‘พิธา’รอดหุ้นสื่อ-ลุ้น‘ล้มล้าง’ 2แพร่ง'ก้าวไกล'สู้เกม‘ยุบพรรค’

‘พิธา’รอดหุ้นสื่อ-ลุ้น‘ล้มล้าง’  2แพร่ง'ก้าวไกล'สู้เกม‘ยุบพรรค’

"พิธา" สลัดตัวเองหลุดบ่วงหุ้นสื่อไอทีวี ลุ้น 31 ม.ค. ชี้ชะตา คดี"ล้มล้างการปกครอง" เดิมพัน "ยุบพรรค" จับสัญญาณ "แผนลับดับส้ม" เกมอำนาจ"มือที่มองไม่เห็น" ก้าวไกล "ยิ่งตี-ยิ่งโต?"

KeyPoints:

  • กรณีการถือหุ้นสื่อของพิธา การจะ “สอย-ไม่สอย” แทบไม่มีผลอะไรในทาง “ดุลอำนาจการเมือง” เต็มที่ที่สุด โทษก็แค่พ้นจากการเป็น สส.  แต่ไม่ได้ถูก “ตัดสิทธิ” หรือถูกลงโทษใดๆทางการเมือง 
  • หากจะใช้ “มือที่มองไม่เห็น” เป็นหมากในการ “โค่นพิธา” หวัง “ล้มก้าวไกล” ในคดีหุ้นไอทีวีก็ย่อมจะ“เสีย”มากกว่า“ได้” 

  •  คดีหุ้นไอทีวีของพิธาเป็นแค่หมากตัวแรก ที่ถูกหยิบมาใช้เพียงเพื่อสกัดการชิงตำแหน่งนายกฯ อันเป็นอุปสรรคขวากหนามในห้วงที่ “ซูเปอร์ดีลข้ามขั้ว” กำลังก่อตัว ณ ช่วงหนึ่งแต่เพียงเท่านั้น

  • ยังเหลือหมากอีกหนึ่งตัว นั่นคือ "คดีล้มล้างการปกครอง"  สถานการณ์พรรคก้าวไกลกำลังเดินอยู่บนทาง “2 แพร่งวัดใจ” รอด-ร่วง

  • จับตาปม"ล้มล้าง" ลาม "ยุบพรรค" แผน"ดับส้ม" ก้าวไกลยิ่งตียิ่งโต?

ผลจากคำวินิจฉัยศาลรัฐธรรมนูญ 8 ต่อ 1 เสียง ที่ชี้ชัดการถือหุ้นในบริษัทไอทีวี จำกัด ของ “พิธา ลิ้มเจริญรัตน์” ประธานที่ปรึกษาหัวหน้าพรรคก้าวไกล ซึ่ง ณ ปัจจุบัน บริษัทดังกล่าวไม่ได้ประกอบกิจการที่เกี่ยวกับสื่อมวลชน จึงไม่ทำให้มีลักษณะต้องห้ามในการสมัครรับเลือกตั้งเป็น สส. ตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 98 (3)

นอกเหนือจะส่งผลให้ “พิธา” ได้หวนคืนสภาอีกครั้งในรอบ 6 เดือน นับจากถูกศาลสั่งให้หยุดปฏิบัติหน้าที่ เมื่อ 19 ก.ค.2566 จากนี้ยังต้องจับตาไปที่จังหวะก้าวของพรรคก้าวไกล ในฐานะแกนนำพรรคฝ่ายค้าน 

ไม่ว่าจะเป็นตำแหน่ง “หัวหน้าพรรคก้าวไกล” ซึ่ง “ชัยธวัช ตุลาธน” หัวหน้าพรรคคนปัจจุบัน รวมถึงพลพรรคก้าวไกล ย้ำมาโดยตลอดว่า  หากพิธา ได้กลับมาทำหน้าที่ สส.อีกครั้ง ก็จะคืนตำแหน่งให้กับพิธา 

 ย่อมส่งผลไปถึงตำแหน่ง“ผู้นำฝ่ายค้าน”ในสภาฯ ที่ชัยธวัชครองตำแหน่งอยู่ในเวลานี้ ซึ่งต้องลุ้นการประชุมใหญ่พรรคก้าวไกลในเดือน เม.ย.นี้ ว่าจะปรับทัพกันอย่างไร  

‘พิธา’รอดหุ้นสื่อ-ลุ้น‘ล้มล้าง’  2แพร่ง\'ก้าวไกล\'สู้เกม‘ยุบพรรค’

