‘พปชร.’ จี้ รัฐบาล - ธปท. เพิ่มนโยบายการเงิน แก้ปัญหาเศรษฐกิจ ปฏิรูปโครงสร้างภาษี

‘พปชร.’ จี้ รัฐบาล - ธปท. เพิ่มนโยบายการเงิน แก้ปัญหาเศรษฐกิจ ปฏิรูปโครงสร้างภาษี

"พปชร." จัดเวทีวิชาการพลิกมุมคิด เรื่องการเงินการคลัง "ธีระชัย" แนะ "นายกฯ" เร่งหารือ "ธปท." งัดมาตรการแก้เศรษฐกิจ เพิ่มนโยบายการเงิน "อุตตม" ชี้ ต้องปฏิรูปโครงสร้างภาษี จัดงบประมาณให้ตอบโจทย์พัฒนาประเทศที่ยั่งยืน

ที่พรรคพลังประชารัฐ (พปชร.) ได้จัดกิจกรรม “เวทีวิชาการพรรคพลังประชารัฐ” ในหัวข้อ “พลิกมุมคิด เรื่องการเงินการคลัง” โดยนายธีระชัย ภูวนาถนรานุบาล ประธานกรรมการด้านวิชาการ และ นายอุตตม สาวนายน ประธานกรรมการด้านนโยบายพรรคพลังประชารัฐ และปฏิรูปประเทศเพื่อการพัฒนาอย่างยั่งยืน นำเสนอมุมมองต่อการบริหารเศรษฐกิจของประเทศในภาวะที่ไทยกำลังอยู่ในช่วงฟื้นตัว ซึ่งจะนำเป็นข้อเสนอให้กับรัฐบาลในการขับเคลื่อนระบบเศรษฐกิจของประเทศ พร้อมเสนอแนะมาตรการแก้ไขปัญหาในเชิงโครงสร้างทางเศรษฐกิจทั้งระบบ  ที่จะนำมาสู่การเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันของประเทศ 

นายธีระชัย กล่าวว่า จากการที่นายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรี และรมว.คลัง ได้เปิดประเด็นการหารือให้ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ร่วมแก้ปัญหาระบบเศรษฐกิจของไทยเพื่อให้เติบโตได้อย่างเข้มแข็ง และสามารถรับมือกับปัจจัยเสี่ยงที่เกิดขึ้นรอบด้านได้ นับเป็นเรื่องที่สำคัญ และเห็นด้วยกับแนวทางของนายกฯ ที่ต้องเร่งเข้าไปแก้ปัญหาเชิงโครงสร้างที่สั่งสมมานาน ซึ่ง ธปท.มีเครื่องมือที่สามารถแก้ไขได้อีกมาก โดยเฉพาะมาตรการเพื่อให้เกิดการเพิ่มสภาพคล่องทางการเงินในระบบ ทั้งการปล่อยสินเชื่อ แก้ปัญหาหนี้ที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้ (NPL) ควบคู่ไปกับดูแลเสถียรภาพค่าเงินบาท ซึ่งทำให้ภาคส่งออกมีความสามารถในการรับมือกับภาวะเศรษฐกิจโลกที่ชะลอตัวได้

ปัจจุบันหลายประเทศกำลังเข้าสู่สภาวะเศรษฐกิจชะลอตัว ทั้งในสหรัฐ ยุโรป และจีนที่กำลังเผชิญกับปัญหาภาวะฟองสบู่อสังหาริมทรัพย์กำลังจะแตก รวมทั้งปัญหาจากสงครามในยูเครน ที่ส่งผลให้ราคาพลังงานปรับตัวสูงขึ้น ขณะเดียวกันยังมีสงครามในตะวันออกกลาง เป็นการเข้าไปรบกวนการเดินเรือในทะเลแดง  ซึ่งมีผลต่อการสร้างความเชื่อมั่นให้กองเดินเรือพาณิชย์ แนวทางเดียวที่จะแก้ปัญหาได้คือ ยุติปัญหาความไม่สงบในอิสราเอล ซึ่งเป็นเรื่องยาก ต่อปัจจัยเสี่ยงเหล่านี้ สร้างปัญหายืดเยื้อออกไป 

 

