‘พท.’พลิกแผน ยื้อ ‘รื้อรธน.’ ยืมมือ‘สว.’ แก้เกม‘ตีตก’

‘พท.’พลิกแผน ยื้อ ‘รื้อรธน.’ ยืมมือ‘สว.’ แก้เกม‘ตีตก’

วาระแก้รัฐธรรมนูญ มาตรา 256 และเพิ่มหมวดว่าด้วยการจัดทำรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ กำลังถูกยื้ออย่างตั้งใจ เพราะ "พท." ที่มีเป้าหมายรื้อมรดก คสช. กำลังแก้เกม "พรรคร่วม-สว." ที่จ้องตีตก

KEY

POINTS

Key Point :

  • วาระรื้อใหญ่ รัฐธรรมนูญ 2560 ที่รัฐสภากำลังพิจารณา เดิมคิดว่าจะเข้าสู่การพิจารณาได้แบบไร้อุปสรรค
  • ทว่ามีเกมซ้อน หลัง "สว.กลุ่มสีขาว" เตรียมยื่นญัตติขอให้ส่งเรื่องไปศาลรัฐธรรมนูญ
  • เดิมคิดว่าเพื่อสร้างเกมเบรก วาระแก้รัฐธรรมนูญของ "พรรคเพื่อไทย-พรรคประชาชน" ที่ต่างชงญัตติแก้รัฐธรรมนูญ
  • แต่แท้จริงแล้ว เป็นเกมซ้อนเกม ที่ "เพื่อไทย" ต้องการแก้เกม "พรรคร่วมรัฐบาล-สว.สีน้ำเงิน" ที่จ้องตลบหลัง โหวตสวน "ไม่รับร่างแก้รัฐธรรมนูญ"
  • เพื่อหวังตัดจบกระบวนการแก้รัฐธรรมนูญ ที่ข้อบังคับกำหนดให้ทำได้ครั้งเดียวในสมัยประชุม
  • เพราะหากปล่อยให้ "โหวต" ปลายทางคือ "ตีตกแน่นอน" และจะทำให้ "เสียของ" 

ความเคลื่อนไหวทางการเมือง ในปลายสัปดาห์นี้ ถูกจับจ้องไปที่วาระแก้รัฐธรรมนูญ 2560 ซึ่ง “พรรคเพื่อไทย” และ “พรรคประชาชน” ต่างยื่นญัตติขอแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญ มาตรา 256 และเพิ่มหมวด 15/1 การจัดทำรัฐธรรมนูญฉบับใหม่

เพื่อมุ่งหวังนำไปสู่ โรดแม็ปการได้มาซึ่ง “รัฐธรรมนูญฉบับใหม่” ที่ประชาชนร่วมกันจัดทำ ตามเนื้อหาที่เสนอต่อรัฐสภา คือ ให้มี “สภาร่างรัฐธรรมนูญ” (สสร.) ที่มาจากการเลือกตั้งของประชาชน ร่วมดำเนินการ

โรดแม็ปนี้ อาจไม่ได้ผ่านไปได้โดยง่าย เพราะมีความเคลื่อนไหวมาจาก ฝั่ง “สส.พรรคร่วมรัฐบาล” รวมถึง “สว.สีน้ำเงิน” ที่แสดงท่าทีชัดเจนว่า “ไม่เอาด้วย”

‘พท.’พลิกแผน ยื้อ ‘รื้อรธน.’ ยืมมือ‘สว.’ แก้เกม‘ตีตก’

กับสัญญาณนี้ “แกนนำรัฐบาล” จับทางได้ จึงต้องการ “แก้เกม” เพราะไม่ต้องการให้ “การแก้ไขรัฐธรรมนูญ" ถูกตัดจบ ไปเหมือนกับ เหตุการณ์ เมื่อวันที่ 17 มี.ค. 2564