ผลคำวินิจฉัยที่ออกมา นอกจากบริบท “แง่กฎหมาย” ที่ถูกนำมาหักล้าง โดยเฉพาะประเด็นไอทีวี ไม่ได้เป็นสื่อ จน “พิธา” สามารถสลัดตัวเองหลุดบ่วง ได้หวนคืนสภาอีกครั้งแล้ว ยังต้องถอดรหัสไปถึงปัจจัย รวมถึง “เล่ห์เหลี่ยมการเมือง”

เมื่อเปิดบทบัญญัติข้อกฎหมายแบบครบถ้วนทุกตัวอักษร จะเห็นชัดว่า เฉพาะกรณีการถือหุ้นสื่อของพิธา การจะ “สอย-ไม่สอย” พิธาแทบไม่มีผลอะไรในทาง “ดุลอำนาจการเมือง” 

เพราะโทษของคดีนี้ ต่อให้ “พิธา”จะติดบ่วง เต็มที่ที่สุด โทษก็แค่พ้นจากการเป็น สส. หรืออาจต้องคืนเงินเดือน สส.ที่ได้รับมา เนื่องจากไม่มีคุณสมบัติในขณะรับสมัครเท่านั้น แต่พิธาไม่ได้ถูก “ตัดสิทธิ” หรือถูกลงโทษใดๆทางการเมือง 

นั่นหมายความว่า หากมีการเลือกตั้งเกิดขึ้น ไม่ว่าจะเป็นกรณีใดกรณีหนึ่ง “พิธา”ยังสามารถลงสมัครเลือกตั้งเป็นสส.ได้ แถมจะยิ่งเป็นอีเวนต์สร้างคะแนนนิยมให้กับตัวเอง รวมถึงพรรคก้าวไกลได้อีกด้วยซ้ำไป

  • ลุ้นชี้ชะตา "ล้มล้าง-ยุบพรรค" ของจริง

อ่านเกม “กลุ่มขั้วอำนาจ” บางกลุ่ม สะท้อนชัดว่า หากจะใช้ “มือที่มองไม่เห็น” เป็นหมากในการ “โค่นพิธา” หวัง “ล้มก้าวไกล” ในคดีหุ้นไอทีวี

ก็ย่อมจะ“เสีย”มากกว่า“ได้” ทำไปทำมา จะยิ่งเป็นฝ่ายเสียรังวัดเองอีกด้วย 

ฉะนั้นใน“เชิงการเมือง”  คดีหุ้นไอทีวีของพิธาจึงเป็นแค่หมากตัวแรก ที่ถูกหยิบมาใช้เพียงเพื่อสกัดการชิงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีคนที่30 อันเป็นอุปสรรคขวากหนามในห้วงที่ “ซูเปอร์ดีลข้ามขั้ว” กำลังก่อตัว ณ ช่วงหนึ่งแต่เพียงเท่านั้น

‘พิธา’รอดหุ้นสื่อ-ลุ้น‘ล้มล้าง’  2แพร่ง\'ก้าวไกล\'สู้เกม‘ยุบพรรค’

ผลคำวินิจฉัยอาจทำให้พรรคก้าวไกลตายใจ แต่อย่าลืมยังเหลือหมากอีกหนึ่งตัว 

นั่นคือ "คดีล้มล้างการปกครอง" ซึ่งพิธา และพรรคก้าวไกลเสนอร่าง พ.ร.บ.แก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายอาญา เพื่อยกเลิกประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112

โดยใช้เป็นนโยบายในการหาเสียงเลือกตั้ง และยังคงดำเนินการอย่างต่อเนื่อง เป็นการใช้สิทธิหรือเสรีภาพ เพื่อล้มล้างการปกครองระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข ตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 49 วรรคหนึ่งหรือไม่ ซึ่งศาลรัฐธรรมนูญ นัดชี้ชะตาในวันที่ 31 ม.ค.2567 นี้ 

‘พิธา’รอดหุ้นสื่อ-ลุ้น‘ล้มล้าง’  2แพร่ง\'ก้าวไกล\'สู้เกม‘ยุบพรรค’

คดีนี้เรียกได้ว่า สถานการณ์พรรคก้าวไกลกำลังเดินอยู่บนทาง “2 แพร่งวัดใจ” 

ทางแรก หากผลออกมา “ไม่ผิด” พรรคก้าวไกล หรือพรรคอื่นๆ ก็ยังสามารถเดินหน้าแก้ไขมาตรา 112 รวมทั้งยังสามารถใช้เป็น “มอตโต้หาเสียง” ในการเลือกตั้งที่กำลังจะเกิดขึ้นได้อีกด้วย

