ตีตลบผลงาน 1.4 ปีรัฐบาล ฝ่ายค้านรุก เปิดศึกซักฟอก
“ณัฐพงษ์” และ ปชน. ในฐานะ “ฝ่ายค้าน” ได้เก็บรวบรวมข้อมูลไว้หมดแล้ว มีการเตรียมตัวค่อนข้างดี เพื่อยื่นซักฟอกไม่ไว้วางใจรัฐบาลชุดนี้ โดยกรอบที่วางไว้คือภายในไตรมาสแรกของปี 2568 การ “ซักฟอก” ของ “ค่ายสีส้ม” หลายคนคงทราบกันดีถึงความ “ดุเด็ดเผ็ดมัน” ทั้งข้อมูล และวาทกรรม
KEY
POINTS
- “ณัฐพงษ์-ศิริกัญญา” ควงคู่แถลงชำแหละผลงาน 90 วันรัฐบาล ไม่ตัดเกรด แต่ “สอบตก”
- จี้ 2 จุดตาย “แจกเงินดิจิทัล-ซอฟต์พาวเวอร์” ยังไม่ถึงไหน ไร้รูปธรรม
- บริหารมาครึ่งเทอม รัฐมนตรีก็หน้าเดิม เปลี่ยนแค่นายกฯ แต่ยังแก้เศรษฐกิจเหลว
- เตรียมเก็บข้อมูล จองกฐิน “รุกฆาต” ยื่นอภิปรายไม่ไว้วางใจต้นปี 68
ล่วงเข้าสู่เดือนที่ 4 สำหรับ “รัฐบาลแพทองธาร ชินวัตร” โดยวานนี้ (12 ธ.ค.) “นายกฯอิ๊งค์” ถือฤกษ์แถลงผลงานรัฐบาลครบรอบ 90 วัน ภายใต้ชื่อ “2568 โอกาสไทย ทำได้จริง” และการมอบนโยบายการบริหารราชการแผ่นดิน โดยมีหลักใหญ่ใจความสำคัญคือ การสานต่อนโยบาย “รัฐบาลเศรษฐา ทวีสิน” และปรับการทำงานให้ลงตัวขึ้น โดยยืนยันว่าในปี 2568 จะมีสิ่งที่เรียกว่า “นโยบายกินได้” เกิดขึ้นจริงแน่นอน
การแถลงนโยบายดังกล่าวของ “นายกฯอิ๊งค์” เกิดขึ้นในวันเดียวกับที่ “ฝ่ายค้าน” นำโดย “ไหม” ศิริกัญญา ตันสกุล สส.บัญชีรายชื่อ รองหัวหน้าพรรคประชาชน (ปชน.) ตั้งกระทู้ถามสดในสภาฯ ซึ่ง “นายกฯอิ๊งค์” มิได้มาตอบด้วยตัวเอง โดยอ้างว่า ติดการแถลงผลงาน และจะหาวันเหมาะสมไปตอบกระทู้ ทำเอา “ณัฐชา บุญไชยอินสวัสดิ์” สส.กทม. ปชน. เดือดดาลถึงขั้นถามว่า “ต้องเป็นคนประเภทไหนที่บอกว่าวันทำงานวันแรกไม่เหมาะกับการทำงาน”
ต่อมา ในช่วงเย็นวันเดียวกัน “ณัฐพงษ์ เรืองปัญญาวุฒิ” สส.บัญชีรายชื่อ หัวหน้าพรรค ปชน. ในฐานะ “ผู้นำฝ่ายค้าน” ในสภาผู้แทนราษฎร พร้อมด้วย “ศิริกัญญา” แถลงข่าวคู่ขนานกับการแถลงผลงาน 90 ของรัฐบาล ซึ่งทั้งคู่ไม่ขอ “ตัดเกรด” แต่ “ณัฐพงษ์” ระบุว่า ไม่ผ่านเกณฑ์ หมายถึงผิดความคาดหวังของประชาชน เพราะรัฐบาลชุดนี้ทำงานไปแล้วครึ่งเทอม แต่ยังไม่มีอะไรคืบหน้า
โดย “เดอะ ไหม” กล่าวว่า เนื่องจากรัฐบาลจัดแถลงผลงานช่วง 90 วันในช่วงเช้าที่ผ่านมานั้น ทำให้ประชาชนคาดหวังว่านี่จะเป็นการแถลงผลงานของรัฐบาล แต่กลับมีปัญหา 2 เรื่องคือ เรื่องแรก รัฐบาลนี้ไม่ได้เพิ่งมา 90 วัน แต่ได้ดำเนินการบริหารราชการแผ่นดินมารวมแล้ว 1 ปี 4 เดือน ดังนั้น การที่จะบอกว่ามาแถลงผลงานรัฐบาล 90 วัน เป็นเพียงแค่การแถลงนโยบายของนายกรัฐมนตรีคนใหม่ใช่หรือไม่ เพราะรัฐมนตรีมีแต่หน้าเดิมฉะนั้น จึงต้องเป็นการแถลงนโยบายที่ผ่านมากว่า 1 ปีไม่ใช่ 90 วัน
