ครอบครัว ‘ชินวัตร’ เตรียมบ้านจันทร์ส่องหล้า รองรับ ‘ทักษิณ’ หากได้พักโทษ

ครอบครัว ‘ชินวัตร’ เตรียมบ้านจันทร์ส่องหล้า รองรับ ‘ทักษิณ’ หากได้พักโทษ

ครอบครัว ‘ชินวัตร’ เตรียม ‘บ้านจันทร์ส่องหล้า’ รองรับ ‘ทักษิณ’ หากได้รับการพักโทษเป็นกรณีพิเศษจากกรมราชทัณฑ์ หลังเข้าหลักเกณฑ์รับโทษมาแล้วกึ่งหนึ่ง แถมมีอาการป่วยเกี่ยวกับโรคหัวใจ-ความดันโลหิตสูง-ความเครียด ยันไม่มีการเลือกปฏิบัติ

จากกรณีกรมราชทัณฑ์แถลงการณ์สรุปได้ว่า นายทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี ที่ปัจจุบันเป็นผู้ต้องขัง จากคดีทุจริต 3 คดี รวมโทษจำคุก 8 ปี จะได้รับการพักโทษเป็นกรณีพิเศษ โดยอายุเกิน 70 ปี และมีอาการป่วย เนื่องจากถูกคุมขังมาแล้ว 6 เดือน ในวันที่ 18 ก.พ. 2567 ตามที่ได้รับพระราชทานอภัยลดโทษเหลือจำคุก 1 ปี เท่ากับรับโทษมาแล้วกึ่งหนึ่งตาม พ.ร.บ.ราชทัณฑ์ 2560

ผู้สื่อข่าวรายงานความเคลื่อนไหวจากคนในตระกูลชินวัตร ว่า ครอบครัวชินวัตร ได้เฝ้าติดตามข่าวการพิจารณาพักโทษจากกรมราชทัณฑ์ที่เสนอให้นายทักษิณได้รับการพักโทษ เนื่องจากเข้าเกณฑ์พักโทษเป็นกรณีพิเศษตามหลักเกณฑ์ โดยยืนยันว่า นายทักษิณ มีอาการป่วยจริง ก่อนหน้านี้ช่วงปลายปีที่แล้วก็เพิ่งได้รับการผ่าตัด ทั้งยังมีอาการป่วยเกี่ยวกับหัวใจ ความดันโลหิตสูง และความเครียด

โดยที่ผ่านมาสมาชิกในครอบครัวได้ผลัดกันไปเยี่ยมอย่างต่อเนื่อง ตามที่ได้ขออนุญาตจากกรมราชทัณฑ์เอาไว้ ทุกอย่างเป็นไปตามกฎระเบียบอย่างเคร่งครัด คือเยี่ยมได้ครั้งละไม่เกิน 30 นาที แตกต่างจากการถูกคุมขังในเรือนจำ ไปเยี่ยมได้คราวละ 20 นาที โดยผู้ที่จะเข้าเยี่ยม ต้องส่งชื่อล่วงหน้าให้กรมราชทัณฑ์พิจารณาและรับทราบ ทั้งยังต้องได้รับความยินยอมจากตัวผู้ต้องขังด้วย 

ส่วนกระบวนการเสนอชื่อให้ผู้ต้องขังรายใดได้รับการพักโทษ จะเป็นการเสนอโดยผู้บัญชาการเรือนจำ พร้อมๆ กับนักโทษที่เข้าเกณฑ์คนอื่นๆ และส่งชื่อให้คณะกรรมการพิจารณา ซึ่งคณะกรรมการก็จะมีทั้งในระดับเรือนจำ และคณะกรรมการส่วนกลาง เมื่อเรื่องนี้ไม่ใช่การริเริ่มของตัวนักโทษหรือครอบครัวของนักโทษ ทางครอบครัวชินวัตรจึงทำได้แค่เพียงรอฟังข่าวเท่านั้น 

รายงานข่าวแจ้งอีกว่า ครอบครัวชินวัตรได้เตรียมพื้นที่ “บ้านจันทร์ส่องหล้า” ย่านจรัญสนิทวงศ์ ไว้รอรับนายทักษิณ เพื่อให้เข้าไปพำนักหลังจากได้รับการพักโทษ และอาจต้องติดกำไลอิเล็กทรอนิกส์ (อีเอ็ม) ด้วย โดยสิทธิ์ที่จะได้รับการหลังการพักโทษ คนในครอบครัวชินวัตร ได้ศึกษาข้อกฎหมายและระเบียบต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้องแล้ว พบว่าสามารถเดินทางออกจากบ้านได้ แต่ต้องอยู่ภายในอาณาบริเวณที่กรมราชทัณฑ์และกรมคุมประพฤติกำหนด เช่น เฉพาะในเขตกรุงเทพมหานคร แนวทางนี้เป็นแนวทางปกติที่ปฏิบัติกับนักโทษทุกคนที่ได้รับสิทธิ์การพักโทษ ไม่ได้มอบให้ใครเป็นกรณีพิเศษ 

กรณีการพักโทษ จะแตกต่างจากการใช้สิทธิ์ตามระเบียบกรมราชทัณฑ์ว่าด้วยการดำเนินการสำหรับการคุมขังในสถานที่คุมขัง พ.ศ.2566 หรือที่รู้จักกันดีในชื่อ “ระเบียบนอนนอกคุก” ที่เป็นดราม่าช่วงเดือน ธ.ค.ที่ผ่านมา เพราะหากได้รับสิทธิ์ตามระเบียบนอนนอกคุก และใช้บ้านเป็นสถานที่คุมขัง ผู้ต้องขังที่ได้รับสิทธิ์ จะไม่สามารถออกจากบ้านได้เลย เพราะบ้านจะมีสถานะเป็น “สถานที่คุมขังแทนเรือนจำ” 

แต่ครอบครัวชินวัตรไม่ได้ใช้สิทธิ์ตามระเบียบฉบับนี้แล้ว เพราะจนถึงปัจจุบัน หลังจากระเบียบมีผลบังคับใช้ตั้งแต่วันที่ 8 ธ.ค. 2566 ก็ยังไม่เดินหน้าสู่การปฏิบัติ ยังคงรอมาตรการและการตั้งคณะกรรมการขึ้นมาพิจารณาคุณสมบัติของนักโทษว่าใครควรจะได้รับสิทธิ์นี้บ้าง คาดว่าในเดือน ก.พ.ก็ยังไม่ได้เริ่มพิจารณานักโทษชุดแรก ฉะนั้นการได้รับสิทธิ์พักโทษจะทำให้นายทักษิณออกจากโรงพยาบาลตำรวจได้เร็วกว่าการใช้ระเบียบนอนนอกคุก 

สำหรับระเบียบกรมราชทัณฑ์ว่าด้วยการดำเนินการสำหรับการคุมขังในสถานที่คุมขัง พ.ศ.2566 เป็นแนวปฏิบัติที่กระทรวงยุติธรรมจะเร่งดำเนินการให้เห็นผลเป็นรูปธรรมโดยเร็วที่สุด เพราะสามารถแก้ปัญหานักโทษล้นคุก และความแออัดในเรือนจำได้ ซึ่งปัจจุบันประเทศไทยมีผู้ต้องขังและความแออัดของเรือนจำสูงเป็นอันดับ 6 ของโลก โดยการผลักดันระเบียบฉบับนี้ออกมา ไม่ได้เกี่ยวข้องกับกรณีการรับโทษของนายทักษิณแต่อย่างใด

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ก่อนหน้านี้ผู้บริหารระดับสูงในกระทรวงยุติธรรม รวมถึงกรมราชทัณฑ์ ได้แถลงข่าวชี้แจงประเด็นนี้ โดยนายสิทธิ สุธีวงศ์ รองอธิบดีกรมราชทัณฑ์ และในฐานะโฆษกกรมราชทัณฑ์ เปิดเผยถึงระบบพักการลงโทษว่า หากผู้ต้องขังคนใดเข้าเกณฑ์ได้รับการพักโทษ ตามขั้นตอนแล้วจะต้องมีรายชื่อของผู้อุปการะ ซึ่งกรมคุมประพฤติจะต้องไปสืบเสาะว่าใครจะเป็นผู้อุปการะผู้ต้องขัง และเมื่อพักโทษจะประกอบอาชีพใด และจะต้องรายงานตัวต่อพนักงานคุมประพฤติอย่างไรบ้าง หรือกำหนดอาณาเขตว่าห้ามพ้นรัศมีเท่าใด หรือห้ามเดินทางออกนอกราชอาณาจักร ส่วนบทบาททางการเมืองในระหว่างการพักโทษ สามารถกระทำได้ หากไม่เป็นการฝ่าฝืนหรือทำผิดระเบียบ