เปิดคำฟ้อง 'หมอบุญ-พวก' คดีฉ้อโกง 1.6 หมื่นล้าน หลอกลงทุนทิพย์

เปิดคำบรรยายฟ้อง 'หมอบุญ - พวก' คดีฉ้อโกง 1.6 หมื่นล้าน ลงทุนทำ 6 โครงการทิพย์ ใช้ความน่าเชื่อถือ จงใจเสนอดอกเบี้ยสูง ศาลนัดสอบคำให้การ 17 ก.พ.68
เมื่อวันที่ 14 ก.พ.2568 ที่ศาลอาญา ถ.รัชดาภิเษก พนักงานอัยการสำนักงานคดีพิเศษ 4 ยื่นฟ้อง น.ส.จิดาภา พุ่มพุฒ จำเลยที่ 1 กับพวกรวม 13 คน ในฐานความผิดร่วมกันกู้ยืมเงินที่เป็นการฉ้อโกงประชาชน และร่วมกันฉ้อโกงประชาชน โดยฝ่ายอัยการ บรรยายคำฟ้องว่า นายบุญ วนาสิน หรือ "หมอบุญ" ได้อาศัยความน่าเชื่อถือเกี่ยวกับการประกอบอาชีพแพทย์การประกอบธุรกิจเกี่ยวกับกิจการโรงพยาบาลในนาม "โรงพยาบาลธนบุรี" มีกลุ่มธุรกิจให้บริการทางการแพทย์ ธุรกิจการบริการผู้ป่วย และเครื่องมือแพทย์ ธุรกิจโรงพยาบาล ในนามบริษัท ธนบุรี เฮลท์แคร์ กรุ๊ป จำกัด (มหาชน) หรือ(THG) มีโรงพยาบาลในเครือทั้งในกรุงเทพมหานคร และต่างจังหวัด รวมถึงดำเนินกิจการผ่านบริษัทในเครือ กิจการร่วมค้า และโรงพยาบาลที่รับจ้างบริหาร และกิจการอื่นๆ อีกจำนวนมาก ได้กระทำการระดมเงินทุนจากประชาชน และได้ไปซึ่งเงิน และทรัพย์สินจากประชาชนจำนวนมาก ประมาณ 16,000 ล้านบาทเศษ โดยร่วมกับจำเลยที่ 1-13 และพวกที่หลบหนียังไม่ได้ตัวมาฟ้องได้แบ่งหน้าที่กันทำ ดังนี้
กลุ่มพนักงานบริษัทที่บริหารจัดการระดมเงินกู้ มีจำเลยที่ 1-4 กับพวกที่ยังไม่ได้ตัวมาฟ้อง กลุ่มบุคคลในครอบครัวที่ร่วมกันทำสัญญากู้ สัญญาค้ำประกัน จำนำหุ้น จำนองที่ดิน ฯลฯเพื่อสร้างความน่าเชื่อถือในการระดมเงินกู้ มีจำเลยที่ 5-7 กลุ่มตัวแทนนายหน้าเพื่อจัดการระดมเงินทุน มีจำเลย 8-13 กับพวกที่ยังไม่ได้ตัวมาฟ้อง
ครั้นเมื่อระหว่างประมาณต้นเดือนม.ค.53 เวลากลางวัน ถึงวันที่ 15 ธ.ค.67 เวลากลางวัน และกลางคืนต่อเนื่องกันจำเลยทั้ง13 และนายแพทย์บุญหรือนายบุญ วนาสิน กับพวกที่หลบหนียังไม่ได้ตัวมาฟ้องได้บังอาจร่วมกันกระทำความผิดต่อกฎหมายหลายบทหลายกรรมต่างกัน กล่าวคือ จำเลยทั้ง 13 กับพวกดังกล่าวโดยทุจริตได้บังอาจร่วมกันหลอกลวงประชาชนโดยโฆษณาหรือประกาศให้ปรากฏต่อประชาชนทั่วไปหรือแก่บุคคลตั้งแต่ 10 คนขึ้นไป รวมทั้ง ผู้เสียหาย 605 ราย ผ่านช่องทางสื่อมวลชน และสื่อสังคมออนไลน์
