ฝุ่นพิษเมือง’เขย่ารัฐบาลแพทองธาร มท.ฝ่ากระแสอบจ.-‘ค่าหัว’เปลี่ยน‘รมว.อุตฯ’

‘ฝุ่นพิษการเมือง’ลามรัฐบาล แอ็กชัน มท.ฝ่ากระแส อบจ.-ปูด‘ค่าหัว’เปลี่ยนตัว‘รมว.อุตฯ’ ศึกวิวาทะ‘เกมฝ่ายค้าน’ ขยี้รัฐบาลเขย่าเรตติ้งเพื่อไทย
KEY
POINTS
- ฝุ่นพิษที่ว่าลุกลามในทุกมิติเวลานี้ ยังเป็นจังหวะเดียวกันกับที่ “สารพัดฝุ่นการเมือง”กำลังก่อตัว เพื่อรุกไล่รัฐบาล “แพทองธาร ชินวัตร”
- “เราเตรียมมาตรการตั้งแต่ก่อนปีใหม่ ช่วงเดือนพ.ย.67 ว่า มาตรการจะออกมาอย่างไร หากเผาจะถูกปรับอย่างไร มีหมดแล้ว ด้านอุตสาหกรรม การเผาลดน้อยลงมากจากปีที่แล้ว แต่ฝุ่นเป็นเรื่องของการสะสมมาเป็นระยะเวลานาน” แพทองธาร ชินวัตร นายกรัฐมนตรี
- กลไกของมหาดไทยที่คุม ผู้ว่าฯ นายอำเภอ กำนัน ผู้ใหญ่บ้าน ทั้งที่ทราบดีว่า ปัจจัยหลักที่ก่อให้เกิด PM2.5 มาจากการเผา ทั้งอ้อย และซังข้าว
- “ปัญหากากอุตสาหกรรม สินค้าด้อยคุณภาพนำเข้าประเทศ สั่งปิดและจับดำเนินคดีเด็ดขาด จนมีการวางค่าตัว 200-300 ล้านบาท เพื่อย้ายรัฐมนตรี แต่ไม่กลัว เพราะมีหน้าที่รักษาประโยชน์ส่วนรวม” รมต.อุตสาหกรรม เปิดประเด็นตั้งค่าหัวเปลี่ยนรัฐมนตรีกลางสภาฯ
ฝุ่นพิษ PM2.5 ที่กำลังลุกลามในเวลานี้ ถูกคาดการณ์ว่ามีแนวโน้มสถานการณ์จะรุนแรงกว่าทุกปี ส่งผลกระทบแทบทุกมิติ ทั้งคุณภาพชีวิต เศรษฐกิจ และสังคม
ตอกย้ำจากรายงานของ “สภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ” (สศช.) รายงานผลกระทบจากมหันตภัย PM2.5
ยกตัวอย่างปี 2566 ที่พบคนป่วยทางเดินหายใจ และโรคที่เกี่ยวข้อง กว่า 10.5 ล้านคน
ขณะที่ความเสียหายทางเศรษฐกิจจากฝุ่น แต่ละปีมากกว่า 4 แสนล้านบาท ถึงปัจจุบันสร้างความเสียหายไปแล้วนับ “ล้านล้านบาท”
สอดคล้องกับตัวเลข “ศูนย์วิจัยกสิกรไทย” ประเมินความเสียหายผลกระทบที่เกิดจากปัญหาฝุ่น PM 2.5 เฉพาะในพื้นที่ กทม. และปริมณฑลอยู่ที่ประมาณ 3,000-6,000 ล้านบาทต่อเดือน อันเป็นผลจากค่าเสียโอกาสทางเศรษฐกิจ เช่น ค่ารักษาพยาบาล รวมถึงค่าใช้จ่ายอื่นๆ
ทว่า ฝุ่นพิษที่ว่าลุกลามในทุกมิติเวลานี้ ยังเป็นจังหวะเดียวกันกับที่ “สารพัดฝุ่นการเมือง”กำลังก่อตัว เพื่อรุกไล่รัฐบาล “แพทองธาร ชินวัตร”
ไม่ว่าจะเป็นสภาวะที่ “ฝ่ายค้าน” ชิงจังหวะเปิดเกมรุกหนัก ใช้ทุกวาระในสภาฯ ทั้งการตั้งกระทู้ถามสด การยื่นญัตติด่วน การพิจารณาในชั้นคณะกรรมาธิการต่างๆ ผสมโรงปลุกอารมณ์ร่วมประชาชน ขยี้แผลไปที่ประเด็นความล้มเหลวของรัฐบาล
ทั้งกรณีที่“ณัฐพงษ์ เรืองปัญญาวุฒิ”หัวหน้าพรรคประชาชน ผู้นำฝ่ายค้าน แสดงท่าทีเหน็บแนมไปที่นายกฯ หนีไปสูดอากาศที่เมืองดาวอส ประเทศสวิตเซอร์แลนด์ เต็มปอด แต่ปล่อยคนไทยหลายล้านคนหายใจรับอากาศพิษเข้าปอด
