กกต.ไฟเขียวสื่อรายงานข่าวเลือก สว.เต็มที่ ผู้สมัครแนะนำตัวผ่านโซเชียลได้

กกต.ไฟเขียวสื่อรายงานข่าวเลือก สว.เต็มที่ ผู้สมัครแนะนำตัวผ่านโซเชียลได้

เลขา กกต.พบสื่อ ถาม-ตอบปมรายงานข่าวเลือก สว.67 กลับลำจากปี 62 ไฟเขียวผู้สมัคร แนะนำตัวผ่านสื่อออนไลน์ได้ แต่ห้ามหาเสียง-โชว์วิสัยทัศน์ ยันเปิดเสรีสื่อนำเสนอเต็มที่ตามข้อเท็จจริง ย้ำได้ สว.ตามไทม์ไลน์ เตือน ‘คณะก้าวหน้า-ไอลอว์’ รณรงค์ได้ แต่ต้องทำตาม กม.

เมื่อวันที่ 14 พ.ค. 2567 ที่สำนักงานคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) นายแสวง บุญมี เลขาธิการ กกต. แถลงข่าวในการพบปะพูดคุยสื่อมวลชน ในเรื่อง “สื่อกับการปฏิบัติในห้วงมี พ.ร.ฎ.เลือกตั้ง สว.ปี 67” ตอนหนึ่งถึงระเบียบการแนะนำตัวผู้สมัคร สว. และการปฏิบัติของสื่อ ว่า 

นายแสวง กล่าวว่า ในช่วงที่ผ่านมามีการแสดงความเห็นเกี่ยวกับการเลือก สว.หลากหลายมาก ขอให้มีหลักการเหตุผล มีประโยชน์และเป็นธรรม กกต.ฟังทุกความคิดเห็นและนำมาปรับปรุงแก้ไขเท่าที่เห็นกฎหมายให้ กกต.สามารถทำได้ ยอมรับว่าการเลือก สว.ครั้งนี้มีความสลับซับซ้อน ยังคงมีความเห็นต่าง มองในสิ่งที่ตัวเองต้องการเห็น สิ่งที่จะทำให้เราเดินไปถึงจุดหมายร่วมกันได้คือกติกา หากแสดงความคิดเห็นบนพื้นฐานกติกาเรื่องก็จะง่าย ความเห็นต่างกันนั้นสามารถมีได้ แต่ต้องรู้ว่ากติกาเขียนเอาไว้ว่าอย่างไร บางครั้ง กกต.ไม่ได้คิดต่างจากประชาชน แต่ต่างกันแค่ที่ยืน ในฐานะที่เป็นกรรมการก็มีหน้าที่ทำตามกฎหมาย น้อยกว่า มากเกินกว่ากฎหมายก็ไม่ได้ นอกจากการบริหารจัดการที่มีประสิทธิภาพที่ กกต.จะให้เพิ่มขึ้นมา

"รัฐธรรมนูญต้องการให้ได้ สว.ที่เป็นผู้ทรงคุณวุฒิ กกต.พยายามออกแบบเพื่อให้กระบวนการไปถึงตรงนั้นให้ได้ ขอให้เดินมาสมัคร และมีสิทธิได้รับเลือก ไม่ใช่ไปตั้งกลุ่มก๊วนถือว่ามีพวกมากก็ได้กับการคัดเลือก ดังนั้นเป็นไปตามกฎหมายเป็นธรรมและให้โอกาสคนทั่วไป คิดว่าน่าจะมีคนอีกเยอะที่ไม่ได้พูดอะไร แล้วเห็นว่ารัฐธรรมนูญเขียนไว้อย่างนี้เป็นสิ่งที่เขาสามารถสู้ได้ การป้องกันการเลือกไม่สุจริต สมมติมีการฮั้วแลกคะแนนกัน ขึ้นอยู่กับข้อเท็จจริง สำนักงานมีข้อมูลไม่ว่าจะทั้งบนโต๊ะ ใต้โต๊ะ เราเก็บข้อมูลมาโดยตลอด การที่กฎหมายออกแบบใหม่มีการเลือกไขว้ ก็เป็นส่วนหนึ่งที่ผู้ออกมาคิดว่าจะป้องกันการฮั้วได้ระดับหนึ่ง" นายแสวง กล่าว