มีการนำเสนอบทบาท และความสำเร็จทางธุรกิจในฐานะผู้บริหารระดับสูงที่ได้รับการยกย่องว่า เป็นนักธุรกิจที่มีประสบการณ์ และมีความเชี่ยวชาญในวงการธุรกิจต่างๆ ทั้งในด้านการบริหารกิจการโรงพยาบาล และการพัฒนาโครงการที่มีมูลค่าสูงหลายโครงการ เช่น โรงงานผลิตถุงมือยาง (Thai MedicalGroups Co..LTD) โครงการซื้อ และปรับปรุงอาคารสหไทย (ติดกับโรงพยาบาลธนบุรี บำรุงเมือง) โครงการศูนย์สุขภาพ และที่พักอาศัย ระดับ 6 ดาว บนพื้นที่ 5ไร่ ริมแม่น้ำเจ้าพระยา ประกอบด้วย อาคารที่พักอาศัย 56 ชั้น 376 ยูนิตและศูนย์การแพทย์ 4 ชั้นโครงการ Jin Well Being county โครงการที่อยู่อาศัยสำหรับผู้สูงอายุบนพื้นที่ 140 ไร่ริมถนนพหลโยธินรังสิตอำเภอคลองหลวง จังหวัดปทุมธานี ประกอบด้วย อาคารที่พักอาศัย 13 อาคารรวม 1,300 ยูนิต และศูนย์สุขภาพโครงการ The Belleville Borom โครงการที่พักอาศัยบนถนนบรมราชชนนี โครงการสิริพาร์ควิวภูเก็ตโครงการ The Cha-am wellness cityโดยมีการใช้พื้นที่สื่อมวลชน ทั้ง สื่อสังคมออนไลน์ เพื่อโฆษณาประชาสัมพันธ์โครงการดังกล่าวทั้งหมด
นอกจากนี้ยังได้นำเสนอแผนการลงทุน โครงการทั้งใน และต่างประเทศเผยแพร่ทางสื่อสังคมออนไลน์อื่นๆ ซึ่งได้นำเสนอแผนการลงทุนโครงการต่างๆ ดังต่อไปนี้
1.โครงการสร้างศูนย์มะเร็งตั้งอยู่พื้นที่ 9 ไร่ ย่านปิ่นเกล้า งบประมาณ 4 พันล้านบาท
2.โครงการสร้างศูนย์ดูแลสุขภาพเวลเนส เซนเตอร์ (Wellness Center) เนื้อที่ 5 ไร่เศษ ย่านพระราม 3 ติดแม่น้ำเจ้าพระยา เป็นอาคาร 52 ชั้น งบประมาณ 4,000-5,000 ล้านบาท
3.โครงการสร้างโรงพยาบาลที่สาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาว จำนวน 3 แห่งๆ ละประมาณ 2,000 ล้านบาท
4.โครงการเข้าร่วมลงทุนกับโรงพยาบาลในประเทศเวียดนาม งบประมาณ 4,000-5,000 ล้านบาท
5.โครงการสร้าง medical inteligence ทำหน้าที่บริหารด้านไอทีให้กับหน่วยงานต่างๆ เพื่อลดต้นทุน และปรับปรุงคุณภาพให้ดียิ่งขึ้นใช้งบประมาณ 1,600 ล้านบาท
เมื่อจำเลยทั้ง 13 กับพวกได้ร่วมกันนำเสนอบทบาทความน่าเชื่อถือของนายแพทย์บุญ หรือนายบุญ วนาสิน และโครงการทั้ง 5 ดังกล่าวแล้ว จึงได้ร่วมกันนำเสนอแผนการระดมเงินทุนในรูปแบบการกู้ยืมเงินจากประชาชนทั่วไปจำนวน 6 แผนการลงทุน ดังนี้
