‘สมศักดิ์’ เผย ชง ครม. ให้ ผู้ว่าฯ ขอ ‘อธิบดีควบคุมโรค’ ประกาศ WFH แก้ PM2.5

“สมศักดิ์” เผย ชง มติบอร์ดควบคุมโรค เข้า ครม. แก้PM2.5 เปิดทาง ผู้ว่าฯ ชง อธิบดีกรมควบคุมโรค สั่ง WFH ตามหลักเกณฑ์ ความรุนแรงของสถานการณ์
ที่ทำเนียบรัฐบาล นายสมศักดิ์ เทพสุทิน รมว.สาธารณสุข ถึงแนวทางการแก้ไข ปัญหา PM2.5 ว่า วันนี้ตนได้นำมติที่ประชุมคณะกรรมการควบคุมโรคจากการประกอบอาชีพและโรคจากสิ่งแวดล้อม มาเสนอให้ครม.รับทราบ และเห็นชอบให้อำนาจตามมาตรา 35 พ.ร.บ.ควบคุมโรคจากการประกอบอาชีพและโรคจากสิ่งแวดล้อม พ.ศ.2562 ให้อำนาจในการควบคุม เฝ้าระวังพื้นที่ ที่มีฝุ่น PM2.5 แบ่งตามระดับความรุนแรงของฝุ่น โดยสีส้ม ปริมาณฝุ่นตั้งแต่ 37.5-75 มคก./ลบ.ม. เป็นพื้นที่ควบคุมเฝ้าระวังเฝ้าระวัง ซึ่งจะมีการสวมหน้ากอนามัย การทำงานในพื้นที่ร่ม อาคารต่างๆ ส่วนพื้นที่ระดับสีแดง คือมีปริมาณ ในรอบ 24 ชม. มากกว่า 75 มคก./ลบ.ม. ติดต่อกันให้เป็นพื้นที่ที่ต้องมีการเฝ้าระวัง การป้องกัน และการควบคุมโรคจากการประกอบอาชีพและโรคจากสิ่งแวดล้อม ทั้งนี้โดยการเสนอเข้ามาโดยผู้ว่าราชการจังหวัด โดยมาตรการหนึ่งในนั้นคือการให้ทำงานที่บ้าน หรือ Work from home(WFH)
นายสมศักดิ์ กล่าวว่า การสั่ง Work from home นั้น ทางผู้ว่าราชการจังหวัดจะเป็นคนขอมา แล้วอธิบดีกรมควบคุมโรคเป็นอนุมัติ คือ มีอำนาจเลย เพราะวันนี้เรามาขอให้ครม.รับทราบ และเห็นชอบให้ใช้มาตรา 35 พ.ร.บ.ควบคุมโรคจากการประกอบอาชีพและโรคจากสิ่งแวดล้อม ให้อำนาจนี้เพื่อการดำเนินการต่อไป จะได้ไม่ต้องมาเข้าครม.บ่อยๆ
นายสมศักดิ์ กล่าวต่อว่า การควบคุมแก้ไขปัญหา การให้ความช่วยเหลือกรณีได้รับผลกระทบจากฝุ่น PM 2.5 มีหลายชั้น ดังนี้ 1. ชั้นควบคุมเหตุรำคาญ จะใช้ พ.ร.บ.การสาธารณสุข พ.ศ. 2535 ให้องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นเป็นผู้ประกาศ 2. ชั้นที่ 2 ปริมาณฝุ่นระดับสีหลืองเข้าสู่สีแดง 3. ขั้น สีแดง พื้นที่ควบคุมโรคฯ ทั้งนี้ ปัญหาระดับฝุ่นขั้นที่ 2 และ 3 นี้ จะใช้ พ.ร.บ.ควบคุมโรคจากการประกอบอาชีพและโรคจากสิ่งแวดล้อมฯ และชั้น 4 สูงสุดเขตที่มีฝุ่น PM2.5 เฉลี่ยในรอบ 24 ชั่วโมง มากกว่า 150 มคก./ลบ.ม. ติดต่อกัน 5 วัน รัฐบาลต้องใช้งบประมาณ และใช้มาตรการทางกฎหมายตาม พ.ร.บ.ป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย พ.ศ.2550 ของกรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า มติที่ประชุมคณะกรรมการควบคุมโรคจากการประกอบอาชีพและโรคจากสิ่งแวดล้อม กำหนดว่า เมื่อมีการประกาศเป็นเขตพื้นที่ควบคุมโรคแล้ว ให้ผู้ว่าราชการจังหวัดมีอำนาจพิจารณาตามสถานการณ์ปัญหา อาจจะค่าฝุ่นสูงเกิน 2 วัน 3 วัน หรือ 5 วัน ก็สามารถประกาศได้
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ตามมติที่ประชุมคณะกรรมการควบคุมโรคจากการประกอบอาชีพและโรคจากสิ่งแวดล้อม กำหนดว่า เมื่อมีการประกาศเป็นเขตพื้นที่ควบคุมโรคแล้ว ให้ผู้ว่าราชการจังหวัดมีอำนาจในการดำเนินการ ดังนี้
1.สนับสนุนหน้ากากป้องกันฝุ่น PM2.5 แก่ประชาชนกลุ่มเปราะบาง (เด็กเล็ก ผู้สูงอายุ หญิงตั้งครรภ์ ผู้มีโรคประจำตัว ได้แก่ หอบหืดและถุงลมอุดกั้นเรื้อรัง โดยพิจารณาชนิดหน้ากากตามที่กรมควบคุมโรคแนะนำ
2.ออกประกาศ Work from home / ทำงานผ่านระบบออนไลน์ และงดทำกิจกรรมกลางแจ้ง
3.จัดทำศูนย์รองรับการอพยพประชาชนกลุ่มเปราะบางและผู้ป่วยติดเตียง ให้เข้าพักคอยจนกว่าสถานการณ์จะปกติ
4.ขอความร่วมมือเกษตรกร เจ้าของสถานประกอบกิจการ และผู้ประกอบการขนส่ง ดำเนินการลดฝุ่น ในส่วนของโรงพยาบาล ให้จัดทำห้องปลอดฝุ่นสำหรับกลุ่มเปราะบาง เช่น ห้องเด็กแรกคลอด ห้องพักหลังคลอด เป็นต้น และแจ้งการพบผู้ป่วยโรคจากฝุ่น PM2.5 และให้พนักงานเจ้าหน้าที่ ตาม พ.ร.บ.ควบคุมโรคจากการประกอบอาชีพและโรคจากสิ่งแวดล้อม ใช้กลไกทางกฎหมาย ในการแจ้ง รายงาน และสอบสวนโรคจากฝุ่น PM2.5