อย่างไรก็ตาม ในช่วงหลายปีที่ผ่านมา มีการใช้นโยบายการคลังเข้ามาใช้เป็นเครื่องมือเพื่อแก้ปัญหาเศรษฐกิจ แต่ได้นำไปสู่การเพิ่มสัดส่วนหนี้สาธารณะให้สูงขึ้น จึงเห็นว่าถึงเวลาที่รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง ควรเร่งจะหารือผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย เพื่อร่วมหาแนวทางที่จะสามารถใช้นโยบาย และมาตรการทางการเงินเข้ามามีบทบาทในแก้ปัญหาทางเศรษฐกิจ ไม่ว่าจะเป็นการใช้นโยบายด้านดอกเบี้ย และค่าเงินบาทมากขึ้น

ที่ผ่านมา ธปท.เน้นการรักษาเสถียรภาพในระบบการเงิน ซึ่งเป็นเรื่องที่ถูกต้อง แต่ในภาวะที่เศรษฐกิจโลกอาจจะชะลอตัวจากสภาวะหนี้ของรัฐบาลในประเทศตะวันตก ประกอบกับสภาวะตึงเครียดภูมิรัฐศาสตร์ ความไม่สงบที่เกิดขึ้นในภูมิภาคต่างๆ ตนเห็นว่าถึงเวลาที่ธนาคารแห่งประเทศไทยจะพิจารณาแนวทางเพิ่มการใช้นโยบายด้านการเงิน เพื่อปูพื้นให้เอกชนเตรียมความพร้อมเพื่อรับมือ ให้ทันต่อสถานการณ์ปัจจัยเสี่ยงได้ดีขึ้น เพื่อช่วยบรรเทาปัญหาหนี้ครัวเรือนได้อีกทางหนึ่ง ซึ่งปัจจุบันหนี้ครัวเรือนเกิดขึ้นเกิดจากภาวะการจ้างงานที่ลดลงส่งผลให้ ครัวเรือนหันมาพึ่งพิงหนี้นอกระบบมากขึ้น 

 

 

 

"การใช้นโยบายด้านการเงินให้มีบทบาทเพิ่มขึ้นนั้น ถ้าทำอย่างระมัดระวัง จะไม่ก่อปัญหาต่อเงินเฟ้อหรือเสถียรภาพการเงิน และถึงเวลาที่เราจะคิดบริหารประเทศด้วยใช้มือทั้งสองข้างพร้อมกัน ไม่ใช่ให้นโยบายการคลังทำงานอยู่มือเดียวเป็นหลักดังนั้น ต้องชกทั้งสองหมัด ไม่ใช่หมัดเดียว” นายธีระชัย กล่าว

ดังนั้น การที่รัฐบาลต้องสร้างความเชื่อมั่นให้กับ ธปท. โดยต้องดำเนินการใน 3 ประเด็นหลัก คือ1.การมีวินัยทางการคลัง 2.ลดการใช้เงินภาษีราคาพลังงาน แต่ปรับเปลี่ยน การปรับโครงสร้างราคาพลังงานเพื่อให้เกิดความสมดุลระหว่างผลกำไรของธุรกิจน้ำมัน และการช่วยเหลือประชาชน 3.มีมาตรการเร่งเพิ่มทักษะ ของแรงงานให้สอดรับกับทิศทางของการพัฒนาเศรษฐกิจในระยะยาว รวมถึงการลงทุนในโครงสร้างพื้นฐานเพื่อเพิ่มศักยภาพของอุตสาหกรรม ให้สามารถแข่งขันได้ ซึ่งเชื่อมั่นว่า ทำให้ ธปท. หามาตรการและนำเครื่องมือมาสนับสนุนให้เกิดการขับเคลื่อนระบบเศรษฐกิจได้อย่างเป็นรูปธรรม

ขณะที่นายอุตตม กล่าวว่า เศรษฐกิจประเทศไทยปีนี้อยู่ในขั้นวิกฤติหรือไม่นั้น ยังเป็นข้อพิจารณาของหลายฝ่าย แต่ก็มีความชัดเจนจากตัวเลขเศรษฐกิจที่แสดงให้เห็นถึงความเปราะบาง และที่สำคัญมีการประเมินว่าเศรษฐกิจไทยฟื้นตัวอย่างช้าๆ และอาจจะยังช้ากว่าเพื่อนบ้านในอาเซียน ท่ามกลางปัจจัยความเสี่ยงจากทั้งสถานการณ์โลก และภายในประเทศเอง ซึ่งจะส่งผลกระทบต่อโอกาสการเติบโตทางเศรษฐกิจในการฟื้นตัวอย่างมั่นคง และต่อเนื่อง