(1) การให้กู้ยืมเงินโดยไม่มีหลักประกัน (Clean Loan) โดยออกเช็กชำระหนี้ และมีบุคคลอาวัลเช็ค และมีผู้ค้ำประกัน (กู้แบบไม่มีหลักทรัพย์ค้ำประกัน) กำหนดให้ผลตอบแทน ร้อยละ 8.5-15%ต่อปี
(2) การให้กู้ยืมเงินโดยอ้างว่าจะนำหุ้น บริษัท ธนบุรี เฮลท์ แคร์ กรุ๊ป จำกัด (มหาชน) มามอบให้ผู้ให้กู้ โอนหุ้นให้ผู้ให้กู้) ให้ผลตอบแทนประมาณร้อยละ 7-12 % ต่อปี
(3) การให้กู้ยืมเงินโดยอ้างว่าจะนำหุ้น หรือเช็คมาค้ำประกัน (จำนำหุ้น) หรือตั๋วสัญญาใช้เงิน ให้ผลตอบแทนประมาณร้อยละ 7-12% ต่อปี
(4) การให้กู้ยืมเงินโดยมีบุคคลหรือนิติบุคคลมาค้ำประกันให้ผลตอบแทนประมาณร้อยละ 8.5-15 % ต่อปี
(5) การให้กู้ยืมเงินโดยนำใบหุ้นสามัญของบริษัท ธนบุรี เฮลท์ แคร์ กรุ๊ป จำกัด (มหาชน) THG มาค้ำประกัน โดยมอบให้ผู้ให้กู้ถือครองไว้ให้ผลตอบแทนประมาณร้อยละ 7-12 % ต่อปี
(6) การร่วมลงทุน หุ้นไอพีโอ (IPO) หุ้นที่กำลังจะเข้าตลาดหลักทรัพย์ โดยอ้างว่าจะมอบหุ้นของบริษัทโรงพยาบาล ธนบุรี บำรุงเมือง จำกัด ให้ผู้ให้กู้ โดยให้ผลตอบแทนประมาณร้อยละ 5-8% ต่อปี
การระดมทุนในรูปแบบการทำสัญญากู้ยืมเงินดังกล่าวจะกำหนดระยะเวลากู้เงินตั้งแต่ 3 เดือน จนถึง 1 ปี และกำหนดระยะเวลาชำระดอกเบี้ยเริ่มตั้งแต่ 15 วันเป็นต้นไป จนถึง 6 เดือน แล้วแต่กรณีซึ่งการระดมเงินทุนในรูปแบบดังกล่าวในช่วงแรกจะคืนเฉพาะดอกเบี้ยหรือผลประโยชน์ตอบแทนเพื่อให้ผู้ให้กู้ยืมหรือผู้ลงทุนได้คงเงินทุนไว้ต่อไปหรือลงทุนเพิ่มเติมต่อไป
การเข้าร่วมลงทุนตามเงื่อนไขต่างๆ ตามที่จำเลยทั้ง 13 กับพวก ได้กล่าวอ้างดังกล่าวข้างต้น ผู้ลงทุนหรือประชาชนจะได้รับเงินคืนหรือผลประโยชน์ตอบแทนในอัตราร้อยละ 7-15 ต่อปี ของเงินลงทุนต่อโครงการ ซึ่งสูงกว่าอัตราดอกเบี้ยสูงสุดที่สถาบันการเงินตามกฎหมายว่าด้วยดอกเบี้ยเงินให้กู้ยืมของสถาบันการเงินจะพึ่งจ่ายได้
การโฆษณาชักชวนประชาชนของจำเลยทั้ง 13 ดังกล่าวข้างต้นเป็นความเท็จทั้งสิ้น ซึ่งความจริงแล้วจำเลยทั้ง13 กับพวก ไม่ได้นำเงินที่ได้จากการกู้ยืมเงินไปลงทุนในธุรกิจเกี่ยวกับโครงการทั้ง 5 เนื่องจากโครงการต่างๆ ที่จำเลยทั้ง 13 ได้กล่าวอ้างไว้ ยังไม่มีการเริ่มก่อสร้างจริงเป็นเพียงแผนการลงทุนที่นำมาหลอกลวงประชาชนทั่วไปเท่านั้น