แกนนำอดีต อนค.อุทธรณ์สู้คดีแฟลชม็อบ เทียบคดีปิดสนามบินม็อบ พธม.โดนแค่ปรับ

แกนนำอดีต อนค.อุทธรณ์สู้คดีแฟลชม็อบ เทียบคดีปิดสนามบินม็อบ พธม.โดนแค่ปรับ

แกนนำอนาคตใหม่ อุทธรณ์สู้ต่อ คดีแฟลชม็อบสกายวอล์คปทุมวันปี 62 'ปิยบุตร' เทียบกับคดีปิดสนามบินม็อบพันธมิตรฯ มีผลกระทบมากกว่ายังโดนแค่ปรับคนละ 2 หมื่น แต่ตัวเองดันโดนคุก 4 เดือน ชง 'ก้าวไกล' แก้กฎหมายให้เหมาะสม 'พิธา' ชี้มีประเด็นชุมนุมใกล้เขตพระราชฐาน วัดจากจุดไหน

เมื่อวันที่ 5 ก.พ. 2567 ที่ศาลแขวงปทุมวัน ผู้สื่อข่าวรายงานภายหลังศาลพิพากษาจำคุก 4 เดือน ปรับ 10,200 บาท จำเลย 8 คน แต่รอลงอาญา 2 ปี ในความผิดตาม พ.ร.บ. การชุมนุมสาธารณะฯ จากการร่วมชุมนุมแฟลชม็อบ บริเวณสกายวอล์กสี่แยกปทุมวัน หน้าหอศิลปวัฒนธรรมกรุงเทพมหานคร เมื่อวันที่ 14 ธ.ค.2562 โดยจำเลย 8 รายประกอบด้วย  น.ส.ณัฏฐา มหัทธนา, นายพริษฐ์ ชีวารักษ์, นายธนวัฒน์ วงค์ไชย, นายธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ, นายปิยบุตร แสงกนกกุล, น.ส.พรรณิการ์ วานิช, นายพิธา ลิ้มเจริญรัตน์ และนายไพรัฏฐโชติก์ จันทรขจร นั้น

นายปิยบุตร แสงกนกกุล อดีตเลขาธิการพรรคอนาคตใหม่ ปัจจุบันเป็นเลขาธิการคณะก้าวหน้า ให้สัมภาษณ์ว่า คดีนี้มีหลายประเด็นในการยื่นอุทธรณ์ต่อ  พร้อมเทียบเคียงกับคดีปิดสนามบินของกลุ่มพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย มีผลกระทบจำนวนมาก และเป็นความผิดชัดเจน แต่ศาลพิจารณาสั่งปรับคนละ 20,000 บาท

นายปิยบุตร กล่าวว่า คดีการชุมนุมแฟลชม็อบ เป็นการชุมนุมใช้ระยะเวลาไม่นาน หลังเลิกชุมนุมก็มีการช่วยกันเก็บขยะ ศาลใช้ระยะเวลาอ่านคำพิพากษานานกว่าการชุมนุมดังกล่าว สุดท้ายถูกจำคุกถึง 4 เดือน ปรับ 10,200 บาท เป็นเหตุผลที่จะต้องอุทธรณ์คดีเพื่อให้ศาลสูงพิจารณา ส่วนเรื่องความไม่เหมาะสมของกฎหมายก็อยากจะฝากให้พรรคก้าวไกลไปพิจารณาแก้ไขในสภาต่อไป

ส่วนนายพิธา ลิ้มเจริญรัตน์ สส.บัญชีรายชื่อ ประธานที่ปรึกษาหัวหน้าพรรคก้าวไกล กล่าวว่า จากการหารือกับจำเลยคนอื่น ว่า จะ ต้องยื่นอุทธรณ์คดีเพราะมีประเด็น ข้อเท็จจริงเรื่องของระยะของการชุมนุมใกล้เขตพระราชฐานว่า อาจจะมีความคลาดเคลื่อนของ 150 เมตรว่าวัดจากจุดไหน เพื่อให้เป็นบรรทัดฐานกับคดีอื่ นๆ  โดยการที่ศาลตัดสินในลักษณะนี้ ไม่ทำให้พรรคก้าวไกลเสียเครดิตทางการเมือง เนื่องจากประชาชนมีความเข้าใจในข้อเท็จจริง อยากโฟกัสเรื่องงานเพราะสัปดาห์หน้าจะไปสภาอภิปรายเรื่องของปัญหาการประมง

ขณะที่นายกฤษฎางค์ นุตจรัส ทนายความศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชน ในฐานะทนายความฝั่งจำเลย กล่าวว่า จำเลยยังติดใจในประเด็นเรื่องของระยะ 150 เมตรของเขตมาตรฐานว่าวัดจากจุดไหน ซึ่งพฤติการณ์ดังกล่าว มีการเทียบเคียงกับคดีอื่น ที่มีการชุมนุมสถานที่เดียวกัน จุดเดียวกัน ซึ่งศาลอาญากรุงเทพใต้ เคยมีคำพิพากษายกฟ้อง ข้อหาชุมนุมใกล้เขตพระราชฐานในระยะ 150 เมตร ทั้งที่เป็นการชุมนุมจุดเดียว อีกทั้งในประเด็นเรื่องของการไม่แจ้งการชุมนุมต่อเจ้าพนักงานเจ้าหน้าที่ ศาลแขวงจังหวัดเชียงราย เคยมีคำวินิจฉัยว่าไม่จำเป็นต้องขออนุญาต เพียงแต่ต้องแจ้งพนักงานสอบสวนให้ทราบเท่านั้น แต่หากมีการโพสต์ผ่านสื่อโซเชียลมีเดียก็ถือว่าเจ้าหน้าที่รับรู้แล้ว

นายกฤษฎางค์ กล่าวอีกว่า คดีนี้ตำรวจรับรู้ตั้งแต่วันที่ 13 ธันวาคม 2562 แล้วว่ามีการชุมนุม เนื่องจากจำเลยมีการโพสต์ผ่านสื่อสังคมออนไลน์ และความคิดเห็นส่วนตัวในฐานะทนาย คิดว่าจำเลยควรที่จะอุทธรณ์คดี เรื่องนี้ไม่ต้องการเอาชนะ แต่ต้องการความจริง ตนเคารพคำพิพากษาศาล แต่เคารพข้อเท็จจริงมากกว่า ส่วนอัยการจะอุทธรณ์ขอให้ลงโทษสถานหนักกว่าเดิมหรือไม่ ต้องถามทางอัยการ