'พิธา' หมดคำพูด! ผ่าน 50 วัน รัฐบาลเพิ่งประกาศเขตภัยพิบัติฝุ่นเชียงใหม่

'พิธา' หมดคำพูด! ผ่าน 50 วัน รัฐบาลเพิ่งประกาศเขตภัยพิบัติฝุ่นเชียงใหม่

'พิธา' หมดคำพูด! หลังค่าฝุ่นเชียงใหม่เกินมาตรฐานมากว่า 50 วัน แต่รัฐบาลดันเพิ่งประกาศเขตภัยพิบัติ ถามกลับเชียงราย - ตาก ไร้ฝุ่นหรือ โชว์วิชั่นถ้าเป็นรัฐบาลจะสั่งนักเรียนหยุด - คนทำงานเวิร์ค ฟอร์ม โฮมตั้งแต่ 2 สัปดาห์แรก

เมื่อวันที่ 9 เม.ย.2567 นายพิธา ลิ้มเจริญรัตน์ สส.บัญชีรายชื่อ และประธานที่ปรึกษาหัวหน้าพรรคก้าวไกล ให้สัมภาษณ์ถึงการประกาศพื้นที่ประสบสาธารณภัย และเขตการให้ความช่วยเหลือผู้ประสบภัยกรณีฉุกเฉินอัคคีภัย 5 อำเภอ จ.เชียงใหม่ ว่า เป็นประกาศพื้นที่ภัยพิบัติบางส่วน เห็นใจ และเป็นกำลังใจผู้ว่าราชการจังหวัดเชียงใหม่ การประกาศพื้นที่ภัยพิบัติโดยไม่ตรงกับพื้นที่ ที่มี PM 2.5 สูง ฝุ่นไม่ได้หยุดในเขตอำเภอ พร้อมถามว่าพื้นที่ในจังหวัดเชียงราย และจังหวัดตาก ไม่อยู่ในหน้าสื่อก็ไม่บริหารจัดการหรืออย่างไร เดี๋ยวฝนก็จะมามันก็จะดีขึ้น แต่เราต้องการรัฐบาล ไม่ได้ต้องการแค่ฝน เพราะหลังฝนก็จะเกิดอะไรขึ้นอีก

นายพิธา กล่าวว่า ดังนั้น เมื่อเป็นพื้นที่ภัยพิบัติต้องมีเงื่อนไขว่า พื้นที่ใดเป็นเขตภัยพิบัติ หรือไม่เป็นเขตภัยพิบัติ เพราะการประกาศพื้นที่ภัยพิบัติต้องสื่อสารให้ชัดเจนว่า เมื่อประกาศแล้ว มีงบประมาณ ข้อกฎหมาย และอุปสรรคอะไรบ้าง เช่น เชียงรายที่มีฝุ่นไม่แพ้กัน สรุปจะเอาอย่างไร หรือจะปล่อยให้เป็นไปตามยถากรรม โดยเมื่อเดือนที่ผ่านมา ได้ขึ้นไปดูเขตไฟป่าที่จังหวัดเชียงใหม่ ด้วยตนเอง ขณะนั้นเมื่อไล่ดูสถิติพบว่าปริมาณฝุ่นเกินค่ามาตรฐานมา 22 วันติดกันแล้ว แต่ยังไม่ประกาศเป็นเขตภัยพิบัติ เมื่อดูสถิติต่อเนื่องพบว่าค่าฝุ่นเกินมาตรฐานมาเกินสองสัปดาห์ ถ้าเป็นตนเองก็จะประกาศเขตภัยพิบัติเพื่อให้นักเรียนหยุด และให้คนเวิร์ค ฟอร์มโฮม ส่วนสถานการณ์ค่าฝุ่นในจังหวัดเชียงใหม่ เกินค่ามาตรฐานมาเกือบ 50 วันแล้ว เพิ่งมาประกาศก็ไม่รู้จะพูดอย่างไร