รอบนั้น พรรคเพื่อไทย-พรรคก้าวไกล (ชื่อในขณะนั้น) ตกหลุมพลาง “พรรคพลังประชารัฐ” ลุยโหวตวาระสาม และผลคือ ถูกตีตก จนไม่สามารถหยิบยกการแก้ไขรัฐธรรมนูญ เพื่อรื้อมรดก ของ “คสช.” ขึ้นมาพิจารณาได้จนหมดวาระของสภาฯ

โดย “ชูศักดิ์ ศิรินิล” รัฐมนตรีประจำสำนักนายกฯ ฐานะมือกฎหมายของพรรคเพื่อไทย ระบุอย่างรู้ทันว่า การแก้ไขรัฐธรรมนูญ ที่วางวาระไว้ในวันที่ 13 - 14 ก.พ. นั้น มีข้อกังวลว่าจะโต้แย้งกันในที่ประชุมว่า การบรรจุวาระนี้ไม่เป็นไปตามรัฐธรรมนูญ จนมีการบอยคอต หรือ วอล์กเอาต์ โดย สส.บางพรรค หรือ สว. เพราะต้องการให้ยื่นศาลรัฐธรรมนูญตีความก่อนว่าจะต้องทำประชามติก่อนที่รัฐสภาจะพิจารณาแก้ไขหรือไม่

ดังนั้นการเซ็ตเกมของ “พรรคเพื่อไทย” ในรอบนี้ คือ การยืมมือของ “สว.” กลุ่มของ “นพ.เปรมศักดิ์ เพียยุระ” สว.กลุ่มสีขาว และคณะ นำยื่นญัตติเพื่อขอให้รัฐสภามีมติส่งเรื่องให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยปัญหาเกี่ยวกับหน้าที่และอำนาจของรัฐสภา มาตรา 210 (2) ในกรณีการเสนอร่างรัฐธรรมนูญแก้ไขเพิ่มเติมของสมาชิกรัฐสภา ต่อที่ประชุมรัฐสภา ในวันนี้ (13 ก.พ.)

‘พท.’พลิกแผน ยื้อ ‘รื้อรธน.’ ยืมมือ‘สว.’ แก้เกม‘ตีตก’

กรณีนี้มีความเกี่ยวพันกับคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญ ที่ 4/2564 ลงวันที่ 11 มี.ค. 2564 ซึ่งมีผลผูกพันกับรัฐสภา ที่ว่า “รัฐสภามีหน้าที่และอำนาจจัดทำรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ได้ โดยต้องให้ประชาชนผู้มีอำนาจสถาปนารัฐธรรมนูญลงประชามติก่อนว่าประสงค์จะให้มีรัฐธรรมนูญฉบับใหม่หรือไม่ และเมื่อจัดทำรัฐธรรมนูญฉบับใหม่เสร็จแล้วต้องให้ประชาชนลงประชามติเห็นชอบหรือไม่”

อีกทั้ง เกี่ยวพันกับ กรณีที่ “วันมูหะมัดนอร์ มะทา” ประธานรัฐสภา โดยความเห็นของคณะกรรมการที่ให้คำปรึกษาด้านกฎหมายเสียงข้างมาก ให้ บรรจุวาระแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญ มาตรา 256 เข้าสู่ที่ประชุมรัฐสภาได้ และกำหนดเป็นวาระ เรื่องด่วน

ทำให้เห็นว่ามีความขัดแย้งเกิดขึ้นแล้ว ระหว่างสมาชิกรัฐสภาผู้มีอำนาจและหน้าที่ตามกระบวนการนิติบัญญัติ ระหว่างผู้ที่เห็นว่า “พิจารณาไม่ได้ เพราะต้องรอการทำประชามติรอบแรก” กับ “เดินหน้าพิจารณาได้” การยื่นญัตติจึงมีน้ำหนักที่จะถูกส่งไปยังศาลรัฐธรรมนูญให้วินิจฉัยได้

‘พท.’พลิกแผน ยื้อ ‘รื้อรธน.’ ยืมมือ‘สว.’ แก้เกม‘ตีตก’

ในทางการเมืองแล้ว “พรรคเพื่อไทย” รู้ว่านี่เป็นวิธีที่จะแก้เกม “สว.-พรรคร่วมรัฐบาล” ที่ไม่อยากแก้รัฐธรรมนูญ และซุ่มรอดันเรื่องให้ไปสู่วาระการลงมติ ว่าจะรับหลักการหรือไม่ ก่อนจะตลบหลังโหวต “ไม่รับหลักการ” โดยให้ สว.ลงมติเห็นชอบไม่ถึงเกณฑ์ 1 ใน 3 หรือ 67 เสียง เพื่อตัดจบกระบวนการแก้รัฐธรรมนูญ

เพราะหากสามารถตีตกได้ จะทำให้การแก้ไขรัฐธรรมนูญ มาตรา 256 และเพิ่มหมวด 15/1 จะไม่สามารถยื่นเข้าสู่การพิจารณาของรัฐสภาได้อีกในสมัยประชุมเดียวกัน

 ผลของการยื่นญัตติรอบนี้ ไม่มีอะไรการันตีได้ว่า จะไม่ซ้ำรอยกับญัตติที่ “พรรคเพื่อไทย” เสนอเมื่อต้นปี 2567 ที่ศาลรัฐธรรมนูญมีมติเอกฉันท์ ตีตกคำร้อง เนื่องด้วยความชัดเจนของคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญ ที่วางบรรทัดฐานไว้แล้วก่อนหน้านี้

จึงถูกมองว่าเป็นการแก้เกมที่ “เสียเวลา” และ “สส.-สว.” ขั้วสีส้มนั้นไม่ต้องการให้รูปเกมเป็นแบบนี้

‘พท.’พลิกแผน ยื้อ ‘รื้อรธน.’ ยืมมือ‘สว.’ แก้เกม‘ตีตก’

ดังนั้นในวาระแก้รัฐธรรมนูญ มาตรา 256 เพื่อปลดล็อกหลักเกณฑ์การใช้เสียง “สว.” 1 ใน 3 และเพิ่มหมวด สสร. ให้เป็นองค์คณะจัดทำรัฐธรรมนูญฉบับประชาชน จึงต้องจับตาการออกเสียงใน “ญัตติใหม่” ที่สว.เตรียมเสนอ และ “พรรคเพื่อไทย” เป็นกองหนุนเบอร์ใหญ่

ปัจจุบันมีสมาชิกรัฐสภา รวมกัน 692 เสียง แบ่งเป็น สส.493 เสียง และ สว. 199 เสียง

ขณะที่เกณฑ์การโหวตญัตตินี้ ใช้เพียงเสียงข้างมากของสมาชิกรัฐสภาที่มาออกเสียง แม้ว่า “สว.กลุ่มพันธุ์ใหม่-พรรคประชาชน” จะคัดค้านญัตติส่งศาลรัฐธรรมนูญนี้ หากแต่ “พรรคเพื่อไทย” รวมเข้ากับ “พรรคกล้าธรรม-พรรคประชาชาติ-สว.สีขาว” เชื่อว่าจะเป็นเสียงข้างมาก และดันญัตตินี้สู่ศาลรัฐธรรมนูญได้

เท่ากับว่าการแก้รัฐธรรมนูญรอบนี้ แม้ถูกยื้อ แต่ยังอยู่ในเส้นทาง และไม่มีอะไรเสียหาย เพราะเป้าหมายที่แท้จริงของ “รัฐบาล-เพื่อไทย” คือ การรอเวลารื้อใหญ่รอบเดียวแบบสุดซอย

หลัง “กฎหมายประชามติฉบับแก้ไข” ซึ่งแก้เกณฑ์ผ่านประชามติด้วยเสียงข้างมากชั้นเดียว มีผลบังคับใช้ ช่วงไตรมาสสามของปี 2568.