ก่อนที่ “ภูมิธรรม เวชยชัย” รองนายกรัฐมนตรี และ รมว.กลาโหม จะออกมาสวนหมัดกลับ อย่าเอาเกมการเมืองมาปนกับการแก้ปัญหาให้ประชาชน
ร้อนถึง “นายกฯอิ๊งค์” แพทองธาร ที่ต้องสั่งการข้ามทวีป ระหว่างการปฏิบัติภารกิจเข้าร่วมประชุม World Economic Forum Annual Meeting 2025 (WEF AM 25) ครั้งที่ 55 เมืองดาวอส สมาพันธรัฐสวิส เมื่อสัปดาห์ที่ผ่านมา ให้มีการแก้ปัญหาฝุ่นพิษ
ทั้ง “6 มาตรการด่วน” สู้ฝุ่นทั้งการปิดโรงเรียน WFH คุมรถบรรทุกเข้า กทม.ชั้นใน การบังคับใช้กฎหมายอย่างเข้มข้น คือสั่งกระทรวงคมนาคมทุ่มงบ 140 ล้านบาท ให้ประชาชนขึ้นรถไฟฟ้า และขสมก.ฟรี 7 วัน ตั้งแต่ 25-31 ม.ค.นี้ เพื่อลดการใช้รถยนต์ส่วนตัวของประชาชน รวมถึงมาตรการระยะยาวในการยกระดับฝุ่นพิษเป็น “วาระแห่งชาติ”
นายกฯแพทองธาร ยังย้ำอีกครั้งเมื่อ วันที่ 25 ม.ค. ยืนยัน “เราเตรียมมาตรการตั้งแต่ก่อนปีใหม่ ช่วงเดือนพ.ย.67 ว่า มาตรการจะออกมาอย่างไร หากเผาจะถูกปรับอย่างไร มีหมดแล้ว ด้านอุตสาหกรรม การเผาลดน้อยลงมากจากปีที่แล้ว แต่ฝุ่นเป็นเรื่องของการสะสมมาเป็นระยะเวลานาน”
“ฝุ่นการเมือง”ลามเรตติ้งชิง อบจ.
ล่าสุด มีข้อมูลเล็ดลอดจาก “แหล่งข่าวในทำเนียบรัฐบาล” เปิดเผยว่า จากกรณีที่ “นายกฯแพทองธาร” มีข้อสั่งการระหว่างภารกิจประชุมที่ดาวอส ถึง “มท.หนู” อนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรี และรมว.มหาดไทย ให้เรียกประชุมผู้ว่าราชการจังหวัด เพื่อเร่งแก้ปัญหา PM 2.5 หลายพื้นที่
โดยเฉพาะในภาคอีสาน หลังกลไกของมหาดไทยยังไม่แอ็กชั่นเท่าที่ควร ทั้งผู้ว่าฯ นายอำเภอ กำนัน ผู้ใหญ่บ้าน ทั้งที่ทราบดีว่า ปัจจัยหลักที่ก่อให้เกิด PM2.5 มาจากการเผา ทั้งอ้อย และซังข้าว แตกต่างจากสมัย “ทักษิณ ชินวัตร” เป็นนายกรัฐมนตรี เคยมีข้อสั่งการเรื่องแก้ปัญหาการเผาในพื้นที่เกษตรเช่นเดียวกัน ทุกภาคส่วนที่เกี่ยวข้องจะตอบสนองนโยบายกันเป็นอย่างดี ไม่เช่นนั้น ต้องมีส่วนรับผิดชอบ ตำรวจในพื้นที่ ระดับผู้กำกับการก็ต้องมีส่วนรับผิดชอบด้วย เนื่องจากเป็นผู้บังคับใช้กฎหมายและดูแลพื้นที่โดยตรง
“ในช่วงนี้ ที่กำลังเข้าสู่โค้งสุดท้ายการเลือกตั้งนายก อบจ. ทั่วประเทศ 1 ก.พ.นี้ ก็ถือว่ามีผลที่ทำให้การบังคับใช้กฎหมายของหน่วยงานที่รับผิดชอบหลัก ทั้งจับกุม หรือการปรับผู้ที่ลักลอบเผา ซึ่งส่วนใหญ่เป็นชาวบ้าน หรือเกษตรกร ทำได้ไม่เต็มที่ เพราะกังวลจะกระทบความนิยม แต่ถึงอย่างนั้น ผู้ว่าฯ ก็ควรป้องปรามให้เกิดผลเป็นรูปธรรมมากกว่านี้ และถ้าทำได้สำเร็จ จะเรียกความเชื่อมั่นจากต่างชาติได้อย่างมากว่า รัฐบาลมีประสิทธิภาพในการแก้ปัญหาเหมือนสมัยนายกฯทักษิณ” แหล่งข่าวระบุ
ฝุ่นเป็นพิษ“ค่าหัว”เปลี่ยนตัวรมต.
