ปม‘ผู้สมัคร สว.’แพ้ฟาวล์  คำสารภาพ กรธ. ‘คาดไม่ถึง’

ปม‘ผู้สมัคร สว.’แพ้ฟาวล์  คำสารภาพ กรธ. ‘คาดไม่ถึง’

หลัง เลขากกต. บอกว่ามี 10ว่าที่ผู้สมัคร สว. ถูกปัดตก "อดีต กรธ.-ชาติชาย" รู้ข่าวตกใจในที พร้อมบอกว่า เป็นสิ่งที่ผู้ยกร่างคาดไม่ถึง แต่ปมนี้พอมีทางออก ให้ผู้ถูกรอดสิทธิทางการเมือง ยื่นศาลรัฐธรรมนูญ

Key Point :

  • เลขากกต. ระบุ ถึงการตีตก "10ว่าที่ผู้สมัครสว." ในอำเภอที่มีผู้สมัครกลุ่มเดียว เหตุผลคือ ไม่ครบองค์ประกอบตามกฎหมาย ว่าด้วยการเลือกไขว้
  • กรณีนี้ถูกมองว่า ริดรอน สิทธิของ ผู้สมัคร แบบแพ้ฟาวล์
  • ทว่า กกต.มีเหตุผลที่ชี้แจงคือ มาตรา 33 ของ พ.ร.ป.สว.กำหนดไว้
  • อดีต กรธ. ออกมายอมรับว่า ปมแพ้ฟาวล์นี้ ตอนยกร่างกฎหมาย คิดกันไม่ถึง พร้อมแนะให้ผู้ถูกตีตก ร้องศาลรัฐธรรมนูญ แทนร้องศาลปกครอง 
  • ชี้ช่องร้องศาลรัฐธรรมนูญ คือ เหตุถูกริดรอนสิทธิทางการเมืองตามรัฐธรรมนูญ

 

"พวกเราคิดไม่ถึง ว่าจะมีผู้สมัครกลุ่มเดียว ทำให้การเลือกไขว้เกิดขึ้นไม่ได้... ทั้งที่ไม่ใช่ความผิดของผู้สมัคร” ชาติชาย ณ เชียงใหม่ อดีตกรรมการร่างรัฐธรรมนูญ

การเลือก สว.2567 ที่ถูกจับตาอย่างมาก ถึงการ “ฮั้ว” และ “บ้านใหญ่-พรรคการเมือง” หนุนหลัง ที่อาจเป็นเหตุให้ได้ “สว.ไม่ตรงปก” ตามรัฐธรรมนูญ 2560

อีกทั้งยังมีประเด็นแทรก ที่เป็นความอลเวง คือ “ว่าที่ผู้สมัคร สว.” ถูกตัดสิทธิตั้งแต่ก่อนจะเริ่มต้นกระบวนการเลือก

โดย “แสวง บุญมี” เลขาธิการกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) บอกเมื่อ 27 พ.ค. ว่า มีผู้สมัคร สว. 10 คน ใน 7 อำเภอ ที่ต้องถูกปัดตก เนื่องจากมีผู้ลงสมัครเพียงกลุ่มเดียว และตามพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญ (พ.ร.ป.) ว่าด้วยการได้มาซึ่งสมาชิกวุฒิสภา มาตรา 33 ไม่สามารถไปต่อในกระบวนการเลือกไขว้ได้

ปม‘ผู้สมัคร สว.’แพ้ฟาวล์  คำสารภาพ กรธ. ‘คาดไม่ถึง’ จึงหมายถึง มีผู้สมัคร “แพ้ฟาวล์” ตั้งแต่กระบวนการลงคะแนนยังไม่เริ่ม

สำหรับอำเภอที่มีผู้สมัคร 1 คน ได้แก่ อ.เมืองยาง จ.นครราชสีมา, อ.สามชัย จ.กาฬสินธุ์, อ.แม่จริม อ.นาน้อย อ.เชียงกลาง จ.น่าน ขณะที่อำเภอที่มีผู้สมัคร 2 คน คือ อ.อุ้มผาง จ.ตาก และอำเภอที่มีผู้สมัคร 3 คน คือ อ.ปางศิลาทอง จ.กำแพงเพชร

