‘ไทยสร้างไทย’ จ่อแถลงการณ์หาทางออก พ.ร.บ.นิรโทษกรรม-คดี ม.112

‘ไทยสร้างไทย’ จ่อแถลงการณ์หาทางออก พ.ร.บ.นิรโทษกรรม-คดี ม.112

“ชวลิต” ชง"ไทยสร้างไทย" เสนอหลักการใหม่ยึดหลัก"อภัย" ปกป้องสถาบันและ ป้องกันการกลั่นแกล้งฟ้องร้อง" พร้อมจ่อออกแถลงการณ์หาทางออกของปัญหาพ.ร.บ. นิรโทษกรรม และคดี ม.112

เมื่อวันที่ 30 พ.ค. 2567 นายชวลิต วิชยสุทธิ์ รองหัวหน้าพรรคไทยสร้างไทย เปิดเผยว่า เมื่อวันที่ 28 พ.ค.2567 มีการประชุมคณะกรรมการยุทธศาสตร์พรรคไทยสร้างไทย โดยมีนายโภคิน พลกุล ประธานคณะกรรมการยุทธศาสตร์ เป็นประธานที่ประชุม ซึ่งตนได้เสนอความเห็นต่อที่ประชุมว่า เมื่อครั้งทำหน้าที่รักษาการประธานคณะกรรมาธิการการกฎหมาย การยุติธรรม และสิทธิมนุษยชน สภาผู้แทนราษฎร ได้ทำรายงานการศึกษา เรื่อง แนวทางการสร้างความปรองดอง สมานฉันท์ของประชาชนในชาติ  ผลของการศึกษามีสาระโดยสรุปว่า

"ให้มีการนิรโทษกรรมแก่บุคคลซึ่งกระทำความผิด หรือถูกกล่าวหาว่ากระทำความผิดในคดีการเมือง หรือคดีอาญาที่มีมูลเหตุจูงใจทางการเมือง ยกเว้นคดีทุจริต เว้นแต่กระบวนการพิจารณาคดีทุจริตนั้นไม่เป็นไปตามหลักนิติธรรม และไม่นิรโทษกรรมคดีความผิดตามมาตรา 112"  โดยสภาผู้แทนราษฎรได้ให้ความเห็นชอบกับรายงานการศึกษาดังกล่าวอย่างเป็นเอกฉันท์ และทุกพรรคการเมืองที่ให้ความเห็นชอบกับรายงานการศึกษาดังกล่าวก็ยังอยู่ในสภาชุดปัจจุบันครบถ้วน

ดังนั้นจึงควรนำรายงานการศึกษาดังกล่าว มาปรับใช้ให้เหมาะสมกับบริบททางการเมืองที่เปลี่ยนแปลงไป โดยเฉพาะคดีความผิดตามมาตรา 112 ที่เป็นประเด็นความขัดแย้งอยู่ในปัจจุบัน ที่ประชุมคณะกรรมการยุทธศาสตร์พรรคได้อภิปรายกันอย่างกว้างขวางแล้วมีความเห็นสรุปว่า ความขัดแย้งในบ้านเมืองที่ซับซ้อน และแบ่งฝัก แบ่งฝ่าย มาเป็นเวลาเกือบ 20 ปี เป็นอุปสรรคอย่างยิ่งต่อการพัฒนาประเทศในทุกมิติ

ดังนั้น การสร้างกติกาและการบังคับใช้กฎหมายที่เป็นธรรม เป็นประชาธิปไตย เพื่อสร้างความรัก ความสามัคคี และความปรองดอง สมานฉันท์ของประชาชนในชาติจึงเป็นสิ่งสำคัญสูงสุด 
โดยเห็นว่าถึงเวลาที่ควรนำคุณธรรม "อภัย" มาใช้ในการแก้ปัญหาดังกล่าวด้วยการมีการนิรโทษกรรมคดีการเมือง และคดีอาญาที่มีมูลเหตุจูงใจทางการเมือง ยกเว้นคดีทุจริต เว้นแต่กระบวนการพิจารณาคดีทุจริตนั้นไม่เป็นไปตามหลักนิติธรรม ส่วนคดีความผิดตามมาตรา 112 ที่ประชุมเห็นว่าเป็นเรื่องละเอียดอ่อน จึงเสนอความเห็นโดยยึด "รัฐธรรมนูญ" เป็นหลัก ทั้งนี้ ควรดำเนินการแก้ปัญหาใน 2 แนวทางไปพร้อมๆกันคือ 

