กสม.เผยผลสอบ 9 เคสคนไทยสูญหายในประเทศเพื่อนบ้าน เชื่อ จนท.รัฐมีเอี่ยว

กสม.เผยผลสอบ 9 เคสคนไทยสูญหายในประเทศเพื่อนบ้าน เชื่อ จนท.รัฐมีเอี่ยว

กสม.มอบรายงานผลตรวจสอบ ปม 9 คนไทยสูญหายในประเทศเพื่อนบ้านต่อผู้แทนกระทรวงยุติธรรม เชื่อ จนท.รัฐมีเอี่ยว ชี้รัฐบาลมีหน้าที่สืบหาข้อเท็จจริง-เยียวยาครอบครัวอย่างเป็นธรรม แนะ ครม.เร่งให้สัตยาบันใน OPCAT

เมื่อวันที่ 10 มิ.ย. 2567 ที่ผ่านมา คณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ (กสม.) โดยนางสาวศยามล ไกยูรวงศ์ กรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ ได้ส่งมอบรายงานผลการตรวจสอบการละเมิดสิทธิมนุษยชนกรณีการบังคับสูญหายบุคคลที่พำนักอาศัยในประเทศเพื่อนบ้านให้แก่นายสมบูรณ์  ม่วงกล่ำ ที่ปรึกษารัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรม ในฐานะผู้แทนรัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรมและประธานกรรมการป้องกันและปราบปรามการทรมานและการกระทำให้บุคคลสูญหาย โดยมีผู้แทนญาติผู้สูญหายเข้าร่วม ณ ห้องเสวนา ชั้น 6 สำนักงานคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ 

นางสาวศยามล  ไกยูรวงศ์ กรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ กล่าวถึงรายงานผลการตรวจสอบดังกล่าวโดยสรุปว่า กสม. ได้ตรวจสอบเรื่องร้องเรียนกรณีการบังคับสูญหายบุคคลที่พำนักอาศัยในประเทศเพื่อนบ้านเพื่อขอลี้ภัยทางการเมือง ใน สปป.ลาว กัมพูชา และเวียดนาม ซึ่งถูกบังคับให้สูญหายและเสียชีวิตไประหว่างปี 2560 – 2564 จำนวน 9 ราย ได้แก่ (1) นายอิทธิพล  สุขแป้น (2) นายวุฒิพงศ์  กชธรรมคุณ (3) นายสุรชัย  ด่านวัฒนานุสรณ์ (4) นายชัชชาญ  บุปผาวัลย์ (เสียชีวิต) (5) นายไกรเดช  ลือเลิศ (เสียชีวิต) (6) นายชูชีพ  ชีวะสุทธิ์ (7) นายกฤษณะ  ทัพไทย (8 ) นายสยาม  ธีรวุฒิ และ (9) นายวันเฉลิม  สัตย์ศักดิ์สิทธิ์ โดยผู้ร้องเห็นว่า รัฐบาลไทยเพิกเฉยในการติดตามผู้สูญหาย และไม่มีความคืบหน้าในการดำเนินคดีกับผู้กระทำความผิด ทำให้เชื่อได้ว่ามีส่วนเกี่ยวข้องกับการสูญหาย นั้น 

กสม. ได้ตรวจสอบโดยพิจารณาจากเอกสาร พยานหลักฐาน หลักกฎหมายและหลักสิทธิมนุษยชนที่เกี่ยวข้องแล้ว เห็นว่า

(1) กรณีตามคำร้องนี้หน่วยงานของรัฐไม่ประสานความร่วมมือกับประเทศเพื่อนบ้านเพื่อให้ได้มาซึ่งข้อเท็จจริงและความคืบหน้าในการสืบสวนจนทราบชะตากรรมของบุคคลที่สูญหาย และการดำเนินการสืบสวน เป็นไปอย่างล่าช้า อันกระทบต่อสิทธิในการรู้ความจริง (right to know the truth) ของญาติและครอบครัวของบุคคลที่ถูกบังคับให้สูญหายและเสียชีวิต

(2) การบังคับให้บุคคลสูญหายถือเป็นการละเมิดสิทธิมนุษยชนอย่างร้ายแรงต่อสิทธิขั้นพื้นฐานที่ได้รับรองและคุ้มครองไว้ตามรัฐธรรมนูญหรือหนังสือสัญญาระหว่างประเทศหลายฉบับ ซึ่งส่งผลกระทบต่อทั้งผู้ตกเป็นเหยื่อ ครอบครัว และคนใกล้ชิด รวมทั้งสังคมโดยรวม รัฐจึงมีหน้าที่ในการดำเนินการตามกระบวนการของกฎหมายเพื่อให้ทราบถึงสาเหตุของการสูญหายและนำผู้กระทำความผิดมาลงโทษ รวมถึงจะต้องชดเชยเยียวยาอย่างรอบด้านให้กับญาติหรือครอบครัวของบุคคลที่ถูกบังคับให้สูญหายตามที่ระบุไว้ในอนุสัญญาระหว่างประเทศว่าด้วยการคุ้มครองบุคคลทุกคนจากการหายสาบสูญโดยถูกบังคับ (ICPPED) และพระราชบัญญัติป้องกันและปราบปรามการทรมานและการกระทำให้บุคคลสูญหาย พ.ศ. 2565 