กกต.ไฟเขียวสื่อรายงานข่าวเลือก สว.เต็มที่ ผู้สมัครแนะนำตัวผ่านโซเชียลได้

เมื่อถามถึงการแนะนำตัวของผู้สมัคร สว.ผ่านสื่ออิเล็กทรอนิกส์ผ่านแพลตฟอร์มต่าง ๆ ทำได้หรือไม่ ว่า จริง ๆ ทำได้ หมายถึงว่า ในการเลือก สว.ครั้งก่อนปี 2562 แนะนำตัวผ่านผู้สมัครเท่านั้น คือหมายความว่าให้แต่ทำไม่ได้อยู่แล้วตามสภาพ ดังนั้นครั้งนี้ผู้สมัคร สว.สามารถแนะนำตัวผ่านสื่ออิเล็กทรอนิกส์ได้ไม่ว่าจะแพลตฟอร์มไหน แต่สาระของการแนะนำตัวให้เป็นไปตามกฎหมาย เท่าที่แบบ สว.3 เช่น ประวัติส่วนตัว การศึกษา ประสบการณ์การทำงานที่เคยทำมาก่อน ห้ามพูดลักษณะแสดงจุดยืน หรือพูดสิ่งที่ยังไม่เกิดขึ้นที่เป็นไปลักษณะการขอคะแนนเสียง หรือแสดงวิสัยทัศน์ เท่านั้นเอง ยืนยันว่าทำได้

“อย่างที่บอกว่า ระเบียบแนะนำตัวของ กกต.ออกมาสำหรับผู้สมัคร เขาจะดูแลของเขาเอง แต่สื่อยังทำงานได้ปกติ อะไรที่เป็นข้อเท็จจริง เป็นข่าว เขาลงสมัครเป็นข้อเท็จจริง รายงานได้เลย มันคือการเสนอข่าว ไม่ได้ห้าม การห้ามคือ ห้ามแนะนำเขาไปพูดในลักษณะหาเสียง จะกระทบเขาหน่อย แต่สื่อสามารถลงข่าวได้ว่า คนดังลงเขตนี้ หรือคนนี้มีประวัติอย่างนู้นอย่างนี้ ขอเป็นข้อเท็จจริง ถ้าเป็นเรื่องอื่นคือกฎหมายอื่น ต้องระมัดระวัง” นายแสวง กล่าว

กกต.ไฟเขียวสื่อรายงานข่าวเลือก สว.เต็มที่ ผู้สมัครแนะนำตัวผ่านโซเชียลได้

นายแสวง กล่าวด้วยว่า สื่อยังสามารถนำเสนอข่าว หรือจัดรายการวิเคราะห์ข่าวที่เกี่ยวกับการเลือก สว.ได้ รวมถึงสามารถเชิญนักวิชาการมาวิเคราะห์หรือแสดงความเห็นเกี่ยวกับการเลือก สว.ได้ อย่างไรก็ดีไม่มีระเบียบเกี่ยวกับการเลือก สว.ใด ๆ ที่บังคับใช้กับสื่อมวลชน แต่ต้องระวังไม่ให้นำเสนอข่าวในลักษณะเป็นการสนับสนุนการหาเสียงของผู้สมัคร สว.รายใดรายหนึ่ง เพราะหากมีการร้องเรียน แล้วพบว่าเป็นการสนับสนุนการหาเสียงของผู้สมัคร สว. เป็นประโยชน์กับผู้สมัครจริง ผู้สมัครรายนั้นจะมีโทษ

