เหลี่ยมเล่ห์กฎหมาย ‘เพื่อไทย’ ลากยาวเกมแก้รัฐธรรมนูญ

เหลี่ยมเล่ห์กฎหมาย ‘เพื่อไทย’ ลากยาวเกมแก้รัฐธรรมนูญ

จังหวะ "เพื่อไทย" ดันร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญ เข้าสู่รัฐสภา ไม่ได้หวังให้กระบวนการแก้ไขเดินหน้าเร็ว แต่เป็นการ "ยื้อเวลาแก้รธน." ออกไป โดยยืมมือของ "ศาลรัฐธรรมนูญ"

Key Points :

  • พรรคเพื่อไทย ยื่นร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญ เมื่อ 18 ม.ค. กลเกมนี้ได้สัญญาณไฟเขียว จาก "ประธานรัฐสภา" ที่จะตีตกญัตติ ไม่บรรจุวาระ
  • ไทม์ไลน์ต่อไปคือ ความขัดแย้งที่ จะเปิดช่องให้ยื่นตีความศาลรัฐธรรมนูญ กรณีจำนวนครั้งทำประชามติ ก่อนสิ้นเดือนม.ค.
  • "เพื่อไทย" ได้เสียงหนุนจาก "ก้าวไกล" เชื่อว่าเสียงข้างมากรัฐสภาจะอนุมัติให้ส่งเรื่องไปศาล
  • ความสัมพันธ์ของเรื่องนี้ คือ นำไปสู่การชะลอการตัดสินใจทำประชามติ ของรัฐบาล ตามที่คณะศึกษาทำประชามติ จะส่งรายงานให้พิจารณา ก.พ.นี้

เกมของ “พรรคเพื่อไทย” ที่นำร่องชง "ร่างรัฐธรรมนูญ แก้ไขเพิ่มเติม (ฉบับที่..)” เข้าสู่รัฐสภา เมื่อ 18 ม.ค.2567 เป็นความน่าสนใจต่อประเด็นทางการเมืองที่มีระยะสัมพันธ์กับ “อายุของรัฐบาล”

โดยเป็นไปตามภารกิจทางการเมือง ที่เคยมีการฟันธงไว้ว่า การแก้ไขรัฐธรรมนูญตามสไตล์พรรคเพื่อไทย ในฐานะแกนนำรัฐบาลต้องพยายามยื้อเวลาออกไปให้มากที่สุด เพื่อให้การครองอำนาจ “อยู่ยาว-อยู่นาน” ที่สุด

ขณะเดียวกัน มีวาระทางการเมืองที่สมรู้ร่วมคิดกับแกนนำพรรค ขั้วรัฐบาล ที่มีอำนาจกุมการขับเคลื่อนงานนิติบัญญัติ

ตามคำแถลงของ “ชูศักดิ์ ศิรินิล” รองหัวหน้าพรรคเพื่อไทย กุนซือฝ่ายกฎหมาย เมื่อ 22 ม.ค. หลังจากนำร่องยื่นร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญ ต่อ วันมูหะมัดนอร์ มะทา ประธานรัฐสภา ไปแล้ว 5 วัน คือ ต้องการเปิดช่องให้นำไปสู่การยื่นตีความต่อศาลรัฐธรรมนูญในประเด็น "จำนวนครั้ง" ที่ต้องทำ "ประชามติ"

เนื่องจากฝ่ายกฎหมายของพรรคเพื่อไทยเห็นว่า การทำประชามติแก้รัฐธรรรมนูญ จำนวน 2 ครั้ง เริ่มจากการเสนอร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญต่อรัฐสภา ไม่ใช่ 3 ครั้ง ตามความเห็นของ “สว.” บางฝ่าย และคณะทำงานประชามติของรัฐบาล ที่มี “ภูมิธรรม เวชยชัย” รองนายกฯและรมว.พาณิชย์ เป็นประธาน

เหลี่ยมเล่ห์กฎหมาย ‘เพื่อไทย’ ลากยาวเกมแก้รัฐธรรมนูญ

ทว่า สิ่งที่จะทำไปสู่การ “วินิจฉัยตีความ” โดยศาลรัฐธรรมนูญได้ จำเป็นต้อง “สร้างประเด็นปัญหา-ข้อขัดแย้ง” ในกระบวนการนิติบัญญัติขั้นต้นขึ้นเสียก่อน

ตามไทม์ไลน์ที่ทีมกฎหมายพรรคเพื่อไทยขีดเส้นไว้คือ 18 ม.ค. ยื่นร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญต่อประธานรัฐสภา และก่อนที่จะจะบรรจุญัตติในระเบียบวาระ ตามระยะเวลาที่กำหนดไว้ในข้อบังคับรัฐสภา คือภายใน 15 วัน นับแต่วันที่รับญัตติ ต้องตรวจสอบความถูกต้อง รวมถึงให้ความเห็น โดยคณะทำงานให้ความเห็นทางกฎหมายที่มี ว่าที่ ร.ต.ต.อาพัทธ์ สุขะนันท์ เลขาธิการสภาฯ เป็นประธาน

เบื้องต้นมีการพูดคุยอย่างไม่เป็นทางการ ระหว่างประธานรัฐสภา และแกนนำพรรคเพื่อไทยว่า โอกาสที่คณะทำงานกฎหมาย สภาฯ จะโต้แย้งญัตติขอแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญของ “สส.เพื่อไทย” เพื่อให้เกิดกรณีปัญหาเกี่ยวกับหน้าที่และอำนาจของรัฐสภามีสูง 

