กางกฎหมายราชทัณฑ์ ช่องทาง ‘ยิ่งลักษณ์’ กลับไทยสู้คดี ‘จำนำข้าว’

กางกฎหมายราชทัณฑ์ ช่องทาง ‘ยิ่งลักษณ์’ กลับไทยสู้คดี ‘จำนำข้าว’

ทั้งหมดคือข้อกฎหมายที่เกี่ยวข้อง หาก “ยิ่งลักษณ์” จะกลับมาเพื่อต่อสู้คดี “จำนำข้าว” อีกครั้ง โดยอ้างอิงพยานหลักฐานใหม่ ยังไม่นับ “ช่องทางการเมือง”

KEY

POINTS

  • กางกฎหมาย-กฎกระทรวง-ประกาศราชทัณฑ์ ช่องทาง “ยิ่งลักษณ์” กลับมาสู้คดี “จำนำข้าว”
  • หลังสถานการณ์ผ่อนคลาย ทั้งปล่อยตัวพักโทษ “บุญทรง-ภูมิ-เสี่ยเปี๋ยง” ตัวการสำคัญในคดี
  • “ภูมิธรรม” ตระเวนชิมข้าว 10 ปี การันตี “ไร้ข้าวเน่า”
  • “ค่ายแดง” ควานหาหลักฐานสำคัญ คำสั่งลายลักษณ์อักษร “นารีขี่ม้าขาว” ให้สอบทุจริตในโครงการ
  • จับตาเปิดช่อง “กฎหมายขังนอกคุก” บังคับใช้สิ้นปี 67 นำร่องก่อน “ยิ่งลักษณ์” กลับไทย

ค่อนข้างแน่ชัดแล้วว่า “คดีจำนำข้าว” มีแนวโน้มสูงที่จะถูก “ปัดฝุ่นรื้อฟื้น” ขึ้นมาพิจารณาคดีใหม่ หลังจากสถานการณ์ทางการเมืองตอนนี้ “เข้าล็อค” ได้แก่

1.การพักโทษปล่อยตัวผู้ต้องขังคดีทุจริตโครงการระบายข้าวแบบรัฐต่อรัฐ (จีทูจี) ไม่ว่าจะเป็น “บุญทรง เตริยาภิรมย์” อดีต รมว.พาณิชย์ ผู้กุมความลับสำคัญในคดีนี้ “ภูมิ สาระผล” อดีต รมช.พาณิชย์ อีกหนึ่งคนที่ร่วมกระทำการ รวมถึงภาคเอกชนตัวการสำคัญอย่าง “เสี่ยเปี๋ยง” อภิชาติ จันทร์สกุลพร อดีตพ่อค้าข้าวชื่อดัง ก็ได้รับการพักโทษ ปล่อยตัวมา “คุมประพฤติ” นอกเรือนจำในช่วงเวลาไล่เลี่ยกัน

2.ระเบียบกรมราชทัณฑ์ ว่าด้วยการดำเนินการสำหรับการคุมขังในสถานที่คุมขัง พ.ศ.2566 หรือที่เรียกกันโดยทั่วไปว่าระเบียบ “ขังนอกคุก” ซึ่งเป็นกฎหมายของกรมราชทัณฑ์ “พ.ต.อ.ทวี สอดส่อง” รมว.ยุติธรรม คนปัจจุบัน ให้สัมภาษณ์ยืนยันว่า ระเบียบดังกล่าวจัดทำขึ้นเพื่อสิทธิมนุษยชนของผู้ต้องขัง โดยคาดว่าน่าจะทันใช้ภายในสิ้นปี 2567

3.ตั้งแต่ช่วงกลางปี 2567 เป็นต้นมา “ภูมิธรรม เวชยชัย” รองนายกฯ และ รมว.พาณิชย์ ปัดฝุ่นนำข้าวค้างโกดัง 10 ปีสมัยยุค “จำนำข้าว” ออกมาขายต่อแก่เอกชน โดยตระเวน “ชิมข้าว” ในโกดังทั่วประเทศ เพื่อการันตีว่าข้าวสมัยจำนำข้าวไม่ได้เน่าตามที่ครหากัน

