ยก 2 คำร้อง‘ทักษิณ’ พ้นบ่วง ป.ป.ช. ลุ้นวิบากคดีสุดท้าย ม.112

ยก 2 คำร้อง‘ทักษิณ’ พ้นบ่วง ป.ป.ช. ลุ้นวิบากคดีสุดท้าย ม.112

ทั้งหมดคือเส้นทางคดีความของ“ทักษิณ” ก่อนจะเผชิญวิบากกรรม“ครั้งสุดท้าย”ในคดี ม.112 จะพ้นบ่วง ได้รับอิสรภาพ หรือโดนเพิ่มโทษ ต้องกลับเข้าเรือนจำ

KeyPoints

  • ฉากทัศน์การเมืองไทยต้นปี 2567 ลุกเป็นไฟอีกครั้ง เมื่อ "ทักษิณ ชินวัตร" ตัวละครสำคัญในหน้าประวัติศาสตร์กำลังจะได้รับ "อิสรภาพ" ถูก "พักโทษ"
  • เขากลับเข้าไทยเมื่อปลายเดือน ส.ค. 2566 ถูกศาลพิพากษาจำคุก 3 คดีทุจริต ได้รับพระราชทานอภัยลดโทษเหลือจำคุก 1 ปี
  • ปัจจุบันจำคุกมาแล้ว 6 เดือน จึงเข้าข่ายหลักเกณฑ์ได้รับการพักโทษ เนื่องจากอายุเกิน 70 ปี และมีอาการเจ็บป่วย ตามคำอธิบายของกรมราชทัณฑ์
  • ที่ผ่านมา "ทักษิณ" มีสารพัดคดียาวเป็นหางว่าวในชั้นองค์กรอิสระ-ศาล แต่ขณะนี้ไม่เหลือคดีความใด ๆ โดยเฉพาะคดีทุจริตที่มีชื่อเขาเป็นผู้ถูกกล่าวหาอีกต่อไปแล้ว
  • เหลือแค่คดี ม.112 ที่อยู่ระหว่างการชี้ขาดของ อสส.ว่าจะสั่งฟ้องหรือไม่ เป็นชนักปักหลังสุดท้าย จับตา 18 ก.พ.จะถูกอายัดตัว หรือได้ประกันออกมา

เป็นอันว่า “ทักษิณ ชินวัตร” อดีตนายกรัฐมนตรี 2 สมัย หนึ่งในผู้มากบารมีแวดวงการเมืองไทย กำลังจะได้รับ “อิสรภาพ” อีกครั้ง พลันที่เขาได้รับการอนุมัติให้ “พักโทษ” ภายหลังรับโทษจำคุก 3 คดีทุจริตมาแล้วไม่ต่ำกว่า 6 เดือน เป็นไปตามหลักเกณฑ์ของกรมราชทัณฑ์

เบื้องต้น “ครอบครัวชินวัตร” เตรียม “บ้านจันทร์ส่องหล้า” เป็นสถานที่ “พักโทษ” ของ “ทักษิณ” ตามคำยืนยันของลูกสาว “อุ๊งอิ๊งแพทองธาร ชินวัตร หัวหน้าพรรคเพื่อไทย

ขณะที่ “พ.ต.อ.ทวี สอดส่อง” รมว.ยุติธรรม ให้สัมภาษณ์ยืนยันว่า การประชุมเมื่อวันที่ 13 ก.พ.2567 คณะกรรมการพักโทษพิจารณา จำนวน 945 คน มีการอนุมัติจำนวน 930 คน หนึ่งในนั้นมีชื่อ “ทักษิณ” ด้วย 

โดยคณะกรรมการพักโทษได้พิจารณาเห็นชอบตามที่อธิบดีกรมราชทัณฑ์เสนอมา เนื่องจากเกณฑ์ของ “ทักษิณ” เข้าข่ายเจ็บป่วยร้ายแรง หรือพิการ หรืออายุ 70 ปีขึ้นไป ส่วนจะได้ออกมาในวันที่ 18 ก.พ.หรือไม่ ต้องรอดู

เนื่องจากปัจจุบัน“ทักษิณ”เหลือคดีความค้างอยู่เพียง 1 คดี คือกรณีถูกกล่าวหาว่า ให้สัมภาษณ์สื่อต่างประเทศที่เกาหลีใต้ เมื่อปี 2552 เข้าข่ายหมิ่นสถาบันฯตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112 ซึ่งเรื่องนี้อัยการสูงสุดกำลังพิจารณาสำนวนว่า จะสั่งฟ้องหรือไม่ และเตรียมทำหนังสือขออายัดตัว หาก “ทักษิณ”ได้รับการพักโทษจริง 

ขณะที่ทักษิณยังยืนกรานปฏิเสธ พร้อมทำหนังสือร้องขอความเป็นธรรมเพื่อขอต่อสู้คดี ดังนั้นต้องรอดูว่าอดีตนายกฯ จะได้รับการปล่อยตัวชั่วคราวในคดีนี้หรือไม่ หลังได้รับการพักโทษจากคดีทุจริตข้างต้นแล้ว