ปัญหานี้จึงกลายเป็นคำถามที่ต้องตั้ง ย้อนไปถึง “คนต้นเรื่อง” คือ “กรรมการร่างรัฐธรรมนูญ” หรือ กรธ. ในฐานะผู้ออกแบบกติกา ทั้งรัฐธรรมนูญ และกฎหมายประกอบฯ ว่าคิดกันอย่างไร ถึงทำให้มีผู้ถูกตัดสิทธิ ทั้งที่ยังไม่ทันเริ่มต้นกระบวนการเลือก

ต่อเรื่องนี้ “ชาติชาย ณ เชียงใหม่” อดีตกรรมการร่างรัฐธรรมนูญ และอดีตอนุกรรมการร่วมกันพิจารณาศึกษาและกลั่นกรอง ร่าง พ.ร.ป.ว่าด้วยการเลือกตั้ง สส. และ ร่าง พ.ร.ป.ว่าด้วยการได้มาซึ่ง สว. ที่ผ่านการพิจารณาจากสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) แสดงความตกใจ ก่อนตอบคำถาม เนื่องจากในชั้นการพิจารณา “คาดไม่ถึง” ว่าจะเกิดกรณีที่มีว่าที่ผู้สมัคร สว.ถูกปัดตก ด้วยแทคติกกฎหมาย

“พวกเราคิดไม่ถึงว่าจะมีผู้สมัครกลุ่มเดียว ทำให้การเลือกไขว้เกิดขึ้นไม่ได้ ตอนคิดเรามองในการออกแบบให้กลุ่มสมัครเปิดกว้างมากที่สุด ถึงกำหนดให้มีคำว่าอื่นๆ ไว้ในอาชีพที่เป็นคุณสมบัติสมัคร สว.ได้ แต่เมื่อมีผู้สมัครกลุ่มเดียว และจำนวนน้อย ทำให้ไม่ครบองค์ประกอบตามกฎหมาย จึงถูกตัดสิทธิ ทั้งที่ไม่ใช่ความผิดของผู้สมัคร” ชาติชาย ระบุ

 ชาติชาย ยอมรับว่า ทางออกของเรื่องนี้ไม่มีเขียนไว้ในรัฐธรรมนูญหรือในกฎหมายลูก จึงเป็นสิทธิที่คณะกรรมการการเลือกตั้ง จะพิจารณาและทำตามกติกาที่เขียนไว้ เมื่อรายละเอียดไม่ครบองค์ประกอบที่นำไปสู่การเลือกไขว้ในระดับอำเภอได้ จึงต้องตัดสิทธิ ทำให้ผู้สมัครที่ถูกตัดสิทธินั้น เสียสิทธิไปตามกฎหมาย

ปม‘ผู้สมัคร สว.’แพ้ฟาวล์  คำสารภาพ กรธ. ‘คาดไม่ถึง’

“ผมมองว่าการตัดสิทธิจากที่มีคนสมัครกลุ่มเดียว ไม่แฟร์กับผู้สมัคร แต่ตอนนี้ช่วยอะไรไม่ได้แล้ว ต้องรอแก้กฎหมายในอนาคต"

ส่วนกรณีที่คนสมัครน้อย ที่มีคนมองว่าเพราะกระบวนการของ กกต. ทำไม่ทั่วถึงนั้น ชาติชาย มองว่า ต้องพิจารณาในเชิงพื้นที่ด้วย จะนำพื้นที่ที่มีลักษณะเฉพาะมาเทียบกับพื้นที่เมืองไม่ได้