สถานการณ์ทั้ง 3 ข้อข้างต้นสอดคล้องพอดีกับกระแสข่าวว่า “ค่ายสีแดง” กำลังเฟ้นหา “หลักฐานชิ้นสำคัญ” ที่จะช่วยรื้อฟื้นการพิจารณาคดี “จำนำข้าว” ของ “อดีตนายกฯยิ่งลักษณ์” กลับมาพิจารณาใหม่ นั่นคือ เอกสารสั่งการที่ลงลายลักษณ์อักษร ให้ดำเนินการตรวจสอบการทุจริตในโครงการรับจำนำข้าว รวมถึงโครงการระบายข้าวจีทูจี เพื่อไปยืนยันว่า “ยิ่งลักษณ์” ไม่ได้ละเลยการปฏิบัติหน้าที่ และไม่ได้เป็นการไม่ระงับยับยั้งความเสียหายในโครงการรับจำนำข้าว ที่ศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง พิพากษาจำคุกเธอ 5 ปีเมื่อปี 2560

ประเด็นที่น่าสนใจคือบรรดา “กฎกระทรวง-ประกาศ” ต่าง ๆ ของกระทรวงยุติธรรม ที่เกี่ยวข้องกับการ “พักโทษ” ของผู้ต้องขัง ส่วนใหญ่ล้วนจัดทำขึ้นในช่วง “สมศักดิ์ เทพสุทิน” นั่งเก้าอี้ รมว.ยุติธรรม สมัย “รัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา” ได้แก่

1.กฎกระทรวงการส่งตัวผู้ต้องขังไปรักษาตัวนอกเรือนจำ พ.ศ.2563 ที่ระบุหมายเหตุในการออกประกาศใช้กฎกระทรวงว่า เป็นไปตาม พ.ร.บ.ราชทัณฑ์ 2560 หากพบผู้ต้องขังที่ป่วย และไม่สามารถรักษาในเรือนจำได้ ผู้บัญชาการเรือนจำสามารถใช้ดุลพินิจส่งไปรักษาเฉพาะทางนอกเรือนจำได้ ซึ่งหลักเกณฑ์และวิธีการส่งตัวผู้ต้องขังไปรักษาตัวนอกเรือนจำ และระยะเวลาการรักษาตัว รวมทั้งผู้มีอำนาจอนุญาต ให้เป็นไปตามกฎกระทรวงฉบับนี้ โดยกฎกระทรวงฉบับนี้ ถูกใช้กับ “ทักษิณ ชินวัตร” เมื่อครั้งป่วยและถูกส่งตัวจากเรือนจำไปรักษาที่ชั้น 14 รพ.ตำรวจ ด้วย

2.กฎกระทรวงกำหนดประโยชน์ของนักโทษเด็ดขาด และเงื่อนไขที่นักโทษเด็ดขาดซึ่งได้รับการลดวันต้องโทษจำคุก หรือ การพักการลงโทษ และได้รับการปล่อยตัวต้องปฏิบัติ พ.ศ. 2562 เกี่ยวกับการลดวันต้องโทษจำคุกของผู้ต้องขังชั้น ๆ ต่าง เช่น ชั้นเยี่ยม ชั้นกลาง เป็นต้น โดยต้องเป็นนักโทษเด็ดขาดซึ่งได้รับโทษจำคุกตามคำพิพากษาถึงที่สุดมาแล้วไม่น้อยกว่า 6 เดือน หรือ 1 ใน 3 ของกำหนดโทษ หรือไม่น้อยกว่า 10 ปีในกรณีต้องโทษตลอดชีวิต จะได้รับการลดวันต้องโทษ 

สำหรับเงื่อนไขการพิจารณาพักโทษนั้น ต้องนำปัจจัยหลายอย่างมาประกอบการพิจารณา เช่น พฤติการณ์แห่งคดีที่ได้กระทำผิด ระยะเวลาการคุมประพฤติ ความน่าเชื่อถือและความเหมาะสมของผู้อุปการะในการควบคุมดูแลนักโทษ ผลกระทบด้านความปลอดภัยของสังคม มีพฤติการณ์ระหว่างคุมขังจนน่าเชื่อว่าได้กลับตนเป็นคนดี เป็นต้น

3.ประกาศกรมราชทัณฑ์ เรื่องหลักเกณฑ์การคัดเลือกนักโทษเด็ดขาดเข้าโครงการพักการลงโทษกรณีมีเหตุพิเศษเนื่องจากเจ็บป่วยร้ายแรง หรือพิการหรือมีอายุตั้งแต่ 70 ปีขึ้นไป โดยกรมราชทัณฑ์ ชี้แจงว่า มีการดำเนินการมาตั้งแต่ 2546 อย่างต่อเนื่องมาจนถึงปัจจุบัน ภายใต้กฎกระทรวง และระเบียบที่เกี่ยวข้อง ปฏิบัติต่อผู้ต้องขังทุกรายที่มีคุณสมบัติและเข้าหลักเกณฑ์อย่างเท่าเทียมกัน มิได้ให้สิทธิพิเศษแก่บุคคลใดบุคคลหนึ่งแต่อย่างใด

