สภาวิชาชีพข่าววิทยุฯ - สมาคมนักข่าววิทยุฯ ออกแถลงการณ์ กรณีจับนักข่าว ช่างภาพ

สภาวิชาชีพข่าววิทยุฯ - สมาคมนักข่าววิทยุฯ ออกแถลงการณ์ กรณีจับนักข่าว ช่างภาพ

สภาวิชาชีพข่าววิทยุฯ-สมาคมนักข่าววิทยุฯ ออกแถลงการณ์ กรณีจับนักข่าว-ช่างภาพ ระบุข้อห่วงใยที่อาจเข้าข่ายคุกคามและละเมิดสิทธิเสรีภาพ ในการปฏิบัติหน้าที่ และนำเสนอข้อมูลข่าวสารของสื่อมวลชน

เมื่อวันที่ 13 กุมภาพันธ์ 2567 สภาวิชาชีพข่าววิทยุและโทรทัศน์ไทย และสมาคมนักข่าววิทยุและโทรทัศน์ไทย ออกแถลงการณ์ ข้อห่วงใยในการจับกุมนักข่าวและช่างภาพ ที่อาจเข้าข่ายคุกคามและละเมิดสิทธิเสรีภาพในการปฏิบัติหน้าที่ และนำเสนอข้อมูลข่าวสารของสื่อมวลชน ระบุว่า

ตามที่ เจ้าหน้าที่ตำรวจ สน.พระราชวัง ได้นำเนินการจับกุม นายณัฐพล เมฆโสภณ ผู้สื่อข่าวประชาไท และนายณัฐพล พันธ์พงษ์สานนท์ ช่างภาพอิสระ เมื่อวันที่ 12 ก.พ.2567 ตามหมายจับของศาลอาญา ลงวันที่ 22 พ.ค.2566 ว่า เป็นผู้สนับสนุนให้มีการกระทำผิดตาม พ.ร.บ.โบราณสถาน กับ พ.ร.บ.ความสะอาด จากการไปปฏิบัติหน้าที่และรายงานข่าวถ่ายภาพบุคคลที่กำลังพ่นสีเขียนข้อความที่กำแพงวัดพระแก้วในวันที่ 28 มี.ค.2566

ด้วยข้อหา “เป็นผู้สนับสนุน ทำให้เสียหาย ทำลาย ทำให้เสื่อมค่า หรือทำให้ไร้ประโยชน์ซึ่งโบราณสถาน ขีดเยียน พ่นสี หรือทำให้ปรากฏด้วยประการใด ๆ ซึ่งด้วยข้อความภาพ หรือรูปรอยใดๆ ที่กำแพงที่พื้นถนน หรืออยู่ในที่สาธารณะ” นั้น

องค์กรวิชาชีพสื่อมวลชน ประกอบด้วย สภาวิชาชีพข่าววิทยุและโทรทัศน์ไทย และสมาคมนักข่าววิทยุและโทรทัศน์ไทย ขอแสดงความห่วงใยในการกระทำดังกล่าวของเจ้าหน้าที่ตำรวจซึ่งอาจเข้าข่ายคุกคามและละเมิดสิทธิเสรีภาพ ในนำเสนอข้อมูลข่าวสารของสื่อมวลชนที่ได้รับการรับรองในรัฐธรรมนูญ

การตั้งข้อกล่าวหา ยื่นต่อศาลในการออกหมายจับกุม และอายัดตัวไว้ในข้อกล่าวหาที่ไม่ได้มีโทษทางอาญาร้ายแรง อาจเป็นการกระทำการที่เกินสมควรแก่เหตุ ทั้งนี้สื่อมวลชนมีหน้าที่รายงานข่าวสารตามข้อเท็จจริงที่ปรากฎในเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น มิใช่คู่ขัดแย้งหรือเป็นผู้ยุยงส่งเสริมให้กระทำการใด

แม้กรณีดังกล่าวจะมีการสืบสวนในด้านที่ว่ามีการนัดหมายหรือไม่ก็ตาม แต่ในกระบวนการทำงานข่าว เป็นเรื่องจำเป็นที่สื่อมวลชนต้องพบปะหารือพูดคุย หรือสอบถามความคิดเห็นจากแหล่งข่าว เพื่อนำมาเสนออย่างถูกต้องครบถ้วนรอบด้าน การได้รับความน่าเชื่อถือของสื่อมวลชนจึงมาจากผลงานที่ปรากฎว่าเป็นไปเพื่อประโยชน์สาธารณะหรือไม่

สภาวิชาชีพข่าววิทยุและโทรทัศน์ไทย และสมาคมนักข่าววิทยุและโทรทัศน์ไทย จึงขอแสดงความห่วงใยในการปฏิบัติหน้าที่ ของเจ้าหน้าที่ตำรวจ ในการจับกุมนักข่าว และช่างภาพ ดังกล่าวข้างต้น ที่เป็นการกระทำการเกินสมควรแก่เหตุ และขอให้ดำเนินการทางคดีไปด้วยความเป็นธรรมอย่างเสมอภาคบนหลักแห่งสิทธิมนุษยชนและบทบัญญัติแห่งรัฐธรรมนูญ

ทั้งนี้เพื่อไม่เป็นเหตุให้นำไปสู่การสร้างกระแสที่ก่อให้เกิดการสร้างความเกลียดชังในประเด็นที่อ่อนไหวของคนในสังคม

สภาวิชาชีพข่าววิทยุฯ - สมาคมนักข่าววิทยุฯ ออกแถลงการณ์ กรณีจับนักข่าว ช่างภาพ