(3) พระราชบัญญัติค่าตอบแทนผู้เสียหาย และค่าทดแทนและค่าใช้จ่ายแก่จำเลยในคดีอาญา พ.ศ. 2544 ยังไม่ได้กำหนดหลักเกณฑ์ให้ครอบคลุมถึงการเยียวยาด้านการเงินในกรณีการบังคับให้บุคคลสูญหาย ส่วนการชดเชยเยียวยาด้านอื่น ก็ไม่ปรากฏว่าหน่วยงานของรัฐได้ดำเนินการเช่นกัน ทำให้ญาติหรือครอบครัวของบุคคลที่ถูกบังคับให้สูญหายและเสียชีวิตตามคำร้องนี้ ยังไม่ได้รับการชดเชยเยียวยา

กสม.เผยผลสอบ 9 เคสคนไทยสูญหายในประเทศเพื่อนบ้าน เชื่อ จนท.รัฐมีเอี่ยว

นางสาวศยามล กล่าวอีกว่า แม้กรณีการสูญหายของบุคคลทั้ง 9 ราย ซึ่งต่อมาพบว่ามี 2 ราย เสียชีวิตแล้วนั้น จะยังไม่ปรากฏพยานหลักฐานอย่างชัดแจ้งว่าผู้ลงมือก่อเหตุเป็นเจ้าหน้าที่ของรัฐหรือไม่ แต่เมื่อพิจารณาข้อเท็จจริงเกี่ยวกับการเคลื่อนไหวทางการเมืองของบุคคลดังกล่าว ซึ่งหน่วยงานของรัฐได้มีการออกหมายจับและพยายามติดตามตัวมาโดยตลอด รวมทั้งผู้ที่สูญหายมีจุดเกาะเกี่ยวที่เชื่อมโยงกันคือเป็นกลุ่มคนที่มีความเห็นต่างกับฝ่ายรัฐบาล ทำให้เชื่อได้ว่าเจ้าหน้าที่รัฐมีส่วนเกี่ยวข้องกับการหายตัวไปและเสียชีวิตของบุคคลทั้ง 9 รายนี้ อันเป็นการละเมิดสิทธิมนุษยชน 

นอกจากนี้ การที่หน่วยงานของรัฐไม่ดำเนินการอย่างเพียงพอในการสืบสวนสอบสวนติดตามหาตัวผู้กระทำความผิดหรือเพื่อให้ทราบชะตากรรมของผู้ถูกบังคับให้สูญหาย และละเลยการเยียวยาให้แก่ครอบครัวของบุคคลที่ถูกบังคับให้สูญหายและเสียชีวิต ย่อมถือเป็นการละเลยการกระทำอันเป็นการละเมิดสิทธิมนุษยชนเช่นกัน

"ด้วยเหตุผลข้างต้น กสม. จึงมีข้อเสนอแนะต่อคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทรมานและการกระทำให้บุคคลสูญหาย ให้ตรวจสอบข้อเท็จจริงกรณีการสูญหายและเสียชีวิตของบุคคลทั้ง 9 ราย จนกว่าจะทราบที่อยู่และชะตากรรมของผู้ถูกบังคับให้สูญหายและรู้ตัวผู้กระทำผิด พร้อมทั้งกำหนดมาตรการชดเชยเยียวยาให้แก่ญาติหรือครอบครัว และแจ้งผลการดำเนินการตลอดจนความคืบหน้าให้ญาติหรือบุคคลที่เกี่ยวข้องกับผู้ถูกบังคับให้สูญหายและเสียชีวิตทราบเป็นระยะ นอกจากนี้ให้เร่งรัดกำหนดนโยบายและมาตรการฟื้นฟูและเยียวยาด้านร่างกายและจิตใจแก่ผู้เสียหาย กำหนดหลักเกณฑ์และวิธีการช่วยเหลือเยียวยาผู้เสียหายด้านการเงินและจิตใจ รวมถึงการฟื้นฟูระยะยาวทางการแพทย์ให้แล้วเสร็จโดยเร็ว พร้อมกันนี้ ให้พัฒนาแนวทางหรือวิธีการสืบสวนกรณีคนไทยที่อาศัยอยู่นอกราชอาณาจักรไทยถูกกระทำทรมานหรือถูกบังคับให้หายสาบสูญ" นางสาวศยามล กล่าว