อย่างไรก็ดีกฎกระทรวงและประกาศทั้ง 3 ฉบับข้างต้น จะบังคับใช้กับ “ยิ่งลักษณ์” ก็ต่อเมื่อเธอเดินทางกลับไทย และถูกคำพิพากษาศาลอันถึงที่สุดลงโทษจำคุกเท่านั้น โดยคดีจำนำข้าวมิได้มีการรื้อฟื้นขึ้นมาใหม่ นั่นหมายความว่า “ยิ่งลักษณ์” ต้องกลับมา “ติดคุกก่อน” แล้วค่อยพิจารณาทีหลัง

ดังนั้นกูรูการเมืองหลายคนจึงวิเคราะห์ว่า เป็นไปได้ว่าอาจมีการใช้ ระเบียบกรมราชทัณฑ์ว่าด้วยการดำเนินการสำหรับการคุมขังในสถานที่คุมขัง พ.ศ.2566 ที่ “พ.ต.อ.ทวี” รมว.ยุติธรรม ระบุว่า มีแนวโน้มบังคับใช้ช่วงสิ้นปี 2567 ซึ่งถูกมองว่าใช้ “นำร่อง” ก่อนที่ “ยิ่งลักษณ์” จะแลนดิ้งกลับไทยช่วงสงกรานต์ 2568 ตามการเปิดเผยของ “ทักษิณ”

สำหรับระเบียบฉบับนี้ ต้องมีการตั้งคณะทำงานคณะหนึ่งเรียกว่า “คณะทำงานพิจารณาการคุมขังในสถานที่คุมขัง” โดยมีรองอธิบดีกรมราชทัณฑ์ เป็นประธาน คณะทำงานฯชุดนี้มีหน้าที่พิจารณากลั่นกรองให้ผู้ต้องขังรายใดคุมขังในสถานที่คุมขัง หรือเพิกถอนการคุมขังเสนอต่ออธิบดีกรมราชทัณฑ์พิจารณาอนุมัติ โดยสถานที่คุมขังดังกล่าวคือ สถานที่สำหรับอยู่อาศัย หรือสถานที่สำหรับกักขัง หรือกักตัวตามกฎหมายของราชการที่มิใช่เรือนจำ

โดยเงื่อนไขผู้ต้องขังที่เข้าข่ายตามระเบียบนี้คือ ต้องเป็นผู้ต้องขังตามกฎหมายราชทัณฑ์ นั่นคือ “ยิ่งลักษณ์” กลับมาต้องรับโทษตามคำพิพากษาศาลฎีกาฯเสียก่อน หลังจากนั้นจะมีการจำแนกลักษณะผู้ต้องขังหรือทบทวนแผนการปฏิบัติต่อผู้ต้องขังรายบุคคล โดยผู้ต้องขังต้องมีคุณสมบัติเฉพาะ และไม่มีคุณสมบัติต้องห้ามตามที่กำหนดไว้ในประกาศกำหนดคุณสมบัติเฉพาะ ลักษณะต้องห้าม และวิธีการคุมขังในสถานที่คุมขังสำหรับผู้ต้องขังแต่ละกลุ่มของกรมราชทัณฑ์

นอกจากนี้ยังต้องพิจารณาว่าผู้ต้องขังดังกล่าว มีความเหมาะสมที่จะคุมขังในสถานที่คุมขังมากกว่าเรือนจำหรือไม่ พฤติการณ์ก่อนต้องโทษและขณะต้องโทษ ความเสี่ยงกระทำผิดซ้ำ ความเสี่ยงในการหลบหนี ผลกระทบต่อชุมชนหรือสังคม เป็นต้น 

ทั้งหมดคือข้อกฎหมายที่เกี่ยวข้อง หาก “ยิ่งลักษณ์” จะกลับมาเพื่อต่อสู้คดี “จำนำข้าว” อีกครั้ง โดยอ้างอิงพยานหลักฐานใหม่ ยังไม่นับ “ช่องทางการเมือง” เช่น การตรากฎหมายนิรโทษกรรม โดยบทสรุปสุดท้ายเธอจะเลือกใช้ช่องทางไหน ต้องติดตามกันปีหน้า