เบื้องลึกเขี่ย ‘นิชา’พ้นไลน์ ดันสายตรง‘ยิ่งลักษณ์’คุม‘สลน.’

เบื้องลึกเขี่ย ‘นิชา’พ้นไลน์ ดันสายตรง‘ยิ่งลักษณ์’คุม‘สลน.’

ภารกิจของ “ตัวเต็ง” จึงท้าทายตัวเอง เพราะที่ผ่านมา “ข้าราชการทำเนียบรัฐบาล” มีเครื่องหมายคำถาม ถึงการเติบโตในหน้าที่การงานว่าได้มาด้วยฝีมือ หรือได้มาเพราะ “นาย” ไว้ใจ

KEY POINTS :

  • การย้าย “นิชา หิรัญบูรณะ” จากรองเลขาธิการนายกรัฐมนตรี ฝ่ายบริหาร อาวุโสลำดับที่ 1 ไปเป็นผู้ทรงคุณวุฒิ ไม่ใช่เรื่องแปลก เพราะสถานะภรรยา “พล.อ.ร่มเกล้า ธุวธรรม” ซึ่งเสียชีวิตจากการปะทะกับกลุ่มผู้ชุมนุม นปช. ที่แยกคอกวัว ถูกใจคนเสื้อแดง
  • ก่อนย้าย "เบอร์หนึ่งตึกไทยคู่ฟ้า" ขอเคลียร์ใจหวังหยั่งท่าที มีแนวโน้มฟ้องร้องหรือไม่ ทั้งคู่ใช้เวลาคุยกันพักใหญ่ ก่อนบทสรุปจบลงที่การปรับย้าย
  • ว่ากันว่า "บิ๊กรัฐบาล" มี "ตัวเต็ง" อยู่ในที่จะมาแทนที่ "นิชา" โดยเป็นคนที่เคยทำงานรู้ใจกันในช่วงรัฐบาลยิ่งลักษณ์ ชินวัตร

ไม่เหนือความคาดหมาย ภายหลัง ครม.มีมติขยับ “นิชา หิรัญบูรณะ” รองเลขาธิการนายกรัฐมนตรี ฝ่ายบริหาร อาวุโสลำดับที่ 1 ไปเป็นผู้ทรงคุณวุฒิ ประจำสำนักนายกรัฐมนตรี (ซี 11) ขณะที่่ยังเหลืออายุราชการอีก 4 ปี

เส้นทางข้าราชการของ “นิชา” รุ่งสุดขีดในยุค “บิ๊กตู่” พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ในช่วงดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรี ซึ่งปฏิเสธไม่ได้ว่าสถานะภรรยา “พล.อ.ร่มเกล้า ธุวธรรม” อดีตรองเสนาธิการกองพลทหารราบที่ 2 รักษาพระองค์ ซึ่งเสียชีวิตจากการปะทะกับกลุ่มผู้ชุมนุม นปช. ที่แยกคอกวัว เมื่อปี 2553 ช่วยเกื้อหนุน

เนื่องจาก พล.อ.ร่มเกล้า ถือเป็นดาวรุ่งในกองทัพบก และเป็นน้องรักของ “บิ๊กทหาร” หลายคน รวมถึง พล.อ.ประยุทธ์ 

การเสียชีวิตของ พล.อ.ร่มเกล้า จึงเป็นบาดแผลในใจของ “บิ๊กทหาร” จึงต้องต่างตอบแทนให้ “นิชา” ในฐานะที่สูญเสียสามีจากปฏิบัติการสลายการชุมนุมคนเสื้อแดง

แต่เมื่อการเมืองเปลี่ยน-อำนาจเปลี่ยน “นิชา” เป็นหนึ่งในตัวเต็งที่ถูกจับจ้องว่า จะโดนเช็คบิล เพราะไม่อาจปฏิเสธได้ว่าพรรคเพื่อไทย ซึ่งมีฐานคนเสื้อแดงคอยสนับสนุน ไม่แฮปปี้ที่ “นิชา” อยู่ในตำแหน่งบริหารสำนักเลขาธิการนายกรัฐมนตรี

มีกระแสข่าวว่า ก่อนที่จะมีมติ ครม. ในวันที่ 26 มี.ค.2567 ที่ผ่านมา “เบอร์หนึ่งตึกไทยคู่ฟ้า” ขอเคลียร์ใจกับ “นิชา” เพื่อหยั่งท่าที มีแนวโน้มฟ้องร้องหรือไม่ หากต้องพ้นเก้าอี้รองเลขาธิการนายกรัฐมนตรี ทั้งคู่ใช้เวลาคุยกันพักใหญ่ ก่อนบทสรุปจบลงที่การปรับย้าย