กสม. ยังมีข้อเสนอแนะต่อคณะรัฐมนตรี ให้เร่งให้สัตยาบันต่อพิธีสารเลือกรับของอนุสัญญาต่อต้านการทรมานและการประติบัติหรือการลงโทษอื่นที่โหดร้าย ไร้มนุษยธรรม หรือย่ำยีศักดิ์ศรี (OPCAT) และให้มีการอนุวัติกฎหมายภายในประเทศตามพิธีสารดังกล่าวอย่างเต็มรูปแบบ ซึ่งรวมถึงการจัดตั้งกลไกป้องกันการทรมานระดับชาติด้วย

ขณะที่ นายสมยศ  พฤกษาเกษมสุข ผู้แทนญาติผู้สูญหาย กล่าวว่า ขอขอบคุณ กสม. ที่รับเรื่องร้องเรียนกรณี 9 คนไทยที่สูญหายไปในประเทศเพื่อนบ้านไปตรวจสอบ กระทั่งมีผลการตรวจสอบและข้อเสนอแนะต่อรัฐบาลในครั้งนี้ ซึ่งถือเป็นการคืนความยุติธรรมให้กับผู้สูญหายและผู้เสียชีวิต โดยหวังว่าหลังจากนี้รัฐบาลไทยและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องจะมุ่งหน้าสืบสวนสอบสวนข้อเท็จจริงของผู้สูญหายที่ยังไม่ทราบชะตากรรมจนกระจ่าง และดำเนินการเยียวยาความเสียหายตลอดจนผลกระทบต่าง ๆ ที่ญาติและครอบครัวได้รับ อย่างเป็นธรรมและโดยเร็ว 

ด้านนายสมบูรณ์  ม่วงกล่ำ ที่ปรึกษารัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรม กล่าวหลังรับมอบรายงานผลการตรวจสอบกรณีการบังคับสูญหายบุคคลที่พำนักอาศัยในประเทศเพื่อนบ้าน ว่า ในเรื่องการเยียวยาความเสียหายให้แก่ญาติและครอบครัวที่ได้รับผลกระทบจากการบังคับให้สูญหายนั้น กระทรวงยุติธรรม โดยกรมคุ้มครองสิทธิและเสรีภาพได้จัดทำระเบียบว่าด้วยการเยียวยา และอยู่ระหว่างการพิจารณาของกระทรวงการคลัง เพื่อให้ญาติและครอบครัวได้รับการเยียวยาความเสียหายโดยเร็ว อย่างไรก็ดียอมรับว่าหน่วยงานของรัฐที่เกี่ยวข้องมีข้อจำกัดในการสืบสวนสอบสวนข้อเท็จจริงจากเหตุที่เกิดในประเทศเพื่อนบ้านซึ่งต้องอาศัยความร่วมมือระหว่างรัฐ โดยยืนยันว่าหน่วยงานของรัฐบาลไทยที่มีหน้าที่สืบสวนไม่ได้นิ่งนอนใจและมีการประสานงานรวมทั้งมีแผนการดำเนินงานอย่างต่อเนื่อง ทั้งนี้ ตนจะนำข้อเสนอแนะจากรายงานผลการตรวจสอบของ กสม. รวมทั้งข้อมูลที่ได้รับฟังจากญาติและครอบครัวผู้เสียหายในวันนี้ แจ้งไปยังรัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรมโดยเร็วที่สุด เพื่อให้การเยียวยาและสืบสวนหาข้อเท็จจริงมีความคืบหน้ายิ่งขึ้น

นางสาวปิติกาญจน์  สิทธิเดช กรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ กล่าวเพิ่มเติมว่า กสม. ขอเป็นกำลังใจให้ญาติผู้สูญหาย และขอให้ทราบชะตากรรมของผู้สูญหายโดยเร็ว โดยในเรื่องการเยียวยา กสม. อยู่ระหว่างการศึกษาวิจัยเพื่อพัฒนาแนวทางการเยียวยาผู้เสียหายจากการกระทำทรมานและบังคับให้สูญหาย โดยมีข้อเสนอแนะให้ คณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทรมานและการกระทำให้บุคคลสูญหาย ตั้งอนุกรรมการพัฒนาระบบ มาตรการ และแนวทางในการเยียวยาให้เป็นตามมาตรฐานสากล และหวังเป็นอย่างยิ่งว่ารัฐบาลจะได้นำข้อเสนอแนะจากรายงานผลการตรวจสอบนี้ ไปดำเนินการเพื่อให้บุคคลทุกคนได้รับความคุ้มครองต่อสิทธิในชีวิตและร่างกาย โดยเฉพาะอย่างยิ่งเมื่อปัจจุบันรัฐบาลไทยได้ยื่นสัตยาบันสารเพื่อเข้าเป็นภาคีอนุสัญญาระหว่างประเทศว่าด้วยการคุ้มครองบุคคลทุกคนจากการหายสาบสูญโดยถูกบังคับ (ICPPED) แล้วเมื่อวันที่ 14 พฤษภาคม ที่ผ่านมา