1. คดีความผิดตามมาตรา 112 และมาตราอื่นๆที่เกี่ยวข้องในหมวดพระมหากษัตริย์บัญญัติขึ้นเพื่อให้สอดรับกับบทบัญญัติในรัฐธรรมนูญซึ่งถือว่าองค์พระมหากษัตริย์ทรงดำรงอยู่ในฐานะอันเป็นที่เคารพ สักการะ ผู้ใดจะละเมิดมิได้ เฉกเช่นเดียวกับประมุขต่างประเทศก็ได้รับการคุ้มครองเช่นกัน โดยข้อเท็จจริงแล้วเมื่อมีการล่วงละเมิดด้วยการดูหมิ่น หรือหมิ่นประมาทฯลฯ ต่อองค์พระประมุขของชาติ พระองค์ก็มิอาจจะโต้ตอบ หรือชี้แจง หรือดำเนินการใดๆได้

ดังนั้น ควรแก้ไขกฎหมายให้องค์พระมหากษัตริย์ทรงมีพระราชอำนาจที่จะ "พระราชทานอภัย" สำหรับกรณีความผิดตามมาตรา 112 ได้ โดยให้เป็นการระงับการดำเนินคดีและให้ถือว่าคดีเป็นอันสิ้นสุด ผู้ถูกกล่าวหาว่ากระทำผิดตามมาตรา 112 สามารถทำหนังสือ "ขอพระราชทานอภัย" ต่อองค์พระมหากษัตริย์โดยให้คำมั่นว่าจะ"ไม่กระทำซ้ำ" อีกในระหว่างการดำเนินคดีก่อนที่ศาลจะมีคำพิพากษาถึงที่สุด กรณีนี้เรียกว่า "การขอพระราชทานอภัย" ซึ่งต่างจากการ "ขอพระราชทานอภัยโทษ" ที่คดีถึงที่สุดแล้ว

2.การแก้ไขประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญาเกี่ยวกับการร้องทุกข์ กล่าวโทษความผิดตามมาตรา 112 โดยให้มีคณะกรรมการพิจารณากลั่นกรองในการดำเนินคดี ประกอบด้วยผู้ทรงคุณวุฒิหลายสาขาเพื่อเป็นหลักประกันป้องกันการกลั่นแกล้งในการดำเนินคดี

นอกจากนี้  คณะกรรมการยุทธศาสตร์พรรคไทยสร้างไทย เห็นว่า ทั้ง 2 แนวทางดังกล่าวเป็น "หลักการใหม่" ในการแก้ไขปัญหาการจัดทำ พ.ร.บ.นิรโทษกรรม และการพิจารณาคดีความผิดตามมาตรา 112 จึงได้เสนอให้คุณหญิงสุดารัตน์ เกยุราพันธุ์ หัวหน้าพรรค และ นายโภคิน พลกุล ประธานคณะกรรมการยุทธศาสตร์พรรค เพื่อออกแถลงการณ์ในนามพรรคไทยสร้างไทย และร่วมกันแถลงข่าวการเสนอทางออกของปัญหา พ.ร.บ. นิรโทษกรรม และคดีความผิดตามมาตรา 112 ในเวลาที่เหมาะสม เพื่อภาคส่วนต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้อง โดยเฉพาะคณะกรรมาธิการวิสามัญพิจารณาศึกษาแนวทางการร่าง พ.ร.บ. นิรโทษกรรม พิจารณานำไปปรับใช้ตามที่เห็นสมควร