กกต.เปิดศูนย์ต้านข่าวปลอมรับเลือก สว. - 2 เม.ย.ถกรูปแบบ วางเกณฑ์สกัดฮั้ว

กกต.เปิดศูนย์ต้านข่าวปลอมรับเลือก สว. - 2 เม.ย.ถกรูปแบบ วางเกณฑ์สกัดฮั้ว

กกต.ลุยเปิดศูนย์ต่อต้านข่าวปลอม เฟส 2 รับเลือก สว. ไม่เว้นวันหยุด ลั่นเอาผิดไม่เลือกหน้า ขู่เป็นอวตารก็ไม่รอด เผย 2 เม.ย.ถกรูปแบบบัตรเลือกตั้ง วางเกณฑ์แน่นหนาสกัดฮั้ว ชี้ต้องทำคุณสมบัติตัวเองให้เคลียร์ ทิ้งหุ้นทุกตัวก่อนสมัคร

เมื่อวันที่ 1 เม.ย.2567 ที่สำนักงานคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) นายฐิติเชฏฐ์ นุชนาฏ และนายปกรณ์ มหรรณพ กรรมการการเลือกตั้ง ร่วมแถลงข่าวเปิดศูนย์ปฏิบัติงานคณะกรรมการต่อต้านข่าวเท็จ หรือ "ศูนย์ Fake News" โดยนายฐิติเชฏฐ์ กล่าวตอนหนึ่งว่า ศูนย์ดังกล่าวเปิดขึ้นมาตั้งแต่ที่มี การเลือกตั้ง ปี 2562 ซึ่งสามารถตรวจจับข่าวปลอม ซึ่งมีมาก โดยในช่วงการเลือกตั้งมีประมาณ 100 ข่าว พอหลังเลือกตั้ง มีประมาณวันละ 10 ข่าว อย่างไรก็ตาม เรามีการตรวจสอบพร้อมดำเนินคดี กับผู้ที่ปล่อยข่าวปลอมเหล่านั้น ทำให้ในการเลือกตั้งปี 2566 ปัญหาข่าวปลอมข่าวเท็จมีปริมาณลดลง

นายฐิติเชฏฐ์ กล่าวอีกว่า อย่างไรก็ตาม เนื่องจากขณะนี้กำลังจะมี การเลือกสมาชิกวุฒิสภา (สว.) จึงคาดว่าจะมีผู้ที่ไม่ประสงค์ดีให้ข้อมูลอันเป็นเท็จอย่างแน่นอน จึงมีการเปิดศูนย์ Fake News ขึ้นมาเป็นครั้งที่ 2 เพื่อดำเนินการตรวจสอบ ข้อมูลข่าวเท็จ จากผู้ไม่หวังดีโดยมีการใช้โปรแกรม จับข่าวเท็จ ซึ่งเป็นโปรแกรมพิเศษที่สามารถตรวจจับข่าวที่มีการนำเสนอผ่านสื่อมวลชนทุกแขนง ไม่ว่าจะเป็นข่าวใต้ดิน หรือจากอวตาร ซึ่งเราก็อยากให้ความสนใจเพราะคนเหล่านี้ไม่เปิดเผยข้อมูลตัวตน แต่เราจะร่วมกับตำรวจไซเบอร์ ในการตรวจจับ และขุดคุ้ยมาดำเนินคดี จัดการให้หมดสิ้น เบื้องต้น มีคณะกรรมการ 9 คน และเจ้าหน้าที่ ประจำศูนย์ 5 คน ซึ่งเป็นเจ้าหน้าที่ ที่เราฝึกให้มีการใช้โปรแกรมดังกล่าวได้ เป็นอย่างดี ขอยืนยันว่าข่าวที่ออกมาจะต้องมีการ ตรวจสอบ และตอบโต้ทันทีไม่ให้ข้ามวันหากเกิดขึ้นนอกเวลาราชการก็จะเรียกประชุมกรรมการและแก้ไขข่าวทันที 

ส่วนนายปกรณ์ กล่าวว่า สำหรับ การคัดเลือก สว.ในปีนี้ ไม่สามารถประเมินได้ว่าจะมีจำนวนผู้สมัครในระดับอำเภอ มากน้อยแค่ไหนจากจำนวนทั้งหมด 928 อำเภอ แต่สิ่งที่เราจะพบแน่ๆ จะมีคนสมัครอยู่ 2 ประเภท

1.สมัครเพื่อที่จะเข้ามาเป็น สว.จริงๆ กับ

2. สมัครเพื่อที่จะใช้สิทธิในการเลือก สว. โดยประเภทที่ 2 เราจะต้องจับตามองอย่างยิ่ง

