคัดเลือกและระบบตรวจสอบว่าเป็นกลุ่มจีนเทาหรือเหยื่อที่ถูกหลอกมาทำงานนั้น เป็นกระบวนการที่ละเอียดอ่อนและต้องการความร่วมมือจากหลายหน่วยงาน โดยจะมีการสัมภาษณ์เบื้องต้น เพื่อคัดแยกผู้เสียหายที่อาจเป็นเหยื่อ พร้อมประสานงานทีมสหวิชาชีพ ซึ่งประกอบด้วยเจ้าหน้าที่จากหลายหน่วยงาน เช่น ตำรวจ นักสังคมสงเคราะห์ และเจ้าหน้าที่สาธารณสุข เพื่อร่วมกันประเมินและตัดสินใจเกี่ยวกับสถานะของบุคคลนั้น
ขณะที่การตรวจสอบและคัดแยกกลุ่มจีนเทา เจ้าหน้าที่จะสืบสวนข้อมูลเกี่ยวกับกิจกรรมที่ผิดกฎหมาย เช่น การฟอกเงิน การค้ามนุษย์ หรือการจัดตั้งแก๊งคอลเซ็นเตอร์ เพื่อระบุบุคคลที่มีส่วนเกี่ยวข้อง รวมถึงตรวจสอบประวัติและเอกสารการเดินทาง และข้อมูลทางการเงิน เพื่อหาหลักฐานที่เชื่อมโยง นอกจากนี้ ยังมีการประสานงานระหว่างประเทศ ร่วมมือกับหน่วยงานบังคับใช้กฎหมายของประเทศต้นทาง คือ จีน เพื่อแลกเปลี่ยนข้อมูลและประสานงานในการดำเนินคดี
พลตรี ธนาธิป ยังบอกด้วยว่า การคัดแยกก็มีความท้าทาย เพราะมีทั้งการปลอมแปลงข้อมูล ใช้เอกสารปลอม ข้อมูลเท็จ เพื่อปกปิดตัวตน อีกทั้งเหยื่ออาจกลัวการถูกลงโทษ หรือไม่ไว้วางใจเจ้าหน้าที่ ทำให้ไม่กล้าเปิดเผยข้อมูลที่แท้จริง ทำให้การสืบสวนและคัดแยกผู้กระทำความผิดเป็นไปได้ยาก ดังนั้นการคัดแยกและตรวจสอบ ต้องอาศัยความร่วมมือจากหลายหน่วยงาน ทั้งในประเทศและระหว่างประเทศ เพื่อให้การดำเนินการเป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพและยุติธรรม
สำหรับกระบวนการส่งคนกลับมายังฝั่งไทย ต้องมีการปฎิบัติงาน “กลไกการส่งต่อระดับชาติ” (Nationl Referral Mechanism-NRM) จะต้องมีหน่วยงานอย่าง กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ (พม.) กระทรวงแรงงาน สำนักงานตำรวจแห่งชาติ และสำนักงานตรวจคนเข้าเมือง ทั้งนี้การดำเนินงานภายใต้ NRM ได้รับการสนับสนุนงบประมาณจาก กองทุนเพื่อการป้องกันและปราบปรามการค้ามนุษย์ ซึ่งจัดตั้งขึ้นเพื่อสนับสนุนการช่วยเหลือผู้เสียหายและดำเนินโครงการที่เกี่ยวข้อง หน่วยงานภาครัฐและองค์กรเอกชน สามารถเสนอโครงการเพื่อขอรับการสนับสนุนงบประมาณจากกองทุนนี้
สำหรับที่พักพิงชั่วคราวสำหรับผู้เสียหาย ทาง พม. จะมีการจัดตั้งศูนย์คัดแยกและคุ้มครองผู้เสียหายในพื้นที่ต่างๆ เพื่อให้บริการที่พัก อาหาร การดูแลทางการแพทย์ และบริการด้านจิตวิทยา ซึ่งการดำเนินงานตามกลไก NRM นี้ เป็นความร่วมมือระหว่างหน่วยงานภาครัฐหลายแห่ง เพื่อให้การช่วยเหลือและคุ้มครองผู้เสียหายจากการค้ามนุษย์ เป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพ
ส่วนเสียงวิพากษ์วิจารณ์การเดินทางเข้า-ออกของ นายหลิว จงอี ผู้ช่วยรัฐมนตรีกระทรวงความมั่นคงและสาธารณะ แห่งสาธารณรัฐประชาชนจีน ว่าทำไมไม่มีเจ้าหน้าที่ของรัฐบาลเป็นผู้ประสานงานนั้น โฆษกกระทรวงกลาโหม อธิบายว่า
การส่งตัวชาวจีนที่ตกเป็นเหยื่อจากขบวนการค้ามนุษย์ เป็นผลจากความร่วมมือระหว่างรัฐบาลไทย รัฐบาลเมียนมา และรัฐบาลจีน ซึ่งมีการประสานงานอย่างใกล้ชิดในทุกขั้นตอน
ในส่วนของการเจรจาระหว่างรัฐบาลจีนและรัฐบาลเมียนมา รัฐบาลไทยเข้าใจถึงความจำเป็นที่ฝ่ายจีนจะต้องดำเนินการโดยตรงกับรัฐบาลเมียนมา เพื่อเร่งรัดกระบวนการช่วยเหลือและส่งตัวพลเมืองของตนกลับประเทศ แต่รัฐบาลไทยยังคงมีบทบาทสำคัญในการอำนวยความสะดวกด้านโลจิสติกส์ รวมถึงการให้ความร่วมมือในด้านความมั่นคง และการบริหารจัดการ ณ จุดรับส่งที่ สะพานมิตรภาพไทย-เมียนมา แห่งที่ 2 และท่าอากาศยานแม่สอด