บทเรียนพท.‘หมากสภาสูง’ ‘วาระแฝง’กับดักรัฐบาล?

บทเรียนพท.‘หมากสภาสูง’   ‘วาระแฝง’กับดักรัฐบาล?

7ประเด็นซักฟอก จับสัญญาณสภาสูง ที่แม้จะไม่มีพิษมีภัยถึงขั้นล้มรัฐบาล แต่ก็ใช่ว่าจะประมาทได้ เพราะการวางเกมทั้งหมดทั้งมวลต้องขึ้นที่ “ผู้คุมเกมตัวจริง”

KeyPoints:

  • “7ประเด็น”ซักฟอกรัฐบาลส.ว.เฉลยข้อสอบมาตั้งแต่ไก่โห่ จับตา25มี.ค. เกมซ่อนเงื่อนหรือแค่การละคร
  • สัญญาณสภาสูง ที่แม้จะไม่มีพิษมีภัยถึงขั้นล้มรัฐบาล แต่ก็ใช่ว่าจะประมาทได้ เพราะการวางเกมทั้งหมดทั้งมวลต้องขึ้นที่ “ผู้คุมเกมตัวจริง”
  • ในยามที่“ผู้คุมเกม”  อาจกำลังหวาดระแวง “นายใหญ่” ค่ายเพื่อไทย ที่กำลังออกสู่หน้าฉาก แถมเดือนพ.ค. ส.ว.จะครบวาระ  จากที่จับมือ “สมประโยชน์” ทางดุลอำนาจร่วมกัน ถึงเวลาก็อาจแปลเปลี่ยนไปได้

 

จับสัญญาณสภาสูงเปิดเกม “ทิ้งทวน” ก่อนครบวาระเดือนพ.ค. นี้ ด้วยการงัดบทบัญญัติมาตรา153 แห่งรัฐธรรมนูญ ยื่นญัติเปิดอภิปรายทั่วไปโดยไม่ลงมติ เป็นครั้งที่5ในรอบ37ปีนับตั้งแต่รัฐธรรมนูญ2540 และเป็นการอภิปรายในรอบ11ปีนับตั้งแต่การอภิปรายครั้งล่าสุดในรัฐบาลยิ่งลักษณ์ ชินวัตร  ในเดือนต.ค.2556

“7ประเด็น”ซักฟอกที่ส.ว.เฉลยข้อสอบมาตั้งแต่ไก่โห่ ประกอบด้วย 

1.ปัญหาเศรษฐกิจและปัญหาปากท้องประชาชน อาทิ การสร้างงานสร้างอาชีพและรายได้ ที่ยั่งยืนให้ประชาชน รวมถึงการแก้ปัญหาความยากจนที่ตั้งคำถามถึงแนวทางการทำงานของรัฐบาลอย่างเป็นรูปธรรม , สภาพปัญหาการทำนโยบายเติมเงิน 10,000 บาท ผ่านดิจิทัลวอลเล็ต ที่ชอบด้วยกฎหมายไม่สร้างภาระหนี้ให้ประชาชน , การแก้หนี้นอกระบบ ที่ไม่ได้มุ่งแก้ปัญหาต้นตอในระดับครัวเรือน, การฟื้นตัวของอุตสาหกรรมประมง, การสร้างรายได้จากทรัพยากรธรรมชาติ

2.ปัญหาด้านกระบวนการยุติธรรมและการบังคับใช้กฎหมาย อาทิ การปฏิบัติต่อผู้ต้องขังตามคำพิพากษาที่สะท้อนกระบวนการยุติธรรมสองมาตรฐาน, การทุจริตคอร์รัปชั่น ยาเสพติด, การลักลอบนำเข้าสินค้าปศุสัตว์, การเปลี่ยน ส.ป.ก.เป็นที่ดินเพื่อเกษตรกรที่เอื้อประโยชน์ให้นายทุน จะรับมืออย่างไร

3. ปัญหาด้านพลังงานอาทิ การจัดการราคา ค่าไฟฟ้า ก๊าซหุงต้มและน้ำมัน ปัญหกลุ่มทุนพลังงานที่มีอิทธิพลต่อการเมืองส่งผลให้ประชาชนแบกรับภาระต้นทุนราคาเชื้อเพลิง ปัญหาพื้นที่ทับซ้อนทางทะเลกับประเทศเพื่อนบ้าน

4.ปัญหการศึกษาและสังคม อาทิ กาปฏิรูปการศึกษา ผ่านร่างพระราชบัญญัติการศึกษาแห่งชาติ, การแก้ปัญหาหนี้สินครู การจัดหลักสูตรการศึกษาให้ประชาชนเข้าใจในการปกครองในระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข ปัญหาการดูแลผู้สูงวัย ผู้พิการ และผู้ด้อยโอกาส

5.ปัญหาการต่างประเทศและท่องเที่ยว อาทิ ปัญหาจีนเทาที่กระทบต่อความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ, การไม่เลือกข้างความขัดแย้งของรัรฐบาลา, มาตรการคุ้มครองความปลอดภัยให้นักท่องเที่ยว

6.ปัญหาแก้รัฐธรรมนูญในประเด็นความชัดเจนในต้องการคำอธิบายการดำเนินการ ที่เป็นไปโดยชอบด้วยกฎหมาย เพื่อประโยชน์ประชาชนและพัฒนาประเทศ

