มท.1 ลงนามแล้ว! ร่างกฎหมายคืนปืนเถื่อนแก่ราชการ จ่อชง ครม.ไฟเขียว

มท.1 ลงนามแล้ว! ร่างกฎหมายคืนปืนเถื่อนแก่ราชการ จ่อชง ครม.ไฟเขียว

โฆษก มท.อัปเดตความคืบหน้า พ.ร.ก.เว้นความผิดอาญาผู้นำส่งปืนเถื่อนให้ทางการ หลังรับลูกจาก 'เศรษฐา' เผย 'อนุทิน' ลงนามแล้ว พร้อมชง ครม.ไฟเขียว

เมื่อวันที่ 26 ก.พ. 2567 น.ส.ไตรศุลี ไตรสรณกุล เลขานุการ รมว.มหาดไทยและโฆษกกระทรวงมหาดไทย เปิดเผยว่า กระทรวงมหาดไทยได้ดำเนินการตามข้อสั่งการที่ นายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรีและ รมว.คลังได้ให้กระทรวงมหาดไทยกำหนดมาตรการให้ผู้ครอบครองอาวุธปืนและเครื่องกระสุนปืนผิดกฎหมายนำอาวุธปืนและเครื่องกระสุนปืนมาส่งมอบให้แก่ทางราชการ พร้อมกำหนดยกเว้นความรับผิดทางอาญาให้แก่บุคคลนั้นด้วย เพื่อให้เป็นมาตรการลดจำนวนปืน สิ่งเทียมอาวุธปืนผิดกฎหมายที่มีผู้ใช้ในการก่ออาชญากรรมและความรุนแรงในสังคม

น.ส.ไตรศุลี กล่าวอีกว่า ล่าสุด กระทรวงมหาดไทย ได้ยกร่างพระราชกำหนด (พ.ร.ก.) ยกเว้นความรับผิดทางอาญาให้แก่ผู้นำอาวุธปืน หรือเครื่องกระสุนปืน ที่ไม่ได้รับอนุญาติหรือที่กฎหมายห้ามออกใบอนุญาต หรือสิ่งเทียมอาวุธมามอบให้แก่ทางราชการ พ.ศ....  พร้อมกับยกร่างหลักเกณฑ์และวิธีการในการส่งมอบ การรับมอบ การเก็บรักษา และการทำลายอาวุธปืนที่ได้มีการนำมาคืนดังกล่าวเสร็จเรียบร้อยแล้ว และนายนายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรีและ รมว.มหาดไทย ลงนามในร่าง พ.ร.ก. และ ร่างหลักเกณฑ์ดังกล่าวแล้ว ขณะนี้อยู่ระหว่างการนำเสนอให้สำนักเลขาธิการคณะรัฐมนตรี (สลค.) นำบรรจุเป็นวาระเสนอให้ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) พิจารณาอนุมัติและดำเนินการตามขั้นตอนทางกฎหมายเพื่อมีผลบังคับต่อไป

น.ส.ไตรศุลี กล่าวด้วยว่า ที่รัฐบาลและกระทรวงมหาดไทยได้มีมาตรการทางกฎหมายดังกล่าว เนื่องด้วยปัจจุบันได้เกิดกรณีการประทุษร้ายทำลายชีวิตและทรัพย์สินของประชาชนที่ปรากฎขึ้นจำนวนมาก ซึ่งสถิติปี 2559-66 พบว่าอาวุธปืนที่ใช้ก่อเหตุอาชญากรรมนั้น ร้อยละ 83 เป็นอาวุธปืนผิดกฎหมาย ขณะที่สิ่งเทียมอาวุธปืนซึ่งดัดแปลงเป็นอาวุธปืนได้เพิ่มจำนวนมากขึ้นจากการลักลอบทำ ดัดแปลง สั่ง นำเข้า ค้า ทั้งช่องทางปกติและช่องทางออนไลน์ ซึ่งเพียงการการจับกุมปราบปรามไม่สามารถแก้ไขปัญหาได้ทั้งหมด จำเป็นต้องมีหลายมาตรการควบคู่กัน เพื่อเร่งลดผลกระทบต่อทางสังคมจากปัญหาอาวุธปืน ทั้งทางด้านความเชื่อมั่นความปลอดภัยสาธารณะ ความสงบเรียบร้อย ความมั่นคง ทางเศรษฐกิจ การท่องเที่ยว และการลงทุน

“การควบคุมอาวุธปืน และสิ่งเทียมอาวุธปืนให้มีจำนวนลดน้อยลง ถือเป็นกรณีฉุกเฉิน จำเป็นเร่งด่วนที่ต้องเร่งดำเนินการเพื่อประโยชน์ในอันที่จะรักษาความปลอดภัยของประเทศและความปลอดภัยสาธารณะ ซึ่งการออก พ.ร.ก.ยกเว้นความรับผิดทางอาญาให้แก่ผู้นำอาวุธปืน หรือสิ่งเทียมอาวุธที่ไม่ได้รับอนุญาตมาส่งมอบให้ทางราชการในเวลาที่กำหนด พร้อมกำหนดเกณฑ์การส่งมอบ การเก็บรักษา การทำลายอาวุธปืนดังกล่าว จะเป็นมาตรการที่จะช่วยให้มีการลดจำนวนอาวุธปืนในระบบลงได้ในเวลาอันสั้น” น.ส.ไตรศุลี กล่าว