และปรากฏว่ากรมส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศ ได้ยืนยันว่าสาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาว ไม่มีการอนุมัติโครงการก่อสร้างโรงพยาบาล และไม่มีข้อมูลการร่วมลงทุนระหว่างนายแพทย์บุญ หรือนายบุญ วนาสิน หรือบริษัท ธนบุรีเฮลท์แคร์ กรุ๊ป จำกัด (มหาชน) หรือ THG และบริษัท ราชธานีพัฒนาการ (2014) จำกัด เกี่ยวกับการสร้างโรงพยาบาลที่แขวงจำปาสัก หรือกรุงเวียงจันทน์ หรือกับนักธุรกิจจีน และโรงพยาบาลที่สาธารณรัฐสังคมนิยมเวียดนาม ตามที่ได้กล่าวอ้างไว้แต่อย่างใด และการดำเนินโครงการเกี่ยวกับโครงการ 3 โครงการในประเทศไทย ก็ไม่ได้มีดำเนินการ และไม่ปรากฏว่ามีการขออนุญาตก่อสร้างจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง
จำเลยทั้ง 13 กับพวก รู้อยู่แล้วว่า โครงการทั้ง 5 โครงการดังกล่าวไม่ได้มีการประกอบธุรกิจจริง และมิได้ประกอบกิจการอย่างใดให้ได้รับผลตอบแทนคืนตามสัญญากู้ยืมเงินที่ได้ทำไว้กับประชาชนได้ และเมื่อหนี้เงินกู้ครบกำหนดตามสัญญาต้องมีการชำระเงินต้นคืน และผลตอบแทนเป็นดอกเบี้ยตามสัญญา จำเลยทั้ง 13 กับพวกยังได้หลอกลวงให้ประชาชน ซึ่งเป็นผู้เสียหายกับพวกเข้าทำสัญญาให้กู้ยืมเงินฉบับใหม่ หมุนเวียนแทนฉบับเดิมเพื่อจูงใจว่าจะให้ดอกเบี้ยต่อไปหรือดอกเบี้ยในอัตราที่สูงกว่าอัตราดอกเบี้ยเดิม
โดยมีเจตนาที่จะไม่คืนเงินกู้ยืมให้กับผู้เสียหายกับพวก และจำเลยทั้ง13 กับพวก มีเจตนาหลอกลวงประชาชนที่หวังจะได้รับเงินตอบแทนในอัตราสูงให้นำเงินมาให้กู้ยืมเงินหรือลงทุนด้วย การใช้วิธีจ่ายเงินตอบแทนให้ในอัตราสูงเป็นเครื่องล่อใจ แล้วนำเงินที่ได้มาจากผู้ร่วมลงทุนรายอื่นๆ จ่ายเป็นผลประโยชน์ให้แก่ผู้ร่วมลงทุนรายก่อนๆ ในลักษณะต่อเนื่องกันเป็นแชร์ลูกโซ่ และในที่สุดเมื่อไม่มีผู้ใดลงทุนเพิ่มทำให้ประชาชนจำนวนมากไม่ได้รับเงินคืน แต่อย่างใด อันเป็นการแสดงข้อความอันเป็นเท็จต่อประชาชน
จำเลยทั้ง 13 กับพวก ได้ร่วมกันกู้ยืมเงินที่เป็นการฉ้อโกงประชาชน และฉ้อโกงประชาชนให้ร่วมลงทุนในโครงการต่างๆ ได้สักระยะหนึ่ง ก็ไม่สามารถจ่ายเงินหมุนเวียนคืนให้แก่ผู้ร่วมลงทุนได้ และไม่สามารถดำเนินการในโครงการต่างๆ ได้ เป็นเหตุให้ประชาชนได้รับความเสียหายจำนวนมาก