7. ปัญหาการปฏิรูปประเทศ แนวทางของรัฐบาลต่อการดำเนนิการตามแผนการปฏิรูปประเทศ

จริงอยู่การยื่นญัตติตามมาตราดังกล่าว เป็นไปเพื่อให้เพื่อให้คณะรัฐมนตรีแถลงข้อเท็จจริงหรือชี้แจงปัญหาสำคัญเกี่ยวกับการบริหารราชการแผ่นดินโดย “ไม่มีการลงมติ” ฉะนั้นในระยะหวังผลคงไม่มีพิษมีภัยไปถึงขั้นล้มรัฐบาลได้

มุมหนึ่งอาจมองว่า การยื่นซักฟอกรอบนี้เป็นเพียง “พิธีกรรม” ในการสร้างเกมต่อรอง หวังโชว์ผลงานเข้าตา “นาย”  เปิดทางสู่การดำรงตำแหน่งแห่งหนต่างๆ ภายหลังพ้นตำแหน่ง โดยเฉพาะบรรดา “บอร์ด” หรือ “ซูเปอร์บอร์ด” ที่อาจเป็นเป้าหมายปลายทางกลุ่มก๊วนนายพล เพื่อใช้ต่อยอดการเมืองหลังจากนี้ 

แต่หากอ่านเกมลึกไปก่วานั้น แม้รัฐบาลจะยอมไฟเขียวเปิดสังเวียนซักฟอกในวันที่25มี.ค.นี้ หลังถูกค่อนแคะจากสภาสูง “ปากกล้าขาสั่น” พร้อมถูกตรวจสอบแต่กลับเล่นเกมเตะถ่วงประวิงเวลาหวังรอส.ว.ครบวาระ 

แต่ลึกๆแล้วพรรคแกนนำอย่างเพื่อไทยย่อมรู้ดีถึงสัญญาณสภาสูง ที่แม้จะไม่มีพิษมีภัยถึงขั้นล้มรัฐบาล แต่ก็ใช่ว่าจะประมาทได้ เพราะการวางเกมทั้งหมดทั้งมวลต้องขึ้นที่ “ผู้คุมเกมตัวจริง”

ตัวอย่างก็มีให้เห็นมาแล้วในวันโหวตเลือกนายกฯ ครั้งล่าสุดซึ่งมาการส่งสัญญาณไปยังสภาสูงจนกระทั่งนาทีสุดท้ายก่อนโหวต ทำให้ “ดีลพลิกขั้ว”  ถูกปิดลง “เศรษฐา ทวีสิน” ได้เป็นนายกฯคนที่30 สมใจ

ยิ่งในยามที่“ผู้คุมเกม”  อาจกำลังหวาดระแวง “นายใหญ่” ค่ายเพื่อไทย ที่กำลังออกสู่หน้าฉาก แถมเดือนพ.ค. ส.ว.จะครบวาระ นั่นหมายความว่า จะไม่มีหมากส.ว.มาเป็นเงื่อนไขอีกต่อไป จากที่จับมือ “สมประโยชน์” ทางดุลอำนาจร่วมกัน ถึงเวลาก็อาจแปลเปลี่ยนไปได้

เช่นนี้จึงไม่แปลกหากผู้คุมเกม จะใช้ “หมากสภาสูง” ในการวางกับดัก หวังสร้างอำนาจต่อรองไม่ให้อีกฝั่งออกนอกเกมดุลอำนาจ โดยเฉพาะการหยิบปมร้อนอย่าง “ดิจิทัลวอลเล็ต” ซึ่งถือเป็นเรือธงพรรคเพื่อไทย ซ้ำเวลานี้ทิ้งไว้ซึ่งคำถามว่าจะกลายเป็นเผือกร้อนไปให้สุดแล้วหยุดที่ศาลหรือไม่ เป็นหนึ่งในประเด็นอภิปราย

“พรรคเพื่อไทย” ก็มีตัวอย่างมาแล้วในสมัยรัฐบาลยิ่งลักษณ์ ชินวัตร ในห้วงที่ฝุ่นควันการเมืองกำลังครุกรุ่น โดยเฉพาะ“นโยบายจำนำข้าว” ของพรรคเพื่อไทยถูกนำมาเป็นประเด็นขยายผลทางการเมือง 

ไม่ต่างจากสภาสูงเวลานั้นที่หยิบประเด็นจำนำข้าวของพรรคเพื่อไทยมาเป็นประเด็นขยายผลในเวทีสภาถึง2ครั้ง2ครา 

ครั้งแรกวันที่ 23 พ.ย.2555 ขยี้ซ้ำอีกครั้งในเดือนต.ค. 2556

ผลในการอภิปรายทั้ง2ครั้ง แม้จะไม่สามารถสั่นคลอนเสถียรภาพของรัฐบาลยิ่งลักษณ์ได้ แต่ก็นำมาสู่การขยายผลต่อ ทั้งในกมธ.ศึกษา ตรวจสอบเรื่องทุจริตและเสริมสร้างธรรมาภิบาลวุฒิสภา จนกระทั่งมีการหยิบไปเป็นประเด็นการยื่นต่อคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ(ป.ป.ช.)ตรวจสอบในท้ายที่สุด

เช่นนี้ต้องจับตาในยามที่การเมืองวนลูปเพื่อไทยกลับมาเป็นรัฐบาล  เกม“สภาสูง” ที่ถูกกำหนดเกมโดย “บุคคลหลังม่าน”  ย่อมกลายเป็นหมากสำคัญอีกหนึ่งตัวที่ถูกนำมาใช้ในเกมดุลอำนาจเป็นได้