'ศิริกัญญา' มองตั้งอนุงบฯ หวังเอื้อเจ้ากระทรวง ไม่กังวล 'ตบทรัพย์'

'ศิริกัญญา' มองตั้งอนุงบฯ หวังเอื้อเจ้ากระทรวง ไม่กังวล 'ตบทรัพย์'

"ศิริกัญญา" เผย ไม่อยากตีตนไปก่อนไข้ หลังตั้งอนุกมธ.ตามรายกระทรวง หวังป้องงบเจ้ากระทรวง ชี้ แต่แบ่งแบบนี้สะดวกข้าราชการ ไม่กังวล เรียกตบทรัพย์

ที่รัฐสภา น.ส.ศิริกัญญา ตันสกุล สส.บัญชีรายชื่อ พรรคก้าวไกล (ก.ก.) ในฐานะคณะกรรมาธิการ (กมธ.) วิสามัญพิจารณาร่างพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) งบประมาณรายจ่ายประจำ ปีงบประมาณพ.ศ. 2567 สภาผู้แทนราษฎร ให้สัมภาษณ์ถึงการตั้งอนุกรรมาธิการทั้ง 9 คณะ ว่า ปีนี้เป็นปีที่มีความแตกต่างจากเดิมที่เราจะพิจารณาแต่ละรายการ หรือตามรายการว่าเราซื้ออะไร เช่น อนุครุภัณฑ์ อนุสิ่งปลูกสร้าง

แต่ปีนี้เราเริ่มจากการที่อยากให้ตั้งอนุตาม ยุทธศาสตร์การจัดสรรงบประมาณไปจนถึงยุทธศาสตร์ชาติ ซึ่งเราต้องดูว่ามีความสอดคล้องกันในเชิงยุทธศาสตร์อย่างไร จึงอยากให้มีการพิจารณาในชั้นอนุกมธ.ตามแผนงานต่างๆ แต่สุดท้ายก็มีการแบ่งตามรายกระทรวง โดยวิธีการแบ่งตอนแรกเราคาดว่าน่าจะแบ่งตามด้าน เช่น ด้านเศรษฐกิจ ด้านสังคม ด้านความมั่นคง 

น.ส.ศิริกัญญา กล่าวต่อว่า เมื่อแบ่งออกมาจริงๆ แล้ว ก็ทำให้มีความเข้าใจได้ว่าแบ่งตามพรรคการเมืองที่เป็นเจ้าของกระทรวงนั้น แม้กระทรวงการคลังหรือกระทรวงพาณิชย์จะแปะอยู่กับพรรคอื่นบ้าง แต่โดยเนื้อแล้วกระทรวงการคลังและกระทรวงพาณิชย์มีงบประมาณน้อยมาก จึงชวนคิดได้ว่ากลุ่มเศรษฐกิจ 1 ที่เป็นเรื่องของพาณิชย์ เกษตรฯ ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม เป็นต้น ก็พอเดาได้ว่าเป็นพรรคอะไร

ส่วนเศรษฐกิจ 2 ก็จะเป็นเรื่องของคลัง อุตสาหกรรม พลังงาน ซึ่งก็สามารถเดาได้อีกเช่นกันว่าเป็นพรรคอะไร และเมื่อวานนี้ (1 กุมภาพันธ์) ตนได้ตั้งข้อสังเกตไว้ว่าอยากให้ตั้งตามยุทธศาสตร์มากกว่า แต่เราก็ยังไม่อยากตีตนไปก่อนไข้ว่าจะเกิดอะไรขึ้น และจะมีการปกป้องงบประมาณของเจ้ากระทรวงหรือไม่ จึงตั้งข้อสังเกตเอาไว้เพื่อให้อนุ กมธ.ทำงานอย่างระมัดระวัง และไม่ให้เกิดเหตุการณ์เหมือนที่เราคาดการณ์ว่าอาจจะเกิดขึ้นได้

