ถกกมธ.นิรโทษกรรมฯ นัดแรก'ชูศักดิ์'ย้ำ ม.112 ต้องฟังความเห็นรอบด้าน

ถกกมธ.นิรโทษกรรมฯ  นัดแรก'ชูศักดิ์'ย้ำ ม.112 ต้องฟังความเห็นรอบด้าน

"ชูศักดิ์" เผยถก "กมธ.นิรโทษกรรมฯ" นัดแรก ย้ำ ต้องฟังความเห็นรอบด้าน จ่อเชิญ "คณิต-โคทม" ร่วมหารือครั้งต่อไป มอง อาจศึกษาจากเรื่องเก่า ไม่จำเป็นต้องตั้งอนุฯ ด้าน"ยุทธพร" ชี้มาตรา112ต้องพูดคุยอย่างมีวุฒิภาวะ

ที่รัฐสภา นายชูศักดิ์ ศิรินิล สส.บัญชีรายชื่อ และรองหัวหน้าพรรคเพื่อไทย ในฐานะประธานคณะกรรมาธิการวิสามัญพิจารณาศึกษาแนวทางการตราพระราชบัญญัตินิรโทษกรรม กล่าวภายหลังการประชุม กมธ.นิรโทษกรรมฯ นัดแรก ถือเป็นนิมิตรหมายที่ดี ซึ่งในท้ายที่สุดจะมีกฏหมายนิรโทษกรรมออกมาบังคับใช้หรือไม่ ว่า วันนี้เป็นการประชุมครั้งแรก เพื่อเลือกตั้งตำแหน่งต่างๆ ตนจึงเสนอว่าเราควรมีกรอบการทำงาน ว่าเรามุ่งหวังให้ไปถึงจุดไหน อย่างไร มีวิธีการทำอย่างไร แต่ก่อนจะถึงจุดนั้น ในการประชุมครั้งหน้าจะเชิญผู้ทรงคุณวุฒิทั้งหลาย เคยมีประสบการณ์ในการทำนิรโทษกรรม และความปรองดองมาให้ความคิดเห็นก่อน ว่าควรจะทำอย่างไร อาทิ ศาสตราจารย์ ดร.คณิต ณ นคร ที่ปรึกษาคณะนิติศาสตร์ปรีดีพนมยงค์ รองศาสตราจารย์ ดร.โคทม อารียา ที่ปรึกษาสถาบันสิทธิมนุษยชนและสันติศึกษา มาให้ความรู้จากประสบการณ์ เพราะบุคคลเหล่านี้มีการศึกษาเรื่องนิรโทษกรรมมาพอสมควรแล้ว

ส่วนกรอบการทำงานของ กมธ.จะไปถึงจุดไหนนั้น จะมีการคุยรายละเอียดกันครั้งหน้า ซึ่งเมื่อฟังการอภิปรายในการประชุมสภา ดูเหมือนพรรคการเมืองทั้งหลาย อยากให้มีการนิรโทษกรรม เพื่อให้นำไปสู่ความปรองดองของคนในชาติ บางพรรคเสนอเป็นกฎหมายมาแล้วด้วยซ้ำ

แต่ปัญหาใหญ่ที่ กมธ.ต้องถกคิด คือจะนิรโทษกรรมให้ครอบคลุมเพียงใด เป็นสิ่งที่สังคม และพรรคการเมือง กำลังโต้เถียงอยู่ในขณะนี้ กมธ.คงต้องไปศึกษาว่าจะครอบคลุมการกระทำอะไร เวลาใด บุคคลใด ซึ่งจะมีการหารือกัน ว่าหากท้ายที่สุดเห็นควรว่าจะนิรโทษกรรม เราจะไปถึงขั้นยกร่างหรือไม่ เพราะหน้าที่ของเรา คือการศึกษาการตรากฎหมายนิรโทษกรรม เพราะเป็นประเด็นที่เป็นหัวใจจะต้องมีการถามให้รอบคอบ จะได้ร่วมแรงร่วมใจกันทำงานให้สำเร็จ

ส่วนแนวทางการพิจารณานิรโทษกรรม ให้แก่ผู้ที่มีความเห็นต่าง และอาจนำไปสู่การนิรโทษกรรมผู้ต้องโทษตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 112 นั้น ต้องฟังความคิดเห็นกัน อย่าไปด่วนสรุปว่าจะมีหรือไม่มีอะไร ต้องดูรอบด้าน อย่าไปถึงขั้นฟันธงเลย

สำหรับการตั้งคณะกรรมการเพื่อพิจารณาว่าเรื่องใดบ้างควรได้รับการนิรโทษกรรมนั้น ส่วนตัวคิดว่า เรื่องนี้มีการศึกษามาพอควรแล้ว หลายๆ คนก็เคยทำไว้ กมธ.อาจจะสามารถศึกษาจากเรื่องเก่าได้เลย ไม่จำเป็นจะต้องไปตั้งคณะอนุกรรมการชุดใด

  • ม.112 พูดคุยอย่างมีวุฒิภาวะ

ด้านยุทธพร อิสรชัย อดีตรองอธิการบดี มหาวิทยาลัยสุโขทัยธรรมาธิราช ในฐานะกรรมการและที่ปรึกษากมธ.กล่าวว่า กฎหมายคือเรื่องปลายทาง แต่เรื่องที่สำคัญที่สุด คือกระบวนการที่ต้องสร้างความไว้วางใจให้เกิดขึ้น ตลอดระยะเวลา 20 ปีที่ผ่านมา เราพูดถึงเรื่องการสร้างความปรองดอง และความสมานฉันท์มามากมาย แต่ปรากฏว่า ยังไม่เคยเห็นอะไรที่เป็นภาพเป็นผลชัดเจน

เพราะฉะนั้น จะต้องเริ่มต้นด้วยหลักอธิปไตยแบบปรึกษาหารือ เรามีคำตอบล่วงหน้าแล้ว จะแก้หรือไม่แก้เรื่องใด อยากให้มีหน้าตาของกฎหมายแบบไหน ตรงนี้ไม่ใช่ปัจจัยแห่งความสำเร็จแน่นอน

ส่วนจะรวมการนิรโทษกรรมคดีความผิดตามกฏหมายอาญามาตรา 112 ด้วยหรือไม่นั้น นายยุทธพร กล่าวว่า ประเด็นเรื่อง ม.112 เป็นประเด็นที่มีความสำคัญประการหนึ่ง เพราะในระยะระยะเวลาที่ผ่านมามีบุคคลที่ต้องคดีเหล่านี้เป็นจำนวนมาก มีกระบวนการในการใช้กฎหมายให้กลายเป็นการเมือง จึงต้องพูดคุยกันอย่างมีวุฒิภาวะ มีการเปิดพื้นที่ในการรับฟังทุกฝ่าย ทั้งประชาชน และฝ่ายการเมือง หรือแม้กระทั่งการหยิบยกคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญมาประกอบในการพิจารณาด้วย เพราะฉะนั้น การพูด และมองอย่างรอบด้านในประเด็นนี้ จะต้องหาข้อสรุปที่ทุกฝ่ายยอมรับร่วมกัน เพื่อให้สามารถคลี่คลายปมแห่งความขัดแย้งสำคัญตรงนี้ได้พอสมควร

“ผมยังเชื่อมั่น ว่าการเปิดพื้นที่ทางการเมืองในครั้งนี้ เป็นการพูดถึงกฎหมายนิรโทษกรรมในสมัย และบรรยากาศที่มีความเป็นประชาธิปไตย ซึ่งเป็นการเปิดให้คนทุกกลุ่ม ร่วมกันแสดงความคิดเห็นได้อย่างกว้างขวาง อย่างมีวุฒิภาวะ“ นาย ยุทธพร กล่าวทิ้งท้าย