ศึกพิพาท ‘ส.ป.ก.เขาใหญ่’ พันธกิจ ‘เจ้ากรมแผนที่ทหาร’

ศึกพิพาท ‘ส.ป.ก.เขาใหญ่’ พันธกิจ ‘เจ้ากรมแผนที่ทหาร’

2 เดือนถัดจากนี้ คณะกรรมการวันแมปจะเคาะที่ดินพิพาท ส.ป.ก.เขาใหญ่ อยู่ในความรับผิดชอบ กรมอุทยานฯ หรือ ส.ป.ก. แน่นอนว่า ย่อมมีหนึ่งในสองหน่วยงานถูกดำเนินคดี

KEY

POINTS

 

  • "บิ๊กกองทัพไทย" เรียก "เจ้ากรมแผนที่ทหาร" ติวเข้ม ตั้งรับกลเกมการเมืองและสู้คดีในชั้นศาล
  • ผู้ใหญ่กองบัญชาการกองทัพไทย ต้นสังกัดกรมแผนที่ทหาร พยายามดับไฟความขัดแย้ง ไม่ให้ลามเข้ากองทัพ ด้วยการชงคณะกรรมการวันแมป เสนอยกพื้นที่พิพาทให้อยู่ในความดูแลของกรมอุทยานแห่งชาติ 

2 เดือนถัดจากนี้ คณะกรรมการวันแมปจะเคาะที่ดินพิพาท ส.ป.ก.เขาใหญ่ อยู่ในความรับผิดชอบ กรมอุทยานฯ หรือ ส.ป.ก. แน่นอนว่า ย่อมมีหนึ่งในสองหน่วยงานถูกดำเนินคดี

ความผิดพลาดเดียวของ “กรมแผนที่ทหาร” คือ การชี้ พื้นที่ทับซ้อน หมู่ 10 บ้านเหวปลากั้ง ต.หมูสี อ.ปากช่อง จ.นครราชสีมา ไม่ได้อยู่ในเขตอุทยานแห่งชาติเขาใหญ่ แทนที่จะระบุแค่เพียงเส้นแบ่งเขต ส่งผลให้หน่วยงานกลางกลายเป็นคู่กรณีเสียเอง

“ชัยวัฒน์ ลิ้มลิขิตอักษร” ผู้อำนวยการสำนักอุทยานแห่งชาติ กรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่าและพันธุ์พืช ประกาศไม่ยอมรับแผนที่ วันแมป (One Map) ที่จัดทำโดยกรมแผนที่ทหาร ภายใต้คณะกรรมการการปรับปรุงแผนที่แนวเขตที่ดินของรัฐ ที่มี “สุทิน คลังแสง” รมว.กลาโหม เป็นประธาน

ภายหลัง พล.ท.ชาคร บุญภักดี เจ้ากรมแผนที่ทหาร ทำเอกสารรายงานนายกรัฐมนตรี ลงวันที่ 26 ก.พ.2567 ถึงกรณีแนวเขตข้อพิพาทดังกล่าว โดยแนบสำเนาพระราชกฤษฎีกาและแผนที่ท้ายพระราชกฤษฎีกา กำหนดบริเวณที่ดินป่าเขาใหญ่ พ.ศ.2505 และผลการตรวจสอบแนวเขตที่ดินทับซ้อน บริเวณบ้านเหวปลากั้ง ต.หมูสี อ.ปากช่อง จ.นครราชสีมา ได้ระบุผลการตรวจสอบ พร้อมความเห็นสรุปว่า 

ศึกพิพาท ‘ส.ป.ก.เขาใหญ่’ พันธกิจ ‘เจ้ากรมแผนที่ทหาร’