เรื่องที่ 2 แม้จะใช้ชื่องานว่าแถลงนโยบาย 90 วันแต่สิ่งที่ได้ยินจากนายกรัฐมนตรี คือการแถลงฝากงานรัฐมนตรีที่ไปร่วมงานรวมทั้งสิ้น 11 ครั้ง โดยไม่ได้สรุปผลงานที่เคยผ่านมาว่ามีการแก้ปัญหาเฉพาะหน้าที่เกิดขึ้นอย่างไรบ้าง ทั้งนี้ ยอมรับว่ารัฐบาลนี้ไม่ใช่ไม่มีผลงาน แต่กลับไม่มีการออกมาพูดเรื่องผลงานอย่างจริงจัง ซึ่งอาจจะมีผลงานบางอย่างที่เป็นผลงานได้
“สิ่งที่นายกรัฐมนตรีพูดวันนี้กับพูดโดยที่ไม่ได้ลงรายละเอียดอะไรมาก จึงเป็นเหมือนการแถลงนโยบายภาคสอง พูดแค่หัวข้อ และการพูดในแต่ละหัวข้ออาจจะยังคิดไม่ครบทุกระบบ แต่ก็ยังมีหลายเรื่องที่เราเห็นด้วยและพร้อมที่จะสนับสนุนไม่ว่าจะเป็นการทะลายทุนผูกขาด การปรับโครงสร้างหนี้ บ้านเพื่อคนไทย หรือการลดค่าไฟ แต่ย้ำว่าปัญหาคือการไม่ลงในรายละเอียด อีกทั้งไม่ได้มีการพูดถึงแก๊งคอลเซ็นเตอร์ หรืออาชญากรรมออนไลน์” ศิริกัญญา กล่าว
“ศิริกัญญา” ยังชำแหละ 2 นโยบาย “เรือธง” ของรัฐบาล โดยยกตัวอย่าง โครงการซอฟต์พาวเวอร์ และแจกเงินดิจิทัลวอลเล็ต ว่า ยังไม่มีความใด ๆ ออกมา
โดยเฉพาะนโยบาย “ดิจิทัลวอลเล็ต” ที่ “ณัฐพงษ์” ยืนยันว่าเป็นนโยบายที่ “ล้มเหลว” มากที่สุด ซึ่งเฟส 1 แจกจ่ายไปแล้ว ภาพรวมของการกระตุ้นเศรษฐกิจก็ยังไม่ดีเท่าที่ควร นอกจากนี้ เฟส 2 และ 3 ก็พูดออกมาชัดว่าเฉพาะเฟส 3 เท่านั้น ที่จะมีการแจกเงินดิจิทัล แบบนี้ก็ถือว่าพลาดเป้าไปหลายเป้าที่รัฐบาลเคยแถลงนโยบายไว้ตอนหาเสียง
“ณัฐพงษ์” ยังตอกย้ำถึงการแถลงผลงานรัฐบาลของ “นายกฯอิ๊งค์”ว่า เป็นเหมือนการ“ฝากงาน”มากกว่า โดยสิ่งที่อยากเห็นจากรัฐบาล คือการทำให้คนไทยเชื่อมั่นได้ว่าในปี 2568 ภายใต้บริบทโลกใหม่ นโยบายของรัฐบาลจะเป็นการสร้างโอกาสให้ประชาชนอย่างแท้จริง
สิ่งที่อยากเห็นจากการแถลงของนายกฯ คือการปฏิรูประบบราชการ นายกฯ พูดถึงเศรษฐกิจดิจิทัล รัฐบาลดิจิทัล แต่กลับไม่พูดถึงปัญหาการต่อต้านคอร์รัปชัน รวมทั้งเรื่องการกระจายอำนาจที่กลับไปพูดถึงการกระจายอำนาจด้วยกองทุนเอสเอ็มแอล ทั้งที่การกระจายอำนาจให้องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น (อปท.) ต้องให้ท้องถิ่นมีอำนาจแก้ไขปัญหาให้ประชาชนได้โดยตรง ทั้งปัญหาน้ำท่วมน้ำแล้ง ปัญหาฝุ่น PM 2.5 ซึ่งอปท.ถือเป็นกลไกสำคัญในการแก้ปัญหา