การกระทำของจำเลยทั้ง 13 กับพวกดังกล่าวที่ระดมเงินทุนในรูปแบบการทำสัญญากู้ยืมเงินจึงเป็นการรับเงินในลักษณะของการรับฝาก การกู้ การยืม การรับเข้าเป็นสมาชิก การรับเข้าร่วมลงทุนการรับเข้าร่วมกระทำการอย่างใดอย่างหนึ่ง โดยจำเลยทั้ง 13 กับพวกดังกล่าวจ่ายผลประโยชน์ตอบแทนหรือตกลงว่าจะจ่ายผลประโยชน์ตอบแทนแก่ผู้ให้ยืมเงิน อันเป็นการกู้ยืมเงินตามพระราชกำหนดการกู้ยืมเงินที่เป็นการฉ้อโกงประชาชน พ.ศ.2527 และในการกู้ยืมเงินดังกล่าว จำเลยทั้ง 13 กับพวกจะจ่ายหรืออาจจ่ายผลประโยชน์ตอบแทนให้ตามพฤติการณ์แห่งการกู้ยืมเงินในอัตราเฉลี่ยประมาณ ร้อยละ ถึง 15 ต่อปีซึ่งสูงกว่าอัตราดอกเบี้ยสูงสุดที่สถาบันการเงินตามกฎหมายว่าด้วยดอกเบี้ยเงินให้กู้ยืมของสถาบันการเงินจะพึงจ่ายได้ ซึ่งในขณะเกิดเหตุอัตราดอกเบี้ยที่สูงที่สุดคือ อัตราร้อยละ 6.44 ต่อปี โดยเป็นของบริษัท เครดิตฟองซิเอร์ ลินน์ ฟิลลิปส์ มอร์ทเก็จ จำกัดโดยที่ตนรู้หรือควรรู้อยู่แล้วว่าตนจะนำเงินจากผู้ให้กู้ยืมเงินรายนั้นหรือรายอื่นมาจ่ายหมุนเวียนให้แก่ผู้ให้กู้ยืมเงินหรือโดยที่ตนรู้หรือควรรู้อยู่แล้วว่า ตนไม่สามารถประกอบกิจการใดๆ โดยชอบด้วยกฎหมายที่จะให้ผลประโยชน์ตอบแทนเพียงพอที่จะนำมาจ่ายในอัตรานั้นได้ และเป็นการแสดงข้อความอันเป็นเท็จต่อประชาชน
โดยการหลอกลวงดังกล่าวเป็นเหตุให้ จำเลยทั้ง 13 กับพวกดังกล่าวได้กู้ยืมเงิน และรับเงินไปในลักษณะที่เป็นทรัพย์สินจากผู้เสียหายรวม 605 คน และประชาชนผู้ถูกหลอกลวงอีกจำนวนมาก ซึ่งรวมทั้งผู้เสียหายที่ได้แจ้งความร้องทุกข์ในคดีนี้ จำนวน 605 คน ซึ่งมีจำนวนเกินกว่า 10 คน และมีจำนวนเงินกู้ยืมรวมกัน เฉพาะที่มาร้องทุกข์ดำเนินคดีนี้รวมกันประมาณ 16,100,602,806 บาท (หนึ่งหมื่นหกพันหนึ่งร้อยล้านหกแสนสองพันแปดร้อยหกบาท) และได้รับความเสียหายรวมทั้งสิ้นเป็นเงินจำนวน 14,539,048,033.76 บาท (หนึ่งหมื่นสี่พันห้าร้อยสามสิบเก้าล้านสี่หมื่นแปดพันสามสิบสามบาทเจ็ดสิบหกสตางค์) อันเป็นการกระทำความผิดฐานกู้ยืมเงินที่เป็นการฉ้อโกงประชาชน และฉ้อโกงประชาชน และเป็นความผิดต่างกรรมต่างวาระกัน รวม 605 กรรมตามจำนวนผู้เสียหายที่แจ้งความร้องทุกข์ ดังมีพฤติการณ์กระทำความผิดดังกล่าวมาแล้วข้างต้น และมีรายละเอียดเกี่ยวกับ วันเวลากระทำความผิด จำนวน และรายชื่อผู้เสียหาย จำนวนเงินที่ผู้เสียหายแต่ละรายถูกฉ้อโกงไปปรากฏตามบัญชีทรัพย์ถูกประทุษร้าย