สำหรับสายบังคับบัญชาภายในสำนักเลขาธิการนายกรัฐมนตรีในขณะนี้ มี “นัทรียา ทวีวงศ์”รองเลขาธิการนายกรัฐมนตรี ฝ่ายบริหาร อาวุโสลำดับที่ 2 และมีการขยับ “ชนิดา เกษมสุข” จากผู้ช่วยเลขาธิการนายกรัฐมนตรี มาเป็นรองเลขาธิการนายกรัฐมนตรี ฝ่ายบริหาร ซึ่ง “ชนิดา” เป็นภรรยาของ ภูมิวิศาล เกษมสุข เลขาธิการ ป.ป.ท. (สำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตในภาครัฐ) 

ขณะเดียวกัน สายสืบทำเนียบรัฐบาล คาดเดาว่าเกมเขี่ย “นิชา” พ้นเก้าอี้ เพราะ “เบอร์หนึ่งตึกไทยคู่ฟ้า” มี “ตัวเต็ง” ในใจอยู่แล้ว ว่าจะเลือกใช้บริการใคร ให้มาดูแลงาน “แม่บ้านทำเนียบรัฐบาล” ในฝ่ายข้าราชการประจำ

ว่ากันว่า “ตัวเต็ง” ที่ได้รับความไว้วางใจให้ทำงานสำคัญ ตั้งแต่ยุครัฐบาลยิ่งลักษณ์ ชินวัตร และสนิทสนมกับคณะทำงานของนายกฯ หญิง มีบทบาทในภารกิจเกี่ยวกับงานต่างประเทศ

หลังการรัฐประหาร 2557 แม้ “ตัวเต็ง”จะถูกมองว่าอยู่ยาก แต่ก็ยังสามารถเอาตัวรอดมาได้ จนช่วงหนึ่งถึงกับทำหน้าที่ไลฟ์สด เป็นพิธีกร และสัมภาษณ์ พล.อ.ประยุทธ์ ในช่วงลงพื้นที่ แม้กระทั่งช่วงปลายรัฐบาลบิ๊กตู่ “ตัวเต็ง”ก็ยังได้รับการโปรโมทให้นั่งเก้าอี้บอร์ดรัฐวิสาหกิจ

ที่สำคัญ ในช่วงที่สำนักโฆษก สำนักนายกรัฐมนตรี มี “ผอ.สำนักโฆษก” คนใหม่ เข้ามาทำหน้าที่ แต่เจ้าตัวก็ยังแทรกคิว มากำกับดูแลเรื่องการประสานสื่อ เพื่อสร้างผลงานอย่างต่อเนื่อง

เมื่อหมดยุค พล.อ.ประยุทธ์ ระหว่างการถ่ายโอนอำนาจสู่รัฐบาลเศรษฐา “ตัวเต็ง”จึงต่อสาย เชื่อมสัมพันธ์กับ “ทีมนายกฯหญิง” ทันที 

โดยในวันที่ “เศรษฐา” รับพระบรมราชโองการโปรดเกล้าฯ แต่งตั้งเป็นนายกรัฐมนตรีคนที่ 30 “ตัวเต็ง”ได้เป็นคนจัดแจงเรื่องพิธีการ สั่งการให้ขนของไปเตรียมไว้ที่พรรคเพื่อไทย

ฉะนั้นการปรับ “นิชา” ออกจากตำแหน่ง จึงเปิดทางให้ “ตัวเต็ง” ได้กลับมาเติบโต ต้องจับตาการปรับทัพ การบริหารภายในสำนักเลขาธิการนายกรัฐมนตรี เพราะมีกระแสข่าวว่า “หมอมิ้ง” นพ.พรหมินทร์ เลิศสุริย์เดช เลขาธิการนายกรัฐมนตรี ต้องการรื้อโครงสร้างใหม่ทั้งหมด

เนื่องจากการทำงานของ “แม่บ้านทำเนียบรัฐบาล” ไม่ตรงเป้าหมายที่วางเอาไว้ หลายภารกิจ-บางงานลับ ยังขับเคลื่อนได้ช้า ติดเงื่อนไขทางราชการ

แต่อีกระแส "ตัวเต็ง" ฝันไกล อยากนั่งเก้าอี้ "ปลัดกระทรวง" ลือกันสนั่นทำเนียบรัฐบาล "สวยเลือกได้" อยากนั่งปลัดกระทรวงไหนแค่บอกมี "บิ๊กเนม" จัดแจงให้ โดยเจ้าตัวโฟกัสไปที่เก้าอี้ ปลัดกระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา และปลัดกระทรวงการต่างประเทศ

ภารกิจของ “ตัวเต็ง” จึงท้าทายตัวเอง เพราะที่ผ่านมา “ข้าราชการทำเนียบรัฐบาล” มีเครื่องหมายคำถาม ถึงการเติบโตในหน้าที่การงานว่าได้มาด้วยฝีมือ หรือได้มาเพราะ “นาย” ไว้ใจ