เพราะนับตั้งแต่มีคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญที่ 4/2564 เมื่อ 11 มีนาคม 2564 “รัฐสภา” ไม่กล้าฝืนคำวินิจฉัยยื่นร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญที่กินความได้ว่า “ยกร่างใหม่หมดทั้งฉบับ” จนกว่าจะมีการทำประชามติเกิดขึ้นก่อน และการแก้ไขรัฐธรรมนูญหลังจากนั้น มีเพียงการ “แก้ไขเป็นรายมาตรา” เท่านั้น

เหลี่ยมเล่ห์กฎหมาย ‘เพื่อไทย’ ลากยาวเกมแก้รัฐธรรมนูญ

โดยการโต้แย้งดังว่า คาดว่าจะเกิดขึ้นก่อน 1 กุมภาพันธ์ ที่จะครบกำหนดบรรจุวาระ 15 วัน ซึ่งเป็นจังหวะที่ลงล็อคก่อนที่วงประชุม ครม.จะพิจารณารายงานของ “กรรมการศึกษาแนวทางการทำประชามติฯ” จากนั้น สส.เพื่อไทยจะเข้าช่ือเพื่อเสนอญัตติส่งศาลรัฐธรรมนูญให้วินิจฉัย ก่อนใช้เสียงข้างมากใน “รัฐสภา” รับรอง 

นาทีนี้ คงไม่มีสิ่งใดที่จะผิดจากนี้ เพราะนอกจากพรรคร่วมรัฐบาล-สว.บางกลุ่มจะสนับสนุน แล้วพรรคก้าวไกลยังขานรับ

หากตามรูปเกมนี้ เมื่อรัฐสภามีญัตติสำคัญส่งไปยังองค์กรที่คำตัดสินมีผลผูกพันต่อทุกองค์กร เชื่อแน่ว่า ครม.ย่อมต้องชะลอการตัดสินใจทำประชามติออกไป จนกว่า “ศาลรัฐธรรมนูญ” จะชี้ขาด

แม้ในความเห็นของ “ชูศักดิ์” จะระบุว่าเป็นผลดีต่องบประมาณแผ่นดิน และประหยัดเวลา หากศาลรัฐธรรมนูญมีมติชี้ขาดว่าทำประชามติ 2 ครั้ง และยังเป็นผลดีต่อ “การยื้อเวลา”โรดแมปแก้รัฐธรรมนูญของ “เพื่อไทย-รัฐบาล” อย่างน้อยอีก 1 เดือน นับตั้งแต่วันที่รัฐสภามีมติให้ส่งญัตติ

เหลี่ยมเล่ห์กฎหมาย ‘เพื่อไทย’ ลากยาวเกมแก้รัฐธรรมนูญ

ส่วนประเด็นที่ตั้งข้อสังเกตว่า “เกมเขยื้อนแก้รัฐธรรมนูญ” คิดได้อย่างไร? เอาเข้าจริงในวงประชุมกรรมการศึกษาแนวทางการทำประชามติ ของรัฐบาล เคยพูดคุยกันมาตั้งแต่ต้นเริ่มทำงาน โดยเจ้าของไอเดียคือ “พงศ์เทพ เทพกาญจนา” ที่เสนอให้ใช้ช่อง “ปัญหาการทำงานในฝ่ายนิติบัญญัติ”

ถอดโมเดลปี 2564 ที่ “สว.-สส.” จับมือเสนอญัตติสู่ศาลรัฐธรรมนูญ เพื่อขวางการโหวตวาระสาม ของการแก้ไขรัฐธรรมนูญ ที่ชงให้มี “สภาร่างรัฐธรรมนูญ” หรือ สสร.

เพื่อให้เป็นข้อยุติว่า “ประชามติ”ควรทำกี่ครั้งกันแน่ เพราะประเด็นจำนวนครั้งนั้น เป็นปัญหาถกเถียงในวงกรรมการเช่นกัน

ทว่า อำนาจของรัฐบาล ไม่สามารถยื่นต่อศาลรัฐธรรมนูญได้เอง จึงต้องอาศัยช่องของ “ฝ่ายนิติบัญญัติ”

ในประเด็นที่กำลังจะเกิดขึ้นตามเกมของ “เพื่อไทย-รัฐบาล”นั้น คนที่เป็นสารตั้งต้นของการทำประชามติก่อนรื้อรัฐธรรมนูญทั้งฉบับ เชื่อว่าจะยืนยันคำวินิจฉัยที่ 4/2564 เดิม คือ “รัฐสภามีหน้าที่แก้รัฐธรรมนูญ” ส่วน “ประชาชน” คือผู้มีอำนาจสถาปนารัฐธรรมนูญ 

เหลี่ยมเล่ห์กฎหมาย ‘เพื่อไทย’ ลากยาวเกมแก้รัฐธรรมนูญ ส่วนอำนาจการตัดสินใจทำประชามติกี่ครั้งนั้น ขึ้นอยู่กับองค์กรที่มีหน้าที่ คือ “รัฐบาล” จะพิจารณา เพราะในกลไกของกฎหมายประชามติ แม้จะเขียนเงื่อนไขว่าด้วยสิทธิ “เสนอเรื่องทำประชามติ”ไว้หลากหลาย แต่คนที่ตัดสินใจท้ายสุดคือรัฐบาล

ดังนั้นใน “เกมของเพื่อไทย” ต่อการยื่นญัตติแก้ไขรัฐธรรมนูญครั้งนี้ คือการทำงานคู่ขนาน ที่สัมพัทธ์กับการขับเคลื่อนของรัฐบาล ที่คิดหาหนทางยื้อแก้รัฐธรรมนูญออกไปอย่างมีนัย.