สว.คว่ำ 'ธิติ แสงสว่าง' นั่งป.ป.ช. เหตุขาดคุณสมบัติ รับราชการต่ำกว่า'อธิบดี'

สว.คว่ำ 'ธิติ แสงสว่าง' นั่งป.ป.ช. เหตุขาดคุณสมบัติ รับราชการต่ำกว่า'อธิบดี'

มติที่ประชุมวุฒิสภา โหวตคว่ำ "พล.ต.ท.ธิติ แสงสว่าง" นั่งป.ป.ช. เหตุขาดคุณสมบัติ รับราชการต่ำกว่าตำแหน่ง "อธิบดี"

ที่รัฐสภา มีการประชุมวุฒิสภา มีพล.อ.สิงห์ศึก สิงห์ไพร รองประธานวุฒิสภา ทำหน้าที่ประธานการประชุม เพื่อพิจารณาให้ความเห็นชอบพล.ต.ท.ธิติ แสงสว่าง ผบช.น. ให้ดำรงตำแหน่งกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ(ป.ป.ช.)ตามที่คณะกรรมาธิการสามัญเพื่อทำหน้าที่ตรวจสอบประวัติ ความประพฤติและพฤติกรรมทางจริยธรรมของบุคคลที่ได้รับการเสนอชื่อให้ดำรงตำแหน่งป.ป.ช. ได้พิจารณาเสร็จเรียบร้อยแล้ว ก่อนส่งให้ที่ประชุมวุฒิสภาลงมติจะให้ความเห็นชอบหรือไม่

โดยเป็นการประชุมลับใช้เวลานาน 4ชั่วโมง ที่ประชุมถกเถียงปัญหาขาดคุณสมบัติการเป็นผู้ได้รับการสรรหาเป็นป.ป.ช.ของพล.ต.ท.ธิติ อย่างเข้มข้น เพราะมาตรา9 วรรค2 พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต พ.ศ.2561 ระบุว่า

ต้องรับราชการหรือเคยรับราชการในตำแหน่งไม่ต่ำกว่าอธิบดี หรือหัวหน้าส่วนราชการที่เทียบเท่าไม่น้อยกว่า 5ปี แต่ตำแหน่งผบช.น.นั้น สว.หลายคนเห็นว่า ไม่สามารถเทียบเท่าได้กับตำแหน่งอธิบดี

ทั้งนี้แม้จะอ้างพ.ร.บ.หลักเกณฑ์การเทียบตำแหน่งหัวหน้าส่วนราชการที่เทียบเท่าอธิบดี พ.ศ.2562 และระเบียบก.ตร. ว่าด้วยหลักเกณฑ์การเทียบตำแหน่งหัวหน้าส่วนราชการในสังกัดสำนักงานตำรวจแห่งชาติที่เทียบเท่าอธิบดี พ.ศ.2563 ให้ตำแหน่งผบช.น.สามารถเทียบเท่าอธิบดีได้นั้น แต่สว.หลายคนเห็นว่า พ.ร.บ.และระเบียบก.ตร.ดังกล่าวใช้บังคับแค่หน่วยงานตำรวจหรือทหาร ไม่ครอบคลุมถึงองค์กรอิสระ หลังเสร็จสิ้นการประชุมลับ

ที่ประชุมลงมติไม่เห็นชอบพล.ต.ท.ธิติดำรงตำแหน่งป.ป.ช.ด้วยคะแนน 88ต่อ80 ไม่ออกเสียง30 ถือว่าไม่ได้รับความเห็นชอบจากวุฒิสภา เพราะได้คะแนนเสียงเห็นชอบน้อยกว่ากึ่งหนึ่งของจำนวนสว.ที่มีอยู่หรือ 125เสียง

ขณะที่ ในการประชุมวุฒิสภา ในวันพรุ่งนี้ (20 ก.พ.) ยังวาระสำคัญในการพิจารณาให้ความเห็นชอบบุคคล ผู้ได้รับการเสนอชื่อให้ดำรงตำแหน่งกรรมการ ป.ป.ช. ตามพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต มาตรา 14 แทน นายณัฐจักร ปัทมสิงห์ ณ อยุธยา อดีต กรรมการ ป.ป.ช. ที่พ้นจากตำแหน่งเนื่องจากมีอายุครบ 70 ปีบริบูรณ์ ได้แก่ นายภัทรศักดิ์ วรรณแสง ผู้พิพากษาอาวุโสในศาลฎีกา ในฐานะอดีตรองประธานศาลฎีกา ระหว่าง 1 ตุลาคม 2565 - 30 กันยายน 2566 ซึ่งการพิจารณา และการลงมติ จะดำเนินในแบบลับ