ส่วน 2 คดีในชั้นการไต่สวนของคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) ก่อนหน้านี้ที่มีการขุดคุ้ยขึ้นมาคือ    

1.กรณี “ทักษิณ” กับพวกถูกร้องเรียนกล่าวหา เมื่อครั้งดำรงตำแหน่งรองผู้อำนวยการศูนย์ปราบปรามแร่เถื่อน ในประเด็นลงพื้นที่ตรวจสอบการลักลอบทำเหมืองแร่ดีบุก ที่ จ.พังงา ปัจจุบันคดีอยู่ระหว่างการตรวจสอบข้อเท็จจริงเบื้องต้น ยังไม่มีการตั้งคณะอนุกรรมการไต่สวน

2.กรณี “ทักษิณ” กับพวก ถูกร้องเรียนกล่าวหา ประเด็นอนุมัติให้บริษัท ท่าอากาศยานไทย จำกัด (มหาชน) หรือ ทอท.สนับสนุนบริษัท แอร์เอเชีย จำกัด (มหาชน) ให้เข้ามาทำธุรกิจสายการบินต้นทุนต่ำ ในขณะที่กลุ่มชินคอร์ปถือหุ้นในแอร์เอเชียอยู่ 51% ซึ่ง ทอท.มีการแก้ไขข้อบังคับหลายกรณี เพื่อเอื้อให้แอร์เอเชียทำธุรกิจ รวมทั้งยกเส้นทางการบินบางเส้นทางของการบินไทยให้แอร์เอเชียด้วย โดย ทอท.ขณะนั้นมี สมชาย วงศ์สวัสดิ์ น้องเขยทักษิณ เป็นบอร์ดอยู่ด้วย ปัจจุบัน ป.ป.ช.มีการตั้งคณะอนุกรรมการไต่สวนคดีนี้แล้ว ยังอยู่ระหว่างไต่สวนข้อเท็จจริง

ล่าสุด ทั้ง 2 คดีดังกล่าว ป.ป.ช.มีมติ“ยกคำร้อง”ไปทั้งหมดแล้ว เนื่องจากไม่พบพยานหลักฐานว่า “ทักษิณ”มีส่วนเกี่ยวข้องกับข้อกล่าวหา

เท่ากับว่า หาก “ทักษิณ”ต่อสู้คดี ม.112 จนชนะ จะรอดพ้นบ่วงทุกคดีความ รอพ้นโทษ 3 คดีทุจริตข้างต้นที่ศาลฎีกามีคำพิพากษาถึงที่สุดไปอีกไม่กี่เดือนข้างหน้าเท่านั้น

ต้องไม่ลืมที่ผ่านมา “ทักษิณ” เผชิญอุปสรรคขวากหนามทางคดีจำนวนมาก หากคัดมาเฉพาะคดีหลักๆ แบ่งออกเป็น คดีทุจริตที่ถูกศาลพิพากษาจำคุก 3 คดี คือ 

1.คดีทุจริตโครงการออกสลากพิเศษ แบบเลขท้าย 3 ตัว 2 ตัว ของสำนักงานสลากกินแบ่งรัฐบาล หรือที่เรียกกันโดยทั่วไปว่า คดีหวยบนดิน ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 157 ศาลพิจารณาแล้วเห็นว่า การสั่งการของจำเลยที่ 1 (ทักษิณ) ไม่ชอบด้วยกฎหมาย และจริยธรรมของผู้ดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรี ดังนั้นเงินที่จ่ายเกินไปกว่ารายได้ของการจำหน่ายสลากจึงถือว่าก่อให้เกิดผลขาดทุนแก่รัฐ

2.คดีสั่งการให้ธนาคารเพื่อการส่งออก และนำเข้าแห่งประเทศไทย (Exim Bank) อนุมัติเงินกู้สินเชื่อ 4,000 ล้านบาท แก่รัฐบาล

สหภาพพม่า(เมียนมา) ศาลฎีกาฯ ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 152 (เดิม) ศาลพิจารณาแล้วเห็นว่า กรณีทักษิณ สั่งการให้ธนาคารเพื่อการส่งออก และนำเข้าแห่งประเทศไทย (Exim Bank) อนุมัติเงินกู้สินเชื่อจำนวน 4,000 ล้านบาท แก่รัฐบาลสหภาพพม่า โดยมีอัตราดอกเบี้ยต่ำกว่าต้นทุน เพื่อนำเงินกู้ดังกล่าวไปใช้ในการซื้อสินค้า และบริการของบริษัท ชินแซทเทลไลท์ จำกัด (มหาชน) เป็นการเอื้อประโยชน์แก่ตนเองหรือผู้อื่น

3.คดีให้บุคคลอื่น(นอมินี)ถือหุ้นบริษัทชิน คอร์ปอเรชั่น จำกัด(มหาชน)แทน โดยบริษัท ชินคอร์ป เป็นคู่สัญญาต่อหน่วยงานของรัฐ และเข้าไปมีส่วนได้เสีย เพื่อประโยชน์สำหรับตนเองหรือผู้อื่นในกิจการโทรคมนาคม 