อย่างไรก็ตาม จะเห็นภาพชัด เมื่อเข้าสู่การคัดเลือกในระดับจังหวัด ซึ่งจะเหลืออยู่ประมาณ 50,000 คน ก่อนจะขึ้นมาในระดับประเทศ เหลือประมาณ 3,000 คน ซึ่งจะมีการเลือกให้เหลือ 200 คน และสำรองอีก 100 คน นี่คือ สิ่งที่เราจะต้องบริหารจัดการให้ได้โดยเฉพาะในเรื่องของคุณสมบัติ และการใช้สิทธิ ซึ่งในวันที่ 2 เม.ย.นี้ จะมีการพิจารณาเรื่องบัตรเลือก สว. ซึ่งเป็นเรื่องยากเพราะการเลือกไขว้ตั้งแต่ระดับอำเภอจนถึงจังหวัด ยังไม่รู้ว่าในจำนวน 5 กลุ่มที่จะถูกแบ่งเป็น 1 สายนั้นจะประกอบไปด้วยกลุ่มใดบ้าง โดยกลุ่มแรกจะเลือกตัวเองและคนในกลุ่มไม่ได้ เพราะฉะนั้นเท่ากับว่าเราจะต้องทำบัตรเลือกตั้งสำหรับคน 4 กลุ่ม ซึ่ง บัตรเลือก สว. ทุกอำเภอจะต้องทำให้มีความสอดคล้องกัน 

นายปกรณ์ กล่าวอีกว่า การตรวจสอบคุณสมบัติของผู้สมัครจะต้องทำอย่างมีประสิทธิภาพ โดยเฉพาะลักษณะต้องห้าม 26 ข้อ ยกตัวอย่างการถือหุ้นในกิจการสื่อ แม้เพียง 1 หุ้น ซึ่งตุลาการศาลรัฐธรรมนูญมีการวินิจฉัยเป็นบรรทัดฐานว่า ผิด ดังนั้น ถ้าจะให้ดี กรณีที่ยังมีข้อสงสัยอยู่ผู้สมัครก็ไปทำตัวเองให้สิ้นสงสัย เพราะหากมีปัญหา จะต้องมีการส่งสารฎีกา ส่วน ศาลฎีกาจะมีการวินิจฉัยออกมาอย่างไร เราไม่อาจก้าวล่วง แต่กกต.ยินดีที่จะปฏิบัติตามคำสั่งศาล

เมื่อถามว่าทางศูนย์จะมีการตรวจสอบหรือ Monitor เน้นในกลุ่มนักการเมืองหรือนักเคลื่อนไหวทางการเมืองกลุ่มใดเป็นพิเศษหรือไม่ นายปกรณ์ กล่าวว่า ไม่ได้มีการจับตากลุ่มใดเป็นพิเศษแต่จะดูข้อมูลข่าวสารที่มีการนำเสนอ ในภาพรวม หากเป็นข้อมูลเท็จ ก็จะมีการตรวจสอบ และออกมาแก้ไขอย่างทันท่วงที แต่หากข้อมูลการสื่อสารของกลุ่มต่างๆ ไม่ใช่ข้อมูลเท็จ เป็นการแสดงความเห็นโดยสุจริต แต่อาจจะทำให้เกิดการเข้าใจผิดเล็กน้อย เราก็จะไม่เข้าไปแตะต้อง ถ้าถามว่าตอนนี้มีการปล่อยข่าวเท็จออกมาแล้วหรือไม่ เรื่องนี้เรายังไม่สามารถประเมินได้

เมื่อถามถึงมาตรการรับมือกับการล็อกโหวต  นายปกรณ์ กล่าวว่า เราได้วางกำลังอย่างเข้มข้น โดยส่งพนักงานทั่วประเทศเพื่อตรวจสอบไม่ให้เกิดการฮั้ว

ขณะที่ นายฐิติเชษฏฐ์ กล่าวว่า ไม่อยากให้ เกิดภาพการรับจ้างเลือกคนใดคนหนึ่ง หากมีการตรวจสอบพบ กระบวนการสมัครเข้ามาเพื่อเลือกคนฝั่งใดฝั่งหนึ่ง ถือว่ามีความผิดตามกฎหมาย และกกต.จะดำเนินคดี ส่วนผู้ที่จะลงสมัคร สว.ก็ต้องเคลียร์ตัวเองให้ชัดเจนในเรื่องของคุณสมบัติ อย่างการถือหุ้นสื่อแม้เพียง 1 หุ้นก็ถือว่ามีความผิด ก็ไปจัดการโอนหรือขายออก ให้หมด

 

 

พิสูจน์อักษร....สุรีย์  ศิลาวงษ์