'ชัยธวัช' เชื่อมีเวลา วอน 'รัฐบาล' ปรับคำถามประชามติ หั่นเงื่อนไขออก

'ชัยธวัช' เชื่อมีเวลา วอน 'รัฐบาล' ปรับคำถามประชามติ หั่นเงื่อนไขออก

"หัวหน้าพรรคก้าวไกล" เรียกร้องรัฐบาล ทบทวนคำถามประชาชน แบบมีเงื่อนไข เชื่อยังไม่ลงราชกิจจานุเบกษา ยังปรับทัน ชี้กำหนดเงื่อนไขอาจทำให้เกิดปัญหาทางเทคนิค

ที่รัฐสภา นายชัยธวัช ตุลาธน สส.บัญชีรายชื่อ และหัวหน้าพรรคก้าวไกล ให้สัมภาษณ์ต่อกรณีการทำประชามติเพื่อจัดทำรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ ว่าจากที่ดูตามเอกสารยังไม่ชัดเจนว่า คณะรัฐมนตรี (ครม.)​มีมติอย่างเป็นทางการแล้วหรือไม่ ดังนั้นต้องรอความชัดเจนในเรื่องดังกล่าว ในประเด็นการประกาศลงราชกิจจานุเบกษา ถึงตัวคำถามและวันที่กำหนดให้ออกเสียงประชามติ อย่างไรก็ดีก่อนถึงเวลาดังกล่าวตนมองว่ายังมีเวลาที่รัฐบาลสามารถทบทวนคำถามประชามติอย่างกว้างที่สุด เข้าใจง่าย ไม่มีเงื่อนไขซับซ้อน เช่น ถามประชาชนว่า เห็นด้วยหรือไม่ที่จะให้มีการจัดทำรัฐธรรมนูญฉบับใหม่

"คำถามประชามติที่ไม่ซับซ้อน มีโอกาสให้ประชามติผ่านง่ายขึ้น สามารถรวมคะแนนเสียงได้เป็นเอกภาพมากที่สุด แทนที่จะมีคะแนนเสียงบางส่วนที่อยากได้รัฐธรรมนูญฉบับใหม่ แต่ไม่เห็นด้วยกับเงื่อนไข จึงโหวตไม่เห็นชอบ หรือไม่โหวตเลย  ทั้งนี้พรรคก้าวไกลไม่ขัดขวางการทำประชามติ และต้องการให้เห็นการจัดทำรัฐธรรมนูญฉบับใหม่เร็วที่สุด ดังนั้น เวลาที่เหลืออยู่ ในขณะที่ ครม.ไม่ชัดเจนว่า มีมติเป็นทางการแล้วหรือยัง แปลว่ายังมีโอกาสที่จะเปลี่ยนได้ อยากให้ทบทวน" นายชัยธวัช กล่าว 

เมื่อถามว่าการตั้งคำถามแบบมีเงื่อนไข จะเป็นปัญหาอย่างไร และการรณรงค์ของพรรคก้าวไกลจะยากมากขึ้นหรือไม่ นายชัยธวัช กล่าวว่า การสร้างเงื่อนไขไม่แก้ไขหมวด 1 หมวด 2  มีคนในรัฐบาลพยายามสร้างความเข้าใจว่า พรรคก้าวไกลไม่เอาและต้องการแก้ไขหมวดดังกล่าว ทั้งที่ในหลักการหากอำนาจสูงสุดเป็นของประชาชน รัฐธรรมนูญควรแก้ได้ทั้งหมด และไม่ควรจะวางบรรทัดฐานทางการเมืองแบบที่ไม่เคยเกิดขึ้นมาก่อนในประวัติศาสตร์ 

"หมวด 1 และหมวด 2 ไม่ได้เกี่ยวข้องกับพระราชอำนาจอย่างเดียว แต่มีเรื่องอื่นด้วย หากมีเงื่อนไขว่าแก้ไขไม่ได้ แต่อนาคตสภาร่างรัฐธรรมนูญ เห็นว่า ไม่จำเป็นต้องมีวุฒิสภา แล้วให้ใช้ระบบสภาเดี่ยว ดังนั้นต้องตัดคำว่าวุฒิสภาที่ระบุไว้ในหมวด 1 ด้วย เพื่อสอดคล้องกับการแก้ไขรัฐธรรมนูญ จะทำอย่างไร  และอาจทำให้มีปัญหาทางเทคนิคขึ้นได้" นายชัยธวัช กล่าว

นายชัยธวัช กล่าวย้ำว่าตนขอให้รัฐบาลลองฟังเสียงสะท้อนของประชาชน ส่วนตัวเชื่อว่า เป็นเสียงที่อยู่บนเจตนารมย์ที่ดี อาจจะไม่ต้องถามความเห็นพรรคร่วมฝ่ายค้านอย่างเดียว แต่ต้องหาความเห็นของภาคประชาชน และภาคประชาสังคมต่างๆ อย่างไรก็ตาม ตนยังคิดว่า คำถามที่ดีที่สุดคือ คำถามที่เข้าใจง่าย และรวมเสียงของคนที่อยากทำรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ให้เป็นเอกภาพ.