เลขาธิการ กกต. กล่าวว่า คาดว่าวันนี้จะมีผู้ขอรับใบสมัคร สว.เกิน 10,000 คน เพราะยอดเมื่อวันที่ 13 พ.ค.ที่ผ่านมามีผู้ขอรับใบสมัครเลือก สว. รวม 9,833 คน ยืนยันการเลือก สว.ครั้งนี้เป็นไปตามไทม์ไลน์ที่ประกาศออกไปแล้ว โดยไม่มีเหตุผลที่จะทำให้ไทม์ไลน์เลื่อนหรือประวิงเวลาออกไป ยืนยันว่ากระบวนการสิ้นสุดและได้ สว.ทั้งหมด 200 คน ตัวสำรอง 100 คน 

ทั้งนี้การรับสมัครเบอร์ของผู้สมัครจะเรียงลำดับตามตัวอักษรที่สมัคร ส่วนกรณีที่มีความกังวลว่าหากผู้สมัครไม่ครบทั้ง 20 กลุ่ม จะไม่กระทบการเลือก สว.เพราะแค่มีเพียง 5 กลุ่มขึ้นไปก็สามารถดำเนินการเลือก สว.ได้แล้ว โดยไม่ต้องแบ่งสาย แต่ถ้ามี 6 กลุ่มขึ้นไป จึงจะแบ่งเป็น 2 สาย เนื่องจากตามกฎหมายกำหนดว่า การแบ่งสายหนึ่งมีไม่เกิน 5 กลุ่ม แต่ไม่น้อยกว่า 3 กลุ่ม

ส่วนประเด็นการร้องเรียนคุณสมบัติและลักษณะต้องห้ามของผู้สมัคร สว. นั้น นายแสวง กล่าวยืนยันว่า จะไม่ทำให้กระบวนการเลือก สว.ล่าช้าเช่นกัน หากกรณี กกต.ไม่รับสมัครบุคคลใด สามารถร้องต่อศาลฎีกาได้ภายใน 3 วันก่อนวันเลือก สว. และศาลฎีกาจะต้องตัดสินให้แล้วเสร็จ 1 วันก่อนวันเลือก สว. หากไม่แล้วเสร็จ กระบวนการเลือก สว.จะต้องดำเนินการต่อไป เท่าที่มีผู้สมัครอยู่ หากสุดท้ายศาลคืนสิทธิให้ผู้สมัคร ก็ไม่กระทบกระบวนการที่ผ่านมาแล้วแต่อย่างใด

ส่วนกรณีการลบชื่อผู้ที่ขาดคุณสมบัติซึ่งได้รับการประกาศไปแล้ว นายแสวง กล่าวว่า สามารถทำได้ทั้งระดับอำเภอ จังหวัด และระดับประเทศ โดยผู้ร้องต้องร้องภายใน 3 วันก่อนวันเลือก สว. และศาลต้องตัดสิน 1 วันก่อนวันเลือก สว. หากไม่แล้วเสร็จ กระบวนการจะดำเนินต่อเช่นเดียวกับกรณีข้างต้น 

เมื่อถามว่า กรณีคณะก้าวหน้า และไอลอว์ เดินหน้ารณรงค์การเลือก สว.ครั้งนี้ รวมถึงเปิดเว็บไซต์ให้ผู้สมัคร สว.แนะนำตัว สามารถทำได้หรือไม่ นายแสวง กล่าวว่า สามารถทำได้เป็นไปตามระเบียบของ กกต. ยอมรับทุกอย่างเป็นไปตามกฎหมาย ไม่มีใครใหญ่ไปกว่ากฎหมาย ถ้าผู้สมัครรู้เห็นเป็นใจเพื่อให้ตัวเองได้ประโยชน์จะต้องรับโทษ ดังนั้นขอให้ผู้สมัคร สว.ระมัดระวังตัวเองด้วย

“หาก กกต.หรือมีการแจ้งเบาะแสที่อาจส่งผลให้การเลือก สว.ไม่เป็นไปโดยสุจริต หรือเที่ยงธรรม กกต.จะสั่งให้ผู้สมัคร สว.หยุดการกระทำ หรือหากผู้สมัครมิได้ทำเอง ต้องไปเตือนผู้ที่กระทำให้หยุดการกระทำ รวมถึงถามผู้สมัครว่า รู้เห็นเป็นใจในกรณีดังกล่าวด้วยหรือไม่” นายแสวง กล่าว