เหนือไปกว่านั้น ท่ามกลางกระแสข่าวการ “ปรับครม.แพทองธาร” ซึ่งถูกจับตาว่า จะเกิดขึ้นในเร็ววัน ยังเป็นจังหวะเดียวกันกับที่ “ฝุ่นควันการเมือง” กำลังตลบเช่นเดียวกัน
เห็นได้ชัดจากการประชุมสภาฯ เมื่อวันที่ 23 ม.ค.ที่ผ่านมา วาระพิจารณากระทู้ถามสดของ “ธีระชัย แสนแก้ว” สส.อุดรธานี พรรคเพื่อไทย ถาม “เอกนัฏ พร้อมพันธุ์”รมว.อุตสาหกรรม กรณีปิดโรงงานน้ำตาลไทยอุดรธานี จ.อุดรธานี หลังรับซื้ออ้อยถูกเผา ที่อาจเป็นการเลือกปฏิบัติ เนื่องจากพื้นอื่นที่มีอัตราส่วนการเผาอ้อยสูงกว่า แต่ไม่ถูกสั่งปิด
แน่นอนว่า ประเด็นดังกล่าวถูกตีความไปที่นัยของการ “ขยายปมการเมือง” พุ่งเป้าไปที่กระทรวงอุตสาหกรรม ที่อยู่ในการดูแลของพรรครวมไทยสร้างชาติ
ถึงขนาดที่ “รมต.ขิง” ต้องลุกขึ้นชี้แจงกลางสภาฯ ด้วยวลีดุเดือด ไม่มีการเลือกปฏิบัติ ภารกิจช่วยลดฝุ่น PM2.5 ไม่มีเส้นแบ่งระหว่างพรรค หรือรัฐมนตรีกระทรวงใด
ล่าสุดอัตราการเผาที่ 11% ต่ำสุด โรงงานที่ถูกปิด อุตสาหกรรมจังหวัดตรวจสอบพบว่ารับซื้ออ้อยเผาสูงสุด 4 แสนตัน หรือ 40% สูงสุดในประเทศ โรงงานอื่นรับซื้ออ้อยเผาไม่เกิน 25% เคลียร์อ้อยที่ค้างรับซื้อทั้งหมดแล้ว ส่วนอ้อยเน่าจะมีมาตรการเยียวยาต่อไป ได้ทำหน้าที่ไม่ได้นั่งเฉยๆ ในห้องแอร์ ลงพื้นที่ตรวจจับ จัดระบบใหม่ในภาคอุตสาหกรรม
“ปัญหากากอุตสาหกรรม สินค้าด้อยคุณภาพนำเข้าประเทศ สั่งปิดและจับดำเนินคดีเด็ดขาด จนมีการวางค่าตัว 200-300 ล้านบาท เพื่อย้ายรัฐมนตรี แต่ไม่กลัว เพราะมีหน้าที่รักษาประโยชน์ส่วนรวม” รมต.อุตสาหกรรม เปิดประเด็นตั้งค่าหัวเปลี่ยนรัฐมนตรีกลางสภาฯ
ปัญหาฝุ่นพิษที่กำลังลุกลามในเวลานี้ ถือเป็นอีกสถานการณ์สำคัญ ที่จะพิสูจน์ฝีมือของรัฐบาลแพทองธาร ในการเรียกความเชื่อมั่น ภายใต้ความท้าทายในทุกมิติ
ทำไปทำมา ปัญหาฝุ่นพิษที่กำลังเกิดขึ้นในเวลานี้ ที่สุดอาจไม่ใช่แค่ "ภัยความมั่นคงด้านสิ่งแวดล้อม" แต่อาจยกระดับเป็น"ภัยความมั่นคงรัฐบาลแพทองธาร" ไปในคราวเดียวกันอีกด้วย