ไขเบื้องหลัง ‘รัฐบาลเศรษฐา’ ไฉนต้องออก พ.ร.บ.กู้แจกหมื่น

ไขเบื้องหลัง ‘รัฐบาลเศรษฐา’ ไฉนต้องออก พ.ร.บ.กู้แจกหมื่น

ไขเบื้องหลัง 'รัฐบาลเศรษฐา' ผ่านข้อมูลสำนักงบประมาณ ไฉนต้องออก พ.ร.บ.เงินกู้ฯ 5 แสนล้านบาท ทำโครงการแจกเงินดิจิทัล แทนที่จะใช้งบแผ่นดินแบบปกติ

KeyPoints

  • ในช่วงแรกโครงการเงินดิจิทัลวอลเล็ต สำนักงบฯเผย "เศรษฐา" เคยขอใช้งบแค่ 1 แสนล้านบาทลุยแจก แต่อาจไม่เพียงพอ
  • ธปท.ทำความเห็นว่า ถ้าจะลุยต่อต้องมีวงเงินครบเต็มจำนวน มิฉะนั้นเข้าข่ายผิด พ.ร.บ.เงินตราฯ ทำให้เล็งแหล่งเงินก้อนอื่น
  • 9 พ.ย. 66 เคาะใช้งบแผ่นดิน 1.5 แสนล้านบาท กู้ 3.5 แสนล้านบาท แต่ถัดมาวันเดียว 10 พ.ย.กลับเคาะออก พ.ร.บ.เงินกู้ฯ 5 แสนล้านบาท
  • สาเหตุสำคัญที่รัฐบาลออก พ.ร.บ.เงินกู้ฯ เพราะไม่อยากปรับลดงบหน่วยงานอื่น

ยังคงเป็นอุปสรรคขวากหนามอย่างยิ่ง ในการผลักดันโครงการ “แจกเงินดิจิทัลวอลเล็ต” สำหรับ “รัฐบาลเศรษฐา ทวีสิน

พลันที่คณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) โดยคณะกรรมการเพื่อศึกษาและดำเนินการรับฟังความเห็นเกี่ยวกับนโยบายรัฐบาล กรณีการเติมเงิน 10,000 บาท ผ่านระบบดิจิทัลวอลเล็ต ของคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) ที่มี สุภา ปิยะจิตติ กรรมการ ป.ป.ช.เป็นประธาน ได้ชงเรื่องเข้าที่ประชุม ป.ป.ช.ชุดใหญ่ ลงมติ ก่อนส่งข้อเสนอแนะเกี่ยวกับโครงการนี้ไปยังรัฐบาล

ประเด็นสำคัญที่ถูกขีดเส้นใต้เอาไว้คือ โครงการนี้ “ไม่ตรงปกกับนโยบายที่หาเสียงไว้” เนื่องจากตอนหาเสียงก่อนเลือกตั้ง 2566      

“พรรคเพื่อไทย” บอกว่า จะใช้เงินงบประมาณปกติในการจัดทำ พร้อมกับแจ้งไปยังคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) เพื่อตรวจสอบ และได้รับไฟเขียว แต่เมื่อได้เป็นรัฐบาล กลับเตรียมจะออก พ.ร.บ.กู้เงินฯ 5 แสนล้านบาท มาทำแทน

ที่น่าสนใจ ในรายงานข้อเสนอแนะของคณะกรรมการศึกษาโครงการแจกเงินดิจิทัลฯ ป.ป.ช.ได้เชิญหน่วยงานของรัฐที่เกี่ยวข้องมาให้ข้อมูล หนึ่งในนั้นคือ “สำนักงบประมาณ” ซึ่งเฉลยเหตุผลว่า ทำไม “รัฐบาลเศรษฐา” ถึงไม่ใช้วงเงินงบประมาณปกติ แต่กลับลำมาใช้ พ.ร.บ.กู้เงินฯ ทีหลัง

เหตุผลคืออะไร "กรุงเทพธุรกิจ" นำมาเสนอ ดังนี้

สำนักงบประมาณ ให้ข้อมูลกับคณะกรรมการศึกษาโครงการแจกเงินดิจิทัลฯ ป.ป.ช.ระบุว่า ในช่วงแรกมีการพิจารณาจะใช้แหล่งเงินจากงบประมาณ ประมาณ 1 แสนล้านบาทสำหรับดำเนินการโครงการนี้ อย่างไรก็ตาม ในการประชุมยังไม่มีการสรุป เนื่องจากวงเงินทั้งโครงการจะสูงกว่านี้

โดยทางธนาคารแห่งประเทศไทย ได้ให้ความเห็นว่า หากจะดำเนินโครงการจำเป็นต้องมีเงินรองรับครบเต็มจำนวน มิเช่นนั้นอาจผิดมาตรา 9 พระราชบัญญัติเงินตรา พ.ศ.2501 ต่อมา จึงมีการพิจารณาแหล่งเงินโดยใช้งบประมาณผูกพันข้ามปี

อย่างไรก็ตาม งบประมาณในลักษณะผูกพันข้ามปีงบประมาณ สามารถกำหนดวงเงินทั้งสิ้นได้ และจะกำหนดว่าระยะเวลาผูกพันไว้กี่ปี อาทิ กำหนดวงเงินงบประมาณปีละ 1 แสนล้านบาท จำนวน 5 ปี จะมีการทยอยจัดสรรงบประมาณในแต่ละปี แต่ไม่สามารถนำเงินมาใช้ครั้งเดียว 5 แสนล้านบาทได้ ซึ่งประเด็นนี้ทางผู้แทนธนาคารแห่งประเทศไทย ให้ความเห็นว่า ในการดำเนินโครงการนี้จะต้องมีเงินครบทั้งจำนวนจึงจะสามารถดำเนินการได้

ทั้งนี้ ในกระบวนการจัดทำงบประมาณจะต้องมีการเสนอคำของบประมาณส่งมายังสำนักงบประมาณ ซึ่งปัจจุบันขั้นตอนของการจัดทำงบประมาณรายจ่ายประจำปี พ.ศ. 2567 ได้ผ่านขั้นตอนการเสนอคณะรัฐมนตรีเพื่อพิจารณารายละเอียดงบประมาณแล้ว โดยในช่วงแรกของการพิจารณา มีการกล่าวถึงวงเงินที่จะใช้จ่ายประมาณ 150,000 ล้านบาทนั้น หากได้มีการพิจารณาและทราบว่าหน่วยงานใดจะเป็นผู้รับผิดชอบโครงการ ก็สามารถเป็นหน่วยขอรับงบประมาณในการเสนอขอตั้งงบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2567 ตามกระบวนการงบประมาณได้

โดยในที่ประชุมคณะอนุกรรมการขับเคลื่อนโครงการเติมเงิน 10,000 บาท ผ่านดิจิทัลวอลเล็ต เมื่อวันที่ 9 พฤศจิกายน 2566 เสนอให้มีการใช้งบประมาณ พ.ศ. 2567 จำนวน 1.5 แสนล้านบาท เงินกู้ 3.5 แสนล้านบาท แต่ต่อมาเมื่อวันที่ 10 พฤศจิกายน 2566 ที่ประชุมคณะกรรมการนโยบายโครงการเติมเงิน 10,000 บาท ผ่านดิจิทัลวอลเล็ต ได้เปลี่ยนเป็นการใช้เงินกู้ทั้งหมด จำนวน 5 แสนล้านบาท

ทั้งนี้ งบประมาณจำนวน 1.5 แสนล้านบาท ไม่ได้เสนอตั้งงบประมาณโดยใช้จากงบฯกลาง หากต้องใช้งบฯสำหรับโครงการนี้จริงก็ต้องปรับลดงบฯที่จะตั้งให้หน่วยงานต่างๆ ย่อมกระทบต่อหน่วยงานอื่น โดยเฉพาะเรื่องระยะเวลาการดำเนินการ ที่อาจต้องเลื่อนออกไป อาทิ งานก่อสร้างอาจต้องมีการขยายระยะเวลา โดยพิจารณาว่าพอจะเลื่อนระยะเวลาของโครงการไหนออกไปได้บ้าง อาจเป็นเหตุผลที่ทำให้นายกรัฐมนตรีไม่ใช้แหล่งเงินจากงบประมาณ และไปใช้การกู้เงินแทน

ในส่วนของเงิน 1.5 แสนล้านบาท ที่ตอนแรกมีการคาดว่า จะนำมาสนับสนุนโครงการ จะนำไปเป็นรายจ่ายเพื่อชดใช้เงินคงคลังของปี พ.ศ.2566 ที่ตอนนี้มีรายงานการใช้วงเงินคงคลังของปี 2566 แล้ว ประมาณกว่า 80,000 ล้านบาท หลักการของการเป็นหน่วยรับงบประมาณ คือ หน่วยงานที่จะเป็นหน่วยรับงบประมาณ ต้องมีภารกิจหน้าที่ในการดำเนินงานที่สอดคล้องกับภารกิจหน้าที่ของหน่วยงาน

ในส่วนของกองทุนเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันของประเทศสำหรับอุตสาหกรรม เป้าหมาย จะอยู่ในความรับผิดชอบของบีโอไอ โดยใช้งบประมาณรายจ่ายประจำปี พ.ศ. 2567 มิได้ใช้เงินกู้โดยงบประมาณรายจ่ายประจำปี พ.ศ. 2567 ซึ่งผ่านการพิจารณาของคณะรัฐมนตรีแล้ว มีงบประมาณสำหรับกองทุนเพิ่มขีดความสามารถฯ ประมาณ 1 หมื่นกว่าล้านบาท

นี่คือข้อมูลสำคัญจากสำนักงบประมาณ ที่แสดงให้เห็นว่า รัฐบาลแทบจะไม่มีความพร้อมในการดำเนินโครงการ 

เนื่องจากไม่ได้วางเป้าวงเงินงบประมาณที่เพียงพอเอาไว้ ส่งผลให้สุ่มเสี่ยงขัดกับกฎหมายหลายบท ทั้งกฎหมายการเงินการคลัง และรัฐธรรมนูญ จนทำให้ต้องงัด “ไม้ตายสุดท้าย” คือการออก พ.ร.บ.กู้เงินฯ 5 แสนล้านบาทมาใช้

ตอนนี้ ป.ป.ช.ส่งสัญญาณเตือนดัง ๆ ไปยังรัฐบาลเรียบร้อย รอวัดใจนายกฯ “เศรษฐา” จะกล้าเสี่ยงเดินหน้าต่อหรือไม่