ควันหลง 'รล.สุโขทัย'ล่ม ล่า'ไอ้โม่ง'ตัดตอนผลสอบ

ควันหลง 'รล.สุโขทัย'ล่ม ล่า'ไอ้โม่ง'ตัดตอนผลสอบ

คงต้องวัดกันที่กระแสสังคม ว่าผลสอบสวนกองทัพเรือ จะทำให้เกิดความกระจ่างเป็นที่ยอมรับของทุกฝ่าย ทั้งประชาชนผู้เสียภาษี ญาติกำลังพล โดยมีผู้การเรือหลวงสุโขทัย รับผิดชอบคนเดียว

KEY POINTS :

  • "ก้าวไกล" ถามหาความรับผิดชอบจากกองเรือยุทธการ สายการบังคับบัญชาของผู้การเรือหลวงสุโขทัย
  • ผบ.ทร. ไฟเขียวมอบข้อมูล-หลักฐาน และสัมภาษณ์กำลังพลบนเรือหลวงสุโขทัย เป็นข้อมูล กมธ.ทหารฯ หากตั้งคณะกรรมการตรวจสอบซ้ำ

แม้ กองทัพเรือ นำโดย พล.ร.อ.อะดุง พันธุ์เอี่ยม ผบ.ทร. นำทีมคณะกรรมการตรวจสอบข้อเท็จจริงแถลงผลสอบสวนถึงสาเหตุเรือหลวงสุโขทัยอับปาง พร้อมงัดข้อมูล-หลักฐาน ชี้ให้สังคมเห็นว่า เกิดจากสภาพดินฟ้าอากาศแปรปรวน และเรือก็ใกล้ปลดประจำการ เมื่อกระแทกวัตถุไม่ทราบชนิดในน้ำ เป็นปัจจัยสำคัญทำเรือล่ม นำไปสู่ความสูญเสีย

พร้อมยืนยันว่า ไม่เกี่ยวข้องกับการซ่อมบำรุงเรือหลวงสุโขทัยซึ่งอยู่ในความดูแลของ"กองเรือยุทธการ" เพราะที่ผ่านมาได้รับการดูแลตามมาตรฐานครบถ้วน เรือมีความพร้อมออกปฏิบัติภารกิจในขณะนั้น และไม่มีการแทรกแซงการทำหน้าที่ของผู้การเรือหลวงสุโขทัยในช่วงเวลาเกิดเหตุ ตามที่มีข้อครหาก่อนหน้านั้นว่ามีคำสั่งห้ามเรือจ่ม

ส่วนความผิดด้านการละเมิด พบว่าเรือหลวงสุโขทัยอับปาง ไม่ได้เกิดจากความจงใจ ประมาท เลินเล่อร้ายแรง แต่เป็นเหตุสุดวิสัย จึงไม่ต้องชดใช้ค่าเสียหายทางแพ่ง ส่วนความผิดทางอาญาอยู่ระหว่างการพิจารณาของพนักงานสอบสวนสถานีตำรวจภูธรอำเภอบางสะพานที่จะดำเนินการตามขั้นตอนกระบวนการยุติธรรมต่อไป

ทั้งนี้ ผลสอบสวนของคณะกรรมการฯ พบว่า การนำเรือกลับสัตหีบ แทนเข้าเทียบท่าบางสะพาน จ.ประจวบคีรีขันธ์ ซึ่งมีระยะทางใกล้กว่าของผู้การเรือหลวงสุโขทัย เป็นการตัดสินใจผิดพลาด ไม่รอบคอบ เป็นสาเหตุให้เกิดความสูญเสีย โดยทัพเรือภาค 1 เสนอให้ลงทัณฑ์ "กัก"จำนวน 15 วัน พร้อมเสนอกองทัพเรือให้ลงโทษทางวินัย

ส่วน นาวาโท พิชิตชัย เถื่อนนาดี อดีตผู้การเรือหลวงสุโขทัย ได้กล่าวขอโทษต่อครอบครัวของกำลังพลที่เสียชีวิต พร้อมยอมรับการลงโทษจากผู้บังคับบัญชา และเมื่อเหตุการณ์ทุกอย่างสิ้นสุดแล้ว ขอแสดงความจำนงค์ ลาออกจากกองทัพเรือ เพื่อแสดงความรับผิดชอบต่อกรณีที่เกิดขึ้น

