'เรืองไกร' ลุยยื่น กกต.สอยกราวรูด 'รมต.-สส.-สว.' หลัง 'พิธา' รอดปมหุ้นไอทีวี

'เรืองไกร' ลุยยื่น กกต.สอยกราวรูด 'รมต.-สส.-สว.' หลัง 'พิธา' รอดปมหุ้นไอทีวี

'เรืองไกร' เตรียมยื่น กกต.สอยกราวรูด รมต.-สส.-สว.' พ่วง 'เมีย-ลูก' หลังศาล รธน.ชี้ให้ 'พิธา' รอดหุ้น 'ไอทีวี' เผยยังติดใจ ถือแค่หุ้นเดียวก็ผิดแล้ว

เมื่อวันที่ 25 ม.ค. 2567 นายเรืองไกร ลีกิจวัฒนะ สมาชิกพรรคพลังประชารัฐ (พปชร.) ให้สัมภาษณ์ถึงกรณีที่ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยว่า นายพิธา ลิ้มเจริญรัตน์ ยังคงเป็น สส.บัญชีรายชื่อ พรรคก้าวไกล และกลับเข้ามาทำงานในสภาผู้แทนราษฎรจากปมถือหุ้นไอทีวี ยังมีประเด็นใดติดใจอีกหรือไม่ว่า มีประเด็นเรื่องหนึ่งหุ้นก็ผิด เพราะเป็นเรื่องที่ต้องหาข้อเท็จจริง ของนักการเมืองรัฐมนตรี สส. และ สว. รวมถึงคู่สมรสและบุตรด้วย มองว่าการ ซื้อ-ขายหุ้นในตลาดหลักทรัพย์ฯ บางทีซื้อเช้าขายบ่าย จะไม่ปรากฏอยู่ในสำเนาบัญชีรายชื่อผู้ถือหุ้น หรือ บอจ.5 รวมถึง บัญชีรายชื่อผู้ถือหุ้นของบริษัท หรือ บมจ.006 จึงเตรียมยกร่างคำร้องยื่นต่อกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) ไปไล่ตรวจสอบ สส.ทั้งหมดว่าในระหว่างการดำรงตำแหน่ง มีใครซื้อขายหุ้นที่เป็นหุ้นสื่อ ที่มีอยู่ในตลาดหลักทรัพย์หลายตัว เพราะหลายคนแจ้งบัญชีทรัพย์สินต่อคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) เมื่อวันที่ 4 ก.ค.2566 ซึ่งมีหลายคนบอกว่ามีบัญชีหุ้น

นายเรืองไกร กล่าวต่อว่า ส่วนเหตุผลที่นึกถึงเรื่องนี้เพราะเคยยื่นคำร้อง สส.ไปคนหนึ่ง ที่แจ้งบัญชีว่าไปถือหุ้นสื่อแห่งหนึ่ง เพิ่งทราบข้อเท็จจริงว่าเขาซื้อหุ้น หลังจากเป็น สส.แล้ว จึงทำให้คิดว่าความไม่รู้ของเขาอาจเกิดจากโบรกเกอร์ซื้อขายหุ้นในนามของเขา เมื่อเห็นตัวอย่างเช่นนี้จึงมีหน้าที่ต้องดูทั้งหมด โดย กกต.ต้องไปขอข้อมูลในทั้งหมดมา ซึ่งคงใช้เวลาร่างคำร้องประมาณ 1-2 สัปดาห์ โดยจะขอให้ตรวจสอบไปถึงคู่สมรสและบุตรด้วย เพราะเป็นลักษณะต้องห้าม และขัดกันของผลประโยชน์ จึงเป็นหน้าที่ของ กกต.ต้องตรวจสอบ ถ้าเจอก็ต้องส่งศาล และระบบสามารถดึงข้อมูลมาได้อยู่แล้ว เชื่อว่าคงไม่ใช้เวลานาน

“เราสงสัยว่าระหว่างอยู่กัน 4 ปี ก่อนพ้นจากตำแหน่งไปขายหุ้นออก แล้วช่วงนี้ก็ทำกำไรไปก่อน ซึ่งถือเป็นลักษณะต้องห้าม”นายเรืองไกร กล่าว

นายเรืองไกร กล่าวด้วยว่า กรณีที่ศาลวางหลักว่าหุ้นเดียวก็ไม่ได้นั้น คงไปตอบหลายคนที่คำนวณสัดส่วนหุ้น ซึ่งก็ไม่ได้แปลกใจอะไรในเรื่องนี้ เพราะตอนที่เป็น สว.เคยร้องเรื่องหุ้นสัมปทานมาแล้ว ซึ่งศาลวินิจฉัยมาแล้วว่าหุ้นเดียวก็ถือไม่ได้ ส่วนกรณีนายพิธา ศาลวินิจฉัยว่ามีการถือหุ้นจริง แต่หุ้นดังกล่าวไม่ถือว่าเป็นหุ้นสื่อแล้ว เนื่องจากงบการเงิน 5 ปีย้อนหลังและสัญญาที่ถูกยกเลิก และไอทีวีไปฟ้องเรียกค่าเสียหายและให้คืนคลื่น ซึ่งตรงนี้เข้าใจได้ ว่าฟ้องให้คืนคลื่นไม่ได้เนื่องจากเป็นกฎหมายที่ออกมาแล้วว่าให้เอาคลื่นนี้ไปให้ Thai PBS