มิหนำซ้ำในห้วงที่กระแสพรรคก้าวไกลและพิธาที่ยังท๊อปติดลมบน แน่นอนว่า “สมการการเมือง” หลังจากนี้ย่อมต้องจับตา โดยเฉพาะในยามที่พรรคร่วมรัฐบาลกำลังระส่ำระสายด้วยแล้ว

แน่นอนว่าการ “คืนฟอร์ม” ของพิธาและก้าวไกลย่อมถือแต้มต่อเป็นเรื่องธรรมดา

กลับกันหากเป็น ทางที่สอง คือ พรรคก้าวไกล “มีความผิด” นอกจากจะต้องหยุดการกระทำแล้ว ต้องจับตาช็อตสำคัญต่อไปคือ “คดียุบพรรค” 

จริงอยู่ เนื้อหาทุกตัวอักษร ตามคำร้องจะระบุเพียง ขอให้ศาลวินิจฉัยตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 49 วรรคหนึ่ง เพื่อ “สั่งหยุดการกระทำ”แต่เพียงเท่านั้น

เช่นเดียวกับพรรคก้าวไกล ที่เห็นพ้องในทำนองเดียวกัน ฟันธง!ว่า ผลในวันที่ 31 ม.ค.นี้ จะวินิจฉัยแค่“ผิด-ไม่ผิด” หรือ นโยบายแก้มาตรา 112 จะได้“ไปต่อ” หรือ“พอแค่นี้”  

ขณะเดียวกันก้าวไกลยังมองว่า การใช้กระบวนการนิติบัญญัติในการเสนอแก้กฎหมาย ไม่ถือเป็นการล้มล้างการปกครอง ขณะเดียวกันกระบวนการแก้ไข ก็ยังอยู่ในขั้นตอนทางสภาฯ จึงเชื่อว่าไม่มีเหตุนำไปสู่การยุบพรรค 

โดยเฉพาะ “ชัยธวัช” หัวหน้าพรรคที่พูดไว้ก่อนหน้านี้ ไม่ควรมีพรรคการเมืองใดที่ถูกตัดสิน “โทษประหารการเมือง” จากนี้อีกต่อไป

‘พิธา’รอดหุ้นสื่อ-ลุ้น‘ล้มล้าง’  2แพร่ง\'ก้าวไกล\'สู้เกม‘ยุบพรรค’

  •  เทียบ ทษช.-ม็อบราษฎร ม.92 ชี้ชะตา

ทว่า หากมองในมุมฝั่งตรงข้าม โดยเฉพาะ“ธีรยุทธ สุวรรณเกษร”ทนายความ ในฐานะผู้ร้อง มองว่า หากศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยว่า พฤติกรรมของก้าวไกลเข้าข่ายล้มล้างการปกครอง ผลที่ตามมาคือ พรรคก้าวไกลไม่อาจเสนอร่างแก้ไขมาตรา 112 ได้อีกต่อไป และคำวินิจฉัยศาลจะเป็น“สารตั้งต้น”ที่นำไปสู่การยื่นคำร้องให้ยุบพรรคก้าวไกลได้

แม้ตามคำร้องขอให้ศาลวินิจฉัยตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 49 วรรคหนึ่ง จะมีขอบเขตเพียงแค่“สั่งหยุดการกระทำ” นั่นเป็นเพราะ “ผู้ร้อง” คือ “ธีรยุทธ”ไม่มีอำนาจตามกฎหมาย ในการร้องขอให้ศาลสั่งยุบพรรคก้าวไกลได้

ประเด็นการยุบพรรคนั้น หากพิจารณาตาม มาตรา 92 แห่งพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญ(พ.ร.ป.) ว่าด้วยพรรคการเมือง ระบุ ให้เป็นอำนาจของ “กกต.” ที่จะต้องยื่นศาลรัฐธรรมนูญ เพื่อสั่งยุบพรรคการเมือง

โดยเฉพาะ 2 วงเล็บแรก

 (1) กระทำการล้มล้างการปกครองระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข หรือเพื่อให้ได้มาซึ่งอำนาจในการปกครองประเทศโดยวิธีการซึ่งมิได้เป็นไปตามวิถีทางที่บัญญัติไว้ในรัฐธรรมนูญ และ (2) กระทำการอันอาจเป็นปฏิปักษ์ต่อการปกครองระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข

ทั้งนี้ เมื่อศาลรัฐธรรมนูญดำเนินการไต่สวนแล้ว มีหลักฐานอันควรเชื่อได้ว่า พรรคการเมืองกระทำการตามวรรคหนึ่ง ให้ศาลรัฐธรรมนูญสั่งยุบพรรคการเมือง และเพิกถอนสิทธิสมัครรับเลือกตั้งของคณะกรรมการบริหารพรรคการเมืองนั้น

ฉะนั้นหากศาลวินิจฉัยว่า การกระทำของพรรคก้าวไกลมีความผิด กระบวนการต่อไปก็จะเป็นอำนาจของ กกต.ในการร้องยุบพรรค ซึ่งต้องดูว่า คำวินิจฉัยศาล จะมีผลต่อเนื่องไปถึงอำนาจ กกต.ในการยื่นยุบพรรคมากน้อยเพียงใด หรือจะมีใครไปร้อง กกต.หลังจากนี้หรือไม่

‘พิธา’รอดหุ้นสื่อ-ลุ้น‘ล้มล้าง’  2แพร่ง\'ก้าวไกล\'สู้เกม‘ยุบพรรค’

“ธีรยุทธ” ยังเคยพูดถึงเรื่องนี้อีกว่า อาจเทียบเคียงได้กับ คำวินิจฉัย “ยุบพรรคไทยรักษาชาติ”จากกรณีการเสนอชื่อแคนดิเดตนายกรัฐมนตรีในการเลือกตั้งเมื่อปี 2562 ซึ่งเวลานั้น กกต.เป็นผู้ยื่นคำร้องต่อศาลรัฐธรรมนูญ และคำวินิจฉัยเกี่ยวกับการเรียกร้อง 10 ข้อ ที่เกิดขึ้นในการชุมนุมของกลุ่มราษฎร ที่มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ รังสิต ซึ่งศาลวินิจฉัยว่าเป็น“พฤติกรรมอันเป็นการกัดเซาะ บ่อนทำลาย ด้อยค่า สถาบันพระมหากษัตริย์”

  • เกมลับ ‘มือที่มองไม่เห็น’ ยิ่งตียิ่งโต?

มีคำถามว่า แล้วเหตุใด“ธีรยุทธ” จึงไม่ยื่นคำร้องต่อ กกต.เพื่อยื่นยุบพรรคก้าวไกลตั้งแต่แรก ? 

นั่นอาจเป็นเพราะ“เทคนิคทางกฎหมาย” เพราะหากยังจำกันได้ ก่อนหน้านี้มีผู้ไปยื่นยุบพรรคก้าวไกล ทั้งกรณีแก้ไขมาตรา 112 รวมถึงกรณีอื่นจำนวน “4 คำร้อง” 

แต่ต่อมา กกต.ตีตก ด้วยเหตุผล “ไม่มีหลักฐานอันควรเชื่อได้ว่า พรรคการเมืองใดกระทำการ ตามมาตรา 92 ของ พ.ร.ป.พรรคการเมือง”

เมื่อเป็นเช่นนี้ธีรยุทธจึงต้อง "ยืมมือศาลยื่นดาบกกต." เพื่อชี้ขาด เสมือนเป็น“ตราประทับ” ชั้นแรกแล้วจึงเข้าสู่ขั้นตอนของ กกต.ในการยื่นยุบพรรคในชั้นถัดไป

‘พิธา’รอดหุ้นสื่อ-ลุ้น‘ล้มล้าง’  2แพร่ง\'ก้าวไกล\'สู้เกม‘ยุบพรรค’

ยิ่งในยามที่มีสัญญาณมาจาก “มือที่มองไม่เห็น” เดินเกมลับบนดิน-ใต้ดิน หวังสกัดการเติบโตของพรรคก้าวไกล ในยามนี้ “พิธา” คืนฉากการเมืองในฐานะแคนดิเดตนายกฯที่ติดตัวเป็นทุนเดิม บวกกระแสพรรคซึ่งกราฟหักหัวขึ้นอีกระลอกด้วยแล้ว

 สถานการณ์ของพรรคเวลานี้ ยังถือว่า “ไม่พ้นระยะอันตราย” แม้ก้าวไกลจะมองเกมบวกยุบพรรค “ยิ่งตี-ยิ่งโต” ก็ตาม

จับตา“หมากการเมือง” เดิมพันของพรรคก้าวไกล แม้หุ้นสื่อ“พิธา”จะฉลุย ก็ยังลุ้นต่อหมากตัวที่สอง คดี “ล้มล้างการปกครอง” ที่สุดแล้ว จะลามไปถึงการยุบพรรคหรือไม่ ต้องติดตาม!