ส่วนคนที่ถูกปัดตกจะมีสิทธิ “ร้องเรียนเพื่อทวงสิทธิ” หรือ “อุทธรณ์” เพื่อทวงสิทธิคืนหรือไม่ อดีต กรธ.ผู้นี้มองว่า กกต.เป็นองค์กรและต้องทำตามกติกา ตามกฎหมาย เมื่อมีผู้สมัครน้อย ทำให้ไม่ครบองค์ประกอบ ต้องทำตามนั้น หากผู้เสียสิทธิจะสู้กับ กกต. โดยการยื่นศาลปกครอง ตนมองว่า กกต.มีหลักพิงคือข้อกฎหมายที่ไม่เปิดช่องไว้ให้

ปม‘ผู้สมัคร สว.’แพ้ฟาวล์  คำสารภาพ กรธ. ‘คาดไม่ถึง’ “อีกทางที่ทำได้คือ ผู้ที่ถูกปัดตก หรือเสียสิทธิ สามารถร้องต่อศาลรัฐธรรมนูญ เพื่อให้พิจารณาหาทางออกให้ ฐานะเป็นผู้ที่ถูกลิดรอนสิทธิทางการเมืองจากกฎหมาย ซึ่งศาลรัฐธรรมนูญอาจวินิจฉัยที่พอเป็นทาง เหมือนกับเขียนกฎหมายหรือข้อปฏิบัติให้เป็นทางออกของเรื่องนี้ได้” ชาติชาย ระบุ

ทว่า ไม่การันตีว่าหากมีคนใช้ช่องทางนี้ จะเป็นการยื้อไทม์ไลน์เลือก สว.ออกไปหรือไม่ หรือยื้อออกไปนานเพียงใด 

ก่อนทิ้งท้ายว่า “ผมเสียใจ เพราะเป็นสิ่งที่พวกเราคิดไม่ถึง กรณีมีกลุ่มๆ เดียว ไม่พอให้เลือกไขว้ ทำให้ถูกเสียสิทธิ ดังนั้น ในอนาคตต้องแก้กฎหมายเพื่อแก้ปัญหา เช่น กรณีที่มีผู้สมัครกลุ่มเดียวในระดับอำเภอ สามารถให้ กกต.นำไปรวมกับอำเภอที่มีเขตติดต่อกันเพื่อให้เลือกไขว้ได้ และผ่านไปสู่ระดับต่อไปได้”

ปม‘ผู้สมัคร สว.’แพ้ฟาวล์  คำสารภาพ กรธ. ‘คาดไม่ถึง’ สำหรับการออกแบบกติกาให้ “สว.” มาจากการเลือกของกลุ่มสาขาอาชีพ 20 กลุ่ม และมีระบบเลือก 2 ชั้นใน 3 ระดับ ถือเป็นการออกแบบที่คิดมาเพื่อแก้ปัญหา

1.การครอบงำของกลุ่มการเมือง ที่ทำให้เกิดสภาผัว-สภาเมีย

2.การฮั้วกันของผู้สมัคร ซึ่งมีตัวอย่างเหตุการณ์จากการเลือกของบางองค์กร 

กับการออกแบบ สว.ที่มาจากสาขาอาชีพ ที่เล็งเห็นความสำคัญของการออกแบบกฎหมายที่จำเป็นต้องมีผู้เชี่ยวชาญเฉพาะ ที่มาจากสาขาอาชีพต่างๆ เข้ามาเป็นสภาฯ กลั่นกรอง ถือเป็น “จุดตั้งต้น” ของการออกแบบ สว.เลือกกันเองของกรรมการร่างรัฐธรรมนูญ

ปม‘ผู้สมัคร สว.’แพ้ฟาวล์  คำสารภาพ กรธ. ‘คาดไม่ถึง’ เมื่อการออกแบบที่ป้องกันการฮั้ว และสร้างเกราะให้คนดีเข้าสู่สภาสูงกลับพบปัญหา จึงต้องจับตาว่าการออกแบบกติกาลักษณะนี้จะถูกใช้ซ้ำอีก หรือถูกรื้อทิ้ง.