1.สำรวจหาแนวเขตอุทยานแห่งชาติเขาใหญ่ที่ถูกต้องตามพระราชกฤษฎีกา และแผนที่ท้ายพระราชกฤษฎีกา กำหนดบริเวณที่ดินป่าเขาใหญ่ พ.ศ.2505 เนื่องจากเป็นแนวเขตที่ถูกต้องตามกฎหมาย โดยการเดินสำรวจในภูมิประเทศบริเวณโดยรอบพื้นที่ทับซ้อน ตามข้อมูลการสำรวจแนวเขตที่ระบุไว้ในสมุดบันทึกการรังวัด (Field Book) พ.ศ.2503 และใช้ภาพถ่ายทางอากาศ ตั้งแต่ปี 2496 ถึงปี 2563 และแผนที่ภูมิประเทศมาตราส่วน 1 : 50,000 ตั้งแต่ปี 2505 ถึงปี 2564 ในการตรวจสอบการใช้ประโยชน์ที่ดิน เพื่อประกอบพิจารณาร่วมกับผลการสำรวจหาแนวเขต

2.ผลการตรวจสอบ ทราบแนวเขตอุทยานแห่งชาติเขาใหญ่ พระราชกฤษฎีกา และแผนที่ท้ายพระราชกฤษฎีกา กำหนดบริเวณที่ดินป่าเขาใหญ่ ปี 2505 บริเวณที่ดินทับซ้อน บ้านเหวปลากั้ง ต.หมูสี อ.ปากช่อง จ.นครราชสีมา มีผลให้แปลงปฏิรูปที่ดินของ ส.ป.ก.ไม่ทับซ้อน และอยู่นอกแนวเขตอุทยานแห่งชาติเขาใหญ่

แม้ผู้ใหญ่กองบัญชาการกองทัพไทย ต้นสังกัดกรมแผนที่ทหาร พยายามดับไฟความขัดแย้งไม่ให้ลามเข้ากองทัพ ด้วยการยกหูเคลียร์ผู้ใหญ่กรมอุทยานแห่งชาติฯ หวังยุติปัญหานี้ และเพื่อหาข้อสรุปที่ดี ด้วยการชงคณะกรรมการวันแมปเสนอยกพื้นที่พิพาทให้อยู่ในความดูแลของกรมอุทยานแห่งชาติ 

ทว่า ดูเหมือนปัญหานี้จะอยู่เหนือการควบคุมของ 2 หน่วยงาน และถูกยกระดับเป็นเรื่องการเมือง ว่าด้วยการบริหารงานของ 2 กระทรวง คือ ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม กับกระทรวงเกษตรและสกรณ์  

หลังจาก พล.ต.อ.พัชรวาท  วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี และรมว.ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ไฟเขียว “ชัยวัฒน์”เดินหน้าเต็มสูบ พิสูจน์ข้อเท็จจริงที่ถูกต้องของกรมอุทยานฯ และเอาผิดกับ ส.ป.ก. พร้อมหาความเชื่อมโยงเครือข่ายที่มีส่วนเกี่ยวข้อง ซึ่งครอบคลุมไปถึงกรมแผนที่ทหาร ซึ่งถูกครหานำเอกสารไม่ถูกต้องเสนอนายกรัฐมนตรี

เจ้ากรมแผนที่ทหาร ถูกผู้ใหญ่ในกองทัพไทยเรียกไปติวเข้ม หากอนาคตพื้นที่พิพาท ส.ป.ก.เขาใหญ่ ต้องไปต่อสู้กันในชั้นศาล พร้อมชี้ให้เห็นจุดอ่อนคือหลักหมุดที่กรมแผนที่ทหารกล่าวอ้างหายไปจากพื้นที่ เนื่องจากในอดีต หลักหมุดที่ทำจากไม้ย่อมเสื่อมสภาพไปตามกาลเวลา มีเพียงแผนที่แผ่นเดียว จึงขาดความน่าเชื่อถือ

ส่วนจุดแข็ง คือการชี้แจงในที่ประชุมคณะกรรมาธิการความมั่นคงแห่งรัฐ กิจการชายแดนไทย ยุทธศาสตร์ชาติ และคณะกรรมาธิการที่ดิน ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม สภาผู้แทนราษฎร เมื่อ 27 ก.พ.2567 ที่ผ่านมา “ชัยวัฒน์” ระบุชัดว่า สมุดบันทึกการรังวัดที่กรมแผนที่ทหารกล่าวอ้าง มีความคลาดเคลื่อน

“เป็นหลักฐานชิ้นเดียวที่จะทำให้กรมแผนที่ทหารพ้นผิด ทางเจ้ากรมแผนที่ทหารได้สั่งเก็บหลักฐานมาทั้งหมด เพื่อต่อสู้ในชั้นศาล ทั้งภาพถ่าย สมุดบันทึกการรังวัด บันทึกการประชุม กมธ.ความมั่นคงแห่งรัฐฯ 27 ก.พ.2567 หากคนจด จดผิด กรมแผนที่ทหารก็ไม่ผิด เพราะการดำเนินการทุกอย่าง ทำบนหลักฐานที่เป็นลายลักษณ์อักษร แต่หากจดผิดมาตั้งแต่ต้น สิ่งที่เจ้าหน้าที่ทำกันมาก่อนหน้านี้ก็ผิดกันทั้งประเทศ” แหล่งข่าว จากกรมแผนที่ทหาร ระบุ

นอกจากนี้ ยังมีประเด็น “คอนเนกชัน” แม้เจ้ากรมแผนที่ทหารจะยืนยันกับผู้ใหญ่ในกองทัพไทยว่า ความเป็นนักเรียนเตรียมทหารรุ่น 25 (ตท.25) เพื่อนร่วมรุ่นกับนักการเมือง ไม่เกี่ยวข้องกับที่ดินพิพาท ส.ป.ก.เขาใหญ่ แต่ก็ได้รับคำแนะนำว่า คนบางกลุ่มมีความพยายามเชื่อมโยงให้กลายเป็นประเด็นการเมือง จึงต้องระมัดระวัง

สำหรับความคืบหน้าแก้ปัญหาพิพาทที่ดิน ส.ป.ก.เขาใหญ่ ในการประชุมคณะกรรมการวันแมป ซึ่งมี “สุทิน” นั่งเป็นประธานครั้งล่าสุด กำชับเร่งดำเนินการหาข้อสรุปให้เสร็จภายใน 2 เดือน ว่าพื้นที่ดังกล่าวอยู่ในเขตหน่วยงานใด ผ่าน 3 อนุกรรมการวันแมป

โดยให้อนุกรรมการด้านเทคนิคที่ดูเรื่องแนวเส้น ซึ่งมี “เจ้ากรมแผนที่ทหาร” เป็นประธาน ลงพื้นที่ไปสำรวจ ให้ทำเป็นคณะ มีตัวแทนจากกรมต่างๆ กรมอุทยานฯ ฝ่ายปกครองท้องที่ เพื่อป้องกันข้อครหา และให้ชี้เฉพาะแนวเขตเท่านั้น เพื่อนำมาประกอบการพิจารณาร่วมกันของอนุกรรมการด้านกฎหมาย และอนุกรรมการนโยบายที่ดูเรื่องการเมือง

อีก 2 เดือนถัดจากนี้ คณะกรรมการวันแมปจะเคาะที่ดินพิพาท ส.ป.ก.เขาใหญ่ ว่าเป็นของหน่วยงานใด ระหว่างกรมอุทยานแห่งชาติฯ กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม กับสำนักงานปฏิรูปที่ดินเพื่อการเกษตร (ส.ป.ก.) กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ แน่นอนว่า ย่อมมี 1 ใน 2 หน่วยงานนี้ถูกดำเนินคดี

แต่ที่น่าเห็นใจที่สุด คงไม่พ้น “เจ้ากรมแผนที่ทหาร” เพราะอยู่ท่ามกลางการสะสางปัญหาของ 2 กระทรวง 

คงต้องรอดูว่า “เจ้ากรมแผนที่ทหาร” จะสลัดข้อครหา เพื่อเรียกความเชื่อมั่นว่า กรมแผนที่ทหารเป็นหน่วยงานกลางอย่างแท้จริง ที่จะเข้ามายุติความขัดแย้งที่ดิน ส.ป.ก.เขาใหญ่ ครอบคลุมพื้นที่พิพาททั่วประเทศภายใต้แผนที่วันแมปได้หรือไม่