เมื่อถามว่าถือว่าการบริหารจัดการของรัฐบาลล้มเหลวหรือไม่ เพราะมีผู้เสียชีวิตจากฝุ่น PM 2.5 นายพิธา ขอแสดงความเสียใจกับครอบครัวของอาจารย์ 4 ท่าน ปฏิเสธไม่ได้ว่ามีผู้ป่วยด้วยโรค PM 2.5 มากขึ้นสามเท่า จะบอกว่าไม่น่าเป็นจริง หรือสถานการณ์จริงไม่แย่ขนาดนั้น หรือเป็นการทำรูปให้ดูไม่ดีนั้น ในมุมของนักท่องเที่ยวที่เคยพูดคุยด้วย ขอบอกว่าไม่ต้องกลัวนักท่องเที่ยวไม่มา กลัวนักท่องเที่ยวมองไม่เห็นมากกว่า ได้ข่าวว่ายอดการจองเหลือ 50% ซึ่งจะต้องไปดูข้อมูลอื่นว่ามีผลกระทบต่อนักท่องเที่ยวหรือไม่ โดยนักท่องเที่ยวเชียงใหม่ได้เล่าให้ตนเองฟังว่า นโยบายการท่องเที่ยวจะดีแค่ไหน หากไม่มีนโยบายรองรับเรื่องสิ่งแวดล้อม และสาธารณสุขก็ยาก 2 ปีแรกเชียงใหม่ซึม เพราะโควิด-19 ไม่ได้ซึมเพราะเชียงใหม่มีเสน่ห์น้อยลง แต่ปีที่ 3 และปีนี้กลับโดนเรื่อง PM 2.5

“ต่อให้มีการท่องเที่ยวหรือเฟสติวัลมากมาย แต่ไม่ได้เข้าใจว่าเรื่องเศรษฐกิจ สาธารณสุข และสิ่งแวดล้อมเป็นเรื่องเดียวกัน ก็คงจะไม่สามารถแก้ปัญหา ปรากฏว่าไม่ได้ทั้งสองอย่าง นักท่องเที่ยวก็ไม่ได้ สิ่งแวดล้อมก็ไม่ได้ เสียน้อยเสียยากเสียมากเสียง่าย” นายพิธา กล่าว

นายพิธา กล่าวด้วยว่า เป็นดุลยพินิจของคนท่องเที่ยว เป็นคนที่ตัดสินใจเองว่าจะไปหรือไม่ไป รู้สึกเสียดายโอกาสที่ผ่านมา 3-4 ปีสงกรานต์เชียงใหม่ก็ยังซบเซา หากการบริหารจัดการล่วงหน้าตั้งแต่เดือนม.ค. เราจะเห็นเทศกาลสงกรานต์ที่มีความสุข และคึกคักมากกว่านี้ จะต้องหาวิธีแก้ไขปัญหาเท่าที่ทำได้ เช่น การมีหน้ากากอนามัยที่เหมาะสมมากพอ การดูแลให้มีอุปกรณ์ภายในบ้าน เช่น เครื่องกรองฝุ่นที่ไม่แพงจนเกินไป สามารถใช้งบประมาณที่ประกาศเขตภัยพิบัติมาช่วยเหลือคนในพื้นที่ได้

"ตอนนี้ไม่ได้ห่วงนักท่องเที่ยว แต่ห่วงนักเรียน เด็กเล็ก และผู้สูงอายุ ผู้ป่วยตามโรงพยาบาล เข้าใจว่าหมอชลน่าน ศรีแก้ว  (รมว.สาธารณสุข) จะลงพื้นที่เพื่อเพิ่มกำลังคนและกำลังห้อง เพื่อให้หมอ และพยาบาลไม่โอเวอร์โหลดจนเกินไปด้วย" นายพิธา กล่าว

 

 

พิสูจน์อักษร....สุรีย์  ศิลาวงษ์