เมื่อถามว่า การตั้งอนุกมธ.ขึ้นมา 9 คณะตามหลายกระทรวงนั้น เพื่อให้เกิดความรวดเร็วในการพิจารณา น.ส.ศิริกัญญา กล่าวว่า ในส่วนนี้ไม่มั่นใจเช่นกันว่าจะรวดเร็วสำหรับอนุ กมธ.หรือไม่ เนื่องจากในบางอนุกมธ.ก็มีงบประมาณจำนวนมาก เช่น กลุ่มปกครอง ที่จะต้องมีการพิจารณาในส่วนของกระทรวงมหาดไทย กลุ่มจังหวัด การปกครองส่วนท้องถิ่น ซึ่งมีมูลค่ารวม 4 แสนกว่าล้านบาท และมีหน่วยงานที่จะต้องเข้ามาพิจารณาอีก 400 กว่าหน่วย แต่บางกลุ่มมีเพียงแค่ 8 หมื่นกว่าล้านบาท สำหรับกลุ่มแรกคือ กลุ่มบริหาร เช่น สำนักงานนายกรัฐมนตรี

“ฉะนั้น จึงไม่มั่นใจเหมือนกันว่าจะเร็วขึ้นหรือไม่ แต่วิธีการเช่นนี้จะสะดวกต่อข้าราชการ ที่จะเข้ามาชี้แจง เนื่องจากข้าราชการของแต่ละกระทรวงจะไม่ต้องเข้าไปชี้แจงในห้องอนุ กมธ.หลายครั้ง อย่างมากก็เพียงแค่สองคณะ คือคณะของตนเองและคณะที่เป็นแผนงานบูรณาการ ก็จบแล้ว แต่ในปีก่อนหน้าอาจจะต้องเข้า 3-4 คณะ” น.ส.ศิริกัญญา กล่าว 

เมื่อถามว่า จะต้องมีการกำชับกมธ.ในสัดส่วนของพรรคฝ่ายค้านหรือไม่ว่าจะต้องตรวจสอบให้มีความรอบคอบ น.ส.ศิริกัญญา กล่าว เราพยายามที่จะเสนอวิธีการมองงบประมาณ และวิเคราะห์งบประมาณแบบใหม่ๆ ซึ่งจากเดิมจะดูแค่ว่าถูกไปหรือแพงไปในแต่ละรายการ แต่เมื่อมาดูในส่วนของโครงการต่างๆ แล้วเราจะเน้นให้ดูเรื่องของความคุ้มค่า ประสิทธิภาพในการใช้งบประมาณ ความซ้ำซ้อนเป็นหลัก และในปีนี้เราอาจจะไม่ได้มีที่ว่างให้ตัดลดงบประมาณอะไรมากมาย เนื่องจากส่วนหนึ่งเป็นงบไปพลางด้วย เราจึงเน้นให้ดูเรื่องของความคุ้มค่าของการใช้งบประมาณมากกว่า

เมื่อถามว่า ได้มีการพูดคุยกันถึงการป้องกันเรื่องการตบทรัพย์หรือไม่ น.ส.ศิริกัญญา กล่าวว่า ในส่วนของพรรค ก.ก. เราไม่ค่อยกังวลเรื่องนี้ เพราะเราเชื่อมั่นและเตรียมตัวกัน มาอย่างดีว่าจะไม่ให้เกิดเหตุการณ์เช่นนี้ขึ้น แต่อย่างไรก็ตามเราก็จะทำหน้าที่เป็นผู้สังเกตการณ์ว่าหากมีลักษณะที่เข้าข่ายให้มีการตบทรัพย์ได้ เราก็จะรีบดำเนินการเพื่อไม่ให้เกิดเหตุการณ์เช่นนั้นขึ้น 

เมื่อถามว่า ในการพิจารณาครั้งนี้ พรรค ก.ก. ได้ข้อมูลที่จะนำไปสู่การอภิปรายไม่ไว้วางใจหรือไม่ น.ส.ศิริกัญญา กล่าวว่า ได้เยอะแยะ อย่างน้อยก็ได้ข้อมูลที่จะนำไปสู่การอภิปรายในวาระสองแล้ว ส่วนข้อมูลเบื้องต้นที่จะใช้ในการอภิปรายทั่วไปหรือไม่ไว้วางใจนั้น ก็เป็นเพียงแค่สารตั้งต้นที่จะทำให้เรานำไปสืบค้นต่อว่าจะเกิดอะไรขึ้นบ้าง และเราจะทำงานคู่ขนานกันไปทั้งอนุกมธ.งบ กมธ.งบ และกมธ.สามัญชุดต่างๆ