เหตุเกิดที่แขวงห้วยขวาง เขตห้วยขวาง ,แขวงศิริราช เขตบางกอกน้อย กรุงเทพมหานคร และหลายจังหวัดทั่วราชอาณาจักร เกี่ยวพันกัน
ชั้นสอบสวน จำเลยทั้ง13 ให้การปฏิเสธข้อกล่าวหา
การกระทำของจำเลยเป็นความผิดตาม พระราชกำหนดการกู้ยืมเงินที่เป็นการฉ้อโกงประชาชน พ.ศ.2527 มาตรา 3,4,5,9,12 ประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 83,91 และ 343 พระราชบัญญัติแก้ไขเพิ่มเติมพระราชกำหนดการกู้ยืมเงินที่เป็นการฉ้อโกงประชาชน พ.ศ.2527 พ.ศ.2534 มาตรา 3 พระราชบัญญัติแก้ไขเพิ่มเติมพระราชกำหนดการกู้ยืมเงินที่เป็นการฉ้อโกงประชาชน พ.ศ.2527 (ฉบับที่ 2) พ.ศ.2545 พระราชบัญญัติแก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายอาญา (ฉบับที่ 6) พ.ศ.2526 มาตรา 4 พระราชบัญญัติแก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายอาญา (ฉบับที่ 26) พ.ศ.2560 มาตรา 4
ท้ายคำฟ้องพนักงานอัยการโจทก์ ระบุด้วยว่า ขอให้ศาลมีคำพิพากษาลงโทษพวกจำเลยตามความผิด และให้พวกจำเลยชดใช้เงินต้น และเงินร่วมลงทุนคืนแก่ผู้เสียหายแต่ละรายที่พวกจำเลยร่วมกันฉ้อโกงฯ พร้อมภาษีตามที่กฎมายนับแต่วันที่กู้ยืมเงินไปด้วย ส่วนการปล่อยชั่วคราวจำเลยขอให้อยู่ในดุลยพินิจของศาล
ศาลอาญาพิจารณาแล้วให้ประทับฟ้องคดีไว้พิจารณาเป็นคดีหมายเลขดำอ.387/2568 และให้เบิกตัวจำเลยจากเรือนจำ มาสอบคำให้การวันที่ 17 ก.พ.2568 เวลา 09.00 น.
โดยผู้สื่อข่าวรายงานว่ารายชื่อจำเลยที่ยื่นฟ้อง ทั้ง 13 คนประกอบด้วย น.ส.จิดาภา พุ่มพุฒ น.ส.ศิวิมล จาดเมือง นางจารุวรรณ วนาสิน ภรรยาหมอบุญ นางนลิน วนาสิน ลูกสาวหมอบุญ น.ส.อัจจิมา พาณิชเกรียงไกร นายภาคย์ วัฒนาพร นางภัทรานิษฐ์ ณ สงขลา นายธนภูมิ ชนประเสริฐ นางณวรา กุญชร ณ อยุธยา น.ส.มาสฤดี คณาพิทักษ์พงศ์ นายเนติวรรธน์ สุวรรณกูฏ น.ส.นัญญากรณ์ ธรรมา และ น.ส.ชัญญ์ญาณ์ พุฒิพงศ์ชญาห์ โดยทั้งหมดยังคงถูกควบคุมตัวในเรือนจำเนื่องจากไม่ได้รับอนุญาตให้ปล่อยชั่วคราวตั้งเเต่ชั้นฝากขัง
พิสูจน์อักษร....สุรีย์ ศิลาวงษ์