‘เศรษฐา’ เผย ต้องจูนสัมพันธ์ สส.พท. ชี้ ปชช. ส่งนั่ง นายกฯ ต้องดูแลเงินภาษี

‘เศรษฐา’ เผย ต้องจูนสัมพันธ์ สส.พท. ชี้ ปชช. ส่งนั่ง นายกฯ ต้องดูแลเงินภาษี

“เศรษฐา” เผย งบประมาณมีจำกัด ต้องดูแลภาษีปชช. เหตุ ส่งให้มาเป็น “นายกฯ” แจง ต้องปรับจูนให้เข้ากับ สส. ต้องอธิบายให้เข้าใจ ยัน ไม่โกรธ ไม่น้อยใจ หลัง ถูกมอง มีระยะห่าง โยนสังคมตัดสิน ใจเย็นขึ้นหรือไม่

นายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรี และรมว.คลัง ให้สัมภาษณ์ถึงความสัมพันธ์กับ ส.ส.พรรคเพื่อไทย ที่ยังมีเสียงสะท้อนจากภายในพรรคว่า ระหว่างนายกฯ กับ สส. ยังมีระยะห่างกันมาก และส่วนหนึ่งมาจากการเข้มงวดเรื่องงบประมาณ ว่า หลายโครงการที่ขอมาก็มีได้ อย่างที่บอกงบประมาณมีจำกัด และตนเองในฐานะนายกรัฐมนตรีมีหน้าที่ดูแลภาษีของประชาชน และมีหน้าที่ตอบกับรัฐสภาว่าภาษีนั้น มีการใช้อย่างเหมาะสมหรือไม่ เช่น การสร้างสนามบิน ด่านชายแดนต่างๆ ต้องดูให้ดี เพราะมีการพูดคุย และดูองค์ประกอบหลายๆ อย่าง จึงอยากค่อยๆ ทำ ค่อยๆ เป็น ค่อยๆ ไป ขอให้ถึงเวลาก่อน ซึ่งหน้าที่ของตนเองก็ต้องปรับจูนระหว่างตนเองกับ สส.ของพรรคตลอดเวลา เพราะตนเองต้องหลังพิงประชาชน เพราะเป็นคนที่ส่งให้ตนเองมายืนอยู่ตรงนี้ และต้องผ่าน สส.ที่มีถึง 141 คน ยังไงก็ต้องโน้มน้าวเข้าหาตลอดเวลา 

นายกฯ กล่าวอีกว่า และต้องพยายามอธิบายให้เข้าใจว่าเรื่องคืออะไร ประเด็นคืออะไร เหตุผลที่ให้ได้ และให้ไม่ได้ หรือทำไมต้องได้งบประมาณน้อยลง หรือเพิ่มขึ้น ซึ่งเรื่องของการพูดคุย เป็นเรื่องสำคัญ ไม่ได้น้อยใจ ไม่ได้โกรธ ไม่ได้งอน ยังต้องพยายามไปพบปะพูดคุย หาวิธีสื่อสารให้มากขึ้น เพื่อให้เกิดความเข้าใจซึ่งกันและกันมากขึ้น ไม่ใช่แค่ สส.พรรคเพื่อไทย อย่างเดียว เพราะตนเองเป็นนายกรัฐมนตรีของคนไทยทุกคน ซึ่งในสัปดาห์หน้า ตนเองจะลงพื้นที่ในจังหวัดภูเก็ต ไปดูการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐาน เพื่อรองรับนักท่องเที่ยวในช่วงไตรมาสที่ 4

ส่วนเรื่องการบริหารอารมณ์นั้น นายกฯ กล่าวว่า คิดว่าคนเราก็เป็นคนก็มีอารมณ์บ้าง และตนเองไม่ได้เป็นนักการเมืองอาชีพ ซึ่งตนเองเข้าใจว่าถ้าเป็นนายกรัฐมนตรี ต้องไม่มีสิทธิ์เลือกโกรธ ต้องพยายามรับฟัง ต้องพยายามควบคุมอารมณ์ให้ดี ซึ่งตรงนี้ก็พยายามทำให้ดียิ่งขึ้นอยู่ บางเรื่องก็เข้าใจได้ ก็พยายามฝึกกันต่อไป

เมื่อถามว่า ก่อนหน้านี้เป็นนักธุรกิจแล้วใจร้อนมาก แต่เมื่อมาเป็นนายกรัฐมนตรีแล้ว ใจเย็นขึ้นเยอะ จนเพื่อนบ่น นายเศรษฐา กล่าวว่า เรื่องนี้ต้องให้ประชาชนเป็นคนตัดสินใจ หรือให้สื่อมวลชนเป็นคนสะท้อนว่ามีการพัฒนาอย่างไร ถ้าถามว่าทำได้ดีพอหรือยัง ต้องตอบว่ายังไม่ดี ต้องพยายามกันต่อไป เมื่อเป็นบุคคลสาธารณะแล้วก็ ต้องรับฟังทุกๆ คำถาม