ศาลพิจารณาแล้วเห็นว่า นายทักษิณ ดำเนินการดังกล่าวเพื่อเอื้อประโยชน์ให้แก่ บริษัท แอดวานซ์ อินโฟร์ เซอร์วิส จำกัด (มหาชน) หรือเอไอเอส ซึ่งได้รับสัมปทานดำเนินกิจการโทรศัพท์เคลื่อนที่จากองค์การโทรศัพท์แห่งประเทศไทย (ทศท. ชื่อขณะนั้น) และบริษัท ดิจิตอลโฟน จำกัด หรือบริษัท ดีพีซี ได้รับสัมปทานดำเนินกิจการโทรศัพท์เคลื่อนที่จากการสื่อสารแห่งประเทศไทย (กสท. ชื่อขณะนั้น) 

โดยทั้ง 2 บริษัทเป็นบริษัทในเครือของบริษัท ชินคอร์ป ซึ่งจำเลยเป็นผู้ถือหุ้นรายใหญ่ ให้ทั้ง 2 บริษัทได้รับคืนเงินภาษีสรรพสามิตที่ชำระแล้ว โดยมีสิทธินำไปหักออกจากค่าสัมปทานที่ต้องนำส่งให้ ทศท. และ กสท. เป็นผลให้ ทศท. และ กสท. ได้รับความเสียหาย

ทั้ง 3 คดีดังกล่าวคือชนวนเหตุสำคัญที่เมื่อ “ทักษิณ” กลับไทย ได้รับคำพิพากษาจากศาลจำคุก 8 ปี ก่อนได้รับพระราชทานอภัยลดโทษเหลือ 1 ปี

ก่อนหน้านี้ มี 2 คดีที่ถูก “ยกฟ้อง” ได้แก่ 1.คดีกล่าวหาว่า อนุมัติให้กระทรวงการคลังเข้าไปบริหารจัดการแผนฟื้นฟูกิจการ บริษัท อุตสาหกรรมปิโตรเคมีกัลไทย จำกัด (มหาชน) หรือ TPI คดีดังกล่าวศาลฎีกาฯ ได้ยกฟ้อง ต่อมาคณะกรรมการ ป.ป.ช. ที่เป็นโจทก์ยื่นอุทธรณ์ต่อที่ประชุมใหญ่ศาลฎีกา โดยองค์คณะวินิจฉัยอุทธรณ์ ที่ประชุมใหญ่ศาลฎีกา พิพากษายื่นยกฟ้องตามเดิม

2.คดีธนาคารกรุงไทยปล่อยกู้สินเชื่อเครือกฤษดามหานคร กว่าหมื่นล้านบาทโดยทุจริต โดยศาลฎีกาฯ พิพากษายกฟ้องทักษิณ จำเลยที่ 1 โดยเห็นว่า คำว่า ‘ซูเปอร์บอส’ หรือ ‘บิ๊กบอส’ ที่ถูกอ้างว่าเป็นผู้สั่งการ ไม่สามารถพิสูจน์ได้ว่าคือ ทักษิณ

อีกหนึ่งคดีที่หมดอายุความไปแล้ว โดยเป็น “คดีแรก” ที่ศาลมีคำพิพากษา และเป็นชนวนเหตุให้เขาต้องหลบหนีไปต่างประเทศกว่า 15 ปีก่อนกลับเข้าไทยเมื่อปี 2566 คือ คดีทุจริตการจัดซื้อที่ดินย่านรัชดาภิเษก ที่มีการกล่าวหาคุณหญิงพจมาน ชินวัตร (ภรรยาทักษิณ และนามสกุลขณะนั้น) และทักษิณ ในการซื้อที่ดินจำนวน 33 ไร่ 78 ตารางวา ราคา 772 ล้านบาท จากกองทุนเพื่อการฟื้นฟูและพัฒนาสถาบันระบบการเงิน ธนาคารแห่งประเทศไทย เมื่อวันที่ 21 ต.ค.2551

โดยก่อนศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง จะพิพากษาคดีดังกล่าว ทักษิณ ได้เดินทางออกนอกประเทศ โดยอ้างว่าไปดูการแข่งขันโอลิมปิกที่ประเทศจีน และหลบหนีไม่มาฟังคำพิพากษาแต่อย่างใด ทำให้ศาลฎีกาฯ อ่านคำพิพากษาลับหลัง จำคุกทักษิณ 2 ปี และยกฟ้องคุณหญิงพจมาน

ทั้งหมดคือเส้นทางคดีความของ“ทักษิณ” ก่อนจะเผชิญวิบากกรรม“ครั้งสุดท้าย”ในคดี ม.112 จะพ้นบ่วง ได้รับอิสรภาพ หรือโดนเพิ่มโทษ ต้องกลับเข้าเรือนจำ