"ผมมีอิสระในการตัดสินใจต่อสถานการณ์หน้างานโดยไม่มีใครมากดดันการทำหน้าที่ทั้งสิ้น" อดีตผู้การเรือหลวงสุโขทัย ย้ำ

ทว่า ในวันแถลงข่าว 2 สส.พรรคก้าวไกล  "จิรัฏฐ์ ทองสุวรรณ์-ชยพล สะท้อนดี"เข้าร่วมสังเกตการณ์ พร้อมตั้งคำถามเหตุใด ผู้การเรือหลวงสุโขทัย ต้องรับผิดอยู่คนเดียว พร้อมขอข้อมูล-หลักฐานจาก ผบ.ทร. และจะเดินหน้าสอบถามกำลังพลที่อยู่บนเรือหลวงสุโขทัยเพิ่มเติม

หวังใช้คณะกรรมาธิการการทหาร สภาผู้แทนราษฎร (กมธ.ทหารฯ) ตรวจสอบซ้ำโดยผ่านการตั้งกรรมการอิสระ ดึงคนนอกเข้ามามีส่วนร่วม ปักหมุดถามหาความรับผิดของของกองเรือยุทธการ ซึ่งขณะนั้นมี พล.ร.อ.อะดุง นั่งเป็นผู้บัญชาการกองเรือยุทธการ(ผบ.กร.)

เพราะก่อนหน้านี้ ในเวทีอภิปรายทั่วไปแบบไม่ลงมติ "จิรัฏฐ์ ทองสุวรรณ์" สส. ฉะเชิงเทรา พรรคก้าวไกล  โจมตีกองทัพเรือ มีเจตนาไม่กู้เรือตั้งแต่ต้นอยู่แล้ว เช่นเดียวกับภาพถ่ายเรือหลวงสุโขทัยใต้น้ำ ซึ่งได้มาก่อนหน้านี้ แต่ไม่สรุปผลสอบ

"จิรัฏฐ์" ใช้คำว่า เล่นปาหี่ กองทัพเรือ เตะถ่วงเวลาให้ล่าช้า 15 เดือน เพราะมีโอ้โม่งอยู่เบื้องหลังคอยกำกับ หวังกลบเกลื่อนหลักฐานไม่ให้สาวไปถึงคนใหญ่โต พร้อมเชื่อว่าเหตุการณ์นี้เป็นความรับผิดชอบของ "กองเรือยุทธการ"โดยตรง

ทั้งนี้ ต้องยอมรับว่า กองทัพเรือ ตกอยู่ในสภาวะสะบักสะบอม นับตั้งแต่เกิดเหตุการณ์เรือหลวงสุโขทัยอับปางปลายปี 2565 (18 ธ.ค.)ขณะนั้น ผบ.ทร.คนปัจจุบัน พล.ร.อ.อะดุง พันธ์เอี่ยม  เป็นผู้บัญชาการกองเรือยุทธการ (ผบ.กร.)

กองทัพเรือใช้เวลาถึง 15 เดือน หาข้อสรุปเหตุการณ์สลดในครั้งนั้น เพราะนอกจากทำให้เกิดความเสียหายมหาศาลแล้ว ยังเป็นเหตุให้กำลังพลกองทัพเรือเสียชีวิต 24 นาย สูญหาย 5 นาย 

ด้วยการตั้งคณะกรรมการตรวจสอบข้อเท็จจริงเรือหลวงสุโขทัยอับปาง ที่มี พล.ร.อ.ชลธิศ นาวานุเคราะห์ เสธ.ทร.(ปัจจุบัน ผู้ช่วย ผบ.ทร.) เป็นประธาน ประกอบด้วย คณะอนุกรรมการ 2 คณะ คือ
 
1.คณะทำงานสอบสวนข้อเท็จจริง เพื่อหาสาเหตุที่ทำให้เรือหลวงสุโขทัยอับปาง มีหน้าที่ตรวจสอบข้อเท็จจริงเพื่อหาสาเหตุ ทั้งด้านความพร้อมของเรือและการปฏิบัติงานของเรือ

2.คณะทำงานสอบสวนข้อเท็จจริงในการดำเนินการ ภายหลังจากเรือหลวงสุโขทัยอับปาง มีหน้าที่ตรวจสอบข้อเท็จจริง เพื่อตรวจสอบการดำเนินการในขั้นตอนของการสละเรือใหญ่ การค้นหาและช่วยเหลือกำลังพลภายหลังประสบเหตุ ว่าเป็นไปตามหลักการและแนวทางปฏิบัติที่กำหนดไว้หรือไม่ 