นอกจากนี้ ยังมีเรื่องการแก้ปัญหายาเสพติด ได้ยินแค่ว่านายกฯ จะทำแพลตฟอร์มรับเรื่องร้องเรียนปัญหายาเสพติด ซึ่งปัญหานี้ใหญ่มาก ไทยไม่สามารถแก้ปัญหานี้ได้เลยถ้าไม่พูดถึงปัญหาชายแดน และปัญหาความขัดแย้งในประเทศเพื่อนบ้าน ปัญหาการศึกษาก็ไม่มีการพูดถึง พ.ร.บ.การศึกษาฯ หรือการปฏิรูปหลักสูตรการศึกษาแต่อย่างใด
ส่วนเรื่องพลังงานไฟฟ้าที่มีความสำคัญ นายกฯไม่พูดถึงการยกเลิกสัมปทานพลังงานหมุนเวียนไฟฟ้า 3600 เมกกะวัตต์ ซึ่งขณะนี้ รมว.พลังงานได้ทำหนังสือไปถึงคณะกรรมการนโยบายพลังงานแห่งชาติ (กพช.) นายกฯ เป็นประธานด้วย แต่ก็ไม่มีการพูดถึงว่าจะแก้ปัญหานี้อย่างไร
ขณะที่นโยบายด้านการต่างประเทศกับประเทศเพื่อนบ้านก็ยังไม่ชัดเจนว่า ไทยจะจัดตนเองไปอยู่ในตำแหน่งแห่งที่อย่างไรในสงครามการค้าโลกที่เราจะได้รับผลกระทบอย่างแน่นอนในปี 2568 ภายใต้ระเบียบโลกใหม่ที่สหรัฐฯ กำลังจะตั้งกำแพงภาษีกับประเทศที่สหรัฐฯ ขาดดุลการค้าซึ่งรวมถึงไทยด้วย
“ผมอยากเห็นนายกฯ มองบริบทประเทศของเราว่าไม่ใช่ Small country แบบที่นายกฯ เศรษฐา ทวีสิน เคยพูดไว้ แต่เราคือ Middle power country เราเป็นประเทศที่มีอำนาจต่อรองระดับหนึ่ง ผมอยากเห็นนายกฯ แสดงบทบาทผู้นำในเวทีอาเซียนในการเจรจาในภูมิภาค เพื่อสร้างความร่วมมือร่วมกันว่าเราจะสร้างอำนาจต่อรองในสงครามการค้าโลกนี้อย่างไร” ณัฐพงษ์ ตั้งคำถาม
“ณัฐพงษ์” ยังยืนยันบทบาทด้วยว่า ตัวเองเป็นประเภท “ฝ่ายค้านเชิงรุก” โดยพรรค ปชน.ยื่นร่างแก้ไขกฎหมายเข้าสู่การพิจารณาของสภาฯ ไปแล้วกว่า 80 ฉบับ อยากได้ความชัดเจนจากรัฐบาลที่เป็นรูปธรรม หรือร่างกฎหมายของรัฐบาลที่จะยื่นเข้าสู่สภาฯ เพื่อมาพิจารณาร่วมกัน
ที่สำคัญทั้ง “ณัฐพงษ์” และ ปชน. ในฐานะ “ฝ่ายค้าน” ได้เก็บรวบรวมข้อมูลไว้หมดแล้ว ยืนยันมีการเตรียมตัวค่อนข้างดี เพื่อยื่นเปิดอภิปรายไม่ไว้วางใจรัฐบาลชุดนี้ โดยกรอบที่วางไว้คือภายในไตรมาสแรกของปี 2568 ซึ่งการ “ซักฟอก” ของ “ค่ายสีส้ม” หลายคนคงทราบกันดีถึงความ “ดุเด็ดเผ็ดมัน” ทั้งข้อมูล และวาทกรรม
ดังนั้นสิ่งที่น่าจับตาต่อไปคือ “จุดตาย” บรรดานโยบายต่าง ๆ ของรัฐบาลว่า จะมีอะไรบ้าง คราวนี้ “นายกฯ-รัฐมนตรี” ที่เกี่ยวข้อง จะตอบคำถาม-แก้ไขสารพัดปัญหาที่เกิดขึ้นได้หรือไม่ ต้องติดตาม