ดิจิทัลวอลเล็ต ทำ-ไม่ทำ ก็โดน (ด่า)

ดิจิทัลวอลเล็ต ทำ-ไม่ทำ ก็โดน (ด่า)

"เงินดิจิทัลวอลเล็ต" เป็นสิ่งที่รัฐบาลเศรษฐาต้องทำให้ได้อย่างที่หาเสียงไว้ ขณะเดียวกันก็เป็นหน้าที่ของฝ่ายค้านที่ต้องคอยตรวจสอบ นโยบายนี้ทำก็โดนด่า ไม่ทำก็โดนด่า เพราะฉะนั้นทำดีกว่า อย่างน้อยประชาชนยังมีเงินใช้!

ลูกผีลูกคนมาตั้งแต่เริ่มตั้งรัฐบาล นโยบายดิจิทัลวอลเล็ตของพรรคเพื่อไทย ที่ต้องยอมรับว่าเป็นนโยบายเรือธง คนที่เลือกพรรคเลือกเพราะนโยบายนี้ เพราะอยากได้เงิน 10,000 บาทมาจับจ่ายใช้สอย ไม่ว่าเงินจะอยู่ในรูปแบบใดก็ตามที มูลค่า 10,000 บาทถือว่าไม่น้อย ต่อให้มีเงื่อนไขนู่นนี่แต่ประชาชนก็อยากได้ ส่วนการจะนำไปใช้จ่ายแบบไหนไม่ต้องสอน ประชาชนเขาคิดได้เอง 

สรุปเบื้องต้น โครงการดิจิทัลวอลเล็ตของรัฐบาลที่จะเริ่มเติมเงินให้ประชาชน คนละ 1 หมื่นบาท รวม 50 ล้านคนในไตรมาสที่ 4 ปีนี้ ได้ข้อสรุปเรื่องของแหล่งเงิน 5 แสนล้านบาท โดยจะไม่ใช้วิธีกู้เงินแต่จะใช้การบริหารจัดการงบประมาณ 2 ปีงบประมาณ และยืมเงินธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธกส.) ก่อนจะตั้งงบประมาณใช้คืน

ฟังความในใจ “เศรษฐา ทวีสิน” นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง เผยผ่านทวิตเตอร์ ความว่า.. “เราจะใส่เงิน 5 แสนล้านบาท ในระบบเศรษฐกิจลงไปถึงฐานรากครอบคลุมประชาชน 50 ล้านคน เศรษฐกิจในภาพรวมจะโตขึ้นอีกเพราะเงินจะกระจายไปยังทุกพื้นที่เพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจ เกิดการจับจ่ายใช้สอย ยกระดับคุณภาพชีวิตและสร้างโอกาสในการประกอบอาชีพของประชาชนทุกกลุ่ม รวมถึงกลุ่มเปราะบาง...” 

สำหรับความคุ้มค่าในการดำเนินโครงการ การให้สิทธิแก่ประชาชน จำนวน 50 ล้านคน คิดเป็นจำนวนเงินหมุนเวียนในระบบเศรษฐกิจกว่า 5 แสนล้านบาท และกำหนดให้ใช้จ่ายในร้านค้าที่กำหนดซึ่งจะเป็นการเติมเงินลงสู่ฐานราก โดยจะส่งผลต่อการขยายตัวทางเศรษฐกิจประมาณร้อยละ 1.2 - 1.8 จากกรณีฐาน

ขั้นตอนหลังจากนี้คือ คณะกรรมการนโยบายโครงการเติมเงิน 10,000 บาท ผ่านดิจิทัลวอลเล็ต มอบหมายให้กระทรวงการคลังในฐานะเลขานุการคณะกรรมการฯ นำมติที่ได้รับความเห็นชอบเสนอต่อคณะรัฐมนตรีพิจารณาต่อไปภายในเดือนเมษายน 2567

ส่วนเสียงติติง เมื่อวาน (10 เม.ย.) สื่อทุกสำนักมุ่งไปที่ "ศิริกัญญา ตันสกุล" ส.ส.บัญชีรายชื่อ และรองหัวหน้าพรรคก้าวไกล ที่จับตานโยบายดิจิทัลวอลเล็ตมาโดยตลอด เธอยังแสดงความเป็นห่วงเรื่องหนี้สาธารณะ เพราะสุดท้ายก็ยังต้องใช้เงินงบประมาณในการใช้คืนหนี้อยู่ดี

ฟังศิริกัญญาก็แล้ว ฟังฝ่ายรัฐบาลก็แล้ว ต้องฟังเสียงประชาชนด้วย เชื่อว่าร้อยทั้งร้อยอยากได้เร็วๆ นักธุรกิจน้อยใหญ่ก็อยากได้ เพราะแม้ใช้ได้ในร้านค้ารายเล็ก แต่การที่เงินหมุนไปนั้นมีพลัง  จึงเป็นหน้าที่ของรัฐบาลที่ต้องทำนโยบายให้ได้อย่างที่หาเสียงไว้ เป็นหน้าที่ของฝ่ายค้านที่ต้องคอยตรวจสอบ นโยบายนี้ทำก็โดนด่า ไม่ทำก็โดนด่า เพราะฉะนั้นทำดีกว่า อย่างน้อยประชาชนยังมีเงินใช้!