โดยคณะอนุกรรมการ 2 คณะ เข้าสอบปากคำผู้รอดชีวิต 76 นาย หนึ่งในนั้น คือ"นาวาโท พิชิตชัย เถื่อนนาดี" ผู้บังคับการเรือหลวงสุโขทัย 

ส่วน พล.ร.อ.อะดุง พันธุ์เอี่ยม ผบ.กร. เป็นประธานคณะกรรมการในการพิจารณากู้เรือหลวงสุโขทัย เปิดให้บริษัทเอกชนเข้ามาประมูลวงเงิน 200 ล้านบาท ภายใต้เงื่อนไข ต้องยกขึ้นมาทั้งลำ ห้ามตัดแยกชิ้นส่วน เพื่อรักษาหลักฐานสภาพตัวเรือให้สมบูรณ์ที่สุด

การยื่นซองประมูลกู้เรือหลวงสุโขทัยยืดเยื้อ จน พล.ร.อ.อะดุง เปลี่ยนเก้าอี้เป็น ผบ.ทร.พร้อมถูกตั้งคำถามถึงความไม่ชอบมาพากลจากพรรคก้าวไกล เพราะมีการล้มการประมูลครั้งแล้วครั้งเล่า จนสุดท้ายเปลี่ยนจากการกู้เรือยกขึ้นมาทั้งลำ เป็น กู้เฉพาะบางส่วน

ภายใต้การปฏิบัติการค้นหาผู้สูญหายและปลดวัตถุอันตรายเรือหลวงสุโขทัยมาระหว่างกองทัพเรือไทยและกองทัพเรือสหรัฐอเมริกาใช้เวลา 19 วัน(22 ก.พ. – 11 มี.ค. 2567)เก็บกู้หลักฐาน เอกสาร ภาพถ่ายร่องรอยความเสียหายบนตัวเรือ จนนำไปสู่การเปิดเผยผลสอบสวน

จากนี้ไปต้องวัดกันที่กระแสสังคม ว่าผลสอบสวนของกองทัพเรือ ทำให้เกิดความกระจ่างถึงสาเหตุเรือรบขนาดใหญ่ล่ม เป็นที่ยอมรับของทุกฝ่าย ทั้งประชาชนผู้เสียภาษี ญาติกำลังพลที่เสียชีวิตและสูญหาย โดยมีผู้การเรือหลวงสุโขทัย เป็นผู้รับผิดชอบด้วยการออกจากราชการเพียงแค่คนเดียว จะเพียงพอหรือไม่

เพราะในระเบียบกองทัพเรือ ว่าด้วย หน้าที่ราชการในเรือหลวง ได้ระบุหน้าที่และความรับผิดชอบของ "ผู้บังคับการเรือ" ไว้ชัดเจนโดยเฉพาะเมื่อต้องสูญเสียเรือ ดังต่อไปนี้

ในกรณีที่เห็นว่าจะต้องสูญเสียเรืออย่างแน่นอนแล้ว ผู้บังคับการเรือจะต้องผดุงไว้ซึ่งกำลังใจและวินัยของทหารประจำเรือจนถึงที่สุด แล้วรีบรายงานไปยัง "ผู้บังคับหน่วยเรือ"ของตนในขณะนั้น กับรายงานด่วนไปยัง"กองทัพเรือ"ด้วย

ประเด็นนี้ จึงเป็นปัจจัยหนึ่งที่ทำให้ "พรรคก้าวไกล" ขอตรวจสอบสาเหตุเรือหลวงสุโขทับอับปางซ้ำ โดยการดึงคนนอก ซึ่งไร้ส่วนได้ส่วนเสีย หรือการแทรกแซงผลการสอบสวนเข้ามามีส่วนร่วม

จึงเป็นเรื่องให้น่าคิดว่า ปัจจัย "ผู้บังคับบัญชา" ส่งผลต่อการตัดสินใจของ "ผู้การเรือหลวงสุโขทัย" หรือไม่ ทั้งการเปลี่ยนใจหันหัวเรือกลับสัตหีบ ไม่นำเรือเทียบท่าบางสะพาน จ.ประจวบคีรีขันธ์ ทำให้เรือโดนทั้งแรงลมและคลื่นซัดหนัก และการสละเรือล่าช้าจนนำไปสู่การสูญเสีย