สส.ก้าวไกล รับหนังสือผู้ประกอบการขายเหล้าเบียร์ ค้านนโยบาย 'ฉลากน่ากลัว'

สส.ก้าวไกล รับหนังสือผู้ประกอบการขายเหล้าเบียร์ ค้านนโยบาย 'ฉลากน่ากลัว'

2 สส.ก้าวไกล 'เท่าพิภพ-สิทธิพล' รับหนังสือผู้ประกอบการเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ ค้าน 'ฉลากน่ากลัว' ฝากรัฐบาลคำนึงผลกระทบต่อผู้ประกอบการ หาสมดุลเรื่องสุขภาพ-การพัฒนาเศรษฐกิจ จับตาร่าง พ.ร.บ.ควบคุมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ กลับเข้าสภาฯ ต้นเดือน มี.ค. หลัง ครม. ขออุ้ม 60 วัน

เมื่อวันที่ 28 ก.พ. 2567 ที่รัฐสภา นายเท่าพิภพ ลิ้มจิตรกร สส.กทม. เขต 24 พรรคก้าวไกล และนายสิทธิพล วิบูลย์ธนากุล สส.บัญชีรายชื่อ พรรคก้าวไกล ในฐานะประธานคณะกรรมาธิการ (กมธ.) การพัฒนาเศรษฐกิจ สภาผู้แทนราษฎร รับหนังสือจากผู้ประกอบการในอุตสาหกรรมสุรา นักวิชาการ สมาคมธุรกิจเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ไทย และผู้ผลิตไวน์ภายในประเทศ แสดงจุดยืนคัดค้านร่าง “ประกาศคณะกรรมการควบคุมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ เรื่อง หลักเกณฑ์ วิธีการและเงื่อนไขเกี่ยวกับบรรจุภัณฑ์ฉลาก พร้อมทั้งข้อความคำเตือน สำหรับเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ที่ผลิตหรือนำเข้า พ.ศ. .....” ที่จะกำหนดให้มีข้อความคำเตือนถึงโทษและพิษภัยของเครื่องดื่มแอลกอฮอล์บนภาชนะบรรจุและหีบห่อบรรจุของเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ โดยปัจจุบันร่างดังกล่าวอยู่ระหว่างรับฟังความเห็น 

นายเท่าพิภพ กล่าวว่า เรื่องนี้เป็นประเด็นสืบเนื่องจากที่ตนโพสต์เฟซบุ๊ก จึงขอขอบคุณสื่อมวลชนที่นำไปขยายต่อ ทำให้ประชาชนได้ส่งเสียง ตนเห็นว่ากรณี ‘ฉลากน่ากลัว’ มีนัยความสำคัญหลายอย่าง ทั้งในแง่ผลกระทบต่อการทำธุรกิจ หรือในมุมการเมือง เกี่ยวกับการบริหารงานของรัฐบาลโดยเฉพาะ รมว.สาธารณสุข ทั้งนี้ ล่าสุดทราบมาว่าสุดท้ายร่างประกาศนี้อาจไม่ผ่าน น่าจะเป็นข่าวดีของคนในวงการอุตสาหกรรมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ 

สส.ก้าวไกล รับหนังสือผู้ประกอบการขายเหล้าเบียร์ ค้านนโยบาย \'ฉลากน่ากลัว\'

นายเท่าพิภพ กล่าวอีกว่า โดยประมาณต้นเดือนมีนาคม จะครบ 2 เดือนที่ร่าง พ.ร.บ.ควบคุมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ที่เคยเข้าสภาฯ และรัฐบาลขออุ้มไป 60 วัน จะกลับเข้าสภาฯ อีกครั้ง ร่างกฎหมายดังกล่าวเกี่ยวข้องโดยตรงกับร่างประกาศฉบับนี้ เพราะเป็นกฎหมายที่ให้อำนาจคณะกรรมการควบคุมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ในการออกประกาศ ซึ่งตนและพรรคก้าวไกลได้เสนอร่างกฎหมายเพื่อยกเลิกคณะกรรมการนี้ จึงขอเชิญชวนให้ประชาชนและสื่อมวลชนติดตามเรื่องนี้ต่อไป

ด้านนายสิทธิพล กล่าวว่า ในฐานะประธาน กมธ.พัฒนาเศรษฐกิจ มีหน้าที่โดยตรงในการตรวจสอบติดตามผลกระทบของนโยบายต่าง ๆ ต่อปากท้องของพี่น้องประชาชนและการพัฒนาเศรษฐกิจ โดยขอฝากไปยังรัฐบาลว่าอุตสาหกรรมเหล้า เบียร์ สุรา เครื่องดื่มแอลกอฮอล์นั้น เป็นอุตสาหกรรมสำคัญของประเทศอย่างน้อยใน 3 มิติ

  • มิติที่หนึ่งคือช่วยสร้างงานสร้างรายได้ให้ประชาชน ไม่ว่าจะเป็นธุรกิจร้านอาหาร ธุรกิจกลางคืน ผู้ประกอบอาชีพต่างๆ การออกนโยบายจึงจำเป็นต้องคำนึงถึงผลกระทบที่จะเกิดขึ้นกับเศรษฐกิจภาพรวมของประเทศ 
  •  
  • มิติที่สองคือผลิตภัณฑ์เหล้า เบียร์ สุรา จำนวนมากเป็นผลิตภัณฑ์ชุมชน ในขณะที่รัฐบาลบอกว่าต้องการกระตุ้นเศรษฐกิจฐานราก การออกนโยบายลักษณะนี้ต้องดูว่ากระทบต่อการพัฒนาเศรษฐกิจในระดับชุมชน เป็นข้อกีดกันทำให้ผู้ประกอบการรายย่อยแข่งขันยากขึ้น นำเสนอสินค้าได้ยากขึ้นหรือไม่
  • มิติที่สาม รัฐบาลชุดนี้บอกว่าให้ความสำคัญกับซอฟต์พาวเวอร์ การมีฉลากแบบนี้ จะเป็นการสื่อสารในลักษณะตรงกันข้ามกับที่รัฐบาลพยายามผลักดันซอฟต์พาวเวอร์หรือไม่ 

ประธาน กมธ.พัฒนาเศรษฐกิจ กล่าวว่า หลังจากนี้จะนำเรื่องเข้าสู่การประชุม กมธ. เรียกหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเพื่อมาให้ข้อมูลและแลกเปลี่ยนทัศนะกับผู้ประกอบการ เชื่อว่าถ้าเรามีเหตุผลที่ดีพอ ทางรัฐบาลก็น่าจะพร้อมรับฟังและนำไปปรับปรุง เพื่อทำให้ข้อบังคับที่จะออกมาสามารถรักษาสมดุลระหว่างการดูแลสุขภาพประชาชน การส่งเสริมผู้ประกอบการ และการคุ้มครองสิทธิของผู้บริโภค