‘จรัญ’ ยันศาล รธน.ทำคดีเป็นกลาง ชี้สู้แบบนิติสงคราม ดีกว่ารบกันกลางเมือง

‘จรัญ’ ยันศาล รธน.ทำคดีเป็นกลาง ชี้สู้แบบนิติสงคราม ดีกว่ารบกันกลางเมือง

สว.จัดสัมมนาความสำคัญของศาล รธน.-องค์กรอิสระต่อประชาชน ‘จรัญ’ ยันทำเพื่อผลประโยชน์ชาติ พิจารณาคดีด้วยความเป็นกลาง รับเคยถูกข่มขู่อย่างหนัก ไม่รับประกันความปลอดภัย หลังจากสั่งยุบพรรคการเมือง ชี้การต่อสู้แบบนิติสงคราม ยังดีกว่าเกิดสงครามกลางเมือง

เมื่อวันที่ 16 ก.พ. 2567 ที่โรงแรมเซ็นทรา บาย เซ็นทารา ศูนย์ราชการและคอนเวนชันเซ็นเตอร์ ถนนแจ้งวัฒนะ คณะ กมธ.กิจการองค์กรอิสระตามรัฐธรรมนูญ วุฒิสภา (สว.) จัดสัมมนาหัวข้อ “ศาลรัฐธรรมนูญและองค์กรอิสระตามรัฐธรรมนูญ มีความสำคัญต่อประเทศและประชาชนอย่างไร”  โดยงานเริ่มตั้งแต่ 08.30-16.00 น. มีอดีตตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ และผู้ดำรงตำแหน่งในองค์กรอิสระเข้าร่วมงานอย่างคึกคัก อาทิ นายจรัญ ภักดีธนากุล อดีตตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ นายอิทธิพร บุญประคอง ประธาน กกต. และ พล.ต.อ.วัรชพล ประสารราชกิจ ประธานกรรมการ ป.ป.ช. เป็นต้น 

โดยนายจรัญ กล่าวเสวนาตอนหนึ่งว่า ประโยชน์ความสำคัญของศาลรัฐธรรมนูญ หรือองค์กรอิสระ คือ เวลาที่มีความขัดแย้งเรื่องใหญ่โดยเฉพาะในทางการเมือง ในทางรัฐธรรมนูญ ช่วงที่ตนอยู่ในศาลรัฐธรรมนูญ ต้องตัดสินคดี ขัดแย้งทางการเมืองที่มีเดิมพันสูงมาก ไม่ใช่ว่าเราอยากจะให้มีเดิมพันเยอะ ๆ แต่เพราะรัฐธรรมนูญบัญญัติไว้ ให้ฝ่ายที่แพ้สูญสิ้นเลย ยุบพรรคการเมือง ตัดสิทธิคณะกรรมการของพรรคการเมือง พอคดีมาสู่ศาลรัฐธรรมนูญ เราก็ต้องทำตามกฎหมาย ไม่เคยนึกว่ามันจะยิ่งใหญ่  มันจะมีพลังตีกลับมากขนาดนั้น ช่วงนั้นมีคนเชิญตนไปร่วมงานที่บางจังหวัด ถูกประกาศสาธารณะอย่าไปเด็ดขาด ไม่รับรองความปลอดภัย สะเทือนใจมาก ทำไมเขาจึงได้โกรธแค้นชิงชังเราได้ถึงขนาดนั้น

นายจรัญ กล่าวอีกว่า แต่ก็ต้องยืนยันว่าศาลต้องทำตามกฎหมาย และทำเพื่อประโยชน์ของประเทศชาติและประชาชน ทำให้อดทนทำหน้าที่โดยไม่หวั่นไหว อย่างไรก็ตามผู้ที่ถูกศาลวินิจฉัยตัดสินก็ต้องยอมรับ หาข้อบกพร่องของตัวเอง แล้วแก้ไขเพื่อให้ชนะการเลือกตั้งครั้งต่อไป ไม่ใช่การปลุกประชาชนลงถนน ด่าบนโลกออนไลน์ จึงต้องมีองค์กรตุลาการที่มีความเป็นกลาง เป็นอิสระจากความขัดแย้งทางการเมือง จากผลประโยชน์ในระบบทุนที่แฝงอยู่ใต้ระบบการเมืองไทย เพื่อเป็นหลักประกันว่าเป็นระบบงานยุติธรรมที่มีคุณภาพมาตรฐาน ขอเพียงอย่างเดียวขอให้ยอมรับคำตัดสินสุดท้ายของฝ่ายตุลาการ

“นั่นเป็นความสัมพันธ์ที่ต้องมีระบบงานยุติธรรม ทางรัฐธรรมนูญ เพื่อให้ความขัดแย้งทางการเมือง เคลื่อนตัวกันไปต่อสู้เป็นนิติสงคราม ดีกว่าสงครามกลางเมือง ดีกว่าสงครามที่ปลุกระดม ก่นด่ากันทางสื่อออนไลน์ นั่นอันตราย นั่นคือยาพิษที่ฝังลงไป สงครามสื่อก็อันตรายไม่น้อยกว่า สงครามบนท้องถนน สงครามระหว่างประชาชนคนไทยด้วยกัน แต่สงครามทางกฎหมายกระบวนการยุติธรรมที่มีกฎหมายวางขั้นตอนเอาไว้ชัดเจน มีบุคลากรจะต้องรับผิดชอบ ทำหน้าที่และในที่สุดก็ให้แพ้ชนะกันในทางคดีแล้วจบ ฝ่ายที่แพ้ก็ให้มีสปิริตเหมือนกับเล่นกีฬา” นายจรัญ กล่าว

นายจรัญ กล่าวอีกว่า บางครั้งนักการเมืองผู้ใหญ่ในบางช่วงยังบอกเลย ภาวะเหมือนทำให้ผู้ได้รับการเลือกตั้งตรงจากประชาชนเหมือนเป็นทาส ระบบรัฐสภา ถือว่าทรงอำนาจสูงสุดของประชาชนในแผ่นดิน ที่เราจะเอาแบบของสหราชอาณาจักรมา มันไม่จริง มันกลายเป็นสภาฯทาส อยู่ในกำมือของพรรคการเมือง สส.สมัครอิสระไม่ได้ และสส.หากแหวกมติพรรคก็ไม่ได้ ไม่ราบรื่น กรรมการบริหาร ผู้ใหญ่คุมพรรค และไปเป็นฝ่ายบริหาร แล้วใครคุมพรรคอีกเบื้องหลัง ระบบรัฐสภาไทย อำนาจรวมศูนย์อยู่กับฝ่ายบริหาร  มีองคาพยพข้าราชการประจำเป็นเหมือนกองกำลัง กองทัพ เมื่อฝ่ายบริหาร รวมตลอดตั้งแต่ข้างล่าง ขึ้นไปจนถึงบริหารสูงสุด ไม่อยู่ในร่องในรอย ไม่ตรงไปตรงมา ไม่จงรักภักดีต่อประเทศชาติ  ศาสนา พระมหากษัตริย์ และระบบการปกครองของประเทศเรา ใครจะกำกับดูแลได้ ถ้าสมมติระบบนี้ถูกยกเลิกหมด นั่นคือการถอยหลังเข้าคลองกลับไปสู่ยุคก่อน 2540  

นายจรัญ กล่าวด้วยว่า ในรัฐธรรมนูญปี 2560 ได้เพิ่มเรื่องฝ่าฝืนมาตรฐานจริยธรรมอย่างร้ายแรงให้เป็นหน้าที่ของป.ป.ช.สอบ นี่จึงเป็นระบบตรวจสอบที่มีคุณภาพ ขององค์กรอิสระตามรัฐธรรมนูญ60 และสุดท้ายต้องมาจบที่องค์กรตุลาการ กระบวณการยุติธรรม ซึ่งเราอุตส่าห์ทุ่มเทสร้างก็อาจจะมีผิดเพี้ยนบ้างเป็นรายบุคคล แต่โดยรวมแล้วเป็นระบบงานที่มีประโยชน์ต่อประเทศชาติอย่างยิ่ง โดยเฉพาะฝ่ายข้างน้อยทางการเมืองไม่มีทางเอาชนะได้ในระบบรัฐสภาก็ทำให้มีช่องทางนั่นคือ มาทางระบบตรวจสอบผ่านมาทางศาลรัฐธรรมนูญ แต่ปัญหาไม่ได้อยู่ที่ศาลรัฐธรรมนูญ แต่อยู่ที่การมีระบบตุลาการที่มีความเป็นกลางความเป็นอิสระจากความขัดแย้งทางการเมือง เพื่อเป็นตัวรับประกันว่าเป็นระบบงานด้านความยุติธรรมอย่างมีคุณภาพ แต่ขอให้ยอมรับอารยธรรมและการตัดสินของฝ่ายตุลาการ ถ้าตุลาการทุจริตไม่อยู่ในร่องในรอย เช็คบิลตุลาการคนนั้นให้มีโทษถึงประหารนั่นก็ไม่ได้ดูรุนแรงเกินไป

“แต่ถ้าเขาไม่ได้มีพฤติกรรมอย่างนั้น ขอยอมรับคำวินิจฉัยของศาล เหมือนที่อารยธรรมในระบบการปกครองเสรีประชาธิปไตย ที่เราต้องยอมรับผลการเลือกตั้ง แล้วมาแก้ปัญหากันหลังจากนั้น อย่าได้ทำแบบในบางประเทศมหาอำนาจผู้นำทางระบบประชาธิปไตยโลก อ้างตัวเองเป็นผู้นำทางเสรีประชาธิปไตย สั่งสมอารยธรรมนี้มา 200 กว่าปี แต่แล้วก็ถูกเหยียบย่ำทำลายเมื่อ 4 ปีที่ผ่านมา อย่างไรแล้วให้ฝ่ายข้างน้อยได้มีทางออก ขอให้สิทธิเสรีภาพของประชาชนได้มีผู้ดูแล ปัญหาทุจริตคอรัปชั่นของประเทศต้องสามารถป้องกันปราบปรามได้ดีขึ้นและอย่าให้ประชาชนต้องแตกสามัคคีกลายเป็นศัตรูกันโดยที่ไม่เคยรู้จักกันมาก่อน” นายจรัญ กล่าว