ทั้งนี้ คาดการณ์ว่า สถานการณ์เศรษฐกิจไทยในระยะกลาง และระยะยาว ยังมีความเสี่ยงจากการขยายตัวในระดับต่ำ ส่งผลต่อการพัฒนาที่ไม่ต่อเนื่อง ทำให้คนไทยจะเสียโอกาส ก้าวไม่ทันโลก และไม่สามารถแก้ไขปัญหาที่สั่งสมมานาน โดยเฉพาะความเหลื่อมล้ำ ความยากจน ยังเป็นปัญหาใหญ่ของระบบเศรษฐกิจ

ดังนั้นจึงมีความจำเป็นต้องมียุทธศาสตร์  เพื่อผลักดันเศรษฐกิจไทยให้เกิดการฟื้นตัวพร้อมกับเติบโตต่อเนื่อง เพราะหากเศรษฐกิจไทยฟื้นตัวไม่เป็นตามเป้าหมาย   จะไม่มีภูมิคุ้มกันที่เพียงพอต่อการเผชิญกับปัจจัยเสี่ยงต่างๆ ที่เกิดขึ้นท่ามกลางความท้าทายในปีนี้ 

สำหรับการกำหนดยุทธศาสตร์ ที่จะผลักดันให้มีชุดนโยบายการเงิน และการคลังที่สอดรับกันอย่างรอบคอบ มีเป้าหมายที่ชัดเจนในมาตรการแต่ละด้าน ต้องมีความยืดหยุ่นเพียงพอ ประเมินผลได้ต่อเนื่อง ประกอบด้วย

1. นโยบายการยกระดับขีดความสามารถของประเทศ เพื่อให้คนไทยให้ก้าวทันโลก เร่งการลงทุนของภาครัฐและสนับสนุนเอกชนให้ลงทุน ทั้งในด้านโครงสร้างพื้นฐานทั้งคมนาคม และดิจิทัล อุตสาหกรรมเป้าหมาย มีการพัฒนาทักษะคนไทยทุกช่วงวัยฯ ซึ่งต้องอาศัยมาตรการการคลัง และอื่นๆ เช่น มาตรการด้านภาษี การจัดหาแหล่งทุนและร่วมทุน

2. การเร่งแก้ไขปัญหาที่สั่งสมมานาน โดยเฉพาะปัญหาความเหลื่อมล้ำ ปัญหาหนี้สิน และการเข้าถึงแหล่งเงินทุนของประชาชนและธุรกิจ พร้อมสร้างโครงข่ายการคุ้มครองทางสังคมทั้งทางด้านสาธารณสุข และหลักประกันรายได้ชราภาพ เพื่อรับมือสังคมสูงวัย เพื่อให้คนไทยมีความเข้มแข็ง สามารถประกอบอาชีพ และมีคุณภาพชีวิตที่ดีในอนาคต

3. การเสริมสร้างความยั่งยืนทางการคลัง เช่น การปฏิรูปโครงสร้างภาษีให้สอดคล้องกับกิจกรรมทางเศรษฐกิจในอนาคต และปฏิรูประบบการจัดสรรงบประมาณให้ตอบโจทย์การพัฒนาประเทศที่ยั่งยืน

“ปัจจุบันประเทศไทยกำลังเผชิญความท้าทาย ในการเปลี่ยนแปลงด้านเศรษฐกิจอย่างมาก  ซึ่งนโยบายการเงินการคลังจะเป็นเครื่องมือสำคัญต่อการนำไปขับเคลื่อนให้เกิดความเหมาะสมและมีประสิทธิภาพ   เน้นความสมดุลระหว่างการสร้างความเติบโต และรักษาเสถียรภาพของระบบเศรษฐกิจ ที่นำไปสู่การกำหนดบริบทของประเทศไทยหรือ Thailand’s narrative ที่ชัดเจนทั้งในปัจจุบัน และระยะยาว” นายอุตตม กล่าว

 

 

 

พิสูจน์อักษร....สุรีย์  ศิลาวงษ์