‘พัชรวาท’ เล็งชง ‘ครม.’ วางบทลงโทษ ผู้ก่อ ‘PM2.5’ เร่ง ป้องกันหมอกควันข้ามแดน

‘พัชรวาท’ เล็งชง ‘ครม.’ วางบทลงโทษ ผู้ก่อ ‘PM2.5’ เร่ง ป้องกันหมอกควันข้ามแดน

“พัชรวาท” เล็งหารือ “ครม.” เสนอมาตรการกำหนดบทลงโทษเข้ม ผูัก่อให้เกิดปัญหา “PM 2.5” ก่อน “ฮุน มาเนต” เยือนไทย พบ “เศรษฐา” 7ก.พ.นี้ เร่ง วางแนวทางป้องกันหมอกควันข้ามแดน

พล.ต.อ.พัชรวาท วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี และ รมว.ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม (ทส.)  กล่าวถึงสถานการณ์ฝุ่นพิษ PM 2.5 ในพื้นที่ 20 จังหวัดภาคตะวันออกเฉียงเหนือ มีค่าฝุ่นเกินเกณฑ์มาตรฐานในระดับสีส้มที่เริ่มมีผลกระทบต่อสุขภาพและระบบทางเดินหายใจ ว่า  กรมควบคุมมลพิษ (คพ.) ยังคงติดตามสถานการณ์อย่างใกล้ชิด  พร้อมประสานการขยายพื้นที่ปฏิบัติการฝนหลวงไปยังภาคตะวันออกเฉียงเหนือ เพื่อบรรเทาสถานการณ์ฝุ่นละอองและลดผลกระทบต่อประชาชน โดยเฉพาะในพื้นที่จังหวัดอุบลราชธานี จังหวัดศรีสะเกษ จังหวัดสุรินทร์ และจังหวัดบุรีรัมย์ ที่มีแนวใกล้กับกัมพูชา โดยวันนี้ตนมีภารกิจปล่อยนกกระเรียนที่จังหวัดบุรีรัมย์ ซึ่งระหว่างนั่งเฮลิคอปเตอร์มาได้สังเกตเรื่องการเผา พบว่ามีจำนวนลดลง แต่ยังมีอยู่บ้าง ซึ่งต้องขอบคุณประชาชนที่ได้ให้ความร่วมมือในส่วนนี้ด้วย 

ขณะเดียวกัน ยังได้เร่งเดินหน้าแก้ไขปัญหาและวางแนวทางการป้องกันปัญหาหมอกควันข้ามพรมแดนระหว่างไทย - กัมพูชา ที่ผ่านมาสองฝ่ายแสดงความยินดีที่ได้พูดคุยกันเพื่อร่วมมือแก้ไขปัญหา และให้ความสำคัญต่อสิ่งแวดล้อมและการมีอากาศที่สะอาดอย่างยั่งยืน ผ่านคณะทำงานร่วมระหว่างกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมของไทยกับกระทรวงสิ่งแวดล้อมของกัมพูชา อาทิ การแลกเปลี่ยนข้อมูลจุดความร้อน และการพัฒนาศักยภาพเครื่องมือและอุปกรณ์ การดับเพลิงและการจัดการด้านการเกษตร รวมไปถึงการแลกเปลี่ยนองค์ความรู้ต่างๆ  

 

ทั้งนี้ ก่อนที่ พล.อ.ฮุน มาเนต นายกรัฐมนตรีกัมพูชา จะเดินทางมาเยือนไทยในวันที่ 7 ก.พ.นี้ ในการประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) วันที่ 6 ก.พ. กระทรวงทรัพยากรฯ จะเสนอมาตรการต่างๆ รวมถึงการกำหนดบทลงโทษสำหรับผู้กระทำความผิด เข้าหารือในที่ประชุม ครม. และจะรายงานผลการดำเนิน 11 มาตรการเร่งด่วน ในการแก้ไขปัญหาฝุ่น PM 2.5 ที่ผ่านมา อาทิ การเตรียมความพร้อมการควบคุมพื้นที่เสี่ยงต่อการเผาใน11 ป่าอนุรักษ์ 10 ป่าสงวนแห่งชาติ โดยจัดทำแผนบริหารจัดการเชื้อเพลิงในพื้นที่ป่า จัดระเบียบควบคุมผู้เข้าใช้ประโยชน์พื้นที่ การเตรียมความพร้อมการกำหนดเงื่อนไขการอนุญาตการเผาและการบริหารจัดการการเผาในพื้นที่เกษตร โดยสร้างการมีส่วนร่วมกับประชาชนในพื้นที่ การนำระบบการรับรองผลผลิตทางการเกษตรแบบไม่เผา (GAP PM2.5 Free) มาใช้กับการปลูกอ้อย ข้าว ข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ มาตรการไม่รับอ้อยไฟไหม้เข้าหีบ เป็นต้น

ส่วนการหารือกับระหว่างนายกฯไทยกับนายกฯกัมพูชา จะเสนอให้หยิบยกหารือขอความร่วมมือควบคุมการเผา เพื่อลดการสร้างฝุ่น PM 2.5 ของทั้ง 2 ประเทศ และไทยพร้อมสนับสนุนกัมพูชาในทุกช่องทางเพื่อแก้ปัญหาร่วมกัน ยืนยันว่ารัฐบาลเร่งเดินหน้าคืนอากาศสะอาดให้กับประชาชนในทุกมิติ