มติภท.'ไม่ร่วม' ถกร่างรธน. 'อนุทิน'อ้างปมเสี่ยง แจ้งนายกฯแล้ว ไร้ปัญหาพรรคร่วม

มติสส.ภูมิใจไทย 'ไม่ร่วมสังฆกรรม' ถกร่างรธน.13-14ก.พ.นี้ 'อนุทิน'อ้างปมเสี่ยง ขัดแย้งกับคำวินิจฉัยศาลรัฐธรรมนูญ แจ้งนายกฯ-ชูศักดิ์ ทราบแล้ว มั่นใจไร้ปัญหาพรรคร่วม
ที่พรรคภูมิใจไทย มีการประชุมสส.พรรค โดยมีวาระสำคัญคือ การพิจารณาประเด็นการแก้ไขรัฐธรรมนูญ ซึ่งที่ประชุมร่วมรัฐสภาจะมีการพิจารณาในวันที่13-14ก.พ.นี้
โดยนายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย ในฐานะหัวหน้าพรรคภูมิใจไทย เปิดเผยผลการประชุม ว่า พรรคภูมิใจไทย มีมติจะ "ไม่ร่วม" พิจารณาแก้ไขรัฐธรรมนูญของที่ประชุมรัฐสภาเนื่องจาก เห็นว่า การบรรจุวาระดังกล่าว ยังมีความขัดแย้งกับคำวินิจฉัยศาลรัฐธรรมนูญ 2564 ที่กำหนดไว้ว่า จะต้องถามประชามติจากประชาชนก่อน ในเมื่อการพิจารณาวาระการแก้ไขรัฐธรรมนูญพรุ่งนี้ (13 ก.พ.) ยังไม่มีขั้นตอนการออกเสียงประชามติ
พรรคภูมิใจไทย จึงเห็นว่า มีความสุ่มเสี่ยง และพรรคฯ ไม่สามารถรับความสุ่มเสียงนั้นได้ เพราะในการเลือกตั้งประชาชนได้เลือกผู้สมัคร สส.พรรคภูมิใจไทยมาถึง 77 คน พรรคฯ จึงขอรับไม่รับความเสี่ยง ทั้งที่มีคำวินิจฉัยของศาลรัธฐรรมนูญออกมาแล้ว
นายอนุทิน ยังย้ำว่า ในวันพรุ่งนี้ (13 ก.พ.) สส.ของพรรคฯ จะลงชื่อเข้าร่วมประชุม แต่ไม่ร่วมพิจารณาด้วย และจะกราบเรียบประธานรัฐสภา หรือประธานการประชุมฯ ให้รับทราบแนวทางของพรรคภูมิใจไทยต่อไป
ส่วนการไม่เข้า่วมการพิจารณาดังกล่าวนี้ ได้พูดคุยกับพรรคร่วมรัฐบาลแล้วหรือยังนั้น นายอนุทิน ระบุว่า ยังไม่ได้พูดคุยกับรรคร่วมรัฐบาล เพราะเป็นเรื่องของแต่ละพรรค และไม่มีการหารือในพรรคร่วมรัฐบาล หรือคณะรัฐมนตรี แต่ถือเป็นเอกสิทธิ์ของแต่ละพรรคในการยื่นแก้ไข ซึ่งถือเป็นเรื่องของรัฐสภา ไม่เกี่ยวข้องกับรัฐบาล
ส่วนพรรคภูมิใจไทย จะถูกมองขวางการแก้ไขรัฐธรรมนูญในครั้งนี้หรือไม่นั้น นายอนุทิน ยืนยันว่า พรรคภูมิใจไทย ไม่ได้ขวางการแก้ไขรัฐธรรมนูญ แต่จะต้องแก้ไขรัฐธรรมนูญ ให้ถูกต้องตามบทบัญญัติ ตามครรลอง ตามที่กฎหมายระบุไว้ เพราะความเป็นพรรคการเมือง ไม่สามารถทำผิดกฎหมายได้ ซึ่งพรรคการเมืองแต่ละพรรค มีที่ปรึกษากฎหมาย และได้มีการหารือข้อกฎหมายมากมาย
จนพรรคภูมิใจไทยมีความเห็นตรงกันว่า เสี่ยงไม่ได้ เพราะยังมีความขัแย้งต่อคำวินิจฉัยศาลรัฐธรรมนูญ
ส่วนจะมี สส.พรรคการเมืองอื่น หรือสมาชิกวุฒิสภา ที่คิดแบบเดียวกับพรรคภูมิใจไทยหรือไม่ ตนไม่ทราบแต่การตัดสินใจนี้ เป็นแนวทางปฏิบัติของพรรคภูมิใจไทยพรรคเดียว และพรรคฯ ไม่ได้สนใจจะเป็นแพะ แต่มั่นใจว่า พรรคฯ ทำในสิ่งที่ถูกต้อง
ส่วนการไม่ร่วมพิจารณาร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญ ซึ่งมีร่างฯ ที่พรรคเพื่อไทยเสนอมาด้วย จะเกิดปัญหาภายหลังหรือไม่นั้น นายอนุทิน ชี้แจงว่า เรื่องนี้ จะต้องแยกระหว่างฝ่ายบริหาร และฝ่ายนิติบัญญัติ ซึ่งแต่ละพรรคมีแนวทางของตนเอง อย่างพรรคภูมิใจไทย ที่เสนอร่างพระราชบัญญัติกัญชา แต่พรรคการเมืองอื่น ๆ ก็ไม่เห็นด้วย และพรรคภูมิใจไทย ก็ไม่ได้โวยวาย
ทั้งนี้ได้แจ้งให้นายกรัฐมนตรีรับทราบแล้ว และยังแจ้งให้นายชูศักดิ์ ศิรินิล สส.บัญชีรายชื่อ พรรคเพื่อไทย ในฐานะรัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี ได้รับทราบแล้วเช่นกันว่า พรรคภูมิใจไทย จะดำเนินการเช่นนี้ ซึ่งนายชูศักดิ์ ก็ได้ระบุว่า จะขอรอดูหน้างาน
ส่วนพรรคภูมิใจไทย จะเป็นหัวหอกยื่นศาลรัฐธรรมนูญให้วินิจฉัยหรือไม่นั้น นายอนุทิน ยืนยันว่า พรรคฯ จะไม่ยื่น แต่เรื่องนี้ เป็นเรื่องที่ สส.พรรคภูมิใจไทย จะต้องรักษาอนาคตตัวเอง เพราะต้องทำงานในพื้นที่ ในฐานะ สส.
"เรื่องการแก้ไขรัฐธรรมนูญ ไม่เกี่ยวข้องใด ๆ กับความเป็นพรรคร่วมรัฐบาล เพราะแต่ละพรรคที่เสนอญัตตินี้ ก็ไม่ได้มีการสอบถามพรรคภูมิใจไทย แต่เป็นการเสนอของแต่ละพรรค